September 19, 2024

ธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดตัว โครงการ Smart Business Transformation เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทยให้สามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัว ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของโครงการ ผู้เชี่ยวชาญจากเดอะ ฟินแล็บ[1] จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถระบุปัญหาในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแนะนำการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ให้ความรู้และแนวทางการทำงานในการปรับตัว และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้นวัตกรรมใหม่ หลังจากนั้น จะมีการจับคู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปทดลองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค การก่อสร้าง การขนส่ง ค้าปลีก ค้าส่งและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.thefinlab.com/thailand โดยเปิดรับสมัครวันนี้ถึงเดือนเมษายน 2562 โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยี พร้อมทั้งมีแผนขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคและมีผลประกอบการตั้งแต่ 25 – 1,000 ล้านบาท

ยกระดับ SMEs ไทยคว้าโอกาสในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี2568 จากร้อยละ 36 ในปี2561 โดยข้อมูลในปี2561พบว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกือบ 3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของบริษัททั้งหมดในประเทศ จึงนับว่าเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม

ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ที่จัดทำโดย เดอะ ฟินแล็บ[2] ระบุว่า บรรดาเอสเอ็มอีในประเทศไทยต่างระบุว่า กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต 2 อันดับแรกคือ การรุกตลาดใหม่ (ร้อยละ54) และการใช้การตลาดระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขาย (ร้อยละ51) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะให้ความสำคัญกับการใช้โซลูชั่นดิจิทัลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธภาพในการให้บริการออนไลน์ แต่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 67) และความซับซ้อนของการใช้งานโซลูชั่นในการดำเนินงาน (ร้อยละ 44)

เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหมดความกังวล โครงการ Smart Business Transformation  จึงมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถรุกสู่ตลาดใหม่และใช้การตลาดระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขายได้ ตัวอย่างเช่น ธนาคารยูโอบี (ไทย) จะสามารถให้คำแนะนำผู้ประกอบเอสเอ็มอีในการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค และสนับสนุนเรื่องเงินทุนกู้ยืมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการที่มีการนำโซลูชั่นเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นาย ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “ธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายด้านการเงินมาเป็นระยะเวลาหลายปี เรารู้สึกยินดีที่ได้สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถปรับองค์กรให้เป็นดิจิทัลเต็มตัว  ผ่านโครงการ Smart Business Transformation โดยได้รับความร่วมมือจาก เดอะ ฟินแล็บ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อเอสเอ็มอีเหล่านี้สามารถปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัวและสามารถแข่งขันในตลาดได้แล้ว พวกเขาจะต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อการเติบโต ซึ่งยูโอบีเอง จะให้การสนับสนุนแผนธุรกิจและการเงินของลูกค้าเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียต่อไป”

เดอะ ฟินแล็บ ได้ดำเนินโครงการบ่มเพาะสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในสิงคโปร์มาแล้ว 3 รุ่น  โดยครั้งนี้ จะเป็นผู้ดำเนินโครงการสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดย นาย เฟลิกซ์ ตัน กรรมการผู้จัดการ เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่า “ภารกิจของ เดอะ ฟินแล็บ คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วภูมิภาคอาเซียน ปรับตัวและขยายธุรกิจในยุคดิจิทัลได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในธุรกิจได้ดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและในภูมิภาค เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้เปิดตัวโครงการ Smart Business Transformation ในประเทศไทย และรอคอยที่จะได้ทำงานร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนแปลงการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล ในการดำเนินโครงการนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบี (ไทย) รวมถึงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เราจึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยได้แน่นอน”

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นผู้สนับสนุนด้านการจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการในการใช้งานโซลูชั่นเทคโนโลยีใหม่และจะเป็นผู้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในวิธีการสมัครเพื่อขอรับทุนดังกล่าว โดยนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไปของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราเล็งเห็นว่าเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องการปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัล เรายินดีต้อนรับพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันทั้งธนาคารยูโอบี (ไทย)  และ เดอะ ฟินแล็บ เพื่อมาร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเติบโตในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation จะได้รับคำแนะนำในการค้นหาโซลูชันดิจิทัลที่เหมาะสมกับความจำเป็นทางธุรกิจ และสมัครขอรับเงินทุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการใช้งานโซลูชันเหล่านั้น”

