ในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Finema ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และโฟกัสความสนใจไปที่เรื่อง Digital Identity หรือการยืนยันตัวตนในโลกดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยียอดฮิตนั่นคือ Blockchain และยังมีอีกบทบาทของการเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคม DIF (Decentralize Identity Foundation) ที่เป็นเหมือนหัวหอกในการเคลื่อนไหวเรื่อง Digital Identity ในโลก ซึ่งเขาเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็น Gateway สำคัญในการเชื่อมสู่โลกดิจิทัลเต็มอย่างรูปแบบ ปกรณ์ ลี้สกุล เปิดโอกาสให้ MBA ได้พูดคุยและสัมภาษณ์ ในแนวคิด และเป้าหมายของ Finema ในเรื่อง Digital identity รวมถึงการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ หลังงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ที่จัดขึ้นที่คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
MBA: ความเป็นมาถึงความสนใจเรื่อง Digital Identity
ปกรณ์: จริงๆ มันเริ่มมาจากที่ผมได้เข้าไปทำเหรียญ Hardware Token ให้กับธนาคาร แล้วธนาคารเขาอยากจะให้มันไปอยู่บนมือถือหรือที่เรียกว่า Software Token ซึ่งเราก็สงสัยว่าไอเดียของมันคืออะไรกันแน่ จนกระทั่งได้เข้าใจว่า มันเกี่ยวกับการ Authenticator หรือการยืนยันตัวตนของเจ้าของบัญชีว่าเป็นเจ้าของมันจริงๆ ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกันกับการใช้ Username, Password หรือ Google Two Factor Authentication ที่ใช้กันเยอะๆ พูดง่ายๆ คือ ส่วนหนึ่งของการพิสูจน์ตัวตน (Identification) ว่าคนที่จะเข้าถึงข้อมูลเป็นคนๆ นี้ จริงๆ นะ แล้วเราก็ค้นคว้าเพิ่มอีกประมาณสองปี ก่อนจะเริ่มทำโปรดักต์ครับ
MBA: ความสำคัญและปัญหาของ Digital Identity
ปกรณ์: ตอนที่เราค้นคว้า เราพยายามมองหาว่าปัญหาในเรื่อง Identity ในโลกนี้มันเป็นยังไง ก็พบว่าทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกที่ แต่การ Identify ตัวตนหรือระบบ Identity มันกลับเป็น Physical หรือ Hard Copy หมดเลย ทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือรับรอง วุฒิปริญญาบัตร ทะเบียนบ้าน มันไม่มีอะไรที่เหมาะกับการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตเลยครับ
ต่อมาก็พบว่าในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีการยืนยันตัวตนที่ทุกคนใช้กัน ก็คือ อีเมล แต่หลายๆ คนอย่างผมเอง ก็มีอีเมลเป็นสิบอีเมลไว้เลือกใช้ในจุดประสงค์ที่ต่างกัน อีเมลนี่แหละที่กลายเป็น Identifier หรือเครื่องยืนยันตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบพาสเวิร์ด แต่ปัญหาก็คือว่าถ้าเกิดมันถูกแฮกขึ้นมา เราจะเอาอีเมลไปทำธุรกรรมอื่นใดไม่ได้อีก เพราะว่ากันตามจริง เราใช้มันเป็นพื้นฐานของทุกระบบ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ กูเกิล ทุกอย่างที่ผูกกับอีเมลที่ใช้ฟรีนี้ ก็จะโดนไปด้วย
เท่ากับว่าอีเมลก็ยังไม่เหมาะกับโลกอินเทอร์เน็ต เราเลยคิดว่าการแก้ปัญหาคือการทำ Identity ที่เหมาะสมกับโลกอินเทอร์เน็ต หรือ Digital Identity ซึ่งไม่ใช่แค่เอา Identity ไปวิ่งบนระบบดิจิทัลนะครับ ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนบัตรประชาชนไปใช้ในอินเทอร์เน็ต แต่คือการสร้าง Identity ที่เหมาะกับอินเทอร์เน็ต ที่สามารถ Verify ได้ทันที ร้อยเปอร์เซ็นต์
MBA: Finema ตอบโจทย์ตรงนี้อย่างไร
ปกรณ์: โจทย์ของ Finema คือพอเราพบว่า Identity มันจะมีปัญหามากเมื่อมันถูกรวมศูนย์หรือ Centralize ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า เฟสบุ๊คมีผู้ใช้ประมาณสองพันล้านคน เขาต้องเก็บ Identity ทุกคนด้วยพาสเวิร์ดแล้วก็ Encrypt ไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ก็ดันมีข่าวไม่นานมานี้ว่า เฟสบุ๊คไม่ได้ Encrypt พาสเวิร์ดของผู้ใช้ประมาณห้าร้อยล้านคน ซึ่งเป็นความผิดพลาดของวิศวกรเฟสบุ๊ค พนักงานเฟสบุ๊คก็รับรู้พาสเวิร์ดของคนเหล่านั้นที่อาจจะเป็นคุณหรือผมก็ได้ โชคดีที่มันไม่ได้หลุดไปไหน
