November 23, 2024

พลิกวิกฤติ COVID19 ให้เป็นโอกาส

April 01, 2020 7639

เชื่อเสมอกับคำว่า "ทุกปัญหามีทางแก้และมีโอกาสดีซ่อนอยู่" ในช่วงนี้ที่เสพข่าวสาร สถานการณ์ปัญหาของประเทศและทั้งโลก ทำให้เห็นถึงความสามารถและความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย

ขอร่วม #อยู่บ้าน #หยุดเชื้อ #ช่วยชาติ อย่างจริงจัง

ฝากมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับการเรียนรู้วิกฤติเพื่อต่อยอดไปเป็นโอกาสในการเดินหน้าสู่อนาคตของประเทศ ผ่านคำว่า Co-Creation / Optimization / Vitality / Invest for Future / Distance & Sufficiency ดังนี้

C: Co-Creation

การสร้างรูปแบบและแนวทางการทำงานร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ประยุกต์ใช้วิกฤติ COVID19 ครั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดการดำเนินการแบบ Regulatory Sandbox หรือพื้นที่สำหรับการทดลอง ด้านนโยบาย เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขเชิงนโยบาย เอื้อให้เกิดกระบวนการกิจกรรมใหม่ๆ (Intervention) โดยกำหนดกรอบ ขอบเขต เพื่อไม่รบกวนระบบใหญ่ หรือระบบงานในปัจจุบัน วิจัย ประเมิน และติดตามผล เพื่อสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายในการขยายผล ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานอสังหาฯ ที่มีโครงการเก่าๆ ที่ยังไม่เปิดดำเนินการ อาจ Co-create กับสาธารณสุขช่วยรองรับผู้ป่วยที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่หนักมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระด้านการแพทย์แล้ว ยังช่วยเรื่องการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนรอบข้างอีกด้วย หรือ Developer ต่างๆ ที่มีความสามารถในการเขียน Application ก็อาจ Co-create กับหน่วยงานที่ต้องการเก็บข้อมูลของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับ COVID19 เช่น ข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ ข้อมูลทางสุขภาพ นอกจากนี้ เราสามารถช่วยเหลือทีมแพทย์ผ่านการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่แต่ละศาสตร์เชี่ยวชาญ (การออกแบบเต็นท์ รพ.สนาม หน้ากาก & Capsule ผู้ป่วยแบบ Negative Pressure การออกแบบโถงอาคาร) ในส่วนนี้ งบ CSR ของภาคส่วนต่างๆ นับว่าน่าสนใจมากๆ กับการนำมาร่วมสร้างสรรค์และต่อยอด

O : Optimization

การคิดต่อยอดเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด หรือให้ประสิทธิภาพสูงสุด (โดยคิดเทียบกับทรัพยากร หรือต้นทุนที่จ่ายลงไป) ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง COVID19 นี้ พวกเราทำทุกอย่างเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยน ปรับตัว ปรับปรุงกระบวนการทำงานบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การทำงานจากบ้าน (Work from Home) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งผลลัพธ์บางส่วนนั้น ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม การจราจร รวมไปถึงมลพิษที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเราทุกคน ในการนี้ เลยอยากชวนคิดต่อว่าหลังจากที่วิกฤติผ่านไป เราจะ Optimize ประเด็นอะไรเหล่านี้ได้บ้าง…

มีเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เป็นการส่วนตัวคือ เราควรศึกษาวิจัย รวมถึงลงมือพัฒนาปรับปรุงเรื่องการจราจรในเมืองใหญ่ เพื่อรองรับและแก้ไปปัญหารถติดอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเรื่อง PM2.5 ปัญหามลพิษอากาศ รวมถึงค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตของคนเมืองอีกทางหนึ่งด้วย ในขณะที่พวกเราทุกคนก็ต้องเริ่มคิดวางแผน Optimize การใช้ชีวิตของเราในทุกๆ ด้านเช่นกัน เพราะโลกน่าจะไม่เหมือนเดิมนัก หลังวิกฤติ COVID19 ครั้งนี้

V: Vitality

การดูแลสุขภาพกายและใจ รวมถึงสมดุลในการใช้ชีวิต เมื่อเรามองอาการป่วยหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นของโรคร้ายต่างๆ นั้น คิดว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชนิดของเชื้อโรค สภาพแวดล้อมในพื้นที่ และลักษณะของผู้รับเชื้อโรค ซึ่งจาก 3 ปัจจัยข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นเรื่องความแข็งแรงของประชาชน นับว่ามีบทบาทสำคัญมากๆ ยกตัวอย่าง การเสียชีวิตจาก COVID19 ที่สูงมากนั้น มักเกิดกับผู้สูงอายุ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงจากโรคอื่นๆ อยู่แล้วในเบื้องต้น

