January 22, 2025

ยุทธศาสตร์ 15 ปี สจล. ‘The master of Innovation’ ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย

April 15, 2022 13797

ทุกคนพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่ความท้าทายที่น่ากลัวที่สุดของเรื่องนี้ ผมว่าคือ การไม่ลงมือทำอะไรในขณะที่ทุกคนล้วนรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งโลก และตลอดเวลา

แต่มีกี่คนที่กล้าลงมือทำ กล้าเปลี่ยนและลงมือก่อน การเปลี่ยนและทำใหม่ แม้จะผิด หรือ Fail แต่ก็จะเป็น Failing Forward ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีความสำเร็จไหนจะเกิดได้จากการไม่ลงมือทำเพราะโลกใบนี้มันหมุนได้ด้วยการลงมือทำ

คือมุมมอง และความคิดเห็นของ ศาตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เผยกับนิตยสาร MBA ในช่วงหนึ่งของการบอกเล่าในประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ สจล.

Strategic Mapping @ KMITL

ประเด็นใหญ่และเป็นความท้าทายสำคัญของสถาบันการศึกษาในยุคนี้ และยุคหน้า คือเรื่องดิสรัปชันของการศึกษา และรูปแบบการเรียนรู้ที่กำลังเปลี่ยนไป เป็นโจทย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทและหน้าที่หลักในการบ่มเพาะและผลิตบัณฑิตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้เรียน และภาคอุตสาหกรรม ไปกระทั่งถึงภาคสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ในความท้าทายเหล่านี้ ไม่หนีไปจากวิสัยทัศน์และการเล็งเห็นของผู้นำและผู้บริหารของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. อันเป็นที่มาของแผนยุทธศาสตร์ 15 ปีที่ปักธงไว้ภายใต้ธีม The Master of Innovation โดยกำหนดที่จะนำ ‘นวัตกรรม’ มารับมือกับความท้าทายที่เคลื่อนหน้าเข้ามาทุกวัน โดย ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย ได้เผยกับทางนิตยสาร MBA ว่า

เป็นที่ทราบกันว่าที่ผ่านมา สจล.เรามีการเปลี่ยนอธิการ แต่ยุทธศาสตร์แผนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนและยังเดินหน้าบน Mission คือ The Master of Innovation ได้รับการกำหนดไว้แล้วเป็นแผนระยะยาว 15 ปี โดยที่แผนมีการจัดแบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ5ปี โดยผมเองมีหน้าที่ในการกำกับให้แผนงานดำเนินไปสู่เป้าหมาย ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกมีโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่ภาครัฐและสจล. ต้องดำเนินการ อยู่ 3 เรื่องใหญ่ ซึ่งก็คือ

‘Reinventing University’

โดยนิยามและแนวความคิดเรื่องการทำ Reinventing ศ.ดร.สุรินทร์ ได้เล่าถึงคำกล่าวของ สตีฟ จอบส์ เมื่อครั้งเปิดตัว ไอโฟนในครั้งแรกที่ว่า “Apple gonna leave reinventing the phone” ซึ่งถือเป็นประกาศถึงการปฏิวัติถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของโทรศัพท์ทั้งในเรื่องรูปโฉมและการใช้งานโทรศัพท์ไปสู่มิติใหม่

ในทำนองเดียวกันเมื่อ กระทรวงอุดมศึกษาฯ หรือ อว.ในยุคของ ดร.สุวิทย์ แจกโจทย์มาในเรื่อง Reinventing University ผมคิดว่าคงมีความตั้งใจอยากจะ Reinvents การศึกษาไทยไปสู่โฉมใหม่เหมือนการปฏิบัติตัวเองใหม่ของไอโฟนในยุคนั้น

ในการทำ Reinventingมหาวิทยาลัย มีการกำหนดให้สร้างโปรเจกต์จากภาพใหญ่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยเงื่อนไขตั้งอยู่บนศักยภาพ ทรัพยากรและความพร้อมของแต่ละแห่งซึ่งแตกต่างกันไป ซึ่ง สจล.เข้าร่วมในโปรแกรม Reinventing university ครั้งนี้และสิ่งที่เราประเมินศักยภาพและจุดแข็งของตัวเรา และนั่นคือนำมาสู่กระบวนการต่อมาคือ

‘Technology & Innovation base’

