×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากเรื่อง CSR ที่ถูกปรับแต่งเพื่อให้ตอบโจทย์ทางกลยุทธ์ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน

กิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีทั้งที่เป็นการสร้างและการทำลายคุณค่า ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบ

จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของบรรดาผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกราย จะประเมินมูลค่าบริษัท ด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเอง ในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย

เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้จัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2015 และได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ห้าในปีนี้

ภาพรวมกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ปี ค.ศ. 2015-2019

การพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวิร์ส ESG100 ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

โดยการประเมินมุ่งไปที่การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ เป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

และเพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการให้ผลตอบแทนของการลงทุนที่ยั่งยืนจากหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศไทย โดยใช้กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นยูนิเวอร์สการลงทุนที่ยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำ Thaipat ESG Index หรือ ดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และสามารถใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ ESG100 ที่ผ่านเกณฑ์สภาพคล่องหลักทรัพย์ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการซื้อขาย เหมาะสมต่อการนำมาคำนวณในดัชนี เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชุดดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ ที่จัดทำขึ้น ประกอบด้วย ดัชนีผลตอบแทนราคา (Price Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (Net Total Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

ดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุน และเงินปันผล โดยมีสมมติฐานว่า เงินปันผลที่ได้รับนี้จะถูกนำกลับไปลงทุน (Reinvest) ในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี (มิใช่เฉพาะหลักทรัพย์ที่จ่ายปันผล)

เปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง Thaipat ESG Index (TR) กับ SET TRI, SET100 TRI และ SET50 TRI

จากการคำนวณผลตอบแทนรวมโดยใช้ข้อมูลตั้งแต่วันฐานของดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ (30 มิ.ย. 58) จนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 62 เทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET TRI) ดัชนีผลตอบแทนรวม SET100 (SET100 TRI) และดัชนีผลตอบแทนรวม SET50 (SET50 TRI) พบว่า ดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 32.69% ขณะที่ SET TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.09% ส่วน SET100 TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.48% และ SET50 TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.18%

การเปิดเผยกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 และการจัดทำชุดดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ ถือเป็นพัฒนาการของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียน และข้อมูลดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน


เรื่อง  ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ | ประธาน สถาบันไทยพัฒน์

สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG 100 ปี 62 พร้อมคัดกองทุนโครงสร้าง พื้นฐาน / รีทส์ / อสังหาริมทรัพย์ ด้วยเกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก สร้างทางเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ในปี พ.ศ.2558 เป็นปีแรก

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ถือเป็นปี ที่ห้าของการประเมินโดยทีม ESG Rating ในสังกัด สถาบันไทยพัฒน์ ด้วยการคัดเลือกจาก 771 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) รวมทั้งกองทุน รวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) ทาการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง1  จำนวนกว่า 14,278 จุดข้อมูล 

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธาน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “การประเมินในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ ได้พิจารณา ข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยในปีนี้ เรายังได้ทำการประเมินกองอสังหาฯ - REITs – โครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วไป”

ผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ประจำปี 2562 จำแนกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) 11 หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) 4  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) 12  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) 15 หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) 21  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มทรัพยากร (Resources) 10  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มบริการ (Services) 21  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 6  หลักทรัพย์

ในจำนวนนี้ มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม ESG100 ที่มาจากตลาด mai อยู่ 9 หลักทรัพย์ ได้แก่ FPI, MBAX, MOONG, PPS, TMILL, TPCH, SPA, WINNER, XO และเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 กอง ได้แก่

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF)
  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 7 กอง ได้แก่

  • กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG)
  • กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ต้ี (FTREIT)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 10.4 ล้านล้าน บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.6 ล้านล้านบาท

รายชื่อหลักทรัพย์ ESG100 ชุดใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากปี ที่แล้ว ในสัดส่วนร้อยละ 27 และจะถูกนำไปใช้ ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com

 

 


1 ประกอบด้วย ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1) สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลการประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (ESG Rating) บริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ข้อมูลผลสำรวจการกำกับ ดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและสื่อ (Media and Stakeholder Analysis: MSA) บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ดุสิตธานี ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนชั้นนำที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ประจำปี 2561 จากสถาบันไทยพัฒน์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 683 แห่ง ขณะที่ผู้บริหารระบุ “ดุสิตธานี” พร้อมสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 สามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งการลงทุนในธุรกิจอาหารและการเปิดตัวโรงแรมใหม่ภายใต้แบรนด์ “อาศัย”

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ “ดุสิตธานี” ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ประจำปี 2561 จากสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งได้ดำเนินการประเมินบริษัทจดทะเบียนจากการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศจำนวน 683 แห่ง และบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเนื่องจากในปีนี้ ดุสิตธานีได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับ ESG 100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 หรือนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่สถาบันไทยพัฒน์ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลของสถาบันไทยพัฒน์ จะอ้างอิงจากเอกสารรายงานที่บริษัทจดทะเบียนเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีหรือแบบ 56-1 รวมทั้งในรายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืน ตลอดจนข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท จากแหล่งข้อมูล 6 แหล่ง รวมจำนวนกว่า 12,648 จุดข้อมูล ก่อนจะทำการคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นจำนวน 100 บริษัทแยกตามหมวดอุตสาหกรรม โดย บมจ.ดุสิตธานี ได้รับคัดเลือกในหมวตอุตสาหกรรมบริการ

“การได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ ESG 100 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของดุสิตธานี ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบที่เราวางไว้ 3 แนวทาง นั่นคือ การสร้างความสมดุลให้กับธุรกิจ การกระจายความเสี่ยง และการสร้างเป้าหมายในการเติบโต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อจะสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ที่ผ่านมา เราสามารถเดินตามแผนการขยายการลงทุนได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจอาหารด้วยการจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อลงทุนในบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NRIP)

รวมทั้งการเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ “อาศัย” หรือ ASAI เพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่รักการเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ จากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เชื่อว่า ดุสิตธานีจะมองเห็นโอกาสใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น” นางศุภจีกล่าว

Page 2 of 2
X

Right Click

No right click