January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ยุทธศาสตร์สร้างงาน

October 24, 2017 10368

หลายคนคงเคยชมรายการทีวีประเภทแข่งขันชิงแชมป์ด้านทักษะและความพยายามของชาวญี่ปุ่นมาบ้าง มีอยู่รายการหนึ่งจำได้ว่า เป็นการแข่งขันการใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยกติกากำหนดว่าให้ผู้เข้าแข่งขันใช้จ่ายเงินแข่งกันว่าใครจะใช้เงินได้ประหยัดที่สุดภายในหนี่งเดือน

 

จำได้ว่าดูรายการนั้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผู้แข่งขันที่ชนะเลิศทำทุกวิถีทางเพื่อเป็นแชมป์ยอดประหยัด ทั้งหุงข้าวกินเอง เก็บเศษผักและวัสดุปรุงอาหารที่เหลือจากเพื่อนบ้าน เดินไปทำงาน ห่อข้าวไปกินเอง ซักผ้า ปัดฝุ่น ล้างจานและทำงานบ้านเกือบทุกอย่างด้วยแรงมือเพื่อประหยัดการใช้ไฟ อ่านหนังสือใต้แสงเทียน เข้านอนแต่หัวค่ำ โดยในการแข่งขันครั้งนั้น ผู้ชนะสามารถชิงชัยคู่แข่งด้วยการประหยัดเต็มที่โดยใช้เงินเพียง 35,000 เยนในเดือนนั้น หากเรายกเรื่องอัตราเงินเฟ้อออกและมองที่เพียงยอดเงินจะพบว่า ซูเปอร์แชมป์คนนั้นใช้เงินอยู่ที่ประมาณวันละ 10 กว่าเหรียญหรือประมาณ 300 กว่าบาทเมื่อเทียบกับอัตราของวันนี้ หากเราใช้มาตรฐานและค่าครองชีพบ้านเราเข้าไปเปรียบก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเพราะเงิน 300 บาทก็จัดว่ายังเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 

 

แต่ไม่สำคัญ เพราะ “นั่นคือเกม” มิใช่ในชีวิตจริง

 

สิ่งที่เป็นจริง และไม่ใช่เกม คือการพบว่าร่วมครึ่งหนึ่งของประชากรในโลกเรายังดำรงชีวิตอยู่บนตัวเลขของรายได้เพียงวันละ 2 ดอลลาร์เท่านั้น เงิน 2 ดอลลาร์ที่ไม่เพียงพอแม้แต่จะใช้แลกซื้อแฮมเบอร์เกอร์แม้สัก 1 ชิ้น แน่นอนว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะรายได้อันเป็นที่มาเพื่อการใช้จ่าย มีเพียงเท่านั้น แล้วมาตรฐานชีวิตที่ดีและมีคุณภาพจะมาจากไหน หากรายได้ของคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคำนึงถึง นี่คือสิ่งที่เปิดเผยโดยองค์การประชาชาติหรือ UN ล่าสุด

 

ความมั่งคั่งหรือ wealth ของโลกล้วนถูกสร้างขึ้นจากการนำทรัพยากรของโลก ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน แร่ แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นจากธรรมชาติ แม้แต่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้างก็ยังต้องอาศัยการใช้ทรัพยากรของโลกอยู่ดี แต่สิ่งที่น่าคำนึงกว่านั้น คือ แม้แต่ตัวมนุษย์เองก็ยังกลายเป็น “ทรัพยากรแรงงาน” เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในภาคการผลิตหรือแม้แต่ภาคบริการก็สุดแท้แต่ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการสร้างความมั่งคั่งให้บังเกิดต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ ภายใต้การจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปค่าจ้างและระบบการจัดจ้างที่วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังไม่ได้รับการคำนึงถึงคุณภาพและความยุติธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน 

 

เหตุจากรากฐาน ปัญหาต่อการพัฒนา

การมุ่งใช้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและโอกาสในการสร้างงานและจ้างงานเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุด ได้กลายเป็นสลักที่ปิดล็อก คุมขังอิสรภาพและโอกาสในการพัฒนาและยกระดับการทำมาหากินของผู้คน จนถึงเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะเมื่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต อันนำมาซึ่งภาวะของการตกงานเพราะเศรษฐกิจเกิดการสะดุด ผู้คนจำนวนมหาศาลที่ฝากอนาคตและทางรอดไว้ในตลาดแรงงานที่ตนไม่มีสิทธิ์จะหลีกหนีเพราะเป็นแรงงานขั้นพื้นฐาน 