ภายใต้องค์ประกอบที่แตกต่างกันของมหาวิทยาลัยในแต่ละที่ ที่เข้าร่วมโครงการ Reinvents ด้วยโจทย์ที่ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง โดยจะมีการแบ่งกลุ่ม จัดกลุ่ม และเข้ากลุ่ม ตามบริบท ศักยภาพและความถนัด โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีจุดอ่อน-จุดแข็งที่แตกต่างกันไป แต่มหาวิทยาลัยจะต้องประเมินให้ได้ว่า จะเลือกกลุ่มหรือ หมวดไหนที่จะสามารถใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่มีไปช่วยแก้ปัญหาประเทศ โดยไม่ต้องเหมือนกัน และในขั้นตอนนี้ สจล.เราซึ่งมีเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี จึงเลือกที่จะอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี (Technology Base) เพื่อโฟกัสและเลือกพัฒนาเทคโนโลยี นับตั้งแต่การพัฒนาคน ไปถึงงานวิจัยบนพื้นฐานของการนำเทคโนโลยี ตลอดจนวัตกรรม เข้ามารับใช้ ซึ่งประเด็นนี้ก็คือที่มาและทิศทางของยุทธศาสตร์สถาบันนั่นก็คือ The Master of Innovation นั่นเอง

เมื่อกำหนดจุดยืนที่จะโฟกัสว่าเป็น Technology Base แล้ว ลำดับต่อมาของการขับเคลื่อนก็ไม่พ้นไปจากเรื่องการเรียนการสอน

‘Courses & Academic’

เมื่อโจทย์การศึกษาเปลี่ยน หลักสูตรและการเรียนก็ย่อมต้องปรับ ศ.ดร.สุรินทร์ เล่าถึง กลยุทธ์และแนวทางการปรับหลักสูตร และการเรียนการสอนของ สจล. ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้ความรู้และมีทักษะที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงว่า

“หลักสูตรและการเรียนการสอน ที่ สจล. ของที่ปรับใหม่ในกระบวนการ Reinventing ครั้งนี้จะต้องตอบโจทย์ ความต้องการ (Demand side) ได้อย่างตรงเป้าและชัดเจน ด้วยกลไกที่ สจล.จัดทำขึ้นที่เรียกว่า Skill Mapping ซึ่งเป็น โรดแมป สำหรับกำหนดหลักสูตร และการเรียนการสอน”  โดย

Skills mapping

“เพื่อให้เรารู้ให้ได้ว่า ฝั่งดีมานต้องการอะไร ผมจึงตัดสินใจ ซื้อดาต้า หรือข้อมูล จากแพลตฟอร์มจัดหางานที่ป็อปปูล่าไม่ว่าจะเป็น LinkedIn, JobDB และอีกสองสามแพลตฟอร์ม รวมไปถึง แพลตฟอร์มออนไลน์เลินนิ่งอย่าง Coursera ผมก็ซื้อมาทั้งหมด แล้วเอาข้อมูลสถิติของการได้งานและการ Recruit มาทำการวิเคราะห์ เพื่อวิเคราะห์ว่า คนที่สมัครแล้วได้งาน รวมถึงองค์กรที่เค้า Recruit คนเค้าต้องการสกิล หรือทักษะด้านใดบ้าง เราจะได้ปรับหลักสูตรให้ตรงกับที่ตลาดหรือดีมาน ต้องการจริงๆ ผมเรียกโปรเจกต์นี้ว่า แปลงดราม่า เป็นดาต้า

รองอธิการบดี สจล. เล่าขยายถึงความหมายของคำว่า ดราม่าและดาต้า ที่หมายถึงประเด็นถกเถียงที่โต้แย้งกันมายาวนานระหว่างฝั่งมหาวิทยาลัยผู้ผลิตบัณฑิตกับฝั่งภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้บัณฑิตที่เป็นดราม่ากันตลอดมาว่าผลิตบัณฑิตที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ

“ที่นี้ เมื่อความต้องการ ถูกเปลี่ยนจากดราม่ามาอยู่ในรูปของดาต้า หรือข้อมูล และเป็นข้อมูลจากภาคการใช้จริง จึงเป็นความชัดเจนที่ทำให้เรารู้ว่า ตลาดต้องการอะไร สกิลแบบไหน ถึงแม้ความต้องการในเรื่องสกิลจะเปลี่ยนตลอดเวลา แต่สจล. สามารถปรับหลักสูตรเพื่อรองรับการสร้างทักษะใหม่ที่เป็นที่ต้องการได้ทันที โดยเราสามารถปรับหลักสูตรได้ทุกปี ภายใต้การมีข้อมูลและจัดทำแผนการปรับหลักสูตรนำเสนอต่อสภาสถาบันเพื่อพิจารณา เมื่อสภาสถาบันอนุมัติ การจัดการเรื่องปรับหลักสูตรก็ดำเนินการได้ทันที”

“การทำ Skills Mapping เป็นกลไกสำคัญในการปรับหลักสูตรทุกคณะ ทั้งมหาวิทยาลัยของ สจล.”

