December 13, 2024

คอร์สพิเศษสำหรับผู้บริหารระดับสูงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  ได้ร่วมจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ เนื่องในโอกาส 200 ปี นับแต่ทรงพระผนวช ณ อาคาร พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร. 4 วัดราชาธิวาสวิหาร

รองศาสตราจารย์  ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. เป็นสถาบันตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้งขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2503 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ สืบสานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและเป็นความภาคภูมิใจที่สจล. ได้รับพระนาม “พระจอมเกล้า” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระบรมราชลัญจกร “พระมหามงกุฎ” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นมหามงคลยิ่งในกาลต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ในการนี้ สจล.ได้ร่วมจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่วัดราชาธิวาส นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านดาราศาสตร์ และการเสวนา“พระอัจริยภาพด้านโหราศาสตร์ ของรัชกาลที่ 4 โดยมี รศ.ดร.จรสวรรณ โกยวานิช ผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผศ.ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรร่วมเป็นวิทยากร และแนะนำหลักสูตรดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ต่อไป

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี วันคล้ายวันสถาปนา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สจล.มีโครงการ “ปรับปรุงอาคารนวัตกรรมเฉลิมพระเกียรติ ลานอุทยานพระจอมเกล้า และภูมิทัศน์โดยรอบ” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถ ของรัชกาลที่ 4 ในด้าน “ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์” ที่ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หาดหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 นั้น จนได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย

ความสนใจของท่านในด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของประวัติศาสตร์สังคมในสมัยปลาย ร.3 เข้าสู่สมัย ร.4 แผ่นดินไทยเปิดรับวิทยาการความก้าวหน้าจากโลกตะวันตก นำมาสู่การวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าด้านภาษา เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้งโดยคนรุ่นต่อๆ มา

ล่าสุด สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการสร้างหอเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ โดยสถาบันฯมีศิษย์เก่าที่มีความสามารถ เช่น ท่านอาจารย์อารี สวัสดี ประธานมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ และอดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้เกียรติร่วมนำทีมคณาจารย์ ผู้บริหาร จัดสร้างหอเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ ณ ลานนวัตกรรมดาราศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ลานดูดาว เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจ

โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 โดย สจล.ได้เปิดรับการบริจาคเพื่อระดมทุนปรับปรุงอาคารรวมถึงการจัดสร้างจัดสร้างองค์พระนิรันตราย ขนาด 41.09 นิ้ว ประดิษฐานที่หอพระ และจัดสร้างองค์พระจำลองขนาด 5.9 นิ้ว และ 4 นิ้ว เคลือบทองนวัตกรรมจากสจล. พร้อมด้วยเหรียญพระนิรันตรายเพื่อเป็นที่ระลึก ให้กับผู้สมทบทุนในโครงการเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ ต่อยอดด้านการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ต่อยอดสู่การเรียนรู้ด้านอวกาศ โดยผู้บริจาคในโครงการนี้ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 200%

โดยขอเรียนเชิญศิษย์เก่าและผู้สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสามารถดูรายละเอียดที่ https://donation.kmitl.ac.th/  หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณกรองแก้ว สกุนตศรี  หรือ โทร. 0-2329-8136 เพื่อร่วมบริจาคได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลขที่บัญชี 693-0-66-0264 

KMIT Labkrabang จะเป็นการร่วมมือระหว่างภาคอุตสหกรรมกับนักวิจัย เมื่อเรานำทั้งสองส่วนมา matching กัน และผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นก็คือสิ่งที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจในเรื่องของการขับเคลื่อน ในการสร้าง Holding company

https://www.facebook.com/100085545212410/videos/1762779914132342/ 

สำหรับความร่วมมือกับบริษัท ไอออน โฮลดิ้ง จำกัด อย่างแรกเราก็พูดคุยกันว่าเราจะตั้งโจทย์อย่างไร เพื่อที่จะพัฒนาวงการการเกษตรของไทยไปข้างหน้าให้ได้

สจล. หนุนแสดงศักยภาพงานวิจัย และนวัตกรรมของไทย สู่เวทีระดับโลก ผ่านมหกรรมการแสดง สุดยอดนวัตกรรม เปิดโลกเรียนรู้นวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “KMITL INNOVATION EXPO 2024 SustainED Innovation” ตอกย้ำแนวคิดของการเป็นสถาบันการศึกษาที่การมุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก เชื่อมั่นศักยภาพผลงานวิจัย นวัตกรรมจากอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยไทย มีคุณค่าครบทุกมิติประยุกต์พัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม สร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจ และสังคมยุคโลกาภิวัตน์ได้จริง

“งานวิจัย นวัตกรรม ของไทย ดี ๆ มีคุณภาพ มีเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ถูกเก็บ ไม่ได้นำมาใช้สร้างประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น” ซึ่งนี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของ สจล. ที่ตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามร่วมมือกัน ผลิต ผลักดัน เปลี่ยนจากงานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” มาเป็น “ขึ้นห้าง” ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมของเหล่าคณะอาจารย์ และนักศึกษา ที่วันนี้แม้จะอยู่ต่างคณะ ต่างบทบาท แต่ทาง สจล. ส่วนกลางก็พร้อมประสานให้เกิดความร่วมมือด้วยกัน เพื่อให้งานวิจัย นวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นมาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ช่วยแก้ปัญหาคนในสังคม หรือ ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจที่มองว่าสามารถนำมาต่อยอดได้ คุ้มกับการลงทุนจริง

