November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

วิถี 6R สู่ ENV 4.0

July 05, 2018 3069

โดยใน ENV 4.0 เราจะต้องเข้าใจคำนิยามต่างๆ ได้แก่ PER / Integration / Multi-disciplinary R&D for Community / Smart concept ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ ENV 4.0

ดังที่ทุกวงการได้เดินทางมาถึงวิวัฒนาการลำดับที่ 4 ย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น

Industry 4.0 การบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ในทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หน่วยต่างๆ 

Education 4.0 รูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรม ยกตัวอย่าง Chula Engineering Education 4.0 ของทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้แนวทางไว้ว่า การเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้สอน เปิดโลกทัศน์ผู้เรียนได้รู้จริงทำจริง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต 

Marketing 4.0 การใช้เครื่องมือผสานกันระหว่างเครื่องมือตลาดและเครื่องมือขาย เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าโดยใช้เครื่องมือหลัก 4 อย่างคือ Offline Marketing, Online Marketing, Point of Sales และ Commerce E Commerce M Commerce Social Commerce

หากสังเกตคำนิยามของวิวัฒนาการลำดับที่ 4 ในแต่ละวงการจะพบว่า เป้าหมายที่วางไว้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องลมๆ แล้งๆ แต่เป็นการต่อยอดมาจากวิวัฒนาการรุ่นก่อนๆ ทั้งสิ้น โดยนักวิจัยและพัฒนาได้เล็งเห็นแล้วว่าทิศทางของวงการควรจะต้องดำเนินไปเช่นไรและในส่วนของ ENV 4.0 ก็มีคำนิยามเช่นกัน คือ ENV 4.0 แนวคิดการดูแลและจัดการสิ่งแวดล้อม โดยประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการบูรณาการกับศาสตร์วิชาต่างๆ เพื่อวิจัยพัฒนา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง
องค์ประกอบในการก้าวไปสู่ ENV 4.0
เมื่อมองลึกลงไป ENV 4.0 ไม่ได้มีเพียงคำนิยามที่สวยหรูเพียงเท่านั้น การจะเปลี่ยนถ่ายไปสู่วิวัฒนาการลำดับที่ 4 ของวงการสิ่งแวดล้อมได้ จะต้องมีองค์ประกอบและตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ในยุค ENV 3.0 เรามีกระบวนการที่เป็นประโยชน์ที่ทำให้องค์การต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้นก็คือ Corporate Social Responsibility (CSR) รวมถึงมีการนิยามถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) เรื่องเหล่านี้ในความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นจากกฎหมายที่ออกและบังคับใช้โดยภาครัฐ รวมถึงการเรียกร้องจากประชาชนให้ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกัน ภาคประชาชนเองยังคงไม่เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง (ประชาชนมองหาเพียงคนที่จะต้องรับผิดชอบ)

สำหรับ ENV 4.0 ในมุมมองของผู้เขียน จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้กำหนด “ความรับผิดชอบของประชาชนต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งผมขออนุญาตตั้งชื่อว่า Public Environmental Responsibility (PER) โดยที่ PER + CSR จะกลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนวงการสิ่งแวดล้อมไปสู่ ENV 4.0 อย่างแท้จริง
ในส่วนของคำนิยาม PER ในมุมมองของผู้เขียนนั้น เริ่มจากพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคณาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปพร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลจากการแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนของนิสิตในคณะ โดยสามารถสรุปองค์ประกอบของ PER ที่คิดว่ามีความจำเป็นและน่าจะช่วยส่งเสริมกิจกรรม CSR ในปัจจุบัน ได้ 6 ข้อ หรือเราอาจเรียกได้ว่า 6R กล่าวคือ
1. Reject : เป็นแนวทางไม่ผลิตหรือทำของเสีย (Waste) หากเราไม่ทำให้เกิดของเสียตั้งแต่ต้นทาง เราก็จะสามารถควบคุมต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ แนวคิดนี้กับสังคมไทยในปัจจุบันอาจจะยังดูห่างไกล แต่ความตั้งใจ ใส่ใจ และร่วมรับผิดชอบจากภาคประชาชน Reject ต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
2. Recovery : ทราบไหมครับว่าขยะที่เราทิ้งกันมากมายนั้น บางส่วน สามารถนำกลับมาใช้ได้โดยผ่านกระบวนการแยกชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูงและการแยกโลหะด้วยไฟฟ้า เพื่อสกัดเอาแร่ธาตุที่หายาก เช่น ทองคำขาว (Platinum), ทองคำ (Gold), เงิน (Silver) กลับมาใช้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติ
3. Reference : ในการพัฒนาที่ยั่งยืนเราควรจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะจากเหตุการณ์ในอดีต ทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด โดยเฉพาะความผิดพลาดที่เราควรจะมองหาแนวทางป้องกันสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต ในการนี้ ข้อมูล (Database) และองค์ความรู้ (Knowledge) ของกรณีศึกษาในการแก้ปัญหานั้น ควรมีการรวบรวมและเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อการจัดการอย่างเหมาะสมในอนาคต
4. Resilience : ในทางภาษาศาสตร์หมายถึง ความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งโดยทั่วแล้ว คำๆ นี้มักจะมาพร้อมกับคำว่า Disaster หรือภัยพิบัติ ในทางปฏิบัติ การฟื้นฟูสถานการณ์หลังเกิดภัยพิบัตินั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคชุมชน และภาคธุรกิจ ในการเรียนรู้และทำแผนรับมือให้ทันท่วงที
5. Research & Development (R&D) : การพัฒนาด้านการวิจัยและเทคโนโลยี ในทางสิ่งแวดล้อม นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดสิ่งปนเปื้อน การพัฒนาพลังงานทดแทนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบรรเทาสาธารณะภัยหรือรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น เนื่องจากความรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมการรับมือสำหรับอนาคตอย่างเหมาะสมนั้น น่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตและสภาพแวดล้อมโดยรวมในท้ายที่สุด
6. Raise-Fund : การช่วยเหลือส่งเสริมด้านการเงินเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้ดำเนินการได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและบำบัดมลพิษสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เชี่ยวชาญและค่าลงทุนเทคโนโลยีที่จะใส่เข้าไป

โดยสรุป ENV 4.0 ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกของเรา อย่างไรก็ตาม ENV 4.0 ควรมีการเชื่อมโยงเข้ากับ Industry 4.0 / Education 4.0 / Marketing 4.0 ซึ่งมีการพัฒนาและปรับตัวอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในองค์รวม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ (Industry 4.0 / Marketing 4.0) ด้านสังคม (Education 4.0) และด้านสิ่งแวดล้อม (ENV 4.0) อีกหนึ่งประเด็นที่ขาดไม่ได้คือเรื่อง “ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0” ที่เริ่มมีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในสังคมไทยกล่าวถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน ผมจึงขอฝากประเด็น ENV 4.0 ร่วมเข้าไปด้วยเพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:47
X

Right Click

No right click