January 22, 2025

NIDA Business School: The Untold Story

October 09, 2019 7272

ถ้า Harvard Business School (HBS) บ่งบอกถึงกำพืดโรงเรียนธุรกิจของอเมริกันชน NIDA Business School ก็คงเป็นกำพืดของโรงเรียนธุรกิจไทยไม่ต่างกัน ทั้งคู่เป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจยุคบุกเบิกเหมือนกัน บัณฑิตของทั้งคู่เป็น Mechanism ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศเหมือนกัน ทั้งคู่มี Brand Loyalty ที่สูงเหมือนกัน และยังมีอีกมากมายที่ทั้งคู่มีเหมือนๆ กัน

แล้วไฉนเลยหากจะเรียน MBA จะต้องดั้นด้นไปไกลถึง Harvard ด้วยเล่า?

เพราะไม่เพียงแต่ศักยภาพทางการศึกษาที่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่หากใครได้มีโอกาสเข้าไปยัง NIDA Business School ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จะพบว่าบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน หรือแม้แต่ห้องสมุดเอง ก็ถูกออกแบบมาไม่ต่างจาก Harvard

“Harvard และ Wharton ต่างก็เป็นพันธมิตรของเรา ที่เราจำเป็นต้อง Connect ไว้เพื่ออัพเดตตัวเราเองตลอดเวลา เพราะการที่จะได้รับการรับรองเป็นระดับ World Class MBA ที่แข่งกับเมืองนอกได้นั้น เพียงแค่สอนตาม Case ตามตำราอย่างเดียวคงไม่พอ” รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School อธิบายถึงการเปลี่ยนไปของการศึกษา MBA ที่ NIDA

NIDA ในวันนี้จึงปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่แน่ล่ะ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ารากเหง้าที่แข็งแกร่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ NIDA มี Business School ดังเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้

ปฏิสนธิ

จำเดิม NIDA กำเนิดขึ้นโดยปฐมปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการให้ประเทศมีสถาบันบ่มเพาะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และสิ่งหนึ่งคือ กระแสพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยุค “พัฒนา” ของไทย

แม้จะดูว่า NIDA Business School หรือคณะบริหารธุรกิจเดิม ถูก Set ขึ้นมาพร้อมๆ กับ 3 คณะ คือ รัฐประศาสนศาสตร์, สถิติประยุกต์ และพัฒนาการเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดแนวคิดกลับเป็นเอกเทศมาตั้งแต่ต้น โดยมี ดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในขณะนั้นเป็นหัวแรงหลัก ทั้งนี้ เพื่อสนองความต้องการของธุรกิจเอกชนที่กำลังเริ่มขยายตัว ตามเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 อีกทั้งที่ผ่านมาการเรียนการสอนด้านธุรกิจถูก Focus ไปในด้านพื้นฐานของวิชาบัญชี (Accountancy) หรือไม่ก็เป็นการศึกษาในแนวพณิชยการ (Commerce) เน้นผลิตคนให้เป็นเสมียน ไม่ใช่นักบริหารธุรกิจ

โดยตอนแรกมีเอกสารราชการจากนายกรัฐมนตรี เสนอเรื่องการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยการบริหารธุรกิจ (Graduate School of Business Administration) โดยที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมอบให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นเจ้าของเรื่องและให้ไปพิจารณาในรายละเอียด

อย่างไรก็ดี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งสถาบันด้านการบริหารการพัฒนา (คือ NIDA) เมื่อ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ตามข้อเสนอของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร นั้น พบว่ามีข้อเสนอให้เปิดการเรียนการสอนด้าน “บริหารวิสาหกิจ” ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีพลังมากขึ้น จึงมีการผนวกสาระของทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน แล้วเปิดเป็นคณะบริหารธุรกิจในโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งสถาบันฯ ส่วน ดร.อำนวย ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย

โดย ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการเลขานุการ มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมทุกครั้งในขณะนั้นบอกว่า “นิด้าจะไม่ไปทาง M - Commerce แต่เป็น MBA Graduate School ทาง Administration เพราะฉะนั้นไม่ Require พื้นปริญญาตรีทางด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนั้นถือเป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่ของการศึกษาด้านธุรกิจ” 

MBA บุกเบิก

การก่อตั้ง NIDA ช่วงแรกๆ ในปี พ.ศ. 2509 สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังดี และเริ่มรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) จึงจำเป็นต้องสร้างบุคลากรทางการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจขึ้นมา เพื่อผลิตนักธุรกิจในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็น Development Mechanism ของประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ดร.แสง สงวนเรือง, ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์,ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล, ดร.บุรินทร์ กันตะบุตร, ดร.ศุภชัย สุวรรณังกูร, ดร.นิตย์ สัมมาพันธ์, ดร.วุฒิชัย จำนงค์, ดร.อัศวิน จินตกานนท์, ดร.ทนง พิทยะ ฯลฯ คือคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกส่งไปศึกษาต่อทางด้าน Ph.D. และ DBA กับทาง MUCIA (The Midwestern Universities Consortium for International Activities) ภายใต้การให้ทุนของ “มูลนิธิฟอร์ด” ที่ระบุให้ทุนปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แก่ที่ อินเดียน่า อิลลินอยส์ วิสคอนซิน และมิชิแกน โดยแต่ละคนที่ได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอกเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะโอนตำแหน่งราชการเพื่อย้ายสังกัดมารับทุนเป็นอาจารย์ที่คณะบริหารธุรกิจทุกคน