ด้าน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   จะให้เงินทุนสนับสนุนในส่วนบริการให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล แก่ผู้ประกอบการอสเอ็มอีที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยจะเป็นการให้เงินทุนสนับสนุนผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP (Innovation Technology Assistance Programme) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “สวทช ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม( Innovation Driven Enterprises ขึ้นในปีนี้ โดยได้ให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีมาแล้วมากกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1,800 ราย ในปีนี้  โดยเป็นการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการทำงาน การออกใบรับรอง การเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ผ่าน ITAP โดย ITAPจะให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคและการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของเหล่าผู้ประกอบการ โดยโครงการ Smart Business Tranformation นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในเมืองไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการทำงานไปสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบรรดาผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับการสนุบสนุนจากเราทันที เรารอคอยที่จะได้ร่วมงานกับธนาคารยูโอบี (ไทย) เดอะ ฟินแล็บ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรดิจิทัลเต็มตัวเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในอนาคต”

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย  จะดูแลในเรื่องนโยบายและแผนงานใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “เอสเอ็มอีคือกุญแจสำคัญของการสร้างสรรค์อนาคตเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงออกนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและ เพิ่มกำลังการผลิต โดยทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สวทช. ในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้ทำงานร่วมกับธนาคารยูโอบี (ไทย) และ เดอะ ฟินแล็บ โดยเราได้ทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เชิงลึกจากโครงการนี้ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับนโยบายอันจะเอื้อต่อการส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย”


[1] ฟินแล็บ คือโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค (FinTech) ที่ดำเนินการภายใต้ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (UOB)

[2] ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ จัดทำในระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2561 โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 800 ราย ในประเทศไทย

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวกลยุทธ์เดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนไทยภายใต้ “TMB Strive MORE for You to Get MORE : ทีเอ็มบี พยายามมากกว่าเพื่อให้คุณได้มากกว่า”

โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงการพยายามตั้งคำถามเพื่อค้าหาคำตอบที่ตรงใจ พัฒนาโซลูชั่นที่ดีกว่า ตั้งเป้าหมายให้เกิดการบริการที่ครอบคลุม ทำให้ที่ผ่านมา ทีเอ็มบี กลายเป็นสถาบันการเงินที่ก้าวหน้าเป็นผู้นำหลายๆ แนวคิดที่ช่วยขับเคลื่อนคนไทยให้เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

10 ปีที่ผ่านมาโลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกกว่าที่เคย นางณัฐวรรณ อภิรัตนพิมลชัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารกลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลาง ทีเอ็มบี กล่าวถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ทุกความต้องการต้องง่ายและตรงใจ ทีเอ็มบี จึงมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch) และ ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port) เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคล่องตัวในการใช้ชีวิต ได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าและสามารถสร้างความมั่งคงในระยะยาวให้ลูกค้าได้

ท่องเที่ยวปลอดภัยไร้กังวลกับ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free)

นายชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร เผยถึงโซลูชั่นที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์นักเดินทาง ซึ่งบ่อยครั้งต้องปวดหัวกับการแลกเงิน ต้องพกเงินสดไปต่างประเทศจำนวนมากจนกังวลเพราะกลัวถูกโจรกรรม เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ยุ่งยากและทำให้เสียเวลา ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเพราะ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) บัตรเดียวสามารถพกไปใชจ่ายในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% (FX Rate) เท่ากับว่ารูดเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เพียงเดือนเดียวที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ก็ทำให้ยอดใช้จ่ายในต่างประเทศผ่านบัตรเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า มีการใช้จ่ายใน 117 ประเทศ จาก 166 สกุลเงินที่ให้บริการ และในวันที่ 6 มีนาคม 2562 ลูกค้าจะสามารถออกบัตร TMB All Free ที่มีชื่ออยู่บนบัตรหรือออกบัตรสำรองได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน มีการเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดให้จุใจถึง 2 ล้านบาท และในช่วงตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2562 ลูกค้านักเดินทางจะได้รับความคุ้มครองจากการเดินทาง (Travel Insurance) ในวงเงิน 1,000,000 บาททันที นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันคุ้มครองวงเงินในบัญชีกรณีอุบัติเหตุให้กับลูกค้าที่มีบัญชีและบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ทุกคนกว่า 3 ล้านบัญชีโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันใดๆ เพิ่มเติม

ลงทุนจัดพอร์ตง่ายกว่าที่คิดด้วย ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port)

