January 28, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

แสงสันติภาพ ที่ปลายอุโมงค์

December 14, 2017 12510

แค่กล่าวถึงข้อเท็จจริงเดียวที่อ่านเจอใน Goal 16 ของ Sustainable Development Goals อาจทำให้หลายคนตกใจโดยไม่รู้ตัวว่า ทุกวันนี้ ปัญหาการคอร์รัปชัน การรับสินบน การโจรกรรม ไปจนถึงการหลบเลี่ยงภาษีในโลกเรานั้น ยังคงเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากตัวเลขล่าสุดของมูลค่าจากการได้มาโดยมิชอบนี้ สูงถึง 1.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ให้ผู้คนที่มีรายได้ไม่ถึง 1.25 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว พวกเขาจะพอมีพอกินไปถึง 6 ปีเต็มทีเดียว

 

ที่หยิบยกมากล่าวเป็นเรื่องแรก เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า จากปัญหาคอร์รัปชันทั้งหลายนี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งขัดขวางการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม อย่างที่ทุกคนวาดหวังไว้ในอีกมุมหนึ่ง สาเหตุของความเสื่อมถอยในสังคมที่เราอยู่ ยังเกิดขึ้นเนื่องจากบนโลกใบนี้ยังคงมีการกระทำรุนแรงต่อผู้ด้อยโอกาสอย่างเด็กและสตรี ยืนยันได้จากเว็บไซต์ UNICEF#ENDviolence against children ที่ระบุไว้ว่า ทุกๆ 5 นาที สักแห่งหนบนโลกใบนี้ จะต้องมีเด็กเสียชีวิตเพราะความรุนแรง ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ UN มุ่งที่จะขจัดเพื่อพิชิต Goal ที่ 16 ว่าด้วย Peace Justice and Strong Institutions ให้ได้

 

 

มองในมุมประเทศไทย ปัญหาการคอร์รัปชันนับเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม โดยสถิติล่าสุดจากมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยระบุว่า การจัดอันดับดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชัน พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ลำดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก นี่จึงแสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เริ่มจากภาครัฐ ตั้งแต่เข้ามาดูแลประเทศก็เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสงครามกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าด้วยกัน โดยคณะกรรมการนี้ จะทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ซึ่งนี่เป็นความตั้งใจที่จะจัดระบบปราบปรามคอร์รัปชันของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ตอนนี้ ดูเหมือนว่าผลจากความตั้งใจอันดีของรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นดอกผลให้ เห็นชัด แต่ก็ถือว่ามีส่วนกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาจริงจังกับปัญหาการคอร์รัปชันมากขึ้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศชาติ ในยุคที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้

 

ส่วนตลาดทุนก็มีความตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด พิสูจน์ได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำโรดแมปการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ระยะ 5 ปี ( พ.ศ. 2557-2561 ) โดยหนึ่งในแผนงานหลัก คือ การให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ด้วยการแบ่งระดับการประเมินเป็น 5 ระดับ ในรูปแบบ Progress Indicator เพื่ออัพเดตความคืบหน้าของการดำเนินงานในเชิงที่เอื้อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรของตนเอง การทำเช่นนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทจดทะเบียนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งการปลอดคอร์รัปชันให้ภาคธุรกิจไทยอย่างเห็นผลด้วย

 

 

ต่อมา ขอพูดถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม นั่นคือ ความพยายามที่จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ อย่างในสังคมไทยก็เกิดแคมเปญรณรงค์ทำนองนี้จำนวนไม่น้อย ต้องยอมรับว่าหลายแคมเปญมีแนวคิดในการนำเสนอที่โดนใจและทำให้ทุกคนในสังคมคล้อยตาม หากแต่ยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ข่าวคราวรายวันในสังคมไทยที่เกี่ยวกับการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือแม้กระทั่งสัตว์ ลดลงได้ ซึ่งปัญหานี้ มีผู้วิเคราะห์ไว้ตรงกันว่า ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องแก้ในระดับทัศนคติหรือความเชื่อ เพราะในหลายกลุ่มคนยังคงมีทัศนคติความเชื่อว่า การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา หรือ สามีเป็นใหญ่ ลูกและภรรยาคือผู้อ่อนแอ เป็นสมบัติของสามีหรือบิดามารดา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเกิดจากปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้ใช้ความรุนแรงเอง เช่น ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก จากบิดามารดาที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือเรียนรู้จากสื่อ อย่างอ่านการ์ตูน ดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง ยิ่งถ้าผู้นั้นได้กระทำรุนแรงแล้วได้ผล ไม่มีใครว่า ก็ย่อมจะทำบ่อยครั้งขึ้น หรือลักษณะนิสัยที่ชอบดื่มเหล้า และสาเหตุจากการป่วยทางจิตก็เป็นอีกปัจจัยที่พบเห็นได้ว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในสังคมไทย

 

ทางออกของปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะในครอบครัวนั้น จึงไม่ใช่การแก้ไขในจุดจุดเดียว หากแต่ต้องได้รับการแก้ไขแบบครบวงจร รอบด้าน ตั้งแต่แนวทางป้องกันแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยม ซึ่งต้องเริ่มจากการศึกษาในโรงเรียน จัดให้มีหลักสูตรให้ความรู้ เสริมสร้างทัศนคติที่ดี ไปจนถึงการสอดแทรกกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไม่เปิดรับการแก้ปัญหาในครอบครัวด้วยความรุนแรง ไปจนถึงการกำหนดแนวทางการป้องกันแก้ไขในระดับกฎหมาย ให้เป็นไปในทางเพิ่มโทษ เพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำรุนแรงเกรงกลัว รวมทั้งกำหนดตัวบทกฎหมายให้ครอบคลุมความผิด ที่ตอนนี้มีหลากรูปแบบมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีช่องว่างกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดพ้นโทษไปได้

 

เช่นกันกับปัญหาระดับโลก ที่เป็นอุปสรรคของการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นบนโลก นั่นคือ ปัญหาการก่อการร้าย ที่ UN เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2001 จึงได้ก่อตั้ง The Counter-Terrorism Committee (CTC) เพื่อสอดส่องดูแลและจัดการปัญหาก่อการร้ายในโลกอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า การก่อตั้งหน่วยงานมากมายที่มาต่อสู้กับภัยก่อการร้าย ก็ไม่ได้ทำให้ภัยก่อการร้ายลดลง มิหนำซ้ำ ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ ในยุคนี้ ตัวอย่างของเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นและไม่มีใครลืมลง นั่นคือ การก่อการร้ายใจกลางกรุงปารีส ด้วยการใช้ระเบิดและกราดยิงผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเหตุการณ์เลวร้ายนี้ช็อกผู้คนทั่วโลก ให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวบนโลกใบนี้เสียแล้ว 

 

 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ปัญหาการก่อการร้ายได้กลายเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุม World Economic Forum ที่จัดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยโฟกัสไปที่การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง (extremism) ตัวการของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก และทางออกของปัญหานี้ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศของตนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เพื่อสกัดกั้นได้แต่แรกก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง โดยโฟกัสไปที่กลุ่มประเทศที่เป็นผู้ต้องหาของโลกในขณะนี้อย่างประเทศมุสลิม ส่วนในประเทศไทย รัฐบาลชุดนี้แถลงชัดเจนว่ากำลังจัดเตรียมเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการก่อการร้าย อาทิ กล้องจับภาพใบหน้าความละเอียดสูงให้พอเพียงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์อะไร ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่า แต่ละเรื่องดูจะต้องใช้เวลายาวนานที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือดูว่าหนทางแห่งการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นบนโลกดูจะเป็นแสงสว่างอยู่ลิบๆ ตรงปลายอุโมงค์ แต่เชื่อเหลือเกินว่า หากทุกความเข้าใจที่กล่าวมาได้นำมาปรับเปลี่ยนและปฏิบัติในรูปแบบทางออกของปัญหา อย่างน้อยย่อมจะสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยได้ตามอัตภาพได้ไม่ยาก

 

เผยแพร่     นิตยสาร MBA ฉบับครบรอบเดือนมีนาคม 2016 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click