 

จากข้อเท็จจริงที่พบโดยองค์การสหประชาชาติ พบว่า นับจากปี 2007-2012 มีตัวเลขของผู้ว่างงานทั่วโลกเพิ่มจาก 170 ล้านคนเป็น 202 ล้านคน โดยในจำนวนเหล่านี้ มี 75 ล้านคนเป็นหญิงอายุน้อยและแรงงานชาย นอกจากนั้นประชากร 2,200 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยเพียง 2 ดอลลาร์ต่อวัน แต่มีการคาดการณ์กันว่า ภายใน 15 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการแรงงานทัวโลกถึง 470 ล้านคนในหน้าที่และลักษณะงานที่สร้างสรรค์และแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานให้มีความสอดคล้องต่อโครงสร้างการจ้างงานที่เปลี่ยนไปเพื่อต่อยอดกับโอกาสและการจ้างงานอันจะนำไปสู่การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

 

 

SDGs Target : เป้าหมายโลก

เพื่อความหลุดพ้นจากภาวะประชากรตกงาน และการดำรงชีพด้วยรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานและความสามารถจะครองชีพได้อย่างมีสุขภาวะ ในขณะที่โลกทั้งใบมีเป้าหมายและไทยเป็นส่วนหนึ่ง ที่เพิ่งร่วมรับและร่วมสานการแก้ไขและการส่งเสริมการนำไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายใหญ่ ซึ่งวันนี้ ส่วนหนึ่งของ เป้าหมายคือ กรอบเป้าหมายในเรื่องการส่งเสริมภาวะการสร้างงาน เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยกำหนดไว้ภายใต้เงื่อนเวลา 15 ปีนับจากนี้คือ

 

• ส่งเสริมการเติบโตของรายได้ประชาชาติให้ได้ที่ 7% เพื่อรากฐานอันมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

• เน้นการสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตในภาคการผลิตที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีการยกระดับที่สูงขึ้น อันจะมีผลต่อการยกระดับผลตอบแทนที่ขยับสูงตามกันไป

• การออกนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้มีโอกาสและช่องทางเข้าถึงซึ่งแหล่งเงินทุนและการช่วยเหลือด้านการเงิน

• ภายในกรอบเป้าหมาย 10 ปีนับจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินโครงการเพื่อการนำไปสู่การวางแผนการผลิตและการบริโภคที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม โดยหวังผลในการลดหรือหลีกเลี่ยงการรุมซ้ำและทำลายดิน น้ำ ลม ไฟและทรัพยากรของโลกเป็นสำคัญ

• ภายในปี 2030 เป้าหมายแห่งความสำเร็จของความร่วมมือคือการมองเห็นความเป็นธรรมในการจัดจ้างแรงงานทั้งหญิงและชาย ทุกเพศทุกวัยอย่างมีความเสมอภาคและเท่าเทียม ตลอดจนการใส่ใจและให้ความดูแลต่อแรงงานที่ขาดความสามารถทั้งผู้พิการ เยาวชนจนถึงวัยหลังเกษียณที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น

• ภายในปี 2020 หรือ 5 ปีนับจากนี้สิ่งที่สหประชาชาติคาดหวังในการร่วมมือคือการลดลงของสัดส่วนแรงงานอายุน้อยที่ขาดทักษะและการศึกษาในพื้นที่ทั่วโลก

• ส่งเสริมการใช้มาตรการเร่งด่วนในการขจัดปัญหาการกดขี่แรงงาน และการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก และการนำเด็กหรือเยาวชนมาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยแผนของเป้าหมายคาดหวังว่าใน 10 ปีนับจากนี้จะไม่มีการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดวิธีในทุกรูปแบบ

• มีการแก้ไขและดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างชาติและผู้หญิงที่ได้รับการจัดจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในปัจจุบัน

• กำหนดเป้าหมาย 15 ปีที่จะร่วมสร้างนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างงานและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น ที่เชื่อว่าจะเป็นนโยบายการท่องเที่ยวอันจะนำไปสู่ความยั่งยืน