นางกิดาการ ชัฎสุวรรณ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ทีเอ็มบี กล่าวถึงสถิติที่พบว่ามีคนไทยเพียง 1 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคนที่มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งถือเป็นอัตราที่น้อยมาก โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยมีเงินไม่เพียงพอเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร ทีเอ็มบี จึงมองเห็นปัญหาในส่วนนี้และต้องการเข้ามาช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น สามารถสร้างโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพาร์ทเนอร์จาก บจล.ระดับโลก มาคอยช่วยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port) เป็นบริการด้านการลงทุนระดับ Private Wealth ที่จะมาช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการจัดพอร์ตได้มากขึ้น โดยมีความร่วมมือระหว่าง TMB และ Amundi บริษัทจัดการกองทุนระดับโลก ซึ่งจะมีการผสมผสานเทคโยโลยีเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนทำให้ได้เป็น Total Solution ที่ช่วยจัดสรรการลงทุนให้สอดคล้องกับทุกสถานการณ์ตลาดโดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100,000 บาทเท่านั้น

โมบายล์แบงก์กิ้งแอปพลิเคชันเสริมประสบการณ์ให้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นจาก ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch)

นายสหชัย ลิ้มอำไพ เจ้าหน้าที่บริหาร บริหารช่องทางบริการดิจิทัล เผยถึงการพัฒนาการใช้บริการที่หลากหลาย เสริมประสบการณ์การใช้งานที่ดีและมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch) โดยถือเป็นแบงก์กิ้งแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัยสูง มีการใช้ระบบ Bot เฝ้าระวังระบบตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาและแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาได้ทันที ตั้งเป้าเพิ่มความเร็วการใช้งานจาก 5 วินาทีเหลือเพียง 2 วินาที พร้อมกับความสามารถในการรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคตได้มากถึง 3 เท่า ผ่านการออกแบบหน้าจอด้วยหลัก 3 ง่าย คือ รูปแบบเรียบง่าย หาเจอง่าย และใช้งานง่าย พ่วงมาด้วยบริการคะแนนสะสม ทีเอ็มบี ว้าว (TMB WOW) และรางวัลทรงเกียรติจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย “TAB Digital Inclusive Awards” ที่เป็นเครื่องการันตีถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการจะทำให้ผู้ใช้บริการทุกคนได้รับความสะดวกสบายจาก ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch)

ปิดท้ายงานด้วยการตอกย้ำปรัชญาของทีเอ็มบี Make THE Difference นายรูว์ ไฮซ์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ทีเอ็มบี ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น โดยได้ศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยและพบว่าข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทย 5 ใน 10 คนเท่านั้นที่มีเงินเพียงพอหลังเกษียณ 6 ใน 10 คนยังไม่มีกรรมธรรม์ประกันชีวิต และกว่า 9 ใน 10 คนยังไม่มีการลงทุนเพื่อให้งอกเงยใดๆ ทำให้เห็นว่าคนไทนยังขาดหลักประกันพื้นฐานของตัวเองและลูกค้าก็อาจจะยังไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เขาควรมี ดังนั้น ทีเอ็มบี ในฐานะสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง จึงต้องการที่จะให้กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีตัวช่วยทางการเงินเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ทีเอ็มบี ได้มอบดอกเบี้ยส่วนต่างที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปให้ลูกค้ากว่า 2,400 ล้านบาท มอบความคุ้มครองผ่าน ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรีแล้ว 625,000 ล้านบาท และ ทีเอ็มบี ทัช ที่ช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้มากถึง 12,500 ปี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและทำให้ลูกค้าได้รับสวัสดิภาพทางการเงินอย่างมั่นคง

นางชวินดา หาญรัตกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เข้ารับรางวัล Best Asset Management CEO Thailand จาก Mr. Phil Blizzard ในงาน International Finance Awards 2018 จัดโดย International Finance Publications ซึ่งเป็นนิตยสารการเงินระดับแนวหน้าของประเทศอังกฤษ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อเร็วๆ นี้  

ก้าวอีกก้าวของ KTC  ปี 2561 ภายใต้การนำของ ระเทียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC ร่วมกับทีมบริหารทั้งชุดสร้างความสำเร็จของเป้าหมายปี 2561 ด้วยผลกำไร 9 เดือน 3,911 ล้านบาท หรือ65%   ตอกย้ำฐานสมาชิกรวมทั้งบัตรทั้งเครดิต และสินเชื่อบุคคล มากถึง 3.2 ล้านบัญชี