ความยากอีกระดับคือคนมักจะใช้พาสเวิร์ดเดียวกับทุกๆ แพลตฟอร์ม ฉะนั้น ถ้าโดนอันนึงก็คือโดนหมด เราก็เลยคิดว่าการกระจายศูนย์หรือ Decentralize น่าจะเป็นทางออก ยิ่งถ้าประกอบกับเทคโนโลยี Distributed Ledger หรือ Blockchain ก็จะสามารถช่วยให้การเก็บ Digital Identity ของเราดีขึ้นได้
ผมกับทีมที่ศึกษาเรื่อง Blockchain ที่รับรู้ว่าประโยชน์ของมันคือ Transparency ที่ปลอดภัย ฉะนั้นเราน่าจะเอามาทำระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนได้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ครับ มันมีหลายชื่อเรียกมาก ทั้ง Digital Identity หรือ Internet Identity หรือ Decentralize Identity หรือชื่อที่สามารถอธิบายความหมายของมันได้ชัดมากที่สุดคือ "Self-Sovereign Identity" (คนไทยอาจจะไม่คุ้นหูคำนี้ซักเท่าไร) ก็คือการที่เราเอาสิทธิในการใช้ Identity คืนให้กับผู้ใช้ กล่าวคือ เราบอกว่าจะทำทุกอย่างผ่านมือถือ ถ้าคุณเป็นผู้ครอบครองมือถือเครื่องนี้ ก็จะมีเพียงคุณเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในระบบของมันได้ คุณจะทำธุรกรรมอะไร ก็จะมีลายเซ็นอยู่บนมือถือเครื่องนั้นเลย สามารถพิสูจน์ ยืนยันตัวตนได้เลย โดยผ่าน Identifier ที่เหมาะกับโลกอินเทอร์เน็ต ที่ใช้ชื่อย่อว่า DID (Decentralized Identifier)
จริงๆ เราพบปัญหาเยอะมาก ในการพิสูจน์ตัวตนของคน เช่นว่า จะทำธุรกรรมอะไร แบงก์ชาติก็จะมากำกับ ประกันก็ต้องคอยประสาน ขอบัตรเครดิต ขอสินเชื่อ ทุกอย่างมันคือปัญหาของการยืนยันตัวตนหมดเลย ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ เราจะไม่ต้องมีสำเนาบัตรต่างๆ ไม่ต้องมีแมสเซนเจอร์วิ่งมอเตอร์ไซต์เต็มถนน ถ้าแก้ได้ มันจะสร้าง Transactions บนดิจิทัลอีกมหาศาล ลดกระดาษลงเป็นจำนวนมาก ลดพื้นที่ในการเก็บเอกสาร ลดค่าน้ำมันในการขนส่งเอกสารสำคัญ ลดไปได้หลายเรื่อง และที่สำคัญคือจะทำให้ Transactions เกิดขึ้นได้เร็วได้จริง ไม่ต้องรอ Approve กันอีก
MBA: ปลายทางของเป้าหมายหรือ Dream Goal ของ Finema คืออะไร
ปกรณ์: ปัจจุบัน Finema คือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป็นของเราเองชื่อว่า IDIN (https://idin.network) ซึ่ง Provide ให้กับลูกค้าองค์กรทั้งรูปแบบ Private Solution หรือ Private Blockchain แล้วก็ Public Permission Blockchain ก็คือใครจะเข้ามาก็ต้องขออนุญาตก่อนแล้วก็จ่าย Subscription ให้เรา ตอนนี้โจทย์ของเราก็คือทำให้ซอฟต์แวร์เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ลูกค้าจะใช้ Private ก็ได้ หรือ Public Solution เรา Support ได้ทั้งหมด เราต้องการ Subscriber เพิ่ม นี่คือ Business ที่ทำอยู่
ในส่วนของ Finema ตอนนี้เราอยู่ใน Consortium ที่มีชื่อว่า Decentralize Identity Foundation (DIF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ Microsoft ตั้งขึ้น แล้วมียักษ์ใหญ่อย่าง IBM, Hyperledger, RSA, Accenture มาเข้าร่วม รวมแล้วมีสมาชิกประมาณหกถึงเจ็ดสิบรายที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน แต่ไม่มี South East Asia (SEA) เลย Finema เป็น SEA เพียงรายเดียว ซึ่งเราก็พยายามจะ Sync กับยุโรปและอเมริกา เพราะเขากำลังขยับเรื่องนี้ เราก็ดูว่าเขาขยับยังไง ซึ่งจริงๆ ก็มี WeBank ของจีนมาจอยด้วยแม้ว่าประเทศเขาจะปิดและ Centralize สุดๆ แต่ก็แสดงว่าเขามีความสนใจอยู่ไม่น้อย
ในส่วนของเป้าหมาย ผมอยากจะให้เรามีซอฟต์แวร์ที่ ‘ผู้ก่อตั้ง’ เป็นคนไทย เพราะสุดท้ายก็คงทำให้แบรนด์เป็น Global Brand ที่เป็นเทคโนโลยีที่ส่งออกและแข่งขันได้ในเรื่องนี้ ก็เลยกระโดดมาทำ อยากให้ซอฟต์แวร์ที่เราผลิตกระจายไปอย่างน้อยก็ทั่ว APAC (Asia Pacific)
