December 23, 2024

“ผู้บริโภคที่มองหาความน่าเชื่อถือของสินค้า มักจะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ไม่ใช่จากตัวสินค้า”

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า – NIDA) ได้จัดส่งทีมนักศึกษาสาขา MBA ไปร่วมการแข่งขัน Yangtze New Finance Cup, 2019 ซึ่งจัดโดย SAS China เพื่อเฟ้นหา Data Analytics Championship แม้เป็นเวทีแรกของนักศึกษาตัวแทนที่ไปร่วมการแข่งขัน แต่ก็สามารถผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย และได้ขึ้นแสดงผลงานบนเวที นับเป็นประสบการณ์เปิดโลกทัศน์ของพวกเขาอย่างมาก และโอกาสนี้ที่ทีมตัวแทนร่วมแข่งขัน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 นักศึกษาจะมาแบ่งปันประสบการณ์จากการแข่งขันในครั้งนั้น พร้อมคำชี้แนะกับน้องๆ หรือตัวแทนในอนาคตเพื่อเตรียมตัวสำหรับเวทีการแข่งขันในอนาคต

จากห้องเรียนสู่เวทีระดับโลก

กฤตเมธ บุญเพ็ง หรือ แมน นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร เล่าถึงการรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “เรา 3 คนเรียนวิชา Data Mining กับ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล อาจารย์บอกว่ามีการแข่งขันอันนี้ ท่านถามว่ามีใครสนใจที่จะเข้าร่วมแข่งขันบ้าง พวกเราเลยตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขัน”

ธนพล อริยประยูร หรือ ยอด นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร เล่าว่า “การแข่งขันนี้จัดโดย SAS China ซึ่งจัดการแข่งขันทุกปีแต่ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันเฉพาะในประเทศจีน และปีนี้คือปี 2019 เป็นปีแรกที่เปิดเวทีระดับนานาชาติ จริงๆ โปรแกรม SAS เราใช้เรียนอยู่ในวิชา Data Mining อยู่แล้ว เราก็อยากจะเอาสิ่งที่เรียนมาไปลองใช้ในชีวิตจริง เมื่อมีโอกาสที่ทาง SAS China จัดการแข่งขันก็เป็นความท้าทายที่อยากเข้าร่วม”

กษมา สืบบุก หรือ บอส นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน เล่าว่า “การแข่งขันปีนี้มีนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาของไทย จีน ไต้หวัน ทั้งหมด 2,600 กว่าคน 1,000 พันกว่าทีมเข้าร่วมแข่งขัน  โดยหนึ่งทีมจะมีประมาณ 3 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาจากจีน สำหรับการฟอร์มทีมของเราเริ่มจากแมนเขาสนใจด้านนี้อยู่แล้ว เพราะเขาทำงานเป็นพนักงานวิเคราะห์ เขาก็มาชวนผม ชวนพี่ยอด”

โจทย์คือหาความสัมพันธ์ของธุรกิจ

แมน: เล่าถึงโจทย์ของการแข่งขันว่า “การแข่งขันจะมีสองรอบ รอบแรกทาง SAS China จะส่งข้อมูลและโจทย์มาให้ ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูล Index ของอุตสาหกรรมประเทศจีน 28 อุตสาหกรรมย้อนหลังไป 20 ปี โจทย์จะให้เราวิเคราะห์ว่า 28 อุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันยังไง ถ้านักลงทุนในจีนต้องการลงทุนเขาจะต้องลงทุนอะไรเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด ตอนได้ข้อมูลมาเราไม่รู้จริงๆ ว่าเราจะทำอะไรเกี่ยวกับข้อมูลพวกนี้ เราก็ไปค้นหาข้อมูลฟอรั่มจากต่างประเทศเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านไฟแนนซ์ว่าเขาทำยังไงกันบ้าง พอเราจับทิศทางคนเก่งๆ ในโลกที่เขาทำได้ เราก็เริ่มเอาของคนนี้คนนั้นมาใช้ผสมกันไป”

