โดยการงดแจกถุงพลาสติกนี้เกิดจากข้อตกลงระหว่างบริษัทห้างร้านหลายแห่งกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-used plastic) เพื่อลดปริมาณขยะถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งตามสถิติแล้วมีขยะถุงพลาสติกถูกทิ้งมากกว่า 85,000 ใบใน 1 นาที หรือ เราจะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงกว่า 45,000 ล้านใบในแต่ละปี
ผลพวงที่เกิดจากนโยบายการงดแจกถุงพลาสติก ทำให้เกิดความเห็นต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เห็นถึงความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย ซึ่งหลายกระแสก็สร้างสีสันและความสนุกสนานในโลกโซเชียลในการหาสิ่งอื่น ๆ มาทดแทนถุงพลาสติกในการซื้อของ ทั้งกะละมัง ถังน้ำ ไปจนถึงรถเข็นปูน แต่ในกรณีทั่วไปแล้ว ถุงที่เรานำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกคงมีอยู่ไม่กี่ชนิดที่สามารถหาได้ทั่วไปและเป็นที่นิยมใช้
ความสนใจของคนไทยตามสถิติการค้นหาใน Google ตั้งแต่ปี 2015 – 2019
“ถุงผ้า” จัดเป็นถุงที่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกมากที่สุดประเภทหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการเริ่มใช้กันมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเข้าใกล้ปี 2020 ที่เป็นการเริ่มต้นการงดแจกถุงพลาสติก ความสนใจในประเด็นถุงผ้าในประเทศไทยสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลการค้นหาใน Google ระบุว่า ในช่วงปลายปี 2019 เป็นช่วงเวลาที่คนไทยให้ความสนใจกับถุงผ้ามากที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ถุงผ้าจะสามารถนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกได้ดีเพียงใด จากการศึกษาผลของภาวะโลกร้อยที่เกิดจากกระบวนการผลิตถุงผ้าฝ้าย 1 ใบ พบว่า ควรมีการใช้ถุงผ้าซ้ำมากกว่า 131 ครั้ง จึงจะมีผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนเท่ากับการใช้ถุงพลาสติก 1 ใบที่ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ[1] ดังนั้นแล้ว การใช้ถุงผ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำให้มากครั้งสมกับทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไปในการผลิต
นอกจากถุงผ้าฝ้ายแล้ว ถุงสปันบอนด์เป็นถุงอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติก ซึ่งหลายหน่วยงานมีการแจกถุงสปันบอนด์นี้เพื่อใช้แทนถุงพลาสติกในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ แต่ถุงสปันบอนด์นี้จำเป็นต้องใช้อย่างถูกต้องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากถุงชนิดนี้
การแตกตัวของพลาสติกเมื่อถูกรังสี UV[2]
ถุงสปันบอนด์ (Spunbond) หรือ Non-woven Polypropylene เป็นถุงที่ถ้าดูด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่สัมผัสจะเหมือนกับถุงผ้า แต่แท้ที่จริงแล้วถุงชนิดนี้มักจะผลิตมาจากพลาสติก PP (Polypropylene) โดยการปั่นให้เป็นเส้นยาวและขึ้นรูปเป็นแผ่น ก่อนนำมาผลิตเป็นถุงผ้า เนื่องจากถุงสปันบอนด์นี้มีน้ำหนักเบาและสวยงาม จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการนำไปใช้แทนถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นผลดีในการลดปริมาณถุงพลาสติก โดยถุงสปันบอนด์นี้เป็นถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้งได้ อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังของถุงสปันบอนด์ คือ ความบางของเนื้อพลาสติกที่เป็นเหตุให้พลาสติกสามารถฉีกขาดได้ง่าย ไม่ทนทานเท่ากับถุงพลาสติกทั่วไปที่มีความเหนียว ผนวกกับกระบวนการผลิตถุงจากพลาสติกชนิด PP ที่ทำให้เมื่อถูกรังสี UV และอากาศจะทำให้พลาสติกแปรสภาพและเปราะบางยิ่งขึ้นจนส่งผลต่อการใช้งานหรือการเก็บไว้เป็นเวลานานในสภาวะที่โดนแสงแดด ถุงสปันบอดน์พลาสติกจึงเกิดการแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนถ้ามีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรจะถูกจัดเป็น “ไมโครพลาสติก” ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเกิดการสะสมในหลายพื้นที่ได้โดยง่าย
