September 11, 2024

ผู้นำรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว : หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง

March 29, 2019 6862

ทศวรรษที่ผ่านมาเวทีการประชุมระดับโลกและระดับภูมิภาค ได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามแดน

การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความมั่นคงและความเชื่อมโยงของทรัพยากรน้ำพลังงาน และอาหาร เป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาแลกเปลี่ยน และหาทางออกร่วมกัน เพราะประชาคมโลกตระหนักดีถึงภัยคุกคามจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ จึงเป็นแรงขับและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเกิดกระแสของการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่กระจายไปทั่วโลก เพื่อปรับและรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ประเทศไทยเอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทั้งการแพร่กระจายของมลพิษจากภาคการผลิต มลพิษในเขตเมืองและชุมชน การลักลอบทิ้งสารเคมีและของเสียจากอุตสาหกรรม ดินโคลนถล่ม ชายฝั่งถูกกัดเซาะพังทลายการบุกรุกและการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การกำหนดเครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์รวม เกิดการบูรณาการแนวคิดระหว่างการอนุรักษ์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคีร่วมพัฒนา การเชื่อมโยงข้อมูลข้อสนเทศด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึก เพิ่มศักยภาพของประชาชนในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมถึงมีการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมต่างๆ สร้างเครือข่ายกับภาคประชาชน เช่น อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และยังมีการพัฒนาบุคลากรทางสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง เป็นการจัดหลักสูตรอบรมระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพนักบริหารระดับสูง ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้เป็นผู้บริหารยุคใหม่หัวใจสีเขียว เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม มีการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบนหลักเหตุและผล โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งสามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีการจัดศึกษาอบรมไปทั้งหมด 6 ครั้ง มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วรวม 392 คน สำหรับรุ่นที่ 7 นี้ (ปธส. 7) เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีผลงานในการพัฒนาศักยภาพนักบริหาร และบริหารโครงการฝึกอบรม ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

เนื้อหารายวิชาของ ปธส. 7 ถูกออกแบบมาให้เน้นเนื้อหาที่มีความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ในการอบรมประกอบไปด้วยการบรรยายแบบมีส่วนร่วม การระดมความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกัน การเปรียบเทียบและวิเคราะห์กรณีศึกษาและการลงพื้นที่ศึกษา โดยมีหัวข้อกลุ่มรายวิชา 5 กลุ่มดังนี้

 

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับหลังจากจบหลักสูตรนั้น นอกจากความรู้ ความเข้าใจ ทั้งด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสามารถ ศักยภาพการจัดการทางสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้รวมทั้งในบริบทของตนเองและองค์กร นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร ปธส. 7 สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.eng.chula.ac.th/en/) และเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (https://www.deqp.go.th/)


บทความโดย

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล 

ดร. พัชรียา รุ่งกิจวัฒนานุกูล 

ชนม์นิภา ว่องวีรวัฒนกุล

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Monday, 31 May 2021 06:59
X

Right Click

No right click