ทั้งนี้ “ผศ. ดร.รัชนี” ฉายภาพให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ต้องร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจจริง ๆ อาทิ ในโครงการ From Farm to Table ซึ่งทุกวันนี้คนอยากทานอาหารที่ปลอดสารพิษ งานวิจัยส่วนใหญ่ก็จะไปที่เกษตรอินทรีย์ แต่ในความเป็นจริงคนเราไม่ได้ต้องการแค่อาหารที่ดี แต่ต้องการน่ากินและอร่อยมีประโยชน์ด้วย เช่น คนสูงอายุอยากทานอาหารแต่มีปัญหาเรื่องของระบบฟัน การย่อย ดังนั้นนักวิจัยนวัตกรรมต้องมองว่าทำอย่างไร จะตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ให้ได้ ไม่ใช่แค่กรอบของอาหารปลอดสารพิษ ไม่ใช่แค่การทำงานของภาคเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่อาจต้องร่วมมือกับภาคคณะอื่น ๆ เพื่อพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น หรือ อย่างทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตเครื่องมือนวัตกรรมขึ้นมา มีคุณภาพจริงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกดูไม่น่าใช้แบบนี้ ก็อาจจะต้องมาร่วมมือกับทางคณะสถาปัตย์ร่วมกันพัฒนาออกแบบภายนอกตัวเครื่องให้ดูสวยงามทันสมัยน่าใช้ แบบนี้ถึงจะตอบโจทย์ธุรกิจ หรือแม้กระทั่ง Soft Power โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร ที่ทางภาครัฐกำลังพูดถึงกันมาก ก็ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งองค์ความรู้จากภาคเกษตรอินทรีย์ ภาควิศวกรรมอาหาร มาร่วมกันพัฒนาสร้างนวัตกรรมที่จะทำให้เกิด Soft Power ที่ยั่งยืนได้จริงจนแข็งขันกับนานาชาติ และเป็นจุดขายของประเทศได้ เหล่านี้เป็นต้น

งานวิจัยนวัตกรรมที่ดี ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้ของภาควิชาใดวิชาหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือกัน และที่สำคัญคือ การร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และ ภาคการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย นวัตกรรม ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา และค้นหาวิธีการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ช่วยให้การดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ สังคมโดยรวมดีขึ้น”

เปลี่ยนงานวิจัยนวัตกรรมไทย ให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

“จุดแข็งของ สจล. ที่ทำให้ได้รับการยอมรับในวงการนวัตกรรม และธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ “ผศ. ดร.รัชนี” เชื่อว่ามาจากการที่ นักศึกษาจากสถาบันแห่งนี้รู้งานเพราะลงมือปฏิบัติจริง ในขณะเดียวกันคณะอาจารย์ที่ร่วมทำงานกับทางภาคอุตสาหกรรมในแขนงต่าง ๆ ทำให้เข้าใจความต้องการของตลาด ภาคธุรกิจ คณาจารย์ของสถาบันแห่งนี้จึงไม่ใช่รู้แค่ในเชิงของทฤษฎี แต่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร สามารถนำมาถ่ายทอดให้นักศึกษาได้อย่างถ่องแท้ ร่วมถึงพัฒนาทำงานวิจัยนวัตกรรมที่ช่วยภาคธุรกิจได้มากกว่าแค่ดีแต่นำมาใช้ไม่ได้ต้องอยู่บนหิ้งเหมือนที่ผ่านมาๆ แต่วันนี้งานวิจัยนวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำมาสารตั้งต้น พัฒนาก่อประโยชน์ให้แก่ภาคธุรกิจได้

ผลลัพธ์จากการตั้งเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ของตลาดภาคธุรกิจ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาทาง สจล. มีผลงานวิจัย นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากมาย ล่าสุดเตรียมนำ ยกทัพนวัตกรรม และผลงานวิจัยนับ 1,000 ชิ้นงาน จากอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานชั้นนำ โชว์ศักยภาพสู่สายตานักพัฒนา นักธุรกิจชั้นนำในไทยและระดับโลก ในงาน "KMITL INNOVATION EXPO 2024 SustainED Innovation" ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 มีนาคม นี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ภาพกิจกรรม KMITL Innovation Expo 2023