บอส: เล่าว่า “พอเราได้ข้อมูลมาเราก็มาหาข้อมูลพื้นฐานก่อนว่าแต่ละอันมีความสัมพันธ์ยังไง แล้วก็วิเคราะห์กันว่าจะใช้โมเดลอะไร”

ยอด: เล่าเสริมว่า “โจทย์ข้อแรก เขาให้เราหาความสัมพันธ์ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น ถ้าอุตสาหกรรมก่อสร้างมีมูลค่าสูงขึ้นมีความเป็นไปได้หรือเปล่าที่อุตสาหกรรมเหล็กหรืออุปกรณ์ก่อสร้างจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปตามไปด้วย ข้อสอง ให้เราหาความสัมพันธ์ของ 28 อุตสาหกรรมเลยว่ามีความสัมพันธ์กันยังไง โจทย์สุดท้ายเขาจะถามว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนเราจะจัดพอร์ตการลงทุนยังไงให้ได้กำไรสูงสุด”

กว่าจะเป็น 20 ทีมสุดท้าย

ยอด: เล่าต่อว่า “หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วก็นำข้อมูลมาศึกษาซึ่งเห็นความผิดปกติอยู่ 2 จุด เราก็พยายามหาข้อมูลว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจหรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ข้อมูลที่เราหาเจอส่วนใหญ่เป็นภาษาจีนซึ่งก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่เราผ่านเข้า 100 ทีมในรอบแรก”

แมน: เล่าเสริมถึงปัญหาที่พบอย่างหนึ่งว่า “เรามีปัญหาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเพราะเราเรียนคลาส Data Mining ไปแค่ 3-4 ครั้งเอง เรายังเรียนไม่ครบทั้งหมดจริงๆ เรางงเป็นไก่ตาแตกด้วยซ้ำเพราะเราไม่รู้จะวิเคราะห์ยังไง แต่โชคดีที่เราเข้าไปถามอาจารย์จงสวัสดิ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ ท่านก็แนะนำว่าเราควรจะทำอย่างไรจนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เรื่องเวลาที่มีน้อยก็เป็นปัญหาของเรา เขาให้เวลาเราแค่ 2-3 อาทิตย์ในการส่งผลงานรอบแรก พวกเราต้องทำงานจันทร์ถึงศุกร์จะมีเวลาทำก็ช่วงเลิกงานเราก็ทำไปจนถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง”

จากความช่วยเหลือของอาจารย์ทำให้ทีมสามารถผ่านการคัดเลือกรอบแรกได้

ยอด: เล่าว่า “อาจารย์จงสวัสดิ์ เข้ามาช่วยซัพพอร์ตเรา ผศ.ดร.กฤษฎา นิมมานันทน์ มาช่วยเรื่องการคิดวิเคราะห์ในตลาดหุ้น ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์ ท่านทำเรื่องวิจัยต้องมีการใช้โปรแกรม SAS อยู่แล้วและมีความเชี่ยวชาญเรื่องตลาดหุ้นด้วย อาจารย์ทั้ง 3 ท่านก็มาช่วยให้คำแนะนำพวกเราทั้งทีมและมาเป็นทีม”

 

บอส: เล่าถึงการเดินทางไปพรีเซนต์ที่ประเทศจีนว่า “เราไปถึงประเทศจีน เขาให้เราไปดูงาน ดูนวัตกรรมก่อน ผมมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก พอวันแข่งขันวันแรกเราจะต้องเจอกับกรรมการ 3 คนเพื่อคัดเลือกแต่เราก็เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายได้ แม้ในครั้งนี้ที่เราไม่ได้รางวัลอะไร อาจเพราะเราสื่อความไม่ตรงกับความต้องการของคณะกรรมการ แต่เขาก็ให้เราขึ้นพรีเซ็นในฐานะทีมต่างชาติ”

