ไม่ได้แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในโลกธุรกิจ แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปในหลากหลายวงการ รวมถึงแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างชัดเจน เป็นผลให้ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ หรือ “Business School” ชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หลายแห่งพากันปรับตัวอย่างหนัก ซึ่ง คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL Business School : KBS) เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับดิสรัปชัน (Disruption) และพลวัต (Dynamic) ของโลก เพื่อผลิตบัณฑิต “สายพันธุ์ใหม่” เพื่อก้าวให้ทันคลื่นความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกอนาคต พร้อมตอบโจทย์อุตสาหกรรม (Real Sectors) และตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจที่กำลัง Transformไปสู่อนาคตใหม่ ตลอดจนพร้อมจะเป็น “กำลังสำคัญ” ของสังคมไทยและสังคมโลก
MBA ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สจล. (KBS) มาแชร์ประสบการณ์ในกระบวนการการยกระดับจากคณะการบริหารและจัดการ หรือ FAM (Faculty of Administration and Management) มาสู่การเป็นคณะบริหารธุรกิจ หรือ KBS ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) ครั้งสำคัญและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 40 ปีของคณะ พร้อมบอกเล่าถึงนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงวิสัยทัศน์ในการนำพา KBS ไปสู่ “หลักไมล์ (Milestone)” สำคัญ ที่เธอเชื่อมั่นว่าจะนำชื่อเสียงและความภาคภูมิใจมาสู่ สจล. และประเทศไทย ในที่สุด
From FAM to KBS: บนไทม์ไลน์แห่งพัฒนาการ
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ คณะการบริหารและจัดการ หรือ FAM ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะบริหารธุรกิจ” หรือ KMITL Business School (KBS) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 พ.ค. 2563
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงโลกการศึกษา ดังนั้น คณะของเราจึงต้องมีการดิสรัป (Disrupt) ตัวเอง ให้สอดคล้องและเท่าทันกับสภาพแวดล้อมและสภาวการณ์ด้านการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดทั้งให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภาระหน้าที่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันของคณะ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ สจล. ที่มุ่งเน้นให้สร้างหลักสูตรที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง (Disruptive Curriculums) รวมทั้งให้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน และอีกเหตุผลสำคัญ คือเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ (International Outlook) มากขึ้น” ผศ.ดร.สุดาพร อธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงชื่อคณะในครั้งนี้
ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีก่อน อาจกล่าวได้ว่า คณะบริหารธุรกิจ สจล. มีจุดเริ่มต้นจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาบริหารธุรกิจเกษตร ตามมาด้วยหลักสูตร วท.บ. สาขาเทคโนโลยีการจัดการ กระทั่งปี 2539 จึงมีการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งวิทยาลัยการบริหารและจัดการ (AMC : Administration and Management College) เมื่อปี 2553 ต่อมาอีกราว 6 ปี จึงได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นคณะการบริหารและจัดการ (FAM : Faculty of Administration and Management) ในปี 2559 และล่าสุดคือ การยกระดับสู่การเป็นคณะบริหารธุรกิจ หรือ KMITL Business School (KBS)
“การเปลี่ยนเป็น Business School เป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มโลก และสภาวการณ์ของสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจทั่วโลก ซึ่งการบริหารจัดการลักษณะนี้จะมีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นสูงขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน ย้อนไปกว่า 30 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับว่าเป็นเฟส (Phase) ที่ 4 ถือว่าเป็นเฟสที่ก้าวเข้าสู่ความสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็เป็นเฟสที่ท้าทายที่สุด เพราะว่าใน 3 เฟสที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น การจะโชว์ให้โลกเห็นถึงความแตกต่างจากเดิมที่ดีอยู่แล้ว จะทำอย่างไรคนรู้สึกได้ว่าเราดีเยี่ยมขึ้นไปอีก แต่ถ้าไม่พัฒนาให้ดีขึ้น เราก็อาจจะถูกกลืน อาจารย์จึงมองว่าเฟสนี้ถือว่าท้าทายที่สุด