“KMITL INNOVATION EXPO 2024” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนับเป็นครั้งที่สอง ที่ทาง สจล. จัดขึ้น โดยคอนเซ็ปต์ของงานนี้ไม่เพียงโชว์งานวิจัย นวัตกรรม ต่างๆ แต่ทางสถาบันฯ หวังว่าผลงานเหล่านี้จะสร้างอิมแพคให้กับประเทศในหลายมิติ ตั้งแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการให้เด็กไทยสนใจเห็นถึงความสำคัญของการนวัตกรรม ได้เข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางด้านนวัตกรรม ไปจนถึงกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรม และนำสิ่งเหล่านี้ไปร่วมพัฒนาประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจไทยมองเห็นโอกาสของการนำผลงานวิจัยนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดสร้างโอกาสความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ไปจนถึงแสดงให้ต่างชาติได้เห็นศักยภาพของนักศึกษานักวิจัยไทย ที่มีองค์ความรู้ไม่เป็นรองประเทศใด และให้ความสนใจในการดึงบุคลากรเหล่านี้ไปร่วมทำงานในระดับโลกต่อไปในอนาคต”

ตลอด 3 วันที่จัดงาน “ผศ. ดร.รัชนี” เผยว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสกับงานวิจัยที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลในกระดาษ แต่เป็นงานนวัตกรรมที่มีการทำโมเดลออกมาเป็นรูปเป็นร่างเพื่อให้ทุกคนได้เห็น สัมผัส เรียนรู้กันอย่างกันอย่างใกล้ชิด โดยมีธีมนวัตกรรมใหญ่ๆ อย่าง นวัตกรรมเกษตรในอนาคต (Future Farming), นวัตกรรมพลังงานสมัยใหม่และสิ่งแวดล้อม (New energy and environment), นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City), นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 (industry 4.0), นวัตกรรมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power หรือ Creative Economy), นวัตกรรมทางการสุขภาพ (Health and Wellness) และยังมีประเด็นงานวิจัยนวัตกรรมปลีกย่อยอีกมากมาย

ภาพกิจกรรม KMITL Innovation Expo 2023

“KMITL INNOVATION EXPO 2024” จะเป็นการพลิกโฉมการนำเสนองานวิจัย นวัตกรรม ครั้งสำคัญอีกเวทีหนึ่งของประเทศไทย เพราะทุกงานวิจัย นวัตกรรม สามารถดึงมาใช้ในการต่อยอด และตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของผู้คนจริง ๆ ไม่ใช่แค่แนวทาง แต่ปฏิบัติจริงได้ “ผศ. ดร.รัชนี” ย้ำพร้อมยกตัวอย่าง

เรื่องของ Future Farming, Smart Farming ที่ส่วนใหญ่ก็จะโฟกัสไปที่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต้องลงทุนมาก ๆ แบบนี้โอกาสที่เกษตรกรไทยจะทำได้มีน้อยมาก สิ่งที่ทางนักศึกษา คณะอาจารย์ นักวิจัย สจล. ทำคือร่วมกับพันธมิตร หน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงภาคธุรกิจ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง มองแนวทางของการพัฒนาใหม่ โดยหันไปให้ความสำคัญที่วัตถุประสงค์ของการทำสมาร์ทฟาร์มของคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป การประยุกต์ใช้นวัตกรรมพัฒนาก็ต่างกันออกไป ถ้าเป็นนักธุรกิจที่ทำส่งออกผลผลิตไปนอก ก็ต้องลงทุนแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นกลุ่มชุมชนเกษตรกรไทย ก็ต้องโฟกัสการพัฒนาไปอีกแบบ โดยนำปัญหาที่คนแต่ละกลุ่มเจอแล้วมาคิดพัฒนาสร้างสิ่งใหม่ ๆ เช่น ที่ผ่านมาชาวเกษตรกรบอกผลผลิตขายไม่ได้ราคา ยอมทิ้งให้เน่าเสียไปดีกว่า ขายไม่คุ้ม แบบนี้ ทาง สจล. ก็พยายามวิจัยนวัตกรรม โดยมีโจทย์ว่า สามารถนำสินค้าการเกษตรเหล่านี้มาแปรรูป เพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ทำให้ขายคนไทยประเทศ และส่งออกไปได้ด้วย หรือ มองไปไกลกว่านั้นอีกว่า จะทำอย่างไรให้สินค้าการเกษตรเหล่านี้ กลายเป็น Soft Power ที่สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย

คือ วันนี้การทำงานวิจัย นวัตกรรม ให้เปลี่ยนจาก ขึ้นหิ้ง มาเป็น ขึ้นห้าง ต้องคิด วางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหา แต่ต้องเพิ่มมูลค่า ไปจนถึงช่วยให้การทำตลาดต่าง ๆ ในเชิงธุรกิจง่ายขึ้น ซึ่งผลงานวิจัย นวัตกรรมเหล่านี้ก็จะนำเสนอภายในงาน KMITL INNOVATION EXPO ครั้งนี้ด้วย ดังนั้นงานวิจัย นวัตกรรม ในแต่ละธีมก็จะมีความหลากหลายให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสเรียนรู้มากมาย