ดังกรณีที่ประเทศอิตาลี ซึ่งมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน จัดเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมากที่สุดในยุโรป (22 -25%) ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนและลงมือทำอย่างจริงจังในการรณรงค์รูปแบบการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพ รวมถึงสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต และการดูแลสุขภาพ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติต่างๆ อย่างยั่งยืน

ยกตัวอย่างเช่น เราควรมีข้อแนะนำ หรือการแลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลตนเอง และเพิ่ม Vitality ผ่านวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้เราไม่ได้แค่อยู่บ้านแบบเหงาๆ แต่ดูแลร่างกายควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การให้กำลังใจกับทีมทำงานต่างๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนทำได้ เหมือนกับที่หลายประเทศเริ่มทำ ถ้าหากรู้สึกว่าพวกเราลำบากแล้ว ทีมแพทย์พยาบาล คงหนักกว่าเราไม่รู้กี่เท่า ดังนั้น ดูแลสุขภาพตนเอง ลดความเสี่ยง ลดการสร้างภาระเพิ่มเติม

I: Invest for Future

การลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริงเพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบ Disruption จากวิกฤติ COVID19 ที่เกิดขึ้น มองว่าเราได้เห็น 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ กล่าวคือ

1) การแก้ปัญหาด้วยมิติทางการเงิน (แจกเงิน) อาจไม่ใช่ทางออกในช่วงก่อน (ซึ่งต้องขอชื่นชมภาครัฐที่กล้ายกเลิกมาตรการแนวๆ นี้) แต่อยากฝากให้ภาครัฐพิจารณาถึงแนวทางสนับสนุนการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบมาก รวมถึงอาจขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการหาเลี้ยงชีพในช่วงวิกฤติแบบนี้ (Work from Home / Delivery Business / etc.) รวมไปถึงการสนับสนุนพื้นที่ชุมชนในต่างจังหวัด ให้สามารถบริหารจัดการตนเอง ดูแลคนในชุมชน และบูรณาการกับภาครัฐได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการเดินหน้าประเทศช่วงหลังจากนี้ ที่คำว่า Digital & Decentralization เข้ามามีบทบาทในทุกๆ บริบทของสังคมโลก

2) ประเทศยังขาดการลงทุนด้านสาธารณสุข ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมถึงด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพและการดูแลร่างกาย ออกกำลังกาย พอควรเลยทีเดียว จึงอยากให้ประเทศเราใช้โอกาสนี้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการลงทุนด้านสุขภาพเพื่ออนาคตคนไทย โดยเราอาจคิดถึงงบประมาณด้าน CSR องค์กรภาคเอกชน หรือกองทุนเพื่อชุมชนต่างๆ ในการนำมาร่วมลงทุน และต่อยอดโครงการดีๆ ที่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศต่อไป

D: Distance & Sufficiency

การปฏิบัติตนตามหลักระยะห่างทางสังคมและการใช้ชีวิตบนความพอเพียง สุดท้ายคงมาจบที่ มาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เราควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อยากให้พวกเราทุกคนร่วมมือกับมาตรการปิด 26 สถานที่ของหลากหลายพื้นที่ของ กทม. และบางจังหวัด นอกจากนี้ ลดการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไปต่างจังหวัด หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เร่งการกระจายตัวของเชื้อโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศโดยไม่จำเป็น

และสุดท้าย อยากให้พวกเราร่วมกันกลับมาดูตัวเองในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย (การเพิ่มการออม) ของทุกภาคส่วนในประเทศ เริ่มต้นที่ภาครัฐ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ การออกมาตรการเพื่อลดรายจ่ายของภาคประชาชนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นของภาคประชาชน เพราะถึงแม้ว่ารายได้จะทำให้เรารู้สึกดีและร่ำรวย แต่ทว่าเงินออมต่างหาก ที่เป็นตัวบ่งบอกว่า ชีวิตเรามีความมั่นคงและสมดุลหรือไม่?

ดังนั้น ในส่วนนี้ อยากฝากไปถึงทุกภาคส่วนในสังคม พร้อมๆ ไปกับเตือนตัวเองและครอบครัว ให้ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอและพอเพียง รวมถึงอยากให้ภาครัฐ ภาคการศึกษา จริงจังและจริงใจกับเรื่องนี้ เพราะดูจากสถานการณ์โลกแล้ว คงต้องเจอกับอะไรที่หลักหน่วยไปอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว

ฝาก C O V I D นี้ เป็นภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิต และหลักในการเดินหน้าสังคม และประเทศชาติที่รักของเรา


ศ. ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

- รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวฯ จุฬาฯ

- คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 01 April 2020 06:55
X

Right Click

No right click