และเป็นเฟสสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จมากที่สุดได้เช่นกัน”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุดาพร มองว่า การปรับตัวเป็น Business School ของคณะบริหารธุรกิจ (KBS) ยังช่วยให้ง่ายต่อการสื่อสารกับ ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)’ ว่า KBS กำลังจะก้าวไปทางใด พร้อมกับช่วยให้สังคมภายนอกมองเห็นถึงความเป็นสถาบันบริหารธุรกิจของ สจล. อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาพลักษณ์การเป็น “องค์กรเชิงธุรกิจ” ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารงานแบบ Profit Center เพียงแต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่กำไรสูงสุด แต่มุ่งหวังให้มีกำไรเพียงพอที่จะดูแลตนเองได้ ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความสามารถในการดูแลสังคม ควบคู่กับความพร้อมที่จะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
เตรียมพร้อมสู่ “Business School” มาตรฐานสากล
ในช่วง 1 ปี ก่อนการประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อในราชกิจจานุเบกษา ทีมผู้บริหารของคณะบริหารธุรกิจ ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.สุดาพร ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมสู่การปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็น Business School ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการวางอัตลักษณ์ (Identity) ของ KBS ไปจนถึงการพัฒนาให้ทุกหลักสูตรมีการปลูกฝังบ่มเพาะ “ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)” โดยเฉพาะวิธีคิด (Mindset) แบบ Global Entrepreneur และ Innovative Entrepreneur ให้กับผู้เรียน โดยอาจารย์สุดาพร ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และคณบดีของ Business School ชั้นนำระดับโลก พร้อมกับนำนวัตกรรมเชิงความคิดและความร่วมมือจาก Harvard Business School และ University of Cambridge มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการแบบสากล
"เราไปศึกษา Business School ชั้นนำหลายแห่ง หลายๆ แห่งกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เราได้นำเอาสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มาประยุกต์ใช้และผนวกกับ “จุดแข็ง” ที่เรามีและสิ่งที่เราเป็น"
KBS ยังได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหลากหลาย Business School ชั้นนำของโลก เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน และพัฒนาโปรแกรมแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย ระหว่างกัน เพื่อเปิดกว้างในมิติของความสามารถในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และผนึกกำลังสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียน และต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน ทางคณะก็ไม่ละเลยในการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการติดต่อสื่อสาร และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนและอาจารย์
ในการก้าวสู่ “International Outlook” บุคลากรของเราต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี เพราะเรามีหลักสูตรนานาชาติ มีนักศึกษานานาชาติ มีอาจารย์ชาวต่างชาติ และจะมีการทำข้อตกลงร่วมกับต่างประเทศมากขึ้น ฉะนั้น บุคลากรสายสนับสนุนจึงต้องสื่อสารได้ทั้งการพูดและการเขียน ซึ่งเราก็มีการให้แรงจูงใจ เพื่อให้เขาอยากพัฒนาตัวเอง
นอกจากนี้ คณะบริหารธุรกิจยังให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียนของคณะ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อให้เป็นอาคาร KBS ที่มีสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นนานาชาติ ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ไปจนถึงการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ของตัวเอง คือ KBS Online เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละราย โดยสามารถเลือกได้ว่า จะเรียนแบบออนไลน์เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในช่วง COVID-19 หรือจะเลือกเรียนแบบพบปะหน้ากัน (Face-to-Face) ในห้องเรียน เพื่อความใกล้ชิดกับอาจารย์ หรือจะเลือกแบบผสม (Blended)