ภาพกิจกรรม KMITL Innovation Expo 2023

นอกจากแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมแล้ว ในแต่ละธีมก็จะหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาทางพัฒนาไทยในอนาคตด้วยเช่น พลังงานทดแทน (Renewable energy), สิ่งแวดล้อม (environment) ก็เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั้งทางภาคธุรกิจ และรัฐบาลต้องสนใจ ยกตัวอย่างเช่น มีการพูดถึงการ ปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต คือ ทำอย่างไร ทำแล้วขายใคร นวัตกรรมจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร ภาครัฐต้องส่งเสริมแบบไหนไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ เรื่องราวพวกนี้จะถูกหยิบยกมาคุยกันเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย หรือ อุตสาหกรรม 4.0 (industry 4.0) ที่ในไทยพูดกันมานานแต่ยังไม่เห็นการพัฒนาอย่างครบวงจร ในขณะที่หลายประเทศไป industry 5.0 รวมถึงการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งวันนี้ก็จะลงทุนอะไรไป ควรต้องค้นหาตัวตนของประเทศก่อน ต้องพัฒนาสร้างแบรนด์ดิ้งอย่างไร หรือกรณีของ สุขภาพทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ก็จะหยิบยกปัญหา ข้อจำกัดในการเข้าถึงการแพทย์ของคนไทย โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด และชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยี นวัตกรรม ถ้ารู้จักนำมาใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้คนไทย คนไทยมีสุขภาพที่ดีที่สุด หรือ การไปหาหมอ เข้ารับคำปรึกษาต่าง ๆ ทำได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศก็ตาม เหล่านี้เป็นต้น

ภาพกิจกรรม KMITL Innovation Expo 2023

ภายในงานนี้ยังรวมผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติไว้ด้วย โดย “ผศ. ดร.รัชนี” กล่าวว่า หนึ่งในความพิเศษของกิจกรรมครั้งนี้คือ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างประเทศ ที่เป็นพันธมิตรกับ สจล. ได้เตรียมนำงานวิจัยในระดับโลกมาร่วมแสดงที่ สจล. ด้วย ทำให้คนไทยที่มางานนี้จะได้เห็นถึงเรียนรู้นวัตกรรมระดับโลกไปพร้อมกัน

“อย่าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็เตรียมนำเทคโนโลยีนวัตกรรม Future Farming มาร่วมด้วย หรือ ประเทศเยอรมนี ก็มาร่วมในประเด็น industry 4.0 และ Renewable energy อย่างการพลังงานไฮโดรเจน หรือทางประเทศออสเตรีย และสหรัฐอเมริกา ก็จะมาโชว์เรื่องของ พลังงานนิวเคลียร์ ส่วนทางประเทศฟินแลนด์ก็มาร่วมด้วยในเรื่องของนวัตกรรม Environment รวมถึงยังมีบริษัทสตาร์ตอัปจำนวนมากทั้งของไทยและต่างประเทศมาร่วมโชว์ผลงานในธีมต่าง ๆ ด้วย”

รวมถึงภายในงานยังมีกิจกรรมมากมาย อาทิ โซนเวิร์กชอปต่าง ๆ ซึ่งเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกสถาบัน สจล. ที่เข้ามาในงานก็จะได้ลงมือปฏิบัติทดลองด้วยตัวเอง มีการประกวดผลงานทางนวัตกรรมต่าง ๆ เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กไทยสนใจและอยากพัฒนานวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมมีการจัดโซนเวทีเสวนามากมาย โดยได้รับเกียรติจากสปีกเกอร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านวิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ จากต่างประเทศ มาพูดคุยถึงอัปเดตแนวคิด การพัฒนาต่าง ๆ ในระดับโลก ซึ่งถือเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัย นวัตกรรมไทย อย่างมากที่จะได้รับทราบข้อมูลเทคโนโลยีระดับโลกก้าวไปไกลแค่ไหน เบื้องลึกของการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมอย่างละเอียด เพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีในบ้านเราต่อยอดไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ภาพกิจกรรม KMITL Innovation Expo 2023

ไฮไลท์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายในงาน KMITL INNOVATION EXPO 2024 SustainED Innovation อีกเรื่องคือ Business Matching คือ การเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจ ได้ร่วมมือพูดคุยกับเจ้าของงานวิจัย นวัตกรรมต่างๆ และนำมาซึ่งความร่วมมือในเชิงธุรกิจในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก ถึงเวลาแล้วที่ต้องลบแนวคิดเดิมที่ มองว่างานวิจัยนวัตกรรมไทยต้องใช้ในไทยเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี นวัตกรรมบางอย่างถ้านำมาใช้ในตลาดไทยอาจยังไม่พร้อม แต่ตลาดต่างประเทศพร้อมมาก โดย ผศ. ดร.รัชนี ที่คลุกคลีในวงการนวัตกรรมมานาน เผยว่าที่ผ่านมางานวิจัย นวัตกรรมของไทยจำนวนมากที่เจ้าของธุรกิจในไทยยังไม่กล้าลงทุนซื้อไปพัฒนาทำต่อ แต่ในนักลงทุนจากต่างชาติมาเจอผลงานแล้วสนใจ ตกลงซื้อลิขสิทธิ์ไปต่อยอดกับธุรกิจเขาก็มีไม่น้อย ดังนั้นงานวิจัยนวัตกรรมบางอย่างจะโตได้อาจจะต้องผลักดันไปที่ต่างประเทศก่อน จนได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้วค่อยมาพัฒนาต่อในไทย