• นโยบายด้านการเงินและการธนาคารนับจากนี้ต้องมีแนวทางเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ

• นโยบายการส่งเสริมการค้านับจากนี้ พึงมุ่งเน้นไปที่การมุ่งสนับสนุนการพัฒนาประเทศเป็นหัวใจสำคัญ

• ในปี 2020 กำหนดการพัฒนาและการดำเนินการกลยุทธ์ระดับโลก เพื่อการจ้างงานเยาวชน โดยมีการปรับใช้อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

 

ก้าวสู่เป้าหมาย

เมื่อต้องตอบรับกับแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบของมติความร่วมมือที่ UN ได้กำหนดร่วมกับ สมาชิกจากทั่วโลกโดยที่เราก็ร่วมเป็นหนึ่ง นั่นหมายความว่า วิถีและแนวทางนับแต่นี้ที่เราพึงคำนึงและตระหนักถึง คือเรื่องของการพัฒนาการสร้างงาน และการจ้างงานเพื่อการนำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

 

 

 

โรงงานน้ำตาลวังชัยนาท : แนวหวานนี้ ที่ยั่งยืน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าแหล่งน้ำที่เราเรากำลังใช้ในการกิน การดื่ม และชำระชะล้างกันอยู่ทุกวันนี้กำลังมีปัญหา และนับวันปัญหาดูจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่คาดการณ์กันว่า ในอีกไม่ช้า ไม่น่าจะเกินไปกว่า 20-30 ปีข้างหน้าเราจะเจอปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ซึ่งต้นเหตุใหญ่ในการสร้างความเสียหายต่อแหล่งน้ำในธรรมชาติ นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ต้นเหตุใหญ่กลายเป็นว่ามาจากการทำเกษตรกรรมอย่างขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะมีการใช้สารอันตราย ทั้งเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช ทั้งยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ไปจนถึงปุ๋ยเคมีที่มีการใช้บนความเข้าใจผิด การกระหน่ำใช้ใส่ปุ๋ยเคมีโดยที่หวังว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต นำมาซึ่งสารตกค้าง และการแทรกซึมของสารเคมีจำนวนมหาศาล จากดินลงสู่แหล่งน้ำ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ยิ่งภาคเกษตรเร่งโหมและประโคมการใช้สารเคมีเหล่านี้มากเพียงใด การทำลายแหล่งน้ำในธรรมชาติก็ยิ่งทวีการลุกลามมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การเกษตรที่ใช้สารเคมีจึงไม่ใช่แนวทางแห่งการยั่งยืน

 

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เป็นวิถีและแนวทางที่จังหวัดชัยนาท หนึ่งในพื้นที่ที่มีการรณรงค์และส่งเสริมอยู่ เพราะต้องการรักษาและคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีในระบบนิเวศเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการพยายามรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะที่ปลอดภัยของเกษตรกรเอง ด้วยหลักการและเหตุผล สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาธุรกิจของโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ โรงงานน้ำตาลวังชัยนาท ภายใต้การจับมือร่วมทุนระหว่างโรงงานน้ำตาลวังขนาย และ บริษัท โตโยต้า ทรูโช จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีนโยบายและความต้องการผลิตน้ำตาลออร์แกนิกด้วยวิธีปลูกอ้อยในแนวทางออร์แกนิกที่ปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ปลูก ผืนดิน แหล่งน้ำ สภาพแวดล้อม ผลผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์ และปลายทางคือผู้บริโภค 

 

ภายใต้นโยบายส่งเสริมที่หวังผลในความสำเร็จ ผู้บริหารน้ำตาลวังชัยนาทได้ตอบโจทย์การมุ่งยกระดับเพื่อการพัฒนาด้วยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตอ้อยเพื่อการผลิตน้ำตาลจากเกษตรอินทรีย์ในอัตราราคาที่สูงกว่าราคารับซื้ออ้อยที่ปลูกแบบทั่วไป เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ภายใต้เป้าหมายเพื่อความสำเร็จที่เล็งว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อการทำเกษตรอินทรีย์เป็นที่แพร่หลายและได้ปริมาณเพื่อการลดขนาดของต้นทุน ก็จะมีน้ำตาลออร์แกนิกออกมาขายในราคาที่ไม่ต่างจากน้ำตาลทรายอ้อยทั่วไปในตลาด และนั่นคือการตอบโจทย์ในอีกความหมายของการยกระดับของการพัฒนา