ระเทียร  ศรีมงคล  ซีอีโอ ของ KTC  บอกเล่าถึงย่างก้าวของความสำเร็จของปีนี้  และเป้าหมายในปี 2562 ร่วมกับคณะผู้บริหารและทีมงาน KTC   ภายใต้บรรยายการล่องเรือตามแม่น้ำไนล์  เมืองไคโร ประเทศอิยิปต์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า 

ในปี 2561 เคทีซีได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายหลายปัจจัย ทั้งจากมาตรการต่างๆ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว  และการแข่งขันในการทำธุรกิจที่ทวีความรุนแรง ทำให้เราต้องช่วยกันคิดพลิกหากระบวนกลยุทธ์หลายอย่าง เพื่อให้ธุรกิจผ่านไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับสมาชิกของเราที่มีอยู่ และต้องขอบคุณอุปสรรคเหล่านั้น ที่ทำให้เราแข็งแกร่งและกลับมีผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ด้วยผลกำไร 9 เดือน ที่สูงขึ้นถึง 65% เท่ากับ 3,911 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิกรวมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 3.2 ล้านบัญชี อีกทั้งรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ในอัตราที่ต่ำมากๆ และยังคงต่ำกว่าอุตสาหกรรม”

                                                                                         

ซีอีโอ’ ของ KTC  ยังเผยต่อว่า “ ในปี 2562 เราคาดหวังว่าจะมีกำไรเพิ่มจากสิ้นปี 2561 ประมาณ 10% ด้วยความเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตได้จากหลายปัจจัยทางการเมืองและภาคเศรษฐกิจที่ได้วางรากฐานไว้แล้ว ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคดีไปด้วย สำหรับ KTC จะเห็นอะไรใหม่ๆ ออกมาแน่นอน เรื่องหนึ่งคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อผลักดันฐานรายได้ให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด  โดยจะเพิ่มธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์  ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมโมเดลธุรกิจและจัดกระบวนทัพทุกอย่างไว้รอแล้ว เมื่อได้รับการอนุมัติจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เราพร้อมจะมุ่งทำการตลาดอย่างเข้มข้นเต็มที่ทุกธุรกิจ บนพื้นฐานของความยืดหยุ่นและระมัดระวัง ทุกฝ่ายต้องทำงานประสานร่วมกันยิ่งขึ้น และที่สำคัญต้องมีพันธมิตรหลากหลายธุรกิจที่จะช่วยเรา  เติมเต็มผลิตภัณฑ์และบริการให้สมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการพัฒนาด้านไอทีต่างๆ ซึ่งสมาชิก KTC จะได้พบกับนวัตกรรมบริการด้านการเงินใหม่ๆ ที่จะมาเป็นผู้ช่วยให้สมาชิกได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายอย่างมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและผูกติดกับแบรนด์ KTC อย่างยั่งยืน”

 

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี”  ได้ร่วมเผยถึงกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2562 ว่า

 

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี  ได้ร่วมเผยถึงกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตของปี 2562 ว่า 

 “กลยุทธ์หลักด้านการตลาดของเคทีซีจะคงรักษาจุดแข็งของความร่วมมือด้านการตลาดกับพันธมิตรร้านค้าที่หลากหลาย ในการสร้างสรรค์โปรโมชั่นที่น่าสนใจและแตกต่างเพื่อกระตุกความสนใจของสมาชิก ทั้งหน้าร้านค้าและออนไลน์ เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาและมีความคุ้มค่า ตรงใจ ครอบคลุมทุกกลุ่มสมาชิกเป้าหมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วย 3 อาวุธหลัก คือ

 1) รายการสะสมคะแนน KTC FOREVER ที่ยืดหยุ่น แลกง่าย และแลกได้จริง 

2) บริการผ่อนชำระ KTC FLEXI เพื่อตอบโจทย์ร้านค้าและสมาชิกบัตร 

3) บริการ KTC World Travel Service สำหรับคนรักการท่องเที่ยว

นอกจากนี้เคทีซียังเล็งเห็นถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ผู้บริโภคนิยมทำอะไรด้วยตนเอง ทั้งการค้นหาข้อมูลที่สนใจและการทำรายการ เราจึงได้พัฒนาบริการและช่องทางการสื่อสาร โดยปรับปรุงการใช้งานโมบายแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” (เปลี่ยนชื่อจาก TapKTC) เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงการใช้งานได้สะดวกและมั่นใจในความปลอดภัย โดยปัจจุบันมี

จำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียนใช้แอปฯ KTC Mobile เกือบ 1 ล้านราย หรือประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด รวมทั้งจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ www.ktc.co.th  และ www.ktcworld.co.th เพื่อให้ใช้งานง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกบัตรมากขึ้นอีกด้วย

พิทยา  วรปัญญาสกุล  ได้ทิ้งท้ายในถ้อยแถลงว่า  “ ในปีหน้า  2562  KTC ก็คาดหวังที่จะสร้างยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 15%  ซึ่งถือนับเป็นความท้าทายอย่างไม่หยุดยั้ง

พิชามน  จิตรเป็นธรรม  ผู้อำนวยการ- ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC   ได้ร่วมแถลงถึงสภาพการณ์ธุรกิจและการตลาด ในปี 2562  พร้อมแนวทางของ KTC  ที่ประกอบด้วยทั้งการตั้งรับ และเชิงรุกว่า “ สภาวะการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะยิ่งมีความร้อนแรงมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ

โดยกลยุทธ์การตลาดของเคทีซีในปี 2562 จะมุ่งขยายจำนวนสมาชิกให้ได้ถึง 1 ล้านราย และตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้ 10% โดยจะเดินหน้าแบ่งเบาภาระคนไทยให้ได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและร่วมลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบในปัจจุบัน

เคทีซียังได้พัฒนาบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile”  ที่ให้ความรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น และสามารถเบิกได้ตามวงเงินสูงสุดที่มีในบัตรตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ สะดวกสบายไม่ต้องใช้ PIN เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ KTC ยังมีแผนจะเพิ่มจำนวนธนาคารรองรับความต้องการในอนาคตเพื่อให้สมาชิกเลือกโอนเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น   ซึ่งล่าสุดสมาชิกสามารถเลือกผ่อนชำระตามแบบที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดที่เท่ากัน หรือเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% หรือ 300 บาทได้”

พิชามน ยังกล่าวแผนการเพิ่มจำนวนสมาชิกของ KTC ว่า “  แคมเปญการตลาดหลายรูปแบบ มีเป้าหมายเพื่อทั้งการรักษาฐานสมาชิกเดิม และเพิ่มเติมการสร้างสมาชิกใหม่  ภายใต้แนวคิดการจัดกิจกรรมที่เน้นความ แตกต่าง ตรงใจ และช่วยแบ่งเบาภาระสมาชิก ในหลายมิติ  อย่างเช่น การลดดอกเบี้ยในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน, ส่งเสริมการมีวินัยในการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างประสบการณ์ที่ดีจากแคมเปญการตลาดที่โดนใจแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม รวมถึงแคมเปญการตลาดเพื่อให้สมาชิกในวงกว้างมีการใช้บัตรกดเงินสดอย่างต่อเนื่อง และได้รับประโยชน์จากการลด และเบาเบาภาระหนี้  เป็นต้น”

ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC ยังกล่าวถึง กิจกรรมสัมพันธ์สมาชิกที่ทำต่อเนื่องกันมาว่า  สามารถสร้างความผูกพัน์ในฐานสมาชิกได้อย่างต่อเนื่องและเหนียวแน่น โดยในปี 2562 ก็จะมีรูปแบบเวิร์คช้อปแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ อาทิในด้านการบริหารเงิน เสริมสร้างอาชีพและรายได้ เป็นต้น

ปิยศักดิ์ เตชะเสน  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส - ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า “เคทีซี”   ผู้บริหารฐานพันธมิตรอันกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในฐานของความเข้มแข็งของ KTC  ได้กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้าในปี  2562 ว่า

“การขยายฐานผลิตภัณฑ์ของเคทีซีในปีหน้า จะมุ่งเน้นไปที่คุณภาพในการนำเสนอขายให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย  โดยจะใช้ตัวแทนขายอิสระ (Outsource Sales) และสาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางหลัก และใช้ช่องทางออนไลน์เป็นยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดย KTC ได้เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับการเติบโตทั้งแพลทฟอร์มแบบเปิด (Open Platform) ของเว็บไซต์ใหม่ เพื่อให้พันธมิตรทุกรายสามารถทำงานกับเคทีซีได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่สมาชิกเองก็จะได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจจากการใช้งานบนเว็บไซต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสมัครโดยการฝากชื่อและเบอร์ติดต่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ Telesales บริการ หรือจะดำเนินการสมัครเองด้วยขั้นตอนที่ง่าย สะดวกและทราบผลได้อย่างรวดเร็ว 

