OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ขอนำเสนอมุมมองในการเตรียมความพร้อมขององค์กรในการใช้ AI จาก คุณโชติวิทย์ จารุวรรณสถิต และ คุณบุญชัย รัตนพิเศษ สองผู้บริหารจากเดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่มาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลบนเวทีให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ “Navigating AI Frontier” ซึ่ง ทีซีซี เทคโนโลยี (TCCtech) และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies) ร่วมกันจัดขึ้น โดยทั้งสองท่านเห็นพ้องกับประเด็นบนเวที World Economic Forum 2024 ในเรื่องการทำงานที่ต้องสอดประสานกันของทั้ง 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ M+A+D; Machine Learning, กระบวนการทำ Analytics และ Data ข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการนำ AI มาใช้งาน บนแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่น ชาญฉลาด โดยที่ไม่สามารถละเลยข้อคำนึงในหลักการ AI TRiSM (Trust, Risk, and Security Management) และผสมผสานเทคโนโลยีที่เหมาะสม
AI ส่งผลกระทบต่อทุกระดับ
ในยามที่ AI กำลังเข้ามามีอิทธิพลและแทรกซึมในองค์กรด้านใดด้านหนึ่งไม่มากก็น้อย หลักการของ “AI in Everything” ได้ถูกนำมาปรับใช้กับหลาย ๆ กระบวนการ เช่น Product Development, Sales Process, Training System, Post Sales Support การตระหนักว่า AI จะไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงาน แต่เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ซึ่งยังต้องอาศัยประสบการณ์ ความเข้าใจ ที่พัฒนาเป็นองค์ความรู้ และมุมมองการตัดสินใจของทีมงาน ทำงานร่วมกันในลักษณะ “Human-Machine Interaction” เป็นการปูทางไปสู่ Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างการทำงานร่วมกันในปัจจุบัน เช่น Software Development, Productivity Improvement, Knowledge Management ฯลฯ
แนวทางสำคัญสำหรับการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กร
AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต องค์กรชั้นนำทั่วโลกต่างมุ่งนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหนือชั้น แต่การนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ คุณโชติวิทย์และคุณบุญชัย ได้เชื่อมโยง 2 แนวทางสำคัญที่ผนวกกับแนวคิดของ AI Maturity Index ดังนี้
1. การตระหนักรู้ในตนเองและความพร้อม
· ความสอดคล้องของการจัดการการกำกับดูแลข้อมูล (Compliance) ความพร้อมของบุคลากรด้วยทักษะที่เหมาะสม (People Skills Set) และการนำทางลำดับชั้นขององค์กร (Hierarchy) ถือเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ
· การระบุเป้าหมายและปัญหาทางธุรกิจ (Business Use Case) และจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน การส่งเสริมความยั่งยืน หรือการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ
· การวัดผล การทดสอบความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าของการลงทุน AI ผ่านตัวชี้วัดที่ชัดเจนและผลลัพธ์ที่จับต้องได้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา
2. กระบวนการทำ Data Operation
· ร้อยละ 80 ของเวลาในการดำเนินงานด้านข้อมูล หมดไปกับขั้นตอนการแยก การแปลง และการถ่ายโอนข้อมูล (ETL) พร้อมทั้งจัดการกับข้อกังวลด้านความปลอดภัย กับการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายรูปแบบและแหล่งที่มา
· การเลือกใช้โซลูชัน หรือ Software Ecosystem ที่ยืดหยุ่น เป็นแบบเปิดและปรับเปลี่ยนได้ (open-source and adaptable platforms) เริ่มต้นจากส่วนงานย่อย ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายขนาด และจัดลำดับความสำคัญของมุมมองการจัดการด้านไอทีช่วยให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะราบรื่น
แม้การนำ AI มาใช้ในองค์กรจะเต็มไปด้วยโอกาสและประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีความท้าทายและข้อควรพิจารณา หลายประการที่องค์กรต้องเผชิญ ได้แก่
· ความซับซ้อนและปริมาณข้อมูลที่ต้องการของ Deep Learning: การผสมผสานระหว่าง Data Lake และ Data Warehouse ไปสู่รูปแบบ “Data Lakehouse” ด้วยการจัดการแบบผสมผสาน (Hybrid Approach) โดยใช้ Data Lake เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ร่วมกับ Data Warehouse สำหรับข้อมูลที่มีโครงสร้างที่ใช้ในการรายงานและการวิเคราะห์
· IT infrastructure & Data Architecture: ทีมไอทีต้องมีการวางแผนและการจัดการที่ดี เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และ Architecture ที่เหมาะสมกับ Use Case ให้พร้อมรองรับความสามารถในการรัน AI Workloads โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Large Language Models (LLMs) ที่ต้องใช้ GPU ที่มีประสิทธิภาพและพลังงาน รวมถึงการพิจารณาปรับใช้ On Premise, Cloud หรือในลักษณะ Hybrid ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
เข็มทิศสู่ความสำเร็จในการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่
· AI Deployment Model สามารถเริ่มได้จากสิ่งใกล้ตัวและเทคโนโลยีภายในองค์กรที่พร้อมใช้งาน เพียงแค่อาศัยการเทรนเพิ่มเติมภายใต้องค์ความรู้เดิม
· เลือกใช้โซลูชันต่าง ๆ ที่เหมาะสม จากผู้ให้บริการมากมายที่ตอบโจทย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
· ลงทุนในระบบที่ยืดหยุ่น คล่องตัวและปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งสามารถพัฒนาให้สอดรับกับความท้าทายที่ไม่หยุดนิ่ง
· วางแผนและจัดสรรการลงทุนการใช้ทรัพยากรให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เมื่อได้เห็นความสามารถที่เพิ่มขึ้นของ AI ก็ชัดเจนว่าอนาคตนั้น อุตสาหกรรมต่าง ๆ จะมีความชาญฉลาด ตั้งแต่อาคารและโรงงาน ไปจนถึงทุกหน่วยในองค์กรที่ได้พยายามนำ AI มาใช้ ซึ่งการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทั้งในฝั่ง Solution Provider และ Technology Provider จะสามารถสร้างสรรรค์พลังของ AI ให้ปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริง
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้จากงานสัมมนา “Navigating AI Frontier” ที่จัดขึ้นโดย ทีซีซี เทคโนโลยี และเดลล์ เทคโนโลยีส์