การเกิดไมโครพลาสติกจากถุงสปันบอนด์ และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไมโครพลาสติกมีการกระจายตัวปนเปื้อนอยู่ทั้งในน้ำ ในดิน และในอากาศ[3] ซึ่งเกิดจากกิจกรรมการใช้พลาสติกต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยไมโครพลาสติกเหล่านี้มีผลต่อทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพในระบบนิเวศ และยังเกิดการสะสมและในระบบทางเดินอาหารของสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อการกินอาหาร มีพลังงานสะสมในร่างกายลดลง จนมีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ รวมไปถึงการดำรงชีวิตในระบบนิเวศ นอกจากนี้ การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลต่อสุขภาพจากสารปนเปื้อนประเภทสารเติมแต่งพลาสติกหรือสีย้อมที่อยู่บนอนุภาคไมโครพลาสติก ซึ่งหลายชนิดอาจเป็นสารพิษหรือเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังอาจเป็นแหล่งรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อโรคอีกหลากหลายประเภท ไม่เพียงเท่านั้น ไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนพลาสติกยังมีโอกาสส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและอุดตันตามเนื้อเยื่อจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบไหลเวียนเลือดและระบบประสาท ซึ่งหากมีการสะสมตัวในร่างกายในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทได้
ทั้งนี้ มีการศึกษาจากหลายแห่งที่รายงานว่าไมโครพลาสติกมีการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งอาหารทะเล น้ำดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำตาล เกลือ หรือแม้กระทั่งปนเปื้อนในอากาศในรูปแบบของฝุ่น ถึงแม้ว่าระดับความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในปัจจุบันยังไม่อยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างชัดเจน แต่ในอนาคต หากไมโครพลาสติกเหล่านี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการใช้พลาสติกอย่างไม่ระมัดระวังจนเกิดการสะสมตัว พลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การระมัดระวังไม่ให้เกิดไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นในระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การลดการเกิดขยะถุงพลาสติก
ดังนั้น การลดการใช้ถุงพลาสติกจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงการใช้นำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ และการใช้ถุงผ้าทดแทน ส่วนถุงสปันบอนด์ที่หลายท่านอาจจะได้รับแจกมาแล้วนั้น ควรมีการใช้งานอย่างระมัดระวังและมีการแยกประเภทเพื่อกำจัดอย่างถูกต้อง โดยนำถุงชนิดนี้มาใช้ซ้ำ แต่ในการใช้งานจะต้องระมัดระวังไม่ให้ถุงสปันบอนด์นี้เกิดการฉีกขาดหรืออยู่ในที่ที่โดนแสงแดดตลอดเวลาเพื่อป้องกันการเกิดไมโครพลาสติก และเมื่อถุงสปันบอนด์นี้เกิดการเสื่อมสภาพจะต้องแยกขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นออกจากขยะประเภทอื่นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่พวกเราจะช่วยลดโอกาสที่พลาสติกเหล่านี้จะกลับมาปนเปื้อนและทำร้ายทั้งตัวเราและสิ่งแวดล้อม และทำให้พวกเราอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร
[1] British Environmental Agency (2011). Evidence – Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006.
[2] Yousif E, Haddad R. Springerplus. 2013;2:398. doi:10.1186/2193-1801-2-398
[3] Beverley Henry, Kirsi Laitala, Ingun Grimstad Klepp, Science of The Total Environment,2019;652;483 https://doi.org/10.1016/j.scitotenv.2018.10.166.
บทความโดย:
• ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล |
• ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา |
• ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต |
และ • ชนม์นิภา ว่องวีรวัฒนกุล