“ทาง สจล. อยากให้งานนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่คนไทยได้เห็นว่าเทคโนโลยีต่างประเทศไปก้าวไปแค่ไหนกันแล้ว เพราะบางครั้งหากมองแต่ภายในประเทศตัวเอง สิ่งที่นักวิจัยนวัตกรรมไทยมองว่าดีแล้ว แต่ในมุมต่างประเทศอาจเป็นอีกเรื่องไปเลย การรู้เทรนด์ รู้แนวคิดงานวิจัยนวัตกรรมของต่างประเทศ ก็จะช่วยให้คนไทยพัฒนาเท่าทันกับนานาชาติด้วย”

ถึงเวลาดึงศักยภาพงานวิจัยนวัตกรรม พัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมไทย

ทั้งนี้ ผศ. ดร.รัชนี เชื่อว่างานวิจัย นวัตกรรม จะเป็น Key Success Factors ที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรุดหน้า โดยต้องเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่วันนี้ เพราะทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลานาน และอย่าลืมว่าในขณะที่ไทยกำลังพัฒนา ชาติอื่น ๆ ก็พัฒนาไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าอยากแข่งขัน โตอย่างยั่งยืน ต้องปรับวิธีคิด และลงมือทำอย่างทันที ที่สำคัญภาครัฐต้องส่งเสริมอย่างจริงจัง

“ประเทศเกาหลี ประสบความสำเร็จอย่างมาในเรื่อง Soft Power ซึ่งถ้าย้อนไปดูความสำเร็จของ K-POP, K-Dramas มาจากการวาง Roadmap ของทางภาครัฐบาล ที่ทำมานานนับสิบปี ไม่มีแค่ทำในเชิงนโยบายเท่านั้นแต่กล้าลงทุนไปกับสิ่งนี้ใช้เงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี สนับสนุนบริษัทภาคเอกชนที่ทำทางด้านนี้โดยเฉพาะ จนถึงวันนี้ K-POP, K-Dramas กลายเป็น Soft Power ที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก สร้างเม็ดเงินให้กับเกาหลีใต้อย่างมหาศาล”

“ประเทศเอสโตเนีย มีประชากรเพียงล้านกว่าคน แต่รู้จักนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ยกระดับคุณภาพประชากรของตนได้อย่างน่าสนใจ ข้อมูลของหน่วยงานรัฐทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียว สามารถเข้าถึงทุกบริการของรัฐได้หมด และรวดเร็ว อย่างในบ้านเราเวลาเสียภาษีประจำปี ต้องมีกรอกข้อมูล ส่งเอกสาร ผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอนใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ที่ เอสโตเนีย เพียงแค่เสียบบัตรประชาชน ระบบตรวจสอบจัดการให้ทุกอย่าง ใช้เวลาในการทำเรื่องภาษีเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น ได้รับเงินภาษีคืนเรียบร้อย นี่คือตัวอย่างเล็กน้อยที่สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมของทางภาครัฐ”

“ย้อนไป 10 กว่าปีที่แล้วประเทศจีน มีนโยบายดึงคนจีนเก่งๆ ที่อยู่ต่างประเทศให้กลับมาที่จีน ยอมซื้อตัวนักวิจัย นักพัฒนาเก่ง ๆ ที่ทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ กลับมาทำงานในประเทศตัวเอง วันนี้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่เก่งด้านเทคโนโลยีระดับโลก”

“ไต้หวัน ประเทศเล็กมีพื้นที่น้อยมาก เป็นที่ตั้งของ ทีเอสเอ็มซี (TSMC) ที่ผลิตแต่เซมิคอนดักเตอร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งวันนี้กลายเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก เพราะเขารู้ว่าเซมิคอนดักเตอร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คือ หัวใจของเทคโนโลยีในอนาคตทั้งหมด ซึ่งถ้าย้อนไปดูจะพบว่า ทีเอสเอ็มซี คือ บริษัทที่ทางรัฐบาลส่งเสริมช่วยเหลือมาตลอดตั้งแต่ต้น เพราะการทำการผลิตแบบนี้ใช้งบลงทุนที่สูงมาก ทางรัฐก็สนับสนุน จนวันนี้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่มีจุดแข็งทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว”

“ทุกวันนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาก ถ้าประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม ในอนาคตถ้าการทำการค้าในระดับโลก มีการกำหนดเรื่องของ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขึ้นมาแล้วไทยไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาล”

เหล่านี้คือ ตัวอย่างที่ ผศ. ดร.รัชนี หยิบยกขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเชิงนโยบาย เงินลงทุน การตลาดในระดับโลก จะช่วยพัฒนาประเทศได้ทุกมิติ และที่สำคัญคือ การร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา นักวิจัย ผู้พัฒนานวัตกรรมไปจนถึงภาคธุรกิจ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนทุกองคาพยพเพื่อก้าวสู่โลกนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