ยอด: เล่าเสริมว่า “เขาจะปรับ Yangtze ให้เป็นเมืองหลักเรื่องการเงิน เขามีการพาดูนวัตกรรมของเขา คือต่อไปใครผ่านตม.แล้ว เวลาเดินในเมืองถ้ากล้องจับที่หน้าใครจะโชว์ประวัติของคนนั้นมาเลยว่าเป็นใคร”

แมน: เล่าเสริมต่อว่า “วันแรกของการแข่งขันเราต้องพรีเซนต์กับกรรมการ 3 คน คนหนึ่งมาจาก SAS China คนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของจีน อีกคนเป็นคนอยู่ในอุตสาหกรรมจริง”

การแข่งขันสร้างประสบการณ์ชีวิต

สำหรับประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันนั้น

ยอด: เล่าว่า สิ่งที่ติดตัวพวกเรามาจากการแข่งขัน คือ การขึ้นชื่อว่าเราเป็น Winner ถือว่าเป็นโปรไฟล์ที่ดีให้กับเรา อาจารย์จงสวัสดิ์พูดอยู่เสมอๆ ว่านักศึกษาปริญญาโท มาลงทะเบียนเรียนเท่ากัน เรียนสองปีเหมือนกัน แต่ได้อะไรกลับไปไม่เท่ากัน อันนี้จริงอย่างที่อาจารย์กล่าวเลย การแข่งขันครั้งนี้เปิดโอกาสให้เฉพาะนักศึกษาปริญญาโทที่ลงเรียนวิชานี้เท่านั้น เราไปทำงานเราก็ไม่ได้ประสบการณ์แบบนี้ น้องๆ ที่สนใจผมขอแนะนำให้สมัครเลย เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือตอนสมัครอยากให้ลองท้าทายตัวเองดู ท้าทายความรู้ที่เรียน

แมน: เล่าเสริมอีกว่า “ผมมองว่าจะมีนักศึกษาปริญญาโทในไทยกี่คนที่จะได้รับโอกาสที่ดีแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้รับอีกเมื่อไหร่และจากที่ไหนอีก ผมรู้สึกว่าพวกเราได้ความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะไปเรียนรู้บนเวทีนานาชาติ กล้าจะยอมรับว่าวันนี้เราอาจจะยังสู้จีนไม่ได้ เรายังสู้ไต้หวันไม่ได้ แต่ก็จะนำกลับมาปรับปรุงพัฒนาสำหรับเวทีต่อไปอาจจะในโลกของการทำงานจริงก็ไม่แน่

เราได้ประสบการณ์ เพราะเป็นเวทีต่างชาติที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วม ได้พัฒนาภาษาอังกฤษด้วย เพราะใช้ภาษาอังกฤษกันตลอด :บอส เล่าทิ้งท้าย


บทความ: กองบรรณาธิการ

ภาพ: อาทิตย์ กณฐัศว์กำพล

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า – NIDA) ได้ส่งตัวแทนนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 3 คนเข้าร่วมแข่งขันรายการ TUN DATA Challenge 2019 ผลจากการแข่งขันสามารถคว้ารางวัล Teradata Technology Award 2019 มาครอง ด้วยการนำความรู้ที่ศึกษามาปรับใช้สร้างแผนธุรกิจให้กับองค์กร HIRE HERO เหนือกว่ารางวัลที่ได้รับ นักศึกษาทั้ง 3 คนได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจและความรู้จาก Keynote ระดับโลก

จาก “เพื่อน” สู่ความเป็น “ทีม”

วีรุตม์ แพทย์สุวรรณ (ชุณห์) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 34 กล่าวว่า การเข้าร่วมแข่งขัน TUN DATA Challenge 2019 นั้นเริ่มจากทีมของตนเองเป็นนักศึกษาสาขา Flexible MBA และได้ลงเรียนวิชา Big Data, Data Mining, and CRM Applications กับ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล อาจารย์จึงชวนให้ทำโปรเจคเพื่อส่งไปประกวดที่สหรัฐอเมริกา และถ้าได้เข้ารอบจะได้ไปร่วม “2019 Teradata Analytics Universe” Conference ที่สหรัฐอเมริกา