ด้วยข้อมูลจากดาต้าที่รวบรวมมา ได้ถูกนำมาจัดแบ่งเป็น 2 หมวดแบบกว้างๆ คือ Soft Skill และ Hard Skill ทำให้ค้นพบข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งว่า

‘คนที่ประสบความสำเร็จ ได้งานทำ 92% ขึ้นอยู่ที่ Soft Skill

Capstone Project

“นักศึกษาเราดู Balance Sheet เป็น วิเคราะห์ตัวเลขได้ รู้จักการลงทุน ทำได้หมด ซึ่งทั้งที่ว่ามามันคือ Hard Skill แต่ Soft Skill ไม่ว่าจะเป็นทักษะผู้นำ ความสามารถในการสื่อสาร เจรจา การทำงานเป็นทีม เหล่านี้เป็นที่ Soft Skill ที่มีดัชนีชี้ความสำคัญต่อความสำเร็จ และเป็นที่ต้องการ ดังนั้นสจล.เราจึงปรับหลักสูตรโดยเพิ่มและเติมวิชาการสร้างสกิลที่จำเป็นเหล่านี้เข้าไป ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำจริงที่เรียนกว่า Capstone project ที่สถาบันฯ จะเปิดเวทีให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลองทำจริง”

ศ.ดร.สุรินทร์ เผย พร้อมเล่าว่า ที่ผ่านมา นักศึกษาของสถาบันฯ ก็มีการนำโครงการศิลปะ ไอเดียทั้งหมดของ สจล. มาออก NFT (Non Fangible Token) ที่กำลังอยู่ในกระแสของความสนใจในโลกดิจิทัลและคริปโต โดยเป็นกิจกรรมของนักศึกษา ที่ทางสถาบันให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้จริง

“เราไม่ได้ใช้เงินไปซื้อ NFT แต่เป็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ และก็ได้ผลเพราะทำให้เกิดตลาด NFT ของนักศึกษา และเป็นลิขสิทธิ์ของเด็กร่วมกับมหาวิทยาลัย อย่างชิ้นงานศิลปะของนักศึกษาบางคน เราก็ไม่รู้ว่า ในอนาคตเค้าอาจเป็นศิลปินแห่งชาติ และที่สำคัญโครงการที่เกิดขึ้น เป็นการทำงานร่วมกันของนักศึกษาจากหลายๆ คณะมาทำงานร่วมกัน อย่างเด็กคณะบริหาร เค้ามองกลไกตลาดเป็น เราแค่สนับสนุนโดยเปิดเวที เกิดโปรเจกต์เหล่านี้ ก็สามารถประเมินสกิลได้ว่า มีความริเริ่ม สร้างสรรค์”

Capstone project คือตัวอย่างการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ สจล.มุ่งส่งเสริมให้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำจริง จำลองเปิดโรงงานจริงๆ ที่ฝึกจริงๆ ให้เด็กได้ลองทำจริงๆ โดยมหาลัยเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะล้มเหลว ลุกขึ้น ปรับตัว เรียนรู้ หรือสามารถที่จะทดลองการทำงานให้ได้ในมหาลัย โดยต่อไปหลักสูตรจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางลักษณะนี้

สจล. จะเริ่มใช้กลไกหลักสูตรใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 โดยจะเป็นเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในคอนเซปต์ Reinventing University ที่หลักสูตรทั้งหมดจะเน้นไปที่นวัตกรรม ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนที่ปรับใหม่

New Learning Experience อาคารเรียนใหม่ KBS

ศ.ดร.สุรินทร์ เผยว่าเพราะคณะบริหารธุรกิจ หรือ KBS เป็นคณะที่มีพันธกิจและรับหน้าที่หลักที่จะต้องสร้างสกิลในเรื่อง ผู้ประกอบการซึ่งเป็นสกิลที่มีความต้องการสูง และนักศึกษาทุกคณะก็ต้องได้รับการพัฒนาทักษะของความเป็นผู้ประกอบการ ทางสจล.จึงดำริ ที่นอกเหนือไปจากอาคารใหม่ของคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งมีการลงทุนในการทำอาคารเรียนใหม่ด้วยงบประมาณร่วม 200 ล้านบาท ที่นอกจากเป็นอาคารเรียน ยังประกอบไปด้วยอีก 1 อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อสร้าง Eco-System ที่จะให้นักศึกษาเข้ามาเจอกัน มาแชร์ไอเดีย Startup ธุรกิจ รวมทั้งอาจารย์ที่สามารถร่วมกับนักศึกษา Scale up งานวิจัยมาสู่ธุรกิจก็สามารถทำได้ในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้เรียกได้ว่า เป็นการส่งเสริมพัฒนาทั้งการเรียนการสอนของนักศึกษาและคณาจารย์ไปพร้อมๆ กัน เป็นการพัฒนาบุคลากรคืออาจารย์ของเราในการ Startup และดำเนินธุรกิจ และอาคารใหม่แห่งนี้ จะเปิดใช้พร้อมกับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 นี้เช่นกัน