เป็นที่ประจักษ์ดีว่าในยุคดิจิทัล “นวัตกรรม” ไม่ได้แค่เพียงเปลี่ยนโลกธุรกิจ และยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และสังคมได้อย่างยั่งยืน บทบาทของสถาบันการศึกษา จึงหาใช่แค่แหล่งรวมองค์ความรู้เท่านั้น หากแต่เป็นจิกซอว์สำคัญของการบ่มเพาะสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมรุ่นใหม่ สร้างรากฐานนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เกือบ 6 ทศวรรษ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยึดมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ ให้ทันยุคเข้าสมัย สร้างบุคลากรพัฒนาประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก โดยทาง รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. เผยถึงแนวทางในการบริหารจัดการด้านวิชาการ หลักสูตรของ สจล. ว่า

เน้นการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถทางด้านนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์สังคม การทำงานในอนาคต ซึ่งจะทำได้เช่นนี้ต้องพัฒนาผสานความร่วมมือหลายฝ่าย พัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ร่วมถึงสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติด้วย”

ทั้งนี้ “รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์” ย้ำว่าเพื่อสร้างนักศึกษาที่ตอบโจทย์สังคมตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน การพัฒนาหลักสูตร จึงไม่ใช่เกิดจากแค่องค์ความรู้ของคณะอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น แต่ทางอาจารย์ผู้สอนจะร่วมมือกับผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่มีคุณวุฒิจากภายนอกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง มาร่วมกันแชร์ไอเดีย วิจัย วิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ๆ และมีภาคปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสถึงรูปแบบการทำงานจริง ๆ กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่1 เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงการทำงาน เพราะหากรอให้เรียนใกล้จบแล้วไปฝึกงานก็อาจจะช้าเกินไปในยุคนี้ ผลลัพธ์จากการร่วมพัฒนาหลักสูตรดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักศึกษาที่จบจากทาง สจล. มีความรู้ความสามารถ กลายเป็นที่ต้องการตัวของภาคธุรกิจนวัตกรรมต่าง ๆ เมื่อใกล้เรียนจบก็มีการจองตัวเพื่อเข้าทำงานจำนวนมาก

การที่ทาง สจล. พัฒนาหลักสูตรไม่ยึดทฤษฎีแบบเดิม ๆ แต่ปรับเปลี่ยนให้ทันโลกความเป็นจริงอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้นักศึกษาสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริง ๆ กล้าลองนำความรู้ งานวิจัย มาประยุกต์สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาในการทำงานบนสนามจริง เมื่อเรียนจบนักศึกษาก็จะมีศักยภาพพร้อมกับการทำงานเต็มที่ จบออกมาภายใต้การสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่แค่ทฤษฎีบนกระดาษ ย่อมสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการ ก่อเกิดการจ้างงานในอนาคตนั่นเอง”

เดินหน้าเติมเต็มองค์ความรู้ สร้างหลักสูตร 2 ปริญญา และนานาชาติ

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เผยว่า สจล. ไม่เพียงเดินหน้าร่วมมือกับภาคธุรกิจ แต่ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยไทยชั้นนำอื่น ๆ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พัฒนาหลักอบรมทั้งระยะยาว ระยะสั้น จนทำให้วันนี้ สจล. กลายเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรที่เติบโตอย่างมาก โดยปัจจุบันได้มีการเปิด หลักสูตร 2 ปริญญา (Double Degree) และหลักสูตรนานาชาติ ขึ้นมากมาย

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. กล่าวถึงแนวคิดการทำหลักสูตร 2 ปริญญาหลักสูตรทั่วไปทั้งในไทย และต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบหลักสูตรเดียวเป็นหลัก แต่จากการที่ สจล. ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ และภาคสังคมต่าง ๆ รวมถึงใส่ใจความต้องการของนักศึกษา จนพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีแนวคิดการเรียนสมัยใหม่มากขึ้น โดยเด็กรู้สึกว่าการเรียน 4 ปี ไม่อยากอยู่ในกรอบเดิม ๆ อยากมีความรู้อื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำงานร่วมกันได้จริง ในขณะเดียวกันตลาดงานเองเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถรอบด้านมากขึ้น

เช่นนี้แล้วทางสถาบันจึงออกแบบหลักสูตร 2 ปริญญาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการผสมผสานความรู้สองด้านเข้าด้วยกัน โดยมีแกนกลางที่เชื่อมโยงความรู้ ไม่ใช่การเรียนแบบสะเปะสะปะ แต่เนื้อหารายวิชาจะมีความสอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ซึ่งปกติเรียน 4 ปี และ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม เรียน 5 ปี พอนำมาทำหลักสูตร 2 ปริญญาร่วมกันจะเหลือเรียน 5 ปี เท่านั้น เท่ากับว่าต้องออกแบบหลักสูตรขึ้นมาใหม่ไม่ให้บีบกรอบการเรียนมากเกินไป ซึ่งการทำให้เกิดความสมดุลของหลักสูตร รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ยอมรับ ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา เพราะเรียนจบแล้ว สามารถไปทำงานได้หลากหลายมากขึ้น อย่างการเรียนวิศวกรรมโยธา จะทำให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องของโครงสร้างการคำนวณต่าง ๆ เข้าใจหลักการในการออกแบบ ส่วนสถาปัตยกรรม เรียนเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งทั้งสองคณะฯ นี้ช่วยเสริมความรู้ซึ่งกันและกันได้ ปัจจุบันหลักสูตร 2 ปริญญาที่รวมสองสาขาวิชาจากสองคณะฯ นี้เข้าด้วยกัน มี สจล. นำร่อง

