SIAM ICO ผู้เชื่อมโลกธุรกิจเก่า - ใหม่

June 22, 2019 5865

ยุคดิจิทัล คือ สภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถเชื่อมโยงผ่านโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทำให้เกิดการแชร์เรื่องราวความรู้ระหว่างกัน

ส่งผลให้มีข้อมูลมหาศาลที่กระจายอยู่ในไซเบอร์สเปซ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัล

หากเทียบวิถีชีวิตปัจจุบันกับยุคก่อนปี ค.ศ. 2000 รูปแบบการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ ไปจนถึงการให้บริการของภาครัฐในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเปลี่ยนไปจนแทบจำกันไม่ได้ว่า เมื่อก่อนเราเคยอยู่กันได้อย่างไร

วันนี้เรามีการค้าออนไลน์ที่ช่วยให้ไม่ต้องออกไปหาซื้อสินค้า แต่แค่ต้องการเพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส เราสามารถจองที่พักได้หลากหลายทั่วโลกไม่จำกัดเพียงแค่โรงแรมผ่านแอปพลิเคชัน เราเปลี่ยนการไปยืนต่อแถวเข้าคิวที่ธนาคารเป็นการกดหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ แถมยังสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

การที่องค์กรต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัล จำเป็นจะต้องมีการปรับตนเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งในด้านกระบวนการทำธุรกิจ ขั้นตอนการทำงาน ไปจนถึงกระบวนการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกอนาคต

และดังที่ทราบกันว่าอุปสรรคหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง คือ ความเคยชิน รวมถึงเหตุผลสารพันที่ส่งผลต่อมุมมองการเปลี่ยนแปลงในทางลบ ความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างคนแต่ละรุ่น ซึ่งแก้ได้ด้วยการมีที่ปรึกษาที่เข้าใจโลกแบบเดิมและโลกยุคดิจิทัลเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ช่วยวางแผนจัดการการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร

บริษัท สยาม ไอซีโอ จำกัด จึงถือกำเนิดมาเพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงโลกเก่าหรือโลกอนาลอกและโลกใหม่หรือโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ผ่านการทำ Digital Transformation

Digital Transformation

ปฐม อินทโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ไอซีโอ จำกัด ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือของตนเองที่อยู่ในแวดวงไอทีมากว่า 20 ปี ร่วมกับ ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว บรรณาธิการบริหารนิตยสาร MBA และ โดม เจริญยศ แห่งบริษัทโดมคลาวด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบล็อกเชนระดับแนวหน้าของไทย คณิต ศาตะมาน ผู้มีประสบการณ์ในการปลุกปั้นเอสเอ็มอีของไทยนานนับสิบปี มองเห็นแนวโน้มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบล็อกเชนเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา และองค์กรในประเทศเริ่มพูดถึงการทำ Digital Transformation หรือการปรับองค์กรให้เข้ากับยุคดิจิทัล ด้วยการมองหาเทคโนโลยี การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับแต่ละองค์กร โดยบล็อกเชนก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้ รวมถึงการนำไปใช้ในการทำธุรกรรม และสามารถเชื่อมโยงกับตลาดทุนได้อีกด้วย

ผู้ก่อตั้งแต่ละรายที่มารวมตัวกันภายใต้ความเชี่ยวชำนาญในแต่ละศาสตร์สาขาซึ่งเป็นความจำเป็นในการหลอมกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง ภายใต้เป้าหมายการดึงศักยภาพของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ บล็อกเชนเข้ามาใช้ เพื่อนำไปสู่การเป็นที่ปรึกษาในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ให้คำปรึกษากับบริษัทที่สนใจระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล รวมถึงเป็นผู้พัฒนาระบบบล็อกเชน ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลออกมา ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจสามารถขอจดทะเบียนเป็น ICO Portal ได้ สยาม ไอซีโอ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้บริการด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่หลากหลาย พร้อมให้คำปรึกษาด้านการระดมทุนผ่านไอซีโอ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้สยามไอซีโออยู่ระหว่างการจดทะเบียนเป็น ICO Portal กับ ก.ล.ต. เพื่อดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ต่อไป

ปฐมขยายความวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า จากการประเมินของสยามไอซีโอพบว่าประเทศไทยยังมีองค์กรที่ต้องการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แม้เราจะรู้สึกว่ามีบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ แต่ในด้านการจัดการยังมีความเป็นอนาลอกอยู่สูง ยังมีระเบียบ ขั้นตอน เอกสารที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก

“จะใช้บล็อกเชนหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจุดประสงค์ของสยามไอซีโอ คือเรามองเรื่องการทำ Digital Transformation เป็นหลัก โดยบล็อกเชนเป็นตัวเสริม เป็นเครื่องมือหนึ่ง ลูกค้าบางรายคุณไม่ต้องใช้บล็อกเชนคุณใช้ฐานข้อมูลธรรมดาก็พอ เปลี่ยนกระบวนการทำงาน เอาแอพพลิเคชั่นเข้าไปใส่ เอาโมบายล์เข้าไปเสริมก็พอแล้ว แต่บางรายเราบอกว่า ถ้าใช้บล็อกเชนเข้าไปจะช่วยให้สามารถเห็นกระบวนการขั้นตอนในการทำงาน มี Smart contact ที่สามารถทำให้การทำรายการทางการเงินต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และลูกค้าบางรายเห็นชัดเลยว่า คุณเอาบล็อกเชนไปใช้แล้วเกิดนิเวศน์ทางธุรกิจขึ้น ดังที่เราบัญญัติว่าเราเข้าสู่ยุคที่เป็นนาโนอิโคโนมี”

นาโนอีโคโนมี เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัล ปฐมยกตัวอย่างเฟสบุ๊คที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากโดยที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาเอง แต่ยอมจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตเนื้อหาที่มีคนสนใจทำให้คนเข้าไปใช้งานเฟสบุ๊คมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจที่สนใจจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเฟสบุ๊ค ก็สามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลของเฟสบุ๊คในระบบเศรษฐกิจขนาดย่อมนี้ได้

บริษัทที่มีคู่ค้าจำนวนหนึ่งที่มีการทำธุรกรรมระหว่างกัน มีทั้งดีมานด์และซัพพลายในระบบ ก็สามารถปรับองค์กรเข้าสู่แนวทางนี้ได้เช่นกัน และเมื่อสามารถสร้างระบบนาโนอีโคโนมิกขึ้นมาเป็นของตัวเองได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การระดมทุนต่อได้ โดยอาศัยรูปแบบตลาดทุนยุคดิจิทัล ที่สามารถระดมทุนโดยใช้ระบบนิเวศที่มีอยู่ นำโทเคนที่ใช้ในระบบมาใช้เพื่อระดมทุนได้ โดย องค์กรธุรกิจแบบเดิม ธุรกิจเพื่อสังคม เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ สามารถมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ สอดคล้องกับเป้าหมายของสยามไอซีโอที่ต้องการทำหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ให้เข้าถึงการระดมทุนผ่านเครื่องมือใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีบล็อกเชน

ปฐมเพิ่มเติมว่า บล็อกเชน จะก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่อีกมากมาย เช่น Security Token Offering (STO) ที่เป็นการผูกสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ากับสินทรัพย์แบบเดิม เราสามารถเรียนรู้ ปรับให้เข้ากับธุรกิจของไทย และนำมาใช้กับลูกค้าของเราได้ ทำให้มีเครื่องมือทางการเงิน เครื่องมือทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจในไทยได้”

ทั้งนี้ สยาม ไอซีโอตั้งเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าจะทำโครงการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทยโดยใช้โทเคนหรือ Tokenomy ให้เกิดขึ้นประมาณ 10-15 รายในช่วงปีแรก ปัจจุบันมีลูกค้าในมืออยู่บ้างแล้ว และน่าจะไปถึงขั้นตอนการระดมทุนประมาณ 6 ราย

และที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้คือ ความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ในการจัดทำหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation เพื่อบ่มเพาะนักธุรกิจและผู้บริหารที่ตั้งใจจะพัฒนากลยุทธ์ทางด้านดิจิทัลให้กับองค์กร โดยหลักสูตรจะเปิดอบรมในไตรมาส 3 ที่กำลังจะถึง

สำหรับเป้าหมายต่อไปคือการเข้าไปช่วยองค์กรในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปีจะสามารถทำได้ 100 แห่ง

ปฐมกล่าวถึงประโยชน์ของการปรับตัวสู่ดิจิทัลว่า “เราจะพบว่าหลายๆ องค์กรสามารถปรับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ไม่ว่าจะเป็น ฐานข้อมูล กระบวนการทำธุรกิจ เครือข่าย ทำเป็นดิจิทัลได้ ซึ่งนอกเหนือจากเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุนแล้ว การสร้างอีโคซิสเต็มนี้ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการระดมทุนหรือใช้เพื่อปรับกระบวนการทำงานของตัวเองให้กระชับ ผลที่เกิดคือความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว บริษัทคุณซื้อขายมีคู่ค้า ใช้เงินบาทหรือดอลลาร์หมุนเวียนอยู่แล้ว แต่ไม่เกิดการผูกเข้าด้วยกัน ลองคิดว่า ถ้าบริษัทผมติดต่อกับคู่ค้า แล้วคู่ค้าสามารถใช้โทเคนของตัวเราเองได้ หมุนเวียนในระบบนี้ได้ เป็นการทำให้เขาไม่ไปไหน เป็นการผูกธุรกิจเข้าด้วยกัน ผูกธุรกิจกับซัพพลายเออร์ ผูกธุรกิจกับลูกค้า