คล้อยหลังประมาณ 3-5 ปี นับแต่ NIDA เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2509 อาจารย์คนไทยรุ่นแรกจึงเริ่มทยอยกลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะบริหารธุรกิจ โดยคนกลุ่มนี้ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทั้งทางการสอน และร่างหลักสูตร รวมถึงแปลและแต่งตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจภายในประเทศมากที่สุด นั่นเพราะการเรียนบริหารธุรกิจในช่วงแรกจะเรียนจาก Text Book ซึ่งสอนโดยอาจารย์อเมริกัน ที่มาจากโครงการสนับสนุนการสอนของ MUCIA ทั้งหมด ความพยายามในการวางหลักสูตรในช่วงนั้น นับว่าเป็นไปอย่าง Active พอสมควร เนื่องจากขณะที่แยกย้ายกันเรียนที่ MUCIA อาจารย์แต่ละคนต้องมาพบปะ เพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเป็นประจำที่อเมริกา ตามเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับทุนของฟอร์ด

ฉะนั้น เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะ ทุกคนจึงสามารถวาง Concept ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังเช่นที่ ดร.มารวย เคยเล่าว่า “นิด้าจะหนักไปทาง Approach ทางด้านบริหาร ตอนนั้นผมกับ ดร.วีระวัฒน์ และอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ปรึกษากันว่า เราใช้ Case ของ Harvard บ้าง อะไรบ้าง แต่เราไม่มี Case ของคนไทยเลย ทำไมอาจารย์ไม่เขียนขึ้นมาเองเลยล่ะ”

การร่วมกันจัดทำ Case ทางการศึกษานี่เอง ที่ทำให้บรรดาอาจารย์รุ่นแรกๆ ต้องออกไปสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนา Case ให้สอดคล้องกับธุรกิจจริง และที่สำคัญคือต้อง Practical ด้วย โดยช่วงแรกๆ นั้นมี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA (Thai Management Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็นพันธมิตรหลัก โดยมีจรัส ชูโต, ดร.อาชว์ เตาลานนท์, ดนัย บุนนาค และยุทธสาร ณ นคร เป็นแกนนำ

ขณะที่ ดร.แสง ก็บอกทำนองเดียวกันว่า ในขณะนั้นเศรษฐกิจกำลังเติบโต บริษัทเอกชนก็เพิ่งจะเริ่มตั้ง ทำให้หลายบริษัทต้องการที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ ส่งผลให้ตอนนั้น อาจารย์ที่คณะบริหารธุรกิจเองออกไปเป็นที่ปรึกษาแทบทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจที่จะนำมาสอนนักศึกษา ซึ่งนั่นทำให้อาจารย์คนไทยรุ่นบุกเบิกที่คณะบริหารธุรกิจของ NIDA ได้ถักทอความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจเอกชนขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ทำให้คนในคณะบริหารธุรกิจนิด้า มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติมาจนถึงปัจจุบัน

ประชาธิปไตยเบ่งบาน

ที่ผ่านมา ตำแหน่งอธิการบดี และคณบดี ในขณะนั้นจะมาจากการแต่งตั้งโดย “รัฐบาล” หรือไม่ก็ “คนนอก” ซึ่งนั่นทำให้มีกลุ่มอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มวันพุธ” ใช้เวลาที่ว่างจากการสอนในบ่ายวันพุธ มารับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการสรรหาตำแหน่งบริหารดังกล่าวด้วย “คนใน”

กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 สภาสถาบันจึงได้มีการลงมติให้มีการสรรหาอธิการบดีโดยให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เป็นไปตามที่ชมรมอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เสนอ โดยผลครั้งนั้นทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ชูโต ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนแรกภายใต้ระบบการสรรหาแบบใหม่

ความคุกรุ่นด้านแนวคิดประชาธิปไตยนี่เอง ที่แม้จะมีด้านดีอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าท้ายสุดแล้วกลับส่งผลต่อตำแหน่งคณบดีของคณะบริหารธุรกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจารย์ที่จบมาสอนแต่ละคนถือเป็นนักวิชาการที่มีความเป็นตัวของตัวเอง (อีโก้) ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่จะมาเป็นคณบดีได้นั้น หากไม่สามารถควบคุมอาจารย์ทุกคนได้ ก็ต้องเป็นคนที่ต้องประสานประโยชน์ได้เก่ง ซึ่งนั่นกลายเป็นที่มาว่าคณบดีคณะบริหารธุรกิจของ NIDA มักจะเป็นคนที่อายุน้อย และเพิ่งจบมาสอนใหม่ๆ