ปิยศักดิ์   ได้เน้นย้ำถึงความพิเศษ ว่า ลูกค้าสมัครสินเชื่อบุคคลที่ “เคทีซี ทัช” ทั้ง  20 สาขาในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ สามารถรอฟังผลอนุมัติและและรับเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที และในเดือนมกราคม 2562 จะเริ่มทดลองให้บริการรับสมัครและทราบผลภายใน 60 นาที ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของ KTC ยังคงเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำในทุกอาชีพ และมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานและยังไม่มีสินเชื่อ และจะขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าระดับบนให้มากขึ้น โดยจะร่วมกับธนาคารกรุงไทยสรรหาสิทธิประโยชน์ระดับพรีเมี่ยมให้กับสมาชิกบัตรเคทีซี-เคทีบี พรีเชียส วีซ่าซิกเนเจอร์ / เคทีซี-เคทีบี พรีเชียส พลัส วีซ่า ซิกเนเจอร์ และเคทีซี-เคทีบี พรีเชียส พลัส วีซ่า อินฟินิท

ปิยะศักดิ์  กล่าวถึงเป้าหมายในการขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อพร้อมใช้ “เคทีซี พราว" ที่กำหนดการเติบโตไว้ที่  10% จากสิ้นปี 2561”  และถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ประกาศในนโยบายของปี 2562 

ในส่วนของ  “กลยุทธ์การบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตร  ของปี  2562 นั้น KTC มีกำหนดแผนเชิงรุกที่จะขยายเข้าธุรกิจร้านค้าประเภทใหม่ๆ และตลาดต่างจังหวัด รวมทั้งมุ่งเจาะธุรกิจร้านค้าออนไลน์เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทรนด์ดิจิทัล และสนับสนุนธุรกิจร้านค้าให้เปลี่ยนจากการรับเงินสดมาเป็นผ่านบัตรเครดิตด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ  ขานรับกับกระแสความเป็นไปของพฤติกรรมผู้บริโภคในสังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐ

โดยส่วนหนึ่งของแผนงานประกอบด้วย

 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของธุรกิจร้านค้าสมาชิกที่ปัจจุบันยังรับเงินสดเป็นหลัก พร้อมทั้งนำเสนอ Payment Solutions ที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น QR Pay สำหรับบัตรเครดิต หรือ NFC Pay โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของการทำธุรกรรม ซึ่งจะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

2) มุ่งจับกลุ่มธุรกิจลูกค้าชาวจีนที่เดินทางมาใช้จ่ายในประเทศไทย โดยยังจะขยายตลาดร้านค้าที่รองรับ Alipay Wallet อย่างต่อเนื่อง และจะรุกขยายตลาด Alipay Online ในปีหน้า

3) มุ่งเน้นธุรกิจ DCC (Dynamic Currency Conversion) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ร้านค้าที่รับลูกค้าต่างชาติ สามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสกุลเงินต่างๆ ได้กว่า 30 สกุล”

ชุติเดช ชยุติ  ซีเอฟโอ (CFO- Chief Financial Officer ) “เคทีซี” 

ได้แถลงถึงนโยบายการบริหารการเงินของ KTC ว่า “ในปีนี้ KTC  ยังคงมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งมาก โดยคาดว่าสิ้นปี 2561 นี้จะสามารถทำกำไรได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ด้วยการขยายฐานบัตรที่มากขึ้น อีกทั้งคุณภาพพอร์ตที่ดีทำให้การตั้งสำรองลดลง และการควบคุมต้นทุนการเงินที่ดี “

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 อาจเป็นปีที่หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง KTC ตระหนักดีและได้เตรียมการไว้รองรับเรื่องดังกล่าว โดยในปีหน้า KTC  จะยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ด้วยการบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการหาต้นทุนที่ต่ำและเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้ในระยะยาว 5-10 ปีมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำ โดยได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 45,885 ล้านบาท หรือประมาณ 90% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเงินของบริษัทฯ ปรับขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าดอกเบี้ยตลาด และในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทฯ และทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดประมาณ 5,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มโครงการทดลองนำร่องใช้ RPA (Robotic Process Automation) มาช่วยการทำงานของฝ่ายบัญชี ในส่วนของงานที่มีวิธีการทำงานซ้ำๆ เดิมใน 5 ด้าน โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหมายว่าการนำโรบอท (Robot) เข้ามาช่วยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่า 30% ในระยะยาว โดยบุคลากรที่เคยทำหน้าที่เดิมนี้ จะได้ขยับขึ้นไปรับงานที่สร้างมูลค่ามากขึ้น”