ตัวกลางในโลกไร้ตัวกลาง

ยุคดิจิทัลส่งผลให้ตัวกลางต้องลดบทบาทลงไปในหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับสยามไอซีโอ บริษัทนี้ตั้งใจมาเป็นผู้ช่วยเชื่อมโลกยุคเก่าและยุคใหม่เข้าด้วยกันด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจ ความรู้ความเข้าใจธุรกิจแบบเดิมและธุรกิจในยุคดิจิทัล

ปฐม ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงที่บริษัทสามารถทำได้เช่น “นึกภาพเจ้าสัวทำธุรกิจมารุ่นต่อรุ่น บริษัทอยู่มา 70-80 ปี วันหนึ่งจะเอาบล็อกเชนมาใช้ คุยกับเด็กรุ่นใหม่บางทีเขาคุยกันไม่รู้เรื่องนะ ขณะที่เราเข้าใจเจ้าสัวและเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ด้วยว่าเขาอยากทำแบบนี้ แบบนี้ อะไรใช่ อะไรไม่ใช่เรากลั่นกรองให้ก่อน เขาเสนอมา 10 เรื่องไม่ใช่จะไปถึงทั้ง 10 เรื่อง การปรับเปลี่ยนจะไม่เกิดถ้าไม่มีตัวกลางทำหน้าที่เชื่อมคนสองยุคด้วยกัน ประธานอยากใช้บล็อกเชน แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีบางเรื่องที่เขาอาจจะยังไม่อยากให้หลุดออกไป เราก็ช่วยดูแลให้ ทำธุรกิจได้โดยไม่ขัดกับอุดมการณ์ของเจ้าของ ต้องรู้จักประนีประนอม เอาเทคโนโลยีนำ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เป็นศิลปะต้องผสมผสาน เทคโนโลยี กับธุรกิจ และแนวคิดทำธุรกิจ”

เช่นเดียวกับบทบาทด้านการกลั่นกรองไอซีโอที่เตรียมวางแผนเอาไว้ สยามไอซีโอก็ต้องทำหน้าที่ตัวกลางเชื่อมโยงผู้ต้องการทุนกับผู้ต้องการลงทุนให้เกิดความมั่นใจผ่านกระบวนการดังที่ปฐมอธิบายว่า เมื่อเกิดการนำบล็อกเชนมาใช้สร้างอีโคซิสเต็ม ทำเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจ ทำให้มีเงินสกุลดิจิทัลหมุนเวียนในระบบเหล่านี้ และบริษัทเหล่านี้สามารถขายโทเคนดิจิทัลเหล่านี้ให้กับผู้สนใจลงทุนได้ โดย ก.ล.ต. กำหนดให้ ICO Portal ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ ICO ที่จะเข้าสู่ตลาดด้วยการวางหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบดูแล ตั้งแต่กระบวนการออกโทเคน รูปแบบธุรกิจว่ามีความถูกต้องหรือไม่ โทเคนที่หมุนเวียนในระบบเป็นไปตามสถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้หรือไม่

ดังนั้น ICO Portal จึงต้องรู้และเข้าเรื่องธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าใจรูปแบบแนวคิดธุรกิจ สามารถประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจนั้นๆ ขณะเดียวกันก็มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเรื่องความปลอดภัยในระบบที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยกลั่นกรองไอซีโอที่จะเข้าตลาดตามหน้าที่ที่มีอยู่

ปฐม เล่าจุดแข็งของบริษัทอีกเรื่องหนึ่งว่า ทีมผู้ก่อตั้งคือมือเขียนไวท์เปเปอร์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบอีโคซิสเต็ม ประกอบกับประสบการณ์ที่ทำธุรกิจมายาวนาน มีความเข้าใจธุรกิจทั้งในยุคอนาลอกและดิจิทัล และสามารถสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้สยาม ไอซีโอ จะเป็นตัวกลางที่ช่วยองค์กรปรับตัวเองสู่โลกดิจิทัลได้เป็นอย่างดี


เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 04 October 2019 06:21
X

Right Click

No right click