โดยส่วนใหญ่การทำหลักสูตร 2 ปริญญา จะใช้เวลาในการพัฒนาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่ สจล. ใช้เวลาราว 2-3เดือน เพราะที่ผ่านมาทาง สจล. พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือที่ดีกับสถาบันการศึกษาในไทย และต่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาและสังคมจึงทำได้อย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ต้องคำนึงถึงโอกาสความเป็นไปได้ของการสร้างหลักสูตรด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคณะจะมาร่วมกันได้ ต้องมีแกนกลางรายวิชาที่ไปด้วยกันได้ หลักสูตรนั้น ๆ ถึงจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาจริง ๆ

ปัจจุบันหลักสูตร 2 ปริญญา ของทาง สจล. มีทั้งที่เป็นจากความร่วมมือของคณะภายใน สจล. อย่างหลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ (AGRINOVATOR) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร / หลักสูตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  และ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม/ หลักสูตร AgriBiz-Econ ของคณะคณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะบริหารธุรกิจ

และมีแบบที่ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศอย่าง การทำหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท สาขาการจัดการวิศวกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และสถาบันบัณฑิต

พัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จากปกติเรียนปริญญาตรีควบปริญญาโท จะใช้เวลา 6 ปี แต่เมื่อมาพัฒนาร่วมกันแบบนี้ก็จะใช้เวลาเรียนเพียง 5 ปี ซึ่งก็จะตอบโจทย์สังคม บัณฑิตก็จะสามารถออกมาทำงานได้เร็วขึ้น

ร่วมถึงสถาบันเองได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ อย่างการทำ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ในระดับปริญญาตรี โดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินฮา ประเทศเกาหลีใต้ เหล่านี้เป็นต้น

“ล่าสุดได้มีการพูดคุย เจแปนแอร์ไลน์ หรือแม้แต่สายการบินในไทยเอง ต่างก็ให้ความสนใจในการรับนักศึกษาจาก สจล. ไปร่วมฝึกงานทำงาน เพราะเรามีหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ที่ทำร่วมกับวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรแบบร่วมกับสถาบันที่ได้รับการยอมรับ และร่วมมือกับภาคธุรกิจผู้ประกอบการจริง ๆ ทำให้นักศึกษามีโอกาสมากขึ้นในการต่อยอดทางอาชีพในอนาคต”

“ส่วนโอกาสที่ในอนาคต สจล. จะมีการปรับเป็นการเรียนการสอนแบบหลักสูตร 2 ปริญญา ทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เด็กไทยมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรียนจบ ออกมาแล้วทำงานได้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นมัลติสกิล คือ ทำงานได้อย่างหลากหลาย เด็กบางคนอยากเป็นผู้ประกอบการ มีความรู้บิสซิเนสไม่พอแต่ต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์ด้วย เพราะสามารถนำวิทยาศาสตร์ไปพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ของตัวเองขึ้นมาได้”

นอกจากเรื่องของ หลักสูตร 2 ปริญญา ที่ผ่านมาทาง สถาบันฯ ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติด้วย โดยตอนนี้มีกว่า 20 หลักสูตรแล้ว เช่น หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์ / หลักสูตร Doctor of Dental Surgery คณะทันตแพทยศาสตร์ / หลักสูตร Business Information Technology คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ / หลักสูตร Culinary Science and Foodservice Management (International program) คณะอุตสาหกรรมอาหาร / หลักสูตร Industrial and Engineering Chemistry (International Program) คณะวิทยาศาสตร์ / หลักสูตร B.Eng. Chemical Engineering (International Program) คณะวิศวกรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เชื่อว่า หลักสูตรนานาชาติไม่ใช่แค่ให้นักศึกษามีความรู้ในระดับนานาชาติ มีโอกาสทำงานต่างประเทศมากขึ้น แต่เป็นการพัฒนาสังคมด้วย เพราะการที่มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนด้วย และการที่นักศึกษาไทยได้ไปเรียนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางยุโรป หรือ ญี่ปุ่น จีนเอง เด็กไทยเราก็จะได้เรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากเวลาไปทำงานที่ต่างประเทศ และการเรียนหลักสูตรนานาชาติของ สจล. ซึ่งได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ก็ช่วยให้นักศึกษามีโอกาสทำงานในต่างประเทศมากขึ้น

สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ทุกระดับการศึกษาของไทย

ปัจจุบัน นอกจาก สจล. จะได้รับการยอมรับในวงการศึกษาไทยในฐานะสถาบันผู้นำทางด้านนวัตกรรมแล้ว ยังได้รับความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ จนเกิดเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญรองรับอุตสาหกรรม และโลกอนาคต โดยครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยเรียนรู้ศึกษาทางด้านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดนำมาพัฒนาสังคม และประเทศได้ตลอดทุกช่วงอายุ