 

ศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics เผยผลการศึกษาพฤติกรรมการซื้อลอตเตอรี่และหวย(ใต้ดิน)คนไทยพบว่า หวยไม่ใช่แค่เรื่องของมวลชน กลุ่มพนักงานประจำและเจ้าของธุรกิจ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนของประเทศ กว่า    9 ล้านคน  เสพติดหวย ส่วนใหญ่มีครอบครัวมีภาระ ที่ซื้อลอตเตอรี่เพราะหวังรวยทางลัดและอยากเสี่ยงโชค หวยเป็นปัจจัยพื้นฐานแม้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังซื้อ

 “1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวย รวมเป็นเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี” พูดง่ายๆคือคนไทยราว 20 ล้านคนซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยเทียบเป็นมูลค่าในแต่ละปีเท่ากับ 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือมองในมุมของเศรษฐกิจเทียบเท่ากับเม็ดเงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเลยทีเดียว 

แล้วทุกวันนี้คนไทยมองการซื้อลอตเตอรี่หรือการเล่นหวยอย่างไร เสียงสะท้อนจากสื่อโซเชียลส่วนใหญ่และผลสำรวจ พบว่าร้อยละ 55 มองหวยเป็นความฝันและความหวังที่ทำให้รวยและมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จาก สถิติชี้ว่าโอกาสที่จะรวยจากการถูกรางวัลนั้นน้อยมากไม่ว่าเป็นลอตเตอรี่หรือหวย โดยคนคาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีอยู่ 44% แต่โอกาสถูกจริงเน้นว่าเป็นเพียง 1 ในล้าน ส่วนด้านคนเล่นหวยคาดว่าจะถูก 2-3 ตัวบนล่างมีอยู่ถึง 78% แต่โอกาสถูกจริงคิดเป็น 0.4-2% เท่านั้น

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Google Trend ยังชี้ว่าในช่วง 15  ปีที่ผ่านมาคนไทย search คำว่า “เลขเด็ด” ซึ่งเป็นคำที่ฮิตทั่วไทยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 18% ขณะที่การ search คำว่า “ฝากเงิน”เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 9% และกระจุกอยู่แค่หัวเมืองเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่ได้ยินเสมอว่าถ้ามีเลขเด็ดแพร่สะพัดไปเมื่อไรละก็ ทั่วทั้งประเทศแผงไหนๆ จังหวัดไหนก็ขายหมด และไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคนไทยก็ยังคงเสพติดหวยอย่างสม่ำเสมอ บ่งชี้จากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2552 รายจ่ายในการซื้อลอตเตอรี่และหวยของคนไทยอยู่ที่  340 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด เทียบกับในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2560 รายจ่ายในด้านนี้อยู่ที่  452 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด ซึ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าหวยเป็นความหวังที่ทำให้รวยและมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ในสถานการณ์ที่รายได้ตกต่ำควรเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ยังต้องการเสี่ยงโชคแทงหวย หรือหวยจะมีบทบาทกลายเป็นสินค้าจำเป็นตามหลักเศรษฐศาตร์เข้าไปทุกที

เมื่อเจาะลึกถึงหน้าตาผู้ซื้อลอตเตอรี่หรือหวยเป็นอย่างไร เราพบว่าความเชื่อที่ว่าคนรายได้น้อยเท่านั้นที่เล่นหวย ส่วนคนรวยเล่นหุ้นนั้นไม่จริง จากสถิติและผลสำรวจพบว่า คนไทยไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อยก็เล่นหวยทั้งนั้น โดยกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีการซื้อลอตเตอรี่และหวยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 680 บาท คิดเป็น 1.2% ของรายได้ ซึ่งมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท คิดเป็น 2.2% ของรายได้

และไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย ก็เล่นหวยทั้งนั้น แต่หนักไปที่คนวัยสร้างครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ แถมเริ่มเล่นหวยตั้งแต่อายุยังน้อย จากสถิติและผลสำรวจชี้ว่า กลุ่มคนวัยสร้างครอบครัว (อายุ 35-55 ปี) หรือมีภาระรับผิดชอบเยอะ เป็นกลุ่มที่ซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยหนักที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 500 บาท มากกว่าวัยทำงานและวัยเกษียณที่เฉลี่ยต่อเดือนราว 400 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตาม สถิติและผลสำรวจยังชี้ถึงประเด็นที่น่าตกใจว่า  10% ของจำนวนนักเรียนและนักศึกษาเล่นหวย โดยซื้อหวยต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 187 บาท เรียกว่าเริ่มเล่นหวยกันตั้งแต่ยังไม่มีรายได้ สาเหตุที่ซื้อเพราะมีแรงจูงใจมาจากผู้ปกครองและคนรอบข้าง และสื่อโซเชียล 

ทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจเสพติดการเล่นหวยอยู่ในระดับใด?  ที่เราเซอร์ไพรส์คือ 50% ของมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ หรือประมาณ 12 ล้านคนเล่นหวย  โดยหากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะการเล่นหวย เราพบว่า  26%       “เล่นขำๆ” คือ เล่นสนุกไม่จริงจัง มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล 63% “ชอบหวย” เพราะชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล และที่น่าสนใจคือ 11% “ติดหวย” ชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มองว่ามูลค่าของเงินรางวัลสูงยังไงก็คุ้มกับเงินที่ซื้อหวย จึงซื้อแบบไม่ได้คิด  ทั้งนี้เราอาจสรุปได้ว่า มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ หรือราว 9 ล้านคน ชอบลุ้นรางวัลไปจนถึงเสี่ยงโชคเพื่อรวยขึ้น

เมื่อเจาะลึกถึงพฤติกรรมการซื้อหวยของกลุ่มคน “ชอบหวย” พบว่ากว่า 80% ซื้ออย่างน้อยเดือนละครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 420 บาท และซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกของการเล่นหวยราว 18%  ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่า กลุ่มคน “ติดหวย” จะซื้อทุกงวด หรือ 24 ครั้งต่อปี  จ่ายค่าหวยมากกว่ากลุ่ม “ชอบหวย”ถึงสองเท่า แถมยังซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึง 26% ทั้งนี้หากกลุ่มคนเหล่านี้ซื้อหวยต่อเนื่อง 50 ปี  สิ่งที่พวกเขาเสียไปเทียบเท่าได้กับ รถยนต์ City Car หรือบ้านถึง 1 หลัง เลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า หวย คือความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทยจริงๆ

นอกจากนี้เราได้เจาะลึกไปถึงสาเหตุของพฤติกรรม โดยพบว่า ทั้งคน “ชอบหวย” และคน “ติดหวย” มองเงินที่ซื้อหวยเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องมี เพราะชอบเสี่ยงโชค แต่ต่างกันตรงที่ คน “ชอบหวย” มีการวางแผนทางการเงิน  โดยกันเงินเพื่อซื้อหวย ในขณะที่คน “ติดหวย” ซื้อหวยแบบไม่ได้คิด คือ หากได้เงินมาก็ใช้ซื้อหวยทันที และอาจยอมลดเงินซื้อหวยส่วนหนึ่งเท่านั้น และเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้น เราพบว่า คน “ติดหวย” จะนำเงิน(ถ้าถูกรางวัล) จ่ายหนี้  ต่างจากคน “ชอบหวย” ที่เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น และให้ครอบครัว จึงเป็นข้อยืนยันว่า หวยคือความหวังที่ช่วยปลดล็อดให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจสัดส่วนในการออมเงิน คน “ชอบหวย” ส่วนใหญ่ราว 66% มีเงินออมเฉลี่ยมากกว่า 5,000 บาท ขณะที่เงินออมเฉลี่ยต่อเดือนของคน “ติดหวย” นั้นส่วนใหญ่น้อยกว่า 5,000 บาท

โดยสรุปแล้ว มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ ที่    “ชอบหวย” และ “ติดหวย” หากนำเงินเหล่านี้ไปออมเพิ่มขึ้น หรือลงทุนในทางเลือกอื่น ที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง โปร่งใส รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ จะทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้น และอาจนำไปใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เช่น ประกันสุขภาพ รถยนต์ หรือ บ้าน ได้โดยไม่ต้องหวังลุ้นเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนอีกต่อไป ¾

“ศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics เป็นศูนย์วิเคราะห์มุมมองใหม่ๆ ด้านการพฤติกรรมทางการเงิน เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น” นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของคนไทยตลอดเส้นทางทั้งการออม การใช้จ่าย การลงทุน ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งสามารถสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมในด้านต่างๆ

X

Right Click

No right click