อีกจุดแข็งสำคัญของซอฟต์แวร์เราก็คือ เราเป็น Blockchain Layer 2 เพราะใน Consortium นี้ Blockchain ของทุกคนจะ Interoperable กันได้ อันนี้คือการก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญของ Blockchain ฺBlockchain Layer 1 ที่มันเป็น Walled-Garden ซึ่งหมายถึงทุกคนต้องเข้ามาอยู่ใน Network ของเราเท่านั้น ถึงจะใช้งานกับเราได้ เช่น อยากใช้ Blockchain จอยกับบริษัทนี้ แต่เขาใช้ Ethereum เราก็ไม่สามารถเลือกซอฟต์แวร์อีกยี่ห้อแล้ว Interoperable กับเขาได้ แต่ Blockchain ของ Finema เป็น Blockchain Layer 2 คือ Interoperable กับคนที่ในสแตนดาร์ดเดียวกันได้เลย
MBA: คุณปกรณ์จะเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย ของหลักสูตร ‘Blockchain for Enterprise Transformation’ ที่ทางนิด้า ร่วมจัดกับ SIAM ICO อยากทราบถึงเรื่องที่จะบรรยาย และจุดเด่นของหลักสูตร รวมทั้งสิ่งที่ผู้อบรมจะได้รับ
ปกรณ์: ตอนนี้คำว่า Blockchain ในตลาดคือโคตร Hype เลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจแค่เรื่องราคา ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งแหละ แต่คุณค่าของ Blockchain จริงๆ สำหรับผมคือมันสามารถตอบโจทย์บางอย่างของระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ ทุกวันนี้โลกมันรวมศูนย์มากขึ้นทุกวัน ก็คือมีหน่วยงานที่มีอำนาจคอยกำกับดูแลหน่วยงานย่อยๆ ตัวอย่างเช่นธนาคาร ซึ่งผมเชื่อว่าอะไรที่มันใหญ่เกินไป มันจะถูกทำให้เล็กลง ประวัติศาสตร์เป็นแบบนั้นเสมอครับ อาณาจักรใหญ่ๆ ทั้งเปอร์เซีย หรือจักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์ สุดท้ายมันจะถูกตีให้เล็กลง มันเป็นวัฏจักรของโลกที่ถ้า Centralization มากเกินไป มันจะถูก Decentralize โดยธรรมชาติ
สำหรับหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ผมเชื่อว่าผู้บรรยายทุกท่านได้กลั่นกรองเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงมาคุยกัน โอเค เรื่อง Pricing หรือ Valuation ของมันเราเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้ Bitcoin จะยังเป็นเพียงตลาดเฉพาะ แต่ Libra ก็กำลังมา เราคงไปขวางโลกไม่ได้ เพียงแต่เราจะเจาะลงไป เช่น ทำไมมันถึงต้องมี Libra ที่มาที่ไปของมัน ทำไมต้องมีแนวร่วม 27 องค์กร ซึ่งพูดถึง Libra แล้ว ถ้ากลับไปดูงบการเงินเฟสบุ๊คจะรู้ทันทีว่า ทำไมเขาถึงทำ Libra ก็เพราะว่า ปกติเงินมันไหลผ่านเฟสบุ๊คตลอดเวลาด้วยค่าโฆษณา ซึ่งนับเป็นรายได้ 98% ของรายได้ทั้งหมด อีก 1.5% มาจากค่าธรรมเนียมจาก VISA, Master Card ที่นี่ถ้าเขามีสกุลเงินของตัวเอง เขาก็จะสามารถขยายท่อ 1.5% นี้ให้ใหญ่ขึ้นได้ เพราะเขาจะเป็นคนควบคุมค่าธรรมเนียมทั้งหมด
แต่ถ้าพูดถึง Libra ในเชิงคุณค่าทางเทคนิค ผมว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก มันไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเป็นภาษาที่คนเขาใช้อยู่แล้ว มาตกแต่งใหม่ แล้วก็สร้าง Governance Model ดีๆ คือหลักการของ Blockchain Decentralize System จริงๆ คือเรื่องของ Governance Model ที่จัดแจงว่า ใครจะมีสิทธิทำนั่นนู่นนี่ได้ แล้วทำไมเขาถึงจะไม่โกง พูดง่ายๆ คือ เทคโนโลยีมันจะดีจริงๆ มันอยู่ที่ Consensus (มติร่วม) อย่างเฟสบุ๊คเขาจะใช้ระบบ BFT ก็จะเป็น Libra BFT ซึ่ง BFT ย่อมาจาก Byzantine Fault Tolerance หมายถึงอาณาจักรไบเซนไทน์ในอดีต ที่เวลาหน่วยข่าวกรองหาข่าวกลับมา มันจะต้องมีวิธีหรืออัลกอริทึมในการบอกว่าข้อความไหนจริงไม่จริง หรือคนสมัยก่อนแค่จะเดินเข้าประตูเมือง เขาก็จะต้องมีรหัสผ่าน มันคือเรื่อง Information เหมือนกัน ฉะนั้น จริงๆ BFT ก็คือวิธีการโหวต Consensus หรือวิธีการลงมติแบบออริจินัลของมนุษย์ เฟสบุ๊คก็เอามาปรับแต่งนิดหน่อย ให้กลายเป็น Libra BFT
อีกสิ่งหนึ่งที่ทรงพลังก็คือการที่เขามี 27 องค์กรอยู่ในมือ แต่ข้อเสียก็คือมันเป็นเอกชนทั้งหมด แล้วทำไมถึงเป็นข้อเสีย เหล่านี้คือเรื่องที่อยากจะมาเล่าให้ทุกคนฟัง เอาจริงๆ แล้ว ตัวเทคโนโลยีเอง เทคโนโลยี Blockchain แต่ละตัว มันก็แทบจะเท่าๆ กันหมดแล้วครับ เพราะมันมาจบที่ Computing Power ที่มันตันไปแล้ว มันก็จะไม่มีอะไรเร็วไปกว่านี้ได้ ฉะนั้น ถ้าจะเกิดได้ก็ต้องสร้าง Governance Model ดีๆ แล้วประโยชน์ของมันจะเกิดจริงๆ