ตอนนั้นผมกับวินเรียนอยู่รุ่นเดียวกัน ส่วนป๊อปอยู่รุ่น 32 เราสนใจเรื่อง Data Mining และ Big Data ก็เลยมาฟอร์มทีมกัน ตอนแรกจริงๆ ผมไม่ได้ตั้งเป้าจะไปแข่งขันอะไร ผมลงเรียนวิชา Data Mining เพราะอยากลองเรียนวิชานี้เพราะเป็นเทรนด์ และเป็นสิ่งที่คนพูดกันก็เลยลงเรียน แล้วก็มาเจอป๊อปซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของผม เขาก็สนใจวิชานี้เพราะอาจารย์สอนดี เขาบอกว่าถ้าทำโปรเจ็กต์ได้ดีก็มีโอกาสไป Conference ระดับนานาชาติ ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีเลยตัดสินใจร่วมกลุ่มกัน

รับโจทย์ รับ Data ลงมือทำ

วีรุตม์: กล่าวถึงโจทย์ที่ทาง Teradata ให้ไว้ว่า “โปรเจ็กต์สำหรับปีที่ลงแข่งเป็นการเสนอ Solution ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร มีชื่อโปรเจ็กต์ คือ DATA EMPOWERMENT FOR HIRE HERO ผู้จัดงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้ว่า HIRE HERO เป็นองค์กรที่ทำพันธกิจในการหางานให้กับทหารและทหารผ่านศึก ผู้จัดงานมีการไกด์ไลน์คำถามให้เรา โดยคำถามจะเน้นไปทางด้านการจัดการ ด้านลูกค้า คำถามเกี่ยวกับการบริจาค ว่าเขามีข้อมูลแบบนี้เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราก็เอาข้อมูลมาสร้างกลยุทธ์ สร้างแผน เราเอาความรู้ด้านแมนเนจเม้นต์มาใช้ ที่นิด้ามีคณะสถิติประยุกต์เขาทำเรื่องข้อมูลเหมือนกัน แต่ผมเป็นบริหารธุรกิจสิ่งที่ผมแตกต่างจากเขาคือความเข้าใจในธุรกิจและเอาข้อมูลดิบมาแปลงเป็นอินไซน์เพื่อตอบโจทย์ให้กับองค์กร”

นที พนมโชคไพศาล (ป๊อป) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 32 กล่าวเสริมว่า “เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เขาถูกใจ คำถามของเขาทำให้เราเข้าใจ Data มากขึ้น”

เอาความรู้ที่เรียนมาปรับใช้

วีรุตม์: กล่าวต่อว่า “ความรู้เรียนจากที่นิด้าสามารถนำมาปรับใช้ได้มาก อย่างวิชาด้านการตลาด การเงิน หรือการบริหารทรัพยากรบุคคล อาจารย์เคยตั้งคำถามกับเราว่าคณะบริหารธุรกิจสอนเพื่อให้ตัวธุรกิจได้กำไรมากที่สุด แต่การที่เราไปช่วยองค์กรไม่แสวงหากำไร เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง จริงๆ วิชาที่เรียนมาสามารถช่วยได้มาก ถึงเขาจะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ถ้ารายจ่ายเขามากกว่ารายได้ องค์กรเขาก็อยู่ไม่ได้ เราต้องเข้าไปช่วยทำยังไงให้เขาลดค่าใช้จ่าย ทำยังไงให้พนักงานของเขามีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่เรื่องของการตลาดทำยังไงให้มีคนมาบริจาคเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ทำให้ทีมได้รับรางวัลนั้นมาจากหลายเรื่อง ทั้งความทุ่มเท การใช้เครื่องมือ ซึ่งอาจารย์จงสวัสดิ์เป็นคนช่วยไกด์ให้ว่าควรใช้เครื่องมืออะไรแต่ทีมเป็นคนลงมือทำเองทั้งหมด”

