เจเนอเรชั่นที่ 2 และประธานบริหารของบริษัท คาวากูจิ เซกิ (Kawaguchi Seiki) โคสุเกะ โอซาว่า จับกระแสสิ่งแวดล้อม ด้วย Screw press Dehydrator เครื่องมือที่มีการออกแบบขึ้นมา เพื่อการจัดการกับปัญหาขยะเหลือทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม
แนวคิดของการพัฒนา Screw press Dehydrator ต่อยอดมาจากธุรกิจ ของรุ่นพ่อ ที่เปิดโรงงานผลิตเครื่องจักรใหญ่มากว่า 70 ปี โดยมีจุดเริ่มจากเครื่องจักรของเรือ ไปจนถึงงานซ่อมบำรุง
กระทั่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มขยายธุรกิจไปสู่การรับผลิตเครื่องจักรแบบ OEM ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และในจังหวะนี้เองที่ โอซาบอกว่า มองเห็นโอกาสและเชื่อว่า Screw press Dehydrator จะสามารถเติบโตขยายนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทางด้านอาหารได้ จากเดิมที่ใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อรีดน้ำจากกากของเสียในการทำเกษตรและปศุสัตว์
จากเกษตรสู่นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร
การเจาะตลาดอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มจากในแวดวงพันธมิตรทางธุรกิจให้ข้อมูลว่า ธุรกิจผลิตถั่วงอกรายใหญ่ในญี่ปุ่น ประสบปัญหาเรื่องการกำจัดเศษอาหารที่เกิดจากการผลิต ทางบริษัทฯจึงได้รับโอกาสในการเข้าไปเพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยได้นำ Screw press Dehydrator เข้าไปเสนอ และทดสอบการใช้งานจริง พบว่าลูกค้าเคยมีประสบการณ์ใช้เครื่องจักรรีดน้ำลักษณะใกล้เคียง แต่ไม่มีประสิทธิภาพตามที่คาดหวัง เมื่อบริษัทฯ นำเสนอ และทดสอบจึงทำให้เห็นผลที่แตกต่าง และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้
ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิดการนำเครื่องจักรทางการเกษตร มาสู่อุตสาหกรรมอาหารของโอซาว่านั้น ยังมาจากจุดเริ่มของกฎหมายที่เคร่งครัดของประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องการกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเขาพบว่าธุรกิจหลายรายในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ประสบปัญหาเรื่องกากของเสีย และต้องการลดปริมาณ ซึ่งภาระในการทำลายที่สูงนั้นได้สร้างต้นทุนที่สูงขึ้น และในจุดนี้เองที่ทำให้ โอซาว่า มองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา จนครองใจลูกค้าในที่สุด
ในส่วนของ Screw press Dehydrator นั้น ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีของเครื่องรีดน้ำในเครื่องจักรเดิม และมีเครื่องมือแยกกากประเภทนี้อยู่ในตลาดแล้วก็ตาม แต่โอซาว่ากล่าวว่า การสร้างนวัตกรรม และความแตกต่างคือหัวใจ ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้นำมาพัฒนาโดยการเพิ่มโนว์ฮาวเฉพาะด้านเข้าไป เช่น เพิ่มความสามารถในการรีดน้ำจาก 50% เป็น 70% เป็นต้น จนออกมาเป็นอุปกรณ์ที่สมบูรณ์แบบในที่สุด
อีกส่วนที่สำคัญในความสำเร็จทำให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้านั้น มาจากการจุดเด่นของการนำเสนองานในรูปแบบโซลูชั่น "เราไม่ได้ขายเฉพาะเครื่องแยกกาก ในลูกค้าแต่ละราย เราจะต้องมีการเข้าไปสำรวจโรงงาน เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัด และความต้องการที่แท้จริง จากนั้นจึงทำเป็นโซลูชั่นเพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด เช่นทำ Conveyor ( ระบบลำเลียง) เสริม หรือทำเครื่องบด"
การกำจัดกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่จริงจัง และเข้มงวดอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น การกำจัดจึงเกิดค่าใช้จ่ายที่สูงมากตามมา ตั้งแต่ค่าขนส่ง และค่าทำลาย แต่เมื่อมีเครื่อง Screw press Dehydrator ทำให้โรงงานสามารถรีไซเคิลกากอาหารไปเป็นอาหารสัตว์
“นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายลง หรือแม้แต่ทำให้ค่าใช้จ่ายกลายเป็นศูนย์ ยังกลายเป็นแหล่งรายได้ที่มาจากการขายเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย ”
นโยบายการขยายตลาดในไทย
โอซาว่า เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่น จะเกิดซ้ำรอยและกระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมองว่าจุดนี้เป็นโอกาสในการขยายตลาด เพราะอุปกรณ์ของเขาเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหา และที่สำคัญคือรักษาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ สถานการณ์วันนี้ ปัญหาเกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีและทาง บริษัท คาวากูจิ เซกิ ได้ไปลงทุนที่เกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย ได้มีการร่วมมือกับคู่ค้าคือ บริษัท YN2-TECH (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพ และมีความไว้วางใจ เริ่มจากความ ชื่นชอบในวิสัยทัศน์ของเจ้าของ และ Y2Tech เองก็ให้ความสำคัญกับแผนการจำหน่าย โดยได้ให้ทีมงานขายและวิศวกร เดินทางไปอบรมโดยตรงที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนถึงการทำงานของเครื่องจักร
โอกาสในการเจาะตลาดในประเทศไทยนั้น เนื่องจากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก จึงเชื่อว่า Screw press Dehydrator น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการกับกากอาหาร และของเสียจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต ซึ่งในระยะแรกได้รับผลตอบรับอย่างดี และเริ่มมีการทดลองในหลายๆโรงงานแล้ว และด้วยขนาดของอุตสาหกรรมที่แตกต่างในอนาคตบริษัทฯ จะสามารถผลิตขนาดเครื่องขึ้นมาได้ตามสเกลที่ต้องการ
นอกจากการขยายตลาดมาที่ไทยแล้ว โอซาว่า ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้ไทยเป็นฮับในการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า หรือลาว โดยจุดแรกต้องทำให้เป็นโมเดลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในไทยเสียก่อน
รวมถึงการมองโอกาสธุรกิจโดยขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ เครื่องสำอาง เวชสำอาง หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยา เพราะมีของเสียซึ่งต้องผ่านกระบวนการทำลายที่ถูกต้องเช่นกัน
ในด้านกลยุทธ์การขายสำหรับลูกค้าในไทยนั้น จะเน้นไปที่โรงงานผลิตอาหาร ผลไม้แปรรูป โรงงานเบียร์ โรงงานที่ผลิตสินค้าประเภทผัก หรือผลไม้ ที่มีกาก ของเสีย ซึ่งมีการเข้าไปเยื่ยมชมและสำรวจเครื่องจักรในโรงงานแล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการออกบูธ ประชาสัมพันธ์ และรวบรวมข้อมูล ก่อนการนำเสนอโซลูชั่น ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม โอซาว่า พบว่า โรงงานบางส่วนของไทย ไม่มีขั้นตอนการกำจัดของเสีย แต่ใช้วิธีส่งกากหรือของเสียต่อไปให้โรงงานอาหารสัตว์เพื่อไปจัดการเอง จึงพบว่าโรงงานอาหารสัตว์ก็เป็นเป้าหมายในการเข้าไปนำเสนอเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มองข้ามส่วนของโรงงานผลิตอาหาร ที่ต้องการมาตรฐาน และมีนโยบายเรื่องการกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง
เป้าหมายการขายในปีนี้อยู่ ที่ประมาณ 5 เครื่อง เนื่องจากราคาของอุปกรณ์อยู่ที่ 6-7 หลัก จึงเน้นการขายในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบบค่อยเป็นค่อยไป และในส่วนของการขายสำหรับลูกค้ากลุ่ม SME อยู่ในระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ทั้งในด้านของราคาและสเกล
ราคาของเครื่องที่มีการประเมินว่าค่อนข้างสูงสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กนั้น โอซาว่า บอกว่าอยากให้มองการซื้อเครื่องจักรเป็นการลงทุน และก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร
เพราะจากเดิมอาจจะมีต้นทุนในการทำลายของเสียที่จำนวนหนึ่ง ค่าขนส่งอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อมีการใช้เครื่องจักรทำให้เกิดการแปรรูปและก่อประโยชน์เป็นเม็ดเงินขึ้นมา ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และโดยธรรมชาติของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 7 ปี แต่จากการประมาณการสำหรับ Screw press Dehydrator จุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น
สิ่งสำคัญของ บริษัท คาวากูจิ เซกิ ที่แตกต่างจากผู้จำหน่ายเครื่องมือแยกกากรายอื่น คือ เน้นการขายโนว์ฮาว ที่เป็นโซลูชั่น ตามนโยบายที่เป็นมิตรกับคู่ค้า
“บริษัทเราเป็นบริษัทเดียวในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร ไม่ใช่เป็นการขายอุปกรณ์ไปแล้วจบ แต่พร้อมช่วยเหลือลูกค้าและติดตามแก้ปัญหาให้ตลอดเวลา”
โอซาว่าทิ้งท้ายว่า การนำเครื่องจักรนี้เข้ามาทำตลาดไนไทย นอกจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ นโยบายทางด้าน CSR เพราะการใช้ Screw press Dehydrator เป็นการลดของเสียในปริมาณมาก และมีผลพลอยได้ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการทำลายและการขนส่ง รวมทั้งลดการใช้พลังงานของการขนส่งอีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นแล้วที่ญี่ปุ่น ดังนั้นการสร้างประเทศไทยเป็นฮับก็หวังว่าจะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมของไทย และขยายไปสู่แต่ละประเทศจนทั่วโลกในที่สุด