ล่าสุด ทาง สจล. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นมาด้วยกัน 4 สถาบันคือ มหาวิทยาลัย CMKL, 42 Bangkok, โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า และสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL)

สำหรับ มหาวิทยาลัย CMKL ทาง รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เผยว่า เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา CMKL ถือเป็นรากฐานของการให้ความรู้ด้าน AI ที่เปิดรับตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก วัตถุประสงค์ของ CMKL คือ การพัฒนางานวิจัย นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทย ซึ่งหลักการเรียนการสอนต่างๆ ก็จะเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน

“ปัจจุบัน CMKL เปิดสอนอยู่ที่ Lifelong Learning Center ของทาง KMITL ตอนนี้มีนักศึกษาเข้าเรียนมาก มีหลักสูตรที่ตอบสนองเรื่องของ AI โดยตรง ซึ่งสถาบันแห่งนี้นอกจากผลิตบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีออกสู่ตลาดแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับทาง สจล. ในเรื่องของงานวิจัย และก็ช่วยพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ของสถาบันด้วย เนื่องจาก คาร์เนกีเมลลอน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก การที่มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง สจล. ก็ช่วยในเรื่องของการวิจัยและการพัฒนาต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยด้วย”

ส่วน 42 Bangkok เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล.กับ Ecole 42 Paris ประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาบันโปรแกรมเมอร์ระดับโลก โดยยุคดิจิทัลนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องของ Coding สำคัญ ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็พยายามโฟกัสเรื่องนี้ ซึ่งทาง สจล. จึงจัดตั้ง 42 Bangkok ขึ้นมาเพื่อพัฒนาการทำ Coding ในไทย โดยเปิดรับผู้ที่สนใจตั้งแต่อายุ 18 ปี คือเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วมีทักษะทางด้านนี้อยากเรียนรู้พัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะก็สามารถมาเรียนได้ ซึ่งรูปแบบการเรียนจะเป็นในลักษณะของการ Coaching คือ จะเรียนกันเป็นกลุ่มก้อน ช่วยเหลือแนะนำกันและกัน โดย หลักสูตรนี้หากเรียนครบ 21 ระดับ ก็จะได้รับประกาศนียบัตร Ecole 42 Paris แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่ถูกทาบทามไปทํางาน ตั้งแต่ยังไม่จบระดับที่ 21 เพราะด้วยความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาด ตอบโจทย์ภาคของสังคม ธุรกิจได้จริง

สำหรับ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า เป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่มุ่งเน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เป็นพิเศษ โดยมีคอร์สเรียน AP ตามหลักสูตรประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) บรรยากาศการเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และความพิเศษของนักเรียนที่นี่อย่างหนึ่งคือสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของนักศึกษาระดับปริญญาของ สจล. ได้ เช่น ห้องสมุด หอพัก สนามกีฬา ตลอดจนบางวิชาจะเป็นอาจารย์ของ สจล.เองที่เข้าร่วมสอนด้วย นอกจากนี้นักเรียนสามารถเลือกเรียน Track ที่เรียกว่า “Pathway to KMITL” เข้าสู่การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีที่ สจล. ได้ด้วย

นอกจากพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัล เทคโนโลยีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา และ ภาคประชาชนทั่วไปแล้ว ทาง สจล. ก็มีรองรับการพัฒนาในระดับอาชีวะศึกษา ระดับอนุปริญญาด้วยเช่นกัน โดยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยที่ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ก่อตั้ง สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ขึ้นมา ตามโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นฝ่ายขับเคลื่อนดำเนินการ เปิดสอนในหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ในหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2567 จะเปิดหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงาน

“หลักสูตรที่สอนใน สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. จะเน้นเป็นการเรียนที่มาพร้อมภาคปฏิบัติ เพื่อให้เด็กที่เข้ามาเรียนได้ปูพื้นฐานความรู้ที่ดี ต่อยอดด้านทักษะ มีฝีมือ จนสามารถทำงานได้ตรงกับที่ตลาดต้องการ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ มีความสามารถเก่งเฉพาะด้าน ถ้าจบในหลักสูตรอนุปริญญา แล้วต้องการทำงานไปด้วย และเรียนต่อไปด้วย ทาง สจล. ก็พร้อมสนับสนุนโดยสามารถมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ สจล. ได้ด้วย”

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการศึกษามานาน เชื่อว่า หลักสูตรการเรียนการสอน คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม กำลังคนที่มีศักยภาพจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มหาศาล ดังนั้น สจล. ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งมั่นให้การศึกษาและวิจัยเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์สังคม มุ่งเน้นการสอนที่ให้นักศึกษาได้รู้จัก คิด วิเคราะห์ กล้าคิด กล้าแสดงออก และรู้จักการทำวิจัยและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลได้จริง


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Page 1 of 12
X

Right Click

No right click