MBA: ถ้าบอกว่าเทคโนโลยีมาถึงทางตันที่ถูกจำกัดโดยประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ อย่างนี้แล้วเทรนด์ของเทคโนโลยีมันจะมีทิศทางยังไงต่อ
ปกรณ์: ผมมองว่าเทคโนโลยีมันมีหลายแกน Computing Power คือแกนหนึ่ง ซึ่งตันไปแล้ว ไม่งั้นก็ต้องรอ Quantum Computer ไปเลย หรือ 5G ก็อีกแกน ที่ทำให้เน็ตเวิร์คเร็วขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพอทุกอย่างมันเร็วเท่ากันก็จะตันอีก ฉะนั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิดจากการเอามา Combine กัน ให้เป็นท่าใหม่ เป็น Business model ใหม่ ที่มันจะต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของ Framework หรือ Governance Model เปลี่ยนถ่ายช่องทางการเงิน มันจะเป็น Business Model Innovation มากกว่าครับ
เอาจริงๆ เลยในปัจจุบัน การโอนเงินข้ามประเทศมันไม่ได้มีปัญหาที่ความเร็วเลย แต่ปัญหามันอยู่ที่การคุยกันระหว่างองค์กร ที่ผมจะบอกก็คือ เทคโนโลยีไม่ได้ช้าเลยครับ แต่ช้าตรงต้องมานั่ง Approve นู่นนี่นั่น แล้วก็มีคนพยายามเอา Blockchain มาแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเฟสบุ๊คอีกทีครับ เขาบอกเขาอยากแก้สองปัญหา หนึ่งคือการโอนเงินข้ามประเทศ แต่ตอนนี้เราก็มีบัตร KTB Travel Card หรือ TMB ที่มีหกสกุลเงินในหนึ่งบัญชี ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งหมด สมมุติยี่สิบสามสิบประเทศคุยกันได้ ปัญหาก็แก้แล้วครับ เราจะขี่ช้างจับตั๊กแตนทำไม Blockchain จะมีประโยชน์อะไร
อีกเรื่องคือ เฟสบุ๊คพยายามบอกว่าจะแก้ปัญหาคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินหรือสถาบันการเงิน ซึ่ง ณ ปัจจุบันไม่ใช่ว่าเขาเข้าไม่ถึงครับ ปัญหาคือเขาไม่มีเงินด้วยซ้ำ และไม่สามารถทำให้ตัวเองมีเงินได้ พูดง่ายๆ ว่า Libra มันจะไม่ได้ทำให้คนรวยขึ้น ซึ่งก็เป็นความย้อนแย้งในตัวเองอยู่เหมือนกันครับ
เรื่อง คุณากร วิสาลสกล || ภาพ ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าร่วมหลักสูตร
คลิ๊ก >>> http://bit.ly/nidablockchain
ข่าวการมาถึงของการระดมทุนรูปแบบใหม่อย่าง STO (Security Token Offering) ได้สร้างความตื่นตัวไปทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนีไม่พ้น อีกทั้งยังได้รับการคาดการณ์จากหลายสำนักว่าน่าจะเติบโตในหลักล้านล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทรัพยากรบุคคลในไทย ควรจะต้องเริ่มศึกษา สั่งสมความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้พร้อมตั้งรับต่อ STO หรือแม้แต่เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้เล่นคนสำคัญในระดับภูมิภาค
กาย นันต์ธนะ Developer และ Co-Founder บริษัท Mainnetus Blockchain Academy & Solution ได้ผ่านสนามการระดมทุนมาอย่างโชกโชน รวมถึงเคยออก ICO จริงๆ มาแล้ว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Blockchain และ STO ในประเทศไทย โดยตั้งใจให้เป็นภารกิจหลักของ Mainnetus เพื่อกระจายองค์ความรู้ทั้งในสถาบันการศึกษา การจัดสัมมนาหรือเวิร์คชอปที่ผู้เข้าร่วมได้ทดลองระบบ Wallet จริงๆ
จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราได้เผยแพร่ บทสนทนากับเขา ถึงความกระตือรือร้นต่อโครงการมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงกรณีศึกษาส่วนตัว ที่มีต่อ Blockchain และ STO
บทบาทของ Mainnetus
การเกิดขึ้นของ Mainnetus Blockchain Academy & Solution เป็นความตั้งใจในการสร้าง สถาบัน Pop-Up ขนาดย่อมที่มีทั้งความเป็น Blockchain Lab และศูนย์กระจายความรู้เรื่องเทคโนโลยี Blockchain ในประเทศไทย โดยได้เริ่มโครงการไปแล้วที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยถือเป็นการเริ่มถ่ายทอดความรู้สู่นักศึกษา ก่อนที่จะขยายสู่บุคคลทั่วไป รวมถึงบริษัทต่างๆ ในอนาคตอันใกล้