ดังเช่นที่ ดร.ทนง พิทยะ อดีตคณบดี (พ.ศ. 2522 - 2523) ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมจบกลับมา 6 เดือน ได้เป็นคณบดีเลย คือตอนนั้นมีอาจารย์อยู่ 10 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามขั้วที่จบมา ซึ่งเป็นปกติของวงวิชาการ วงวิชาการผู้นำต้องอ่อนน้อมมาก การเป็นคณบดีก็คือกระโถนท้องพระโรงดีๆ นี่เอง คือแนวทางของนักวิชาการมันต้องมีอิสระ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติของอาจารย์ที่ต้องการอิสระ”

และความอิสระที่ว่านี่เอง ที่กลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คณะบริหารธุรกิจ NIDA มีประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรอยู่เรื่อยมา

Competitive Age

เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในสมัยที่ 2 ของการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.เปรม คำถามที่ว่า เราควรสร้างผู้เชี่ยวชาญธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ดังกระหึ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการเปิดสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หรือ ศศินทร์ ในปัจจุบัน) ขึ้น เพื่อสอนปริญญาโทด้าน MBA เป็นภาษาอังกฤษ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นหัวแรงหลักในการจัดตั้ง ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ก็ผลักดันให้เปิดหลักสูตร MBA และ Ex-MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเช่นกัน โดยหลักสูตรดังกล่าวเปิดสอนในช่วงภาคค่ำ

ความพยายามในการ Share ผู้เรียน MBA นี้ แม้จะมีความระวังเป็นอย่างสูงสำหรับผู้ที่เปิดใหม่อย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่จะไม่ดึงผู้เรียนในตลาดหลักที่ NIDA เป็นเจ้าตลาดอยู่ แต่ทว่าคณะบริหารธุรกิจของ NIDA เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการขยายมณฑลการศึกษา MBA ให้กว้างขึ้น โดยในปีเดียวกัน คณะบริหารธุรกิจ ได้ก่อตั้งโครงการ NIDA-IMET หรือโครงการสัมมนานักธุรกิจชั้นนำส่วนภูมิภาค ที่นำโดย ดร.นิกร วัฒนพนม โดยโครงการดังกล่าวนี้เรื่องฮือฮาอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นการตอบโจทย์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ที่เน้นบทบาทและความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิตในสาขาการเกษตร อุตสาหกรรม แล้ว ยังถือเป็นการวางโครงสร้างที่แข็งแกร่งให้กับหอการค้าจังหวัดจนถึงทุกวันนี้ด้วย

โดย ดร.นิกร กล่าวกับเราว่า “ต่างจังหวัดพวก Entrepreneur เขา Self-Made อยู่แล้ว สิ่งที่เราจะทำก็คือการสร้างให้นักธุรกิจต่างจังหวัดมีการจัดการสมัยใหม่ ให้รู้เท่าทันธุรกิจสังคมในกรุงเทพฯ รู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ ทั้งภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยช่วงที่ไปช่วยเสริมสร้างหอการค้าแต่ละจังหวัด เราก็ supply กับลูกศิษย์โดยตรง ฉะนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดในยุคแรกๆ เป็นลูกศิษย์ผมหมด”

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนในการปรับตัวกับภาวะการแข่งขันที่รุมเร้ามากขึ้นของคณะบริหารธุรกิจที่ NIDA น่าจะอยู่ในสมัยที่ ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ เป็นคณบดี (พ.ศ. 2530 - 2532) คาบเกี่ยวไปถึงช่วงที่ ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นคณบดี (พ.ศ. 2532 - 2534 ) ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาด้านธุรกิจ เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังก่อเป็นฟองสบู่ หรือแม้แต่ทางด้านงานวิจัย ที่ตอนนั้นเริ่มมี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่องานวิจัยต่างๆ ในภาครัฐ

หากดูจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทำให้ NIDA เองตัดสินใจพุ่งเป้าไปที่หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นหลัก แทนที่จะเดินควบคู่ไปกับงานวิจัยดังเช่นอดีตที่ผ่านมา โดยนอกจากจะมีการจัดทำหลักสูตรการเรียน MBA ที่หลากหลายขึ้น เช่น MBA ภาคภาษาอังกฤษ, Ex-MBA,Y-MBA แล้ว ยังมีการจัดทำหลักสูตรปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2531 ด้วย ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมด้วย

หลักสูตรปริญญาเอกในขณะนั้นเรียกว่า Asians Dean of Graduate School of Management เนื่องจากในช่วงแรกจะเป็นการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในเอเชียด้วยกัน ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย โดยได้ทุนพัฒนาจาก ซีด้า หรือ Canadian International Development Association เป็นเงินมา 8 ล้านเหรียญแคนาดา หรือประมาณ 200 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นความร่วมมือเพียงประเทศไทยกับฟิลิปปินส์เท่านั้น ความพยายามอันนี้ได้กลายมาเป็นโครงการ