“ความเป็น International Outlook นอกจากจะหมายถึง การมีผู้เรียนจากหลากหลายประเทศมาเรียนร่วมกัน การเรียนการสอนในยุคปัจจุบันยังต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นโลกไร้พรมแดน ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ส่วนใดของโลกก็สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ ดังนั้น ทางคณะจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม KBS Online ขึ้นมา พร้อมกับห้องเรียนที่มีระบบออนไลน์รองรับการถ่ายทอดสดการสอนได้ทุกห้อง ทำให้ผู้เรียนเลือกได้ว่าจะเรียนจากที่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือจะเรียนที่คณะ หรือจะเรียนแบบผสมทั้งสองแบบ ก็ทำได้ ซึ่งความยืดหยุ่นในรูปแบบการเรียน ไม่เพียงเป็น “ภาวะปกติใหม่ (New Normal)” ของการศึกษาในยุค COVID-19 แต่ยังจะเป็น New Normal สำหรับการศึกษาในโลกยุคใหม่ไร้พรมแดน ซึ่งนี่ถือเป็นการดิสรัปวิธีการเรียนการสอนครั้งใหญ่ของคณะ” คณบดีหญิงของ KBS เผย
หลักสูตรบริหารธุรกิจ “สายพันธุ์ใหม่” ของ KBS
จากพันธกิจข้อแรกของ KBS คือ “การพัฒนากระบวนการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ มีคุณธรรมกำกับความรู้ และมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับและตรงตามความต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน” นำไปสู่การออกแบบหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้าง “บัณฑิตสายพันธุ์ใหม่” ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึง ผู้บริหารหรือคนทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ (Reskill and Upskill Program) ผ่านหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรแบบ Credit Bank
“ความที่ สจล. เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น หลักสูตรของ KBS จึงมุ่งเน้นการเชื่อมโยงความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับทักษะด้านการบริหารธุรกิจ พร้อมกับการบ่มเพาะ Mindset และ Skillset ความเป็นนักเทคโนโลยี นักนวัตกรรม และนักวิเคราะห์ ในตัวผู้เรียน ขณะที่ “หัวใจ” สำคัญในการเรียนการสอน คือการผลิตบัณฑิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับอุตสาหกรรม ตลาดแรงงาน และโลกธุรกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการปลูกฝังคุณลักษณะ “ความเป็นผู้ประกอบการ” ที่เปิดโอกาสให้คิดใหม่ทำใหม่ คิดเองทำเอง โดยทุกหลักสูตรมี Keyword คือ Entrepreneurs ในทุกรายวิชาและกลุ่มวิชา นอกจากนี้ ผู้เรียนยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากคณะและอาจารย์ให้จัดตั้งบริษัทหรือ Startup ผ่านหลากหลายกลไก ซึ่งนั่นก็คือโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด เหล่านี้ทำให้ KBS แตกต่างจากที่อื่น”
ผศ.ดร.สุดาพร ยังกล่าวถึง จุดแข็งสำคัญของ KBS ยังอยู่ที่กลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือ (Networking Strategies) กับหลากหลายพันธมิตร แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก 1) กลุ่มบริษัทชั้นนำในระดับประเทศและระดับโลก เช่น ThaiBev, Central Group, Alibaba, Huawei, Google ฯลฯ 2) กลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ เช่น StockRadars, wongnai, Techsauce ฯลฯ 3) มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ University of Cambridge, Middlesex University, Anglia Ruskin University, London South Bank University และ Meiji University นอกจากนี้ KBS ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอีกหลายแห่ง
เครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งและกว้างขวางนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน โอกาสที่คณาจารย์จะได้อัปเดตองค์ความรู้หรือทักษะให้เท่าทันกับโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป และโอกาสที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้และรับมุมมองจากวิทยากรนอกคณะ ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจจริง อีกทั้ง ยังหมายถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือไปสู่โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย รวมถึง โครงการฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำ เป็นต้น
เรามีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วก็มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน กับพันธมิตรกลุ่มต่างๆ ตัวอย่างเช่น เรากับ University of Cambridge ร่วมกันเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับมืออาชีพ (Professional Development Program) สำหรับผู้บริหารหรือผู้ที่สนใจ โดยมีทั้งส่วนที่ต้องเรียนที่นี่และไปเรียนที่อังกฤษ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีความต้องการให้เราจัดอบรมเพื่อ Reskill และ Upskill ให้กับบุคลากร นำไปสู่การออกแบบหลักสูตรร่วมกัน หรือข้อตกลงในการส่งผู้บริหารมาเรียนกับเรา เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เรา Plug-in กับพันธมิตรแล้วสร้าง Impact กับสังคม
