×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

Back to the ENV 0.0 ตอน นวัตกรรม ออเจ้า ตอนที่ 1 Featured

July 12, 2018 3962

ปรากฏการณ์ ออเจ้า ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวในสังคมไทยอย่างมาก ทั้งการท่องเที่ยวเมืองเก่า การแต่งกายย้อนยุค การศึกษาประวัติศาสตร์รวมถึงภาพนวัตกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ในละคร

ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสิ่งที่ดูล้ำสมัยมากมายอย่างนั้นจริงหรือ? เราไปติดตามกันครับ

Time Line ออเจ้า อยู่ช่วงใด
ปัจจุบันวิวัฒนาการทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นได้เดินทางมาสู่ยุค 4.0 แสดงดังรูปที่ 1 โดยเมื่อเราไล่เรียงตามลำดับเวลาจะพบว่า รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นจะอยู่ในช่วง พ.ศ. 2199-2231 ซึ่งอยู่ในยุค ENV 0.0 ยุคที่ยังไม่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตยังคงเป็นไปอย่างเรียบง่ายและประชาชนมีจำนวนน้อย อาศัยอยู่ตามธรรมชาติที่มีขีดความสามารถรับได้สูง (Carrying Capacity of the Nature) จึงอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในยุคดังกล่าวมีการติดต่อกับต่างชาติเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้าขาย องค์ความรู้ต่างๆ ดังหลักฐานต่อไปนี้

น้ำดื่ม น้ำใช้ : ระบบประปา
รู้หรือไม่ว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีระบบประปาใช้กันแล้ว เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการขุดค้นพบระบบท่อน้ำประปาที่เชื่อมต่อมาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็ก เพื่อนำน้ำมาใช้ในพระราชวัง โดยท่อประปาดังกล่าวสร้างขึ้นจากดินเผาซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทรงกระบอกปลายด้านหนึ่งมีส่วนคอดเล็กลงกว่าปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวได้ ซึ่งท่อดินเผานี้มีความหนาประมาณ 4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางท่อกว้างประมาณ 26 เซนติเมตร แต่ละท่อมีความยาวประมาณ 48 เซนติเมตร เมื่อเรียงสวมต่อกันแล้วจะเชื่อมหุ้มรอยต่อระหว่างท่อ ป้องกันการรั่วของน้ำด้วยปูนผสมหิน โดยท่อถูกฝังไว้ใต้ดินในระดับความลึกประมาณ 1.50 เมตร จากระดับผิวดินในปัจจุบัน ทั้งนี้การจ่ายน้ำจะใช้หลักการง่ายๆ คือ น้ำจะไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ (Gravity Flow) ซึ่งในช่วงแรกแหล่งน้ำที่ใช้จ่ายน้ำให้กับพระราชวังจะมีเพียงทะเล
ชุบศรเท่านั้น แต่เนื่องจากระดับน้ำในทะเลชุบศรสูงกว่า
ตัวเมืองเพียงไม่กี่เมตร แรงดันน้ำจึงอาจไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้มีการเดินท่อประปาเชื่อมไปยังอ่างซับเหล็ก (มีระดับน้ำอยู่สูงจากตัวเมืองมากกว่า) เพื่อนำน้ำมาใช้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบประปาดังกล่าวไม่ได้เป็นนวัตกรรมแต่อย่างใด เนื่องจากระบบประปานั้นมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว และด้วยเหตุผลด้านการจัดการน้ำของกรุงสุโขทัยนี้เอง จึงทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO)

การใช้สารส้มทำน้ำใส
ในละครเราจะได้ยินพี่หมื่นฯ พูดถึงการใช้สารส้มเพื่อทำให้น้ำคลองตกตะกอนและนำน้ำใสมาใช้ หลายคนจึงเกิดความสงสัยว่า ในสมัยนั้นมีสารส้มใช้กันแล้วหรือ คำตอบคือ มีใช้กันแล้วครับ โดยสารส้มมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยโรมันและในแถบเอเชียกลางมีใช้ (ผลิต-ซื้อขาย) กันมากว่า 500 ปีแล้ว ซึ่งในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้มีการติดต่อการค้ากับชาวต่างชาติเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน จึงไม่แปลกหากสารส้มจะเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ค้าขายกัน ซึ่งสารส้มยังถูกกล่าวถึงในตำรายาพระโอสถพระนารายณ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สารส้มที่ใช้กันในสมัยนั้นจะเป็นสารส้มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยจะพบมากในพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟ และในประเทศไทยสามารถพบได้ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย (บางคนเรียกว่า ดินส้ม) เป็นต้น โดยหลักการแล้วการแกว่งสารส้มจะทำให้เกิดสารเชิงซ้อนประจุบวก (อะลูมิเนียมไฮดรอกไซต์และอะลูมิเนนียมไอออน) ซึ่งสารเหล่านี้จะดึงดูดสารแขวนลอยต่างๆ (ประจุลบ) และจับตัวกันเป็นก้อนใหญ่ หนักและตกตะกอนในที่สุด เราจึงสามารถนำน้ำใสที่อยู่ด้านบนมาใช้งานได้นั่นเอง

เครื่องกรองน้ำ ออเจ้า
มาถึงไฮไลต์สำคัญที่ออเจ้าได้สร้างความตกตะลึงให้ผู้คนในยุคนั้น นั่นก็คือ เครื่องกรองน้ำ โดยออเจ้าได้ใช้ภาชนะทำมาจากดินเผามีลักษณะทรงกรวยมีรูตรงปลายเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านออกมาได้ซึ่งมีการเรียงวัสดุกรองเป็นแบบหยาบไปละเอียด คือ กรวดใหญ่ กรวดเล็ก ทรายหยาบ ทรายละเอียด ถ่าน (ใช้เพื่อดูดกลิ่น) และสุดท้ายคือ นุ่น ซึ่งเมื่อเราวิเคราะห์วัสดุกรองดังกล่าวเราจะพบว่า นุ่น คือตัวกรองน้ำที่ละเอียดและมีส่วนทำให้น้ำใสได้มากที่สุด อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นวัสดุรองพื้นไม่ให้เศษกรวดทรายต่างๆ ไหลปนออกมากับน้ำ ซึ่งโดยหลักการแล้วถังกรองน้ำดังกล่าวจะเกิดกลไกการกรองชีวภาพเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานไปได้สักระยะหนึ่ง เนื่องจากจุลินทรีย์ต่างๆ จะสะสมอยู่ที่ผิวชั้นกรองจับตัวหนากลายเป็นชั้นไบโอฟิล์ม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ถังกรองลักษณะดังกล่าวมีใช้กันจริงๆ ซึ่งมีหลักฐานเป็นถังกรองโบราณ แสดงดังรูปที่ 5
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราได้เห็นถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีใช้งานกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แน่นอนว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นได้ส่งต่อมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยหัวข้อต่อไปผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับ เวจ หรือ ส้วม ที่ประเทศไทยเองก็มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:46
X

Right Click

No right click