January 22, 2025

ไทยพัฒน์ เปิดรายงานสถานภาพความยั่งยืนของ 115 กิจการไทย Featured

December 24, 2020 2462

พร้อมแนะนำ ESG Benchmark เครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะองค์กรด้าน ESG เป็นครั้งแรก

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของ 115 กิจการ ในงาน “The State of Corporate Sustainability in 2020” พร้อมแนะนำเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการดำเนินงานองค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล “ESG Benchmark” ตามชุดตัวชี้วัดที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) แนะนำ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการประมวลข้อมูลความยั่งยืนของ 115 กิจการที่เป็นสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน[1] (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัดทำเป็นรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้งองค์กรสมาชิก SDC และองค์กรที่สนใจทั่วไป สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในการเปิดตัวรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 ที่จัดขึ้นวันนี้ (22 ธันวาคม 2563) ว่า “เนื้อหาในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)”

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น”

ในการเปิดตัวรายงานฉบับนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ESG Benchmark: The New Corporate Sustainability Tool” เพื่อแนะนำเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการดำเนินงานองค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่พัฒนาขึ้นโดยอ้างอิงชุดตัวชี้วัด ESG ที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) แนะนำ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถเปรียบเทียบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG กับองค์กรอื่นในลักษณะของลำดับรายสาขา (Sector Ranking) และลำดับโดยรวม (Overall Ranking) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “เครื่องมือ ESG Benchmark ที่พัฒนาขึ้น เป็นภาคต่อของเครื่องมือการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Rating ที่ริเริ่มจัดทำในปี 2558 มาสู่เครื่องมือการจัดลำดับสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Ranking ที่เอื้อให้กิจการสามารถเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงานด้าน ESG ระหว่างองค์กรทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในภาพรวม”

ในงานครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2563 ให้แก่องค์กรสมาชิก SDC ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 34 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 42 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 20 รางวัล

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[1] ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 โดยสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน โดยปัจจุบัน SDC มีองค์กรสมาชิกจำนวน 115 ราย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 17 February 2021 07:54
X

Right Click

No right click