สำหรับกลยุทธ์ในการออกแบบ “ผลิตภัณฑ์” หรือหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ของ KBS ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
1) Entrepreneurial & Science-based Degree เช่น หลักสูตร Engineering Management Entrepreneurship โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์
2) Corporate-based Degree หรือ Work Integrated Learning (WIL) โดยร่วมกับ ไทวัสดุ, Alibaba Group ฯลฯ
3) Area-based Degree เช่น บริหารธุรกิจภาษาจีน และ บริหารธุรกิจ “การเป็นผู้ประกอบการระดับโลก”
4) Global-based Sandwich Degree โดยร่วมกับ Anglia Ruskin University, Middlesex University และ University of Cambridge
5) Training Offline -Online Non/Degree Reskill-Upskill เช่น หลักสูตร Smart Supervisor 4.0 ฯลฯ
‘บริการวิชาการสู่สังคม’ อีกอัตลักษณ์แห่ง KBS
นอกเหนือจากพันธกิจในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการเพื่อผลิตบัณฑิตที่เก่งและดี คณบดี KBS ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับงานบริการวิชาการแก่ภาคธุรกิจและสังคม โดยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ (OKR : Objectives and Key Results) สำหรับอาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวคณบดีเอง
ยกตัวอย่างงานวิจัย “เครื่องสีข้าวสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน” ที่ ผศ.ดร.สุดาพรเป็นหัวหน้าโครงการ แม้ไม่ค่อยมีเวลา แต่ด้วยใจรักในการทำงานวิจัยเพื่อชุมชน อาจารย์นำองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันออกแบบเครื่องสีข้าวสำเร็จรูปพร้อมใช้งานขนาดเล็กสำหรับชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์และชุมชนผู้รักสุขภาพ ที่มาพร้อมโมเดลธุรกิจ “ตัวกลาง” รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาขายให้ผู้ซื้อเครื่องสีข้าวโดยตรง
“โมเดลธุรกิจที่มาพร้อมเครื่องสีข้าวฯ นี้จะดิสรัปพฤติกรรมของคนรักสุขภาพ ให้อยากสีข้าวเอง เพื่อจะได้สีข้าวเดี๋ยวนั้น ทานเดี๋ยวนั้น ทำให้ได้รับวิตามินครบถ้วน ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับข้าวเปลือกอินทรีย์ของเกษตรกร โดยมีพันธมิตรของเราทำหน้าที่ “ตัวกลาง” เชื่อมโยงการซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาไปส่งถึงมือผู้บริโภค ทำให้มูลค่าเพิ่มของสูงขึ้น จากที่เคยขายได้เกวียนละไม่กี่พันกลายเป็นหลายหมื่นบาท ทั้งหมดนี้เพราะเราต้องการให้สังคมอยู่ดีมีสุขจากงานวิจัยของเรา”
ผศ.ดร.สุดาพร ย้ำว่า KBS จะมีความแตกต่างจากคณะบริหารธุรกิจที่อื่น เพราะที่นี่มีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์เป็นนักวิจัยและสร้างสิทธิบัตร ตลอดจนผลักดันให้มีการนำงานวิจัยไปใช้งานจริง เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมและชุมชน หรือนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) หรือต้นแบบ (Prototype) โดยไม่เพียงแต่อาจารย์ ทางคณะยังเปิดโอกาสให้นักศึกษานำไอเดียที่เกิดจากงานวิจัยหรือสิทธิบัตรที่เป็นผลผลิตในคณะไปต่อยอดในเชิงธุรกิจให้กับอาจารย์และคณะได้ด้วย
“โดยหลักการแล้ว คณะบริหารธุรกิจถือเป็น “ตัวกลาง” หรือ Portal ที่มีหน้าที่สื่อสาร ประสาน และบูรณการความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ พร้อมทั้งส่งมอบ “ผลผลิต” ไม่ว่าจะเป็นไอเดีย สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม ออกไปสู่ตลาดหรือโลกภายนอก โดยนำทักษะและมิติของการบริหารจัดการเข้าไปเชื่อมโยง ยกตัวอย่าง สจล. ที่มีความโดดเด่นในเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแรง แต่ถ้าคิดเก่ง ทำเก่ง ประดิษฐ์เก่ง แต่บริหารจัดการไม่ได้ ทำการตลาดไม่เป็น ก็ขายไม่ได้ ซึ่งต่อไป KBS จะมีบทบาทชัดขึ้นในต่อยอดงานวิจัยใน สจล. เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการพัฒนาประเทศ”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบในการให้บริการวิชาการแก่สังคม อาทิ การพัฒนาหลักสูตรให้ความรู้แก่กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป เช่น “หลักสูตรการสร้างนวัตกรรมและการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ตามวิถีใหม่หลัง COVID-19 (New Normal)” ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้จัดขึ้นเพื่อ Reskill และ Upskill ให้กับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว หรือรูปแบบการจัดประชุมเชิงวิชาการ และการจัดสัมมนา-เสวนา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และความคิดสู่สังคม เช่น เสวนา “การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อโอกาสและความอยู่รอดของประเทศในชีวิต New Normal หลัง COVID-19” หรือ เสวนาออนไลน์ “ฝ่าวิกฤต ธุรกิจไทยทำได้” เป็นต้น