นที: กล่าวเสริมว่า เครื่องมือที่ทีมเอามาใช้เป็นเครื่องมือที่นักศึกษานิด้าได้เรียนอยู่แล้ว อย่าง Teradata Aster, SAS Enterprise Miner, Tableau, RapidMiner ฯลฯ เหล่านี้ ทางนิด้าให้กับสนับสนุนและลงทุนกับนักศึกษาอย่างมาก

ได้มากกว่าการแข่งขันแต่ได้ความรู้ด้วย

วีรุตม์: กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ว่า ในรายการแข่งขันจะมีคนดังๆ ด้าน Big Data และ Data Mining มาบรรยายให้ฟังถึงเทรนด์ของ Data Analysis ว่าจะไปทิศทางไหน เช่น Michael Hansen – Director Business Intelligence at Vodafone Genmany บรรยายเรื่อง Driving Success with Data and Analytics at VODOFONE, Katie Linendoll พิธีกร และนักเขียนชื่อดังทางด้าน Technology & Geadgets, Oliver Ratzesberger อดีต CEO Teradata บรรยายเรื่อง The New Reality and the 5 Factors Impacting Business Success ฯลฯ ทำให้การไปแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่เป็นมืออาชีพ ได้พูดคุยกับบริษัทชั้นนำ และได้รู้ว่าเทรนด์กำลังไปทิศทางไหน

นที: กล่าวเสริมต่อว่า “การไปครั้งนี้เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนในวงการจริงๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เข้าแข่งขันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ได้เห็นความสนใจเรื่อง Data Analysis ของเด็กมัธยมปลายที่มาร่วมการแข่งขัน Analytic Challenge และเวลาที่ Keynote บรรยายเหมือนกับเขาแนะแนวทางให้กับเรา เหมือนเขาไม่ได้สอน เขาเล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟัง”

กิตติธรา สงวนชาติ (วิน) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 34 กล่าวเสริมว่า “ประสบการณ์ที่ได้ฟังจาก Keynote เราได้ฟังว่าสิ่งไหนที่เขาทำแล้วสำเร็จ สิ่งไหนไม่สำเร็จ ทำให้เราไม่ต้องไปเรียนรู้ตั้งแต่ศูนย์ใหม่แต่เราเอามาต่อยอดได้เลย”

ขอบคุณอาจารย์ผู้ผลักดันให้แจ้งเกิด

กิตติธรา: กล่าวว่า “ตั้งแต่เรียนวิชาการ Data Mining ของอาจารย์จงสวัสดิ์ อาจารย์พยายามสร้างแรงกระตุ้นให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับโครงการ TUN DATA Challenge พอทีมของผมต้องการเข้าประกวด อาจารย์ก็เป็นที่ปรึกษาให้”

วีรุตม์: กล่าวเสริมว่า “อาจารย์ช่วยทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่อง Data Mining เรื่อง MBA ก็ช่วย อาจารย์เขาเป็นทั้งที่ปรึกษาและโค้ช เขาผลักดันพวกเรามาก ขอแค่นักศึกษามีความตั้งใจทำงานชิ้นนี้ออกมา ซึ่งเราก็ทำงานกันหนักมาก”

นที: กล่าวทิ้งท้ายว่า “บางช่วงเรารู้สึกเหนื่อยมาก เราคิดว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรเหนื่อยขนาดนี้ เราต้องมาทำอะไรที่ไม่รู้ผลจะออกมายังไง ตอนนั้นหมดแรงแล้วอยากจะยอมแพ้แล้ว ขอจบโปรเจ็กต์นี้สักที อาจารย์ก็มาเป็นแรงกระตุ้นให้กับเราว่าถ้าเราทำให้ดีผลสุดท้ายออกมาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ”


บทความ: กองบรรณาธิการ

ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click