 

อย่างไรก็ดีที่เหนือไปกว่านั้นคือ แนวทางของโรงงานน้ำตาลวังชัยนาทได้มีส่วนในการเรียกคืนการรุกทำลายแหล่งดิน และแหล่งน้ำในธรรมชาติ และยังส่งเสริมการยกระดับรายได้ในแนวทางที่สร้างสรรค์เพื่อการเกษตรแห่งความยั่งยืน

 

E-commerce เขตเศรษฐกิจภาคใหม่

เมื่อเทคโนโลยีมีไว้เพื่อรับใช้มนุษยชาติ การหาหนทางในการหยิบเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้เพื่อการก้าวไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะเพื่อการสร้างงานและสร้างอาชีพย่อมเป็นสิ่งสมควร ภายใต้ความไม่่สำเร็จของการกระจายรายได้ กระจายโอกาสและกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีจากโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การยกระดับและพัฒนาคนในสังคม สมควรได้รับการสนับสนุนและเปลี่ยนผ่านจากการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามารองรับและช่วยสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้น

 

การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางในสาขาต่างๆ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการแม้แต่ในภาคเกษตรและกสิกรรม เป็นอีกหนทางในการพยายามเปลี่ยนโครงสร้างจากการจ้างงานไปสู่การร่วมงานและการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจและการค้าที่สามารถต่อรองได้ 

 

หลายธุรกิจในสาขาใหม่ กรณีตัวอย่างเช่น Alibaba.com เป็นที่มาของการทำธุรกิจและการค้าในโลกออนไลน์ที่ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และได้ช่วยให้เกิดพ่อค้าแม่ขาย และผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ขึ้นอย่างหลากหลาย แม้แต่ภาคการผลิต เช่น ภาคเกษตกรรมก็ยังสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ในการเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆ ในโลกที่เปิดกว้างอย่างไร้พรมแดน 

 

หรือไอเดียใหมๆ ในการทำธุรกิจอย่าง Airbnb ก็เป็นอีกแนวทางที่สร้างสรรค์และประสบความสำเร็จจากคนเพียง 1 คนและคอมพิวเตอร์เพียง 1 ตัว เมื่อผนวกกับไอเดียที่สร้างสรรค์ จากการเล็งเห็นโอกาสของดีมานด์และซัพพลาย มองที่พักในทุกรูปแบบ ทุกหนแห่ง และทุกเวลา ทำให้คนที่มีบ้าน (ทุกคนมีบ้าน) ก็สามารถร่วมทำธุรกิจกับ Airbnb ได้ ความสำเร็จของ Airbnb ได้แชร์ตลาดส่วนหนึ่งของตลาดที่พักเพื่อการท่องเที่ยวและเดินทางในอดีต จากที่มีทางเลือกเพียงโรงแรมและรีสอร์ท เป็นห้องพักของครัวเรือน และที่สำคัญ Airbnb มีแนวโน้มของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

แนวคิดธุรกิจแบบ Alibaba, Airbnb, agoda, Uber, Grab, Amazon หรืออีกหลายธุรกิจ มองไปก็เหมือนหัวขบวนธุรกิจสายใหม่ ด้วยแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจเหล่านี้มีส่วนในการขยับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรม อันมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างด้านอาชีพและการงานของผู้คนได้เป็นอย่างดี

 

จากบ้านที่เคยพักอาศัยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ, จากรถที่เคยใช้เพื่อการเดินทางได้สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการร่วมเป็น Uber partner, ชาวสวนมังคุดในจังหวัดจันทบุรีพบผู้ต้องการเปลือกมังคุดจากจังหวัดสุราษฎร์จากศูนย์ประสานงาน ร่วมด้วยช่วยกัน *1677 และอีกหลายแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นรูปแบบของการยกระดับการสร้างงานอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

อย่างไรก็ดีภายใต้เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับความสามารถในการสร้างงานในธุรกิจใหม่ย่อมต้องมีส่วนผสมสำคัญด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะตลอดจนการส่งเสริมองค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครบพร้อมทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เป็นต้น

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

 

 

X

Right Click

No right click