กาย ได้เล่าถึงเป้าหมายของ Mainnetus ไว้ว่า “เราตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพราะอยากจะให้ความรู้ ซึ่งไม่ได้ต้องการกำไรจากการจัดเลยครับ แต่มีเป้าหมายคือต้องการปูพื้นฐานให้เมืองไทยมี Blockchain Developer ที่เทียบเท่ากับเวียดนามเป็นอย่างน้อย ฉะนั้น เราเลยต้องมาเริ่มจากมหาวิทยาลัย แล้วก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าบริษัทอาจจะได้ประโยชน์ เมื่อวันนึงที่เขาจบไปก็อาจจะอยากมาสมัครงานหรือนึกถึง Mainnetus ก่อนก็ได้”
“แต่ที่สำคัญคือการจัดครั้งต่อไป ที่เราตั้งใจจะจัดในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยที่ผม มีกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ตั้งใจเชิญมาอย่างชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ เช่นกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คือผมอยากได้คนที่เข้ามาแล้วได้ประโยชน์จริงๆ ไม่อยากเห็นคนที่มาร่วมเฉยๆ แล้วนั่งหาว ฉะนั้น ความรู้ที่เราจะให้ ก็คิดไว้ว่าจะมีช่วงของการบรรยายสั้นๆ แล้วจากนั้นจะใช้การเรียนรู้ผ่านเวิร์คชอป ให้เขาได้ลองทำกันจริงๆ ให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกฝนตั้งแต่การเปิด Wallet เลย เพราะบรรดากลุ่มผู้บริหาร บางทีเขารู้ว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ไม่มีใครมี Wallet บางคนไม่กล้าเปิด บางคนงง แต่เราจะบอกว่าการเปิด Wallet นั้นเป็นสิ่งจำเป็น แล้วเราสอนให้ ผ่านการทดลองทำจริง แล้วตัวผมก็มีเหรียญอยู่แล้ว ก็ตั้งใจจะให้ใช้ลองโอนกันไปมา”
อีกโครงการที่สำคัญของ Mainnetus คือการผลิต Platform สำเร็จรูป ที่ทำให้การเข้าถึง Blockchain เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ทั้งยังตั้งรับกับการมาถึงของ STO โดยเฉพาะ “ตัว Platform ที่กำลังจะเสร็จ มันจะทำให้เห็นเลยว่า ตอนจะออก STO มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนึงข้างหน้าคุณสามารถมาใช้ได้ ไม่ว่าจะลองไปใช้ภายในโรงงาน ในบริษัทก่อนก็ได้ครับ แล้วเราก็ตั้งใจจะสอนอยู่แล้วว่า หากเห็น platform หน้าตาแบบนี้ คุณจะซื้อเหรียญยังไง ตรงนี้ก็เตรียมให้ลองทำ และเราคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมากครับ”
ความสำคัญของ STO และข้อแตกต่างต่อ ICO
จากประสบการณ์ของคุณกายที่ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภททั้งบริษัทประมูล บริษัทประกัน แอปพลิเคชั่นจองสปา บริษัทโฮลดิ้งในสิงคโปร์ รวมถึงมีประสบการณ์ในการใช้ Blockchain และทำ ICO ออก utility coin เพื่อจับจ่ายภายในเครือธุรกิจมาแล้ว ได้เล่ามุมมองต่อการระดมทุนในอนาคตว่า แม้ผลกระทบของระดมทุนแบบ ICO ต่อ IPO จะไม่ได้ชัดเจนขนาดพลิกวงการ แต่หาก กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ประกาศรับรอง STO ขึ้นมา เมื่อนั้น เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการระดมทุนอย่างชัดเจน, STO จะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ และจะกลายเป็นภาคบังคับที่จะผู้ประกอบการและนักลงทุนเพิกเฉยไม่ใช่
“ตอนผมทำ ICO ซึ่งทำเป็น Utility Coin ไว้ใช้ซื้อสินค้าและบริการในเครือบริษัทของผมเอง จริงๆ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะรวยจากการขายเหรียญด้วยซ้ำครับ ผมแค่รู้สึกว่าปัจจุบันหากใครจะออกเหรียญคุณควรจะต้องมีธุรกิจจริงๆ ก่อน แต่ถ้าหากต้องการระดมทุนล้วนๆ สำหรับ ICO ผมว่ามันหมดเวลาไปแล้วครับ เพราะข้างในนั้นมันมีโปรเจกต์รอระดมทุนที่ค้างไว้เต็มไปหมด เป็นหมื่นโปรเจกต์ บางคนถือเหรียญไว้ โดยไม่รู้ว่าเขาระดมให้อะไรด้วยซ้ำ ปัญหาสำคัญของการระดมทุน ICO คือมันเป็นเรื่องของความฝันล้วนๆ เรื่องของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก ไม่รู้ด้วยว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่จริง บางโปรเจกต์ที่ออกกันมา ผมว่าชั่วชีวิตก็อาจจะไม่ได้เห็นมันด้วยซ้ำ การที่ผมมีธุรกิจอยู่แล้ว มันทำให้เราได้ trust จากคนซื้อ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ”