‘กล้าก้าว’ ข้ามความท้าทาย

บนข้อเท็จจริงที่ สจล.เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้การกำกับของภาครัฐ แม้จะออกนอกระบบแต่การบริหารจัดการยังคงต้องมีกฎระเบียบที่ควบคุมดูแลในเรื่องบริหารและธรรมาภิบาล แต่กฎก็คือกฎ ในบริบทของความเป็นกฎ ยังครอบรวมถึงข้อจำกัด ที่ปิดกั้นการก่อเกิดนวัตกรรม และความสร้างสรรค์ใหม่ๆ เป็นหนึ่งในความท้าทายของการคิดใหม่ ทำใหม่ ภายใต้ความท้าทายนี้ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน ได้ยกกรณีศึกษาสมัยเรียนปริญญาเอก วิชานวัตกรรม เรื่อง Locomotive Acts ในปี 1861 เป็นยุคที่วิศวกรในประเทศอังกฤษคิดค้นรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งแต่เคยใช้รถม้า พอจะเปลี่ยนใหม่ไปใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าทางราชการได้ออกกฎหมายควบคุมออกมา กำหนดว่าผู้ใช้รถยนต์จะต้องมีช่างยนต์นั่งข้างๆ อีกทั้งยังกำหนดว่าต้องมีคนถือธงแดงคอยวิ่งนำอยู่ข้างหน้าเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้คนรู้ว่ารถยนต์กำลังจะผ่านมา และอีกข้อคือความเร็วที่ต้องจำกัด ด้วยกฎระเบียบเหล่านี้จึงเป็นที่มาของความเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนถือธงแดงคนไหนจะวิ่งเร็วไปกว่ารถ สุดท้ายแล้วประเทศที่คิดค้นรถยนต์ไฟฟ้าได้แห่งแรก กลับไม่สามารถใช้รถยนต์ที่ได้รับการคิดค้นได้ก่อนใคร วิศวกรที่คิดนวัตกรรมได้กลับต้องออกไปเติบโตและก้าวไกลในต่างประเทศ ผลิตรถยนต์ชั้นนำอาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รวมถึงฟอร์ดในอเมริกา เป็นต้น

เช่นเดียวกัน ถ้ามหาวิทยาลัยออกกฎ เหมือนคนถือธงแดงนั้น เราก็ต้องปลดธงแดงออก กฎข้อบังคับที่เคยถูกเขียนมาด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม ในเวลานั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจง แต่กับปัญหาการศึกษา และปัญหาของประเทศในวันนี้ หลายอย่างมีความ dynamic ดังนั้น เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนในสิ่งที่ทำได้ แล้วดีขึ้น

ผมคิดว่า ต้องเริ่มคิดจากความกล้า กล้าเปลี่ยน แล้วลองทำเหมือนงานวิจัย เมื่อมีทฤษฎี ต่อไปก็ต้องมี Experiment แก้กันไปแก้กันมาจนใช่ คนทำก็อาจจะบาดเจ็บบ้าง แต่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ในการพัฒนาคนของประเทศ ก็น่าคุ้มค่าในการบาดเจ็บ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย สักวันหนึ่งก็อาจจะเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

ทุกวันนี้ทุกคนพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่ความท้าทายที่น่ากลัวที่สุดของเรื่องนี้ ผมว่าคือ การไม่ลงมือทำอะไร ในขณะที่ทุกคนล้วนรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งโลก และตลอดเวลา แต่มีกี่คนที่กล้าลงมือทำ กล้าเปลี่ยนและลงมือก่อน การเปลี่ยนและทำใหม่ แม้จะผิด หรือ Fail แต่ก็จะเป็น Failing Forward ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีความสำเร็จไหนจะเกิดได้จากการไม่ลงมือทำเพราะโลกใบนี้มันหมุนได้ด้วยการลงมือทำ” ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน


เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: จิรภัทร หอวัฒนาพาณิชย์

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 18 November 2022 10:29
X

Right Click

No right click