×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

Better Living Featured

July 12, 2018 2504

แรงขับเคลื่อนของสมการ CSR + [PER] = การพัฒนาที่ยั่งยืน อาจไม่เพียงพอที่จะพาเราไปสู่ ENV 4.0 ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ Integration = บูรณาการเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในยุค ENV 4.0 นี้เราจะได้เห็นการบูรณาการจากทุกสาขาวิชาที่ร่วมมือกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่น การจัดเก็บภาษีตาม CO2 เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ โดยมาตรการนี้จะเป็นกลไกให้ภาคเศรษฐกิจและด้านสังคมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีแผนงานรองรับอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีการเรียนการสอนและการถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละสาขาวิชาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหนึ่งในสาขาวิชาที่จะมีบทบาทอย่างมากกับ ENV 4.0 นั่นก็คือ “สื่อสารมวลชน” ปัจจุบันเราจะเห็นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาสิ่ง-แวดล้อมทั้งในโทรทัศน์และทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก เช่น ข่าวการลักลอบทิ้งกากสารเคมี ข่าวการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะกลางชุมชน ข่าวไฟไหม้บ่อขยะ เป็นต้น โดยหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนกับสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือ “ข่าวการปลูกป่าที่จังหวัดน่าน” เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงพลังของสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบัน
ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาชีพนักข่าว แต่เราทุกคนสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่รอบตัวประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆ ทำให้เกิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและแชร์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและทันท่วงที อีกทั้งยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยสิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของสื่อมวลชนที่มีต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดี

R&D towards Community = การวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า ประดิษฐกรรม (Invention) และ นวัตกรรม (Innovation) หากมองเพียงผิวเผินคำสองคำนี้อาจจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็นการทำความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาและจับต้องได้ แต่คำว่า “นวัตกรรม” จะมีความหมายเพิ่มเติม คือ สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และตอบโจทย์ของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาที่จะเกิดขึ้นใน ENV 4.0 จึงควรมุ่งเน้นไปที่ “นวัตกรรม” โดยเราอาจจะได้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจวัดค่ามลพิษต่างๆ ที่มีความสะดวกรวดเร็วและใช้งานได้ตรงจุดนั้น ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กร (ตามข้อกำหนดทางกฎหมายหรือนโยบายของทางองค์กรเอง) หรือแม้แต่หัวข้อและเป้าหมายของงานวิจัยในอนาคต ก็ควรจะเกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้จริงหรือภาคสังคมเป็นหลัก ดังนั้น งานวิจัยพัฒนาในยุค ENV 4.0 จะต้องไม่ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดหรือมีไว้เพียงแค่ตั้งโชว์แต่จะต้องถูกนำมาต่อให้เป็น “นวัตกรรม” เพื่อใช้งานและตอบโจทย์ผู้คนในสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Smart concept = ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ “คน กับ อินเทอร์เน็ต” เท่านั้น แต่อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ รอบตัวเราก็สามารถเชื่อมต่อและใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างกลมกลืนในนิยามที่ว่า “Internet of Things” ดังนั้นทุกวงการจึงต้องพัฒนาตนเองเพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ระบบ Smart Grid ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีนิยามว่า “โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource : DER) และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ มีคุณภาพไฟฟ้าได้มาตรฐานสากล” จะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ได้ถูกนำมาปรับใช้ให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น มองกลับมาที่ Smart concept ใน ENV 4.0 ผู้เขียนคาดว่าในวงการสิ่งแวดล้อมจะมีการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเช่นกัน โดยเราอาจจะได้เห็นโรงบำบัดน้ำเสียที่ควบคุมและรายงานผลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลสามารถรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที หรือเราอาจจะได้พบ Application เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น “Apps for Earth” ที่ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานที่ WWF (กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) ให้ความสำคัญ ได้แก่ การรักษาผืนป่า, มหาสมุทร, น้ำจืดและสัตว์ป่า, อาหาร และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้นับเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาปกป้องสิ่งแวดล้อม
หลังจากที่เทคโนโลยีได้คุกคามสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนานเรื่องราวของ ENV 4.0 ที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบที่ควรจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้เรามองเห็นแนวทางในการก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นควรจะเป็น “การนำแนวคิดดังกล่าวไปปฎิบัติ” เพราะแนวคิดจะยังคงเป็นเพียงแบบร่างถ้าเราทุกคนไม่ลงมือทำ ผู้เขียนขอฝากเรื่องราวของ ENV 4.0 ไว้ให้ทุกคนได้พิจารณาด้วยครับ

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:44
X

Right Click

No right click