“แต่ถ้าหากเป็นการระดมทุนแบบ STO ผมเห็นด้วยครับ เพราะมันคือการลงทุนจริงๆ มีพันธสัญญา มีการให้หุ้น มีเงินปันผล มีส่วนร่วมในธุรกิจ แค่มันอยู่บนระบบ ไม่ได้อยู่บนกระดาษเป็นใบๆ และมีเรื่องของ Cryptocurrency และ Blockchain เข้ามาเกี่ยวข้อง คือว่ากันจริงๆ มันก็คือการซื้อขายหุ้นดีๆ นี่เอง แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่การวาดฝันอีกต่อไป แต่จะกลับมาสู่พื้นฐานทางธุรกิจ ที่พึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งมันจะมีหนทางไปได้มากกว่า ด้วยความชัดเจนของมันแบบ IPO ผนวกกับความไร้ข้อจำกัดของเทคโนโลยีแบบ ICO แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องมีบริษัทก่อนอยู่ดีนะ”
จงใช้ประโยชน์จาก Blockchain อย่าให้ Blockchain ใช้ประโยชน์จากเรา
“อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนคือ Blockchain ช่วยคุณได้ยังไง” กาย กล่าวเสริมถึงข้อสังเกตที่ว่า แท้จริงแล้ว แม้ในระดับสากล ก็เกิดการเข้าใจผิดต่อประโยชน์ของ Blockchain, ICO หรือ ไอเดียของการระดมทุน
จากกรณีศึกษาจากประสบการณ์ส่วนตัว คุณกายเล่าให้ฟังถึงการทำงานกับ Blockchain ไว้ว่า “ผมเห็นด้วยว่าเราต้องเริ่มตื่นตัวเรื่อง Blockchain กันแล้วครับในเวลานี้ เพราะบางบริษัทยังไม่รู้จักเลย แต่สถาบันทางการเงินเขาใช้กันหมดแล้ว ที่สำคัญมากๆ เลยคือหลายคนยังคิดว่าประโยชน์จริงๆ ของมันเป็นเรื่องการระดมทุน หรือหนทางรวยเร็วอยู่ ซึ่งผมอยากบอกว่า ต้องตัดทิ้งเรื่องระดมทุนไปเลยครับ!”
“ที่ผ่านมา ICO ทำให้คนสนุกกับการระดมทุนที่ไม่มีจริง ทั้งคนออกเหรียญ คนซื้อเหรียญมันเหมือนสนุกกันอยู่ในฝันมากๆ แล้วคนก็ตื่นตัวมาก แต่ขาดความรู้ ผมว่าก็มีหมดตัวกันเยอะครับ ฉะนั้น ใครที่อยากรวยเร็ว หรือคิดเรื่อง speculate ผมว่าต้องคิดใหม่ก่อน ต้องคิดว่า Blockchain มันช่วยคุณได้ยังไงก่อน แล้วเดินทางนั้น อย่างตัวผม ก็รู้แค่ว่าถ้าวันนึงราคาในโลกมันล่มสลาย วันนั้น Blockchain จะยังอยู่ มันจะมาช่วยผมตรงนี้ ผมอยากให้มองตรงนี้เป็นพื้นฐาน ส่วนเรื่องราคาเหรียญ ถ้าหากว่ามันได้ก็ถือซะว่าเป็นโบนัส แต่ก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผมทำมันง่ายกว่านะครับ มันก็มีความยากของมัน เช่น ลูกค้าซื้อ Coin เพื่อมาจับจ่ายสินค้าบริการของผม แต่ผมก็ไม่สามารถสร้างทุกอย่างที่เขาอยากซื้อได้ แล้วพอลูกค้าใช้ Coin ตัวผมเองก็ต้องมีเงินสดสำรองเอาไว้ เพื่อจ่าย Supplier ซึ่งก็ไม่ง่ายครับ ...ผมมองว่า ก่อนหน้านี้ที่สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ หรือเยอรมัน ที่คนออก ICO กันไม่หยุดหย่อน เขาไม่ได้เอา Blockchain มาช่วยตัวเขาเองเลย แต่เขาช่วยให้ Blockchain มันเติบโตอย่างรวดเร็วต่างหาก… อะไรพวกนี้ เป็นเรื่องที่ผมว่าในประเทศเรายังขาดประสบการณ์และความรู้กันอยู่มากครับ”
เรื่อง : คุณากร วิสาลสกล
ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์
ยุคดิจิทัล คือ สภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถเชื่อมโยงผ่านโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทำให้เกิดการแชร์เรื่องราวความรู้ระหว่างกัน
เจเนอเรชั่นที่ 2 และประธานบริหารของบริษัท คาวากูจิ เซกิ (Kawaguchi Seiki) โคสุเกะ โอซาว่า จับกระแสสิ่งแวดล้อม ด้วย Screw press Dehydrator เครื่องมือที่มีการออกแบบขึ้นมา เพื่อการจัดการกับปัญหาขยะเหลือทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม
แนวคิดของการพัฒนา Screw press Dehydrator ต่อยอดมาจากธุรกิจ ของรุ่นพ่อ ที่เปิดโรงงานผลิตเครื่องจักรใหญ่มากว่า 70 ปี โดยมีจุดเริ่มจากเครื่องจักรของเรือ ไปจนถึงงานซ่อมบำรุง
กระทั่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มขยายธุรกิจไปสู่การรับผลิตเครื่องจักรแบบ OEM ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และในจังหวะนี้เองที่ โอซาบอกว่า มองเห็นโอกาสและเชื่อว่า Screw press Dehydrator จะสามารถเติบโตขยายนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทางด้านอาหารได้ จากเดิมที่ใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อรีดน้ำจากกากของเสียในการทำเกษตรและปศุสัตว์
จากเกษตรสู่นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร
การเจาะตลาดอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มจากในแวดวงพันธมิตรทางธุรกิจให้ข้อมูลว่า ธุรกิจผลิตถั่วงอกรายใหญ่ในญี่ปุ่น ประสบปัญหาเรื่องการกำจัดเศษอาหารที่เกิดจากการผลิต ทางบริษัทฯจึงได้รับโอกาสในการเข้าไปเพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยได้นำ Screw press Dehydrator เข้าไปเสนอ และทดสอบการใช้งานจริง พบว่าลูกค้าเคยมีประสบการณ์ใช้เครื่องจักรรีดน้ำลักษณะใกล้เคียง แต่ไม่มีประสิทธิภาพตามที่คาดหวัง เมื่อบริษัทฯ นำเสนอ และทดสอบจึงทำให้เห็นผลที่แตกต่าง และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้
ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิดการนำเครื่องจักรทางการเกษตร มาสู่อุตสาหกรรมอาหารของโอซาว่านั้น ยังมาจากจุดเริ่มของกฎหมายที่เคร่งครัดของประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องการกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเขาพบว่าธุรกิจหลายรายในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ประสบปัญหาเรื่องกากของเสีย และต้องการลดปริมาณ ซึ่งภาระในการทำลายที่สูงนั้นได้สร้างต้นทุนที่สูงขึ้น และในจุดนี้เองที่ทำให้ โอซาว่า มองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา จนครองใจลูกค้าในที่สุด
ในส่วนของ Screw press Dehydrator นั้น ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีของเครื่องรีดน้ำในเครื่องจักรเดิม และมีเครื่องมือแยกกากประเภทนี้อยู่ในตลาดแล้วก็ตาม แต่โอซาว่ากล่าวว่า การสร้างนวัตกรรม และความแตกต่างคือหัวใจ ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้นำมาพัฒนาโดยการเพิ่มโนว์ฮาวเฉพาะด้านเข้าไป เช่น เพิ่มความสามารถในการรีดน้ำจาก 50% เป็น 70% เป็นต้น จนออกมาเป็นอุปกรณ์ที่สมบูรณ์แบบในที่สุด
อีกส่วนที่สำคัญในความสำเร็จทำให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้านั้น มาจากการจุดเด่นของการนำเสนองานในรูปแบบโซลูชั่น "เราไม่ได้ขายเฉพาะเครื่องแยกกาก ในลูกค้าแต่ละราย เราจะต้องมีการเข้าไปสำรวจโรงงาน เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัด และความต้องการที่แท้จริง จากนั้นจึงทำเป็นโซลูชั่นเพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด เช่นทำ Conveyor ( ระบบลำเลียง) เสริม หรือทำเครื่องบด"
การกำจัดกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่จริงจัง และเข้มงวดอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น การกำจัดจึงเกิดค่าใช้จ่ายที่สูงมากตามมา ตั้งแต่ค่าขนส่ง และค่าทำลาย แต่เมื่อมีเครื่อง Screw press Dehydrator ทำให้โรงงานสามารถรีไซเคิลกากอาหารไปเป็นอาหารสัตว์
“นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายลง หรือแม้แต่ทำให้ค่าใช้จ่ายกลายเป็นศูนย์ ยังกลายเป็นแหล่งรายได้ที่มาจากการขายเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย ”
นโยบายการขยายตลาดในไทย
โอซาว่า เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่น จะเกิดซ้ำรอยและกระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมองว่าจุดนี้เป็นโอกาสในการขยายตลาด เพราะอุปกรณ์ของเขาเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหา และที่สำคัญคือรักษาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ สถานการณ์วันนี้ ปัญหาเกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีและทาง บริษัท คาวากูจิ เซกิ ได้ไปลงทุนที่เกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย ได้มีการร่วมมือกับคู่ค้าคือ บริษัท YN2-TECH (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพ และมีความไว้วางใจ เริ่มจากความ ชื่นชอบในวิสัยทัศน์ของเจ้าของ และ Y2Tech เองก็ให้ความสำคัญกับแผนการจำหน่าย โดยได้ให้ทีมงานขายและวิศวกร เดินทางไปอบรมโดยตรงที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนถึงการทำงานของเครื่องจักร
โอกาสในการเจาะตลาดในประเทศไทยนั้น เนื่องจากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก จึงเชื่อว่า Screw press Dehydrator น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการกับกากอาหาร และของเสียจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต ซึ่งในระยะแรกได้รับผลตอบรับอย่างดี และเริ่มมีการทดลองในหลายๆโรงงานแล้ว และด้วยขนาดของอุตสาหกรรมที่แตกต่างในอนาคตบริษัทฯ จะสามารถผลิตขนาดเครื่องขึ้นมาได้ตามสเกลที่ต้องการ
นอกจากการขยายตลาดมาที่ไทยแล้ว โอซาว่า ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้ไทยเป็นฮับในการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า หรือลาว โดยจุดแรกต้องทำให้เป็นโมเดลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในไทยเสียก่อน
รวมถึงการมองโอกาสธุรกิจโดยขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ เครื่องสำอาง เวชสำอาง หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยา เพราะมีของเสียซึ่งต้องผ่านกระบวนการทำลายที่ถูกต้องเช่นกัน
ในด้านกลยุทธ์การขายสำหรับลูกค้าในไทยนั้น จะเน้นไปที่โรงงานผลิตอาหาร ผลไม้แปรรูป โรงงานเบียร์ โรงงานที่ผลิตสินค้าประเภทผัก หรือผลไม้ ที่มีกาก ของเสีย ซึ่งมีการเข้าไปเยื่ยมชมและสำรวจเครื่องจักรในโรงงานแล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการออกบูธ ประชาสัมพันธ์ และรวบรวมข้อมูล ก่อนการนำเสนอโซลูชั่น ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม โอซาว่า พบว่า โรงงานบางส่วนของไทย ไม่มีขั้นตอนการกำจัดของเสีย แต่ใช้วิธีส่งกากหรือของเสียต่อไปให้โรงงานอาหารสัตว์เพื่อไปจัดการเอง จึงพบว่าโรงงานอาหารสัตว์ก็เป็นเป้าหมายในการเข้าไปนำเสนอเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มองข้ามส่วนของโรงงานผลิตอาหาร ที่ต้องการมาตรฐาน และมีนโยบายเรื่องการกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง
เป้าหมายการขายในปีนี้อยู่ ที่ประมาณ 5 เครื่อง เนื่องจากราคาของอุปกรณ์อยู่ที่ 6-7 หลัก จึงเน้นการขายในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบบค่อยเป็นค่อยไป และในส่วนของการขายสำหรับลูกค้ากลุ่ม SME อยู่ในระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ทั้งในด้านของราคาและสเกล
ราคาของเครื่องที่มีการประเมินว่าค่อนข้างสูงสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กนั้น โอซาว่า บอกว่าอยากให้มองการซื้อเครื่องจักรเป็นการลงทุน และก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร
เพราะจากเดิมอาจจะมีต้นทุนในการทำลายของเสียที่จำนวนหนึ่ง ค่าขนส่งอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อมีการใช้เครื่องจักรทำให้เกิดการแปรรูปและก่อประโยชน์เป็นเม็ดเงินขึ้นมา ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และโดยธรรมชาติของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 7 ปี แต่จากการประมาณการสำหรับ Screw press Dehydrator จุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น
สิ่งสำคัญของ บริษัท คาวากูจิ เซกิ ที่แตกต่างจากผู้จำหน่ายเครื่องมือแยกกากรายอื่น คือ เน้นการขายโนว์ฮาว ที่เป็นโซลูชั่น ตามนโยบายที่เป็นมิตรกับคู่ค้า
“บริษัทเราเป็นบริษัทเดียวในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร ไม่ใช่เป็นการขายอุปกรณ์ไปแล้วจบ แต่พร้อมช่วยเหลือลูกค้าและติดตามแก้ปัญหาให้ตลอดเวลา”
โอซาว่าทิ้งท้ายว่า การนำเครื่องจักรนี้เข้ามาทำตลาดไนไทย นอกจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ นโยบายทางด้าน CSR เพราะการใช้ Screw press Dehydrator เป็นการลดของเสียในปริมาณมาก และมีผลพลอยได้ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการทำลายและการขนส่ง รวมทั้งลดการใช้พลังงานของการขนส่งอีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นแล้วที่ญี่ปุ่น ดังนั้นการสร้างประเทศไทยเป็นฮับก็หวังว่าจะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมของไทย และขยายไปสู่แต่ละประเทศจนทั่วโลกในที่สุด