ในฐานะที่พึ่งของสังคมทางด้านองค์ความรู้และวิชาการ ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและอย่างรวดเร็ว หรือในยุค New Normal ที่วิถีชีวิตและวิถีการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เราต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารและให้มุมมองที่สะท้อนความคิดต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและต่อสิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ให้แก่สังคมได้รับทราบ
KBS: the Big Step to Next Grand Milestone
“การรีแบรนด์ครั้งนี้เป็นการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของคณะ เพื่อให้มีความเป็นสากล (International Outlook) มากขึ้น ซึ่งความพยายามก้าวสู่ความเป็นสากลของเรา ไม่ใช่เพื่อการยอมรับในระดับประเทศเท่านั้น แต่เราต้องการก้าวกระโดด (Springboard) ไปสู่ทำเนียบ World Class Ranking และก้าวที่ไกลกว่านั้นคือ การสร้างการยอมรับในระดับโลกว่า เรามีคุณภาพเทียบเทียม TOP Business School ของโลก”
ในช่วง 1 ปีแห่งการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสากล คณะบริหารธุรกิจ (ในนามของ FAM) ติด 1 ใน 1,000 สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ ที่ได้รับมาตรฐาน Eduniversal Selected ประจำปี 2019 จากองค์กรที่ทำหน้าที่จัดอันดับ Business School ทั่วโลกที่มีชื่อว่า Eduniversal และไม่นานมานี้ KBS ยังได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก UNITAR ในฐานะของ World’ s Universities with Real Impact (WURI) ปี 2020 ในหมวด Entrepreneurial Spirit อันดับที่ 35
ก้าวต่อไปถือเป็นก้าวสำคัญที่ KBS ต้องการมุ่งไป ได้แก่ การรับรองมาตรฐานจาก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการรับรองมาตรฐานการศึกษาและประกันคุณภาพให้กับ Business Schools ทั่วโลก นับเป็นองค์กรที่เก่าแก่ที่สุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกในเรื่องการศึกษาด้านธุรกิจที่มีคุณภาพสูงสุด โดยสถาบันที่จะได้รับการรับรองจาก AACSB ต้องแสดงให้เห็นถึงความมีคุณภาพในระดับเยี่ยมยอดของโลก ครอบคลุมหลากหลายมิติ เช่น การบริหารงานภายใน คุณสมบัติของอาจารย์และนักศึกษา กระบวนการเรียนการสอน การผลิตงานวิชาการ เครือข่ายธุรกิจและศิษย์เก่า ฯลฯ โดยต้องเข้าสู่กระบวนการทบทวนการปรับปรุงต่อเนื่องทุก 5 ปี
มาตรฐานจาก AACSB ถือเป็น Benchmark สำหรับ Business School ที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล ซึ่งสถาบันที่ได้การรับรองส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อาทิ Harvard Business School, Massachusetts Institute of Technology (MIT) , Stanford University, University of Cambridge, London School of Business ฯลฯ
“AACSB ถือเป็นความใฝ่ฝันของ Business School ทุกแห่ง ถ้าเราได้การรับรองจาก AACSB นั่นแปลว่าเราสามารถโชว์ต่อโลกได้ว่าเรามีคุณภาพสูงมาก KBS จะกลายเป็น Global Brand ที่เทียบชั้น Business School แถวหน้าของโลก ซึ่งนี่จะสร้างภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกให้ KMITL ด้วย ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจมาสู่คณะ สู่ สจล. และสู่ประเทศไทย”
เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล KBS จึงสร้างค่านิยมองค์กร “FAMOUS” เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน โดยครอบคลุมมิติต่างๆ ได้แก่ Family Ability Management Outstanding Universal และ Standardization
ขณะที่คติพจน์ (Motto) ของ KBS ซึ่งมาจากคติการทำงานของ ผศ.ดร.สุดาพร ที่ต้องการปลูกฝังให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะคือ “เราสร้างคน คนสร้างประเทศ” ซึ่ง “คน” ที่ KBS ต้องการสร้าง ได้แก่ คนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะก้าวไกลไปสู่อาเซียนและระดับโลก ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า KBS for the Next generation towards ASEAN and the world ซึ่งคณบดีเชื่อมั่นว่า ความพยายามและความมุ่งมั่นของคณาจารย์ของ KBS ในวันนี้ จะนำไปสู่การผลิต “Smart Citizen” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกลและเท่าทันประชาคมโลก ซึ่งนี่ก็คือ “หลักชัย (Goal)” สำคัญของ KBS นั่นเอง
รับชมคลิปสัมภาษณ์ From FAM TO KMITL Business School
ได้ที่นี่
เรื่อง: สุภัทธา สุขชู
ภาพ: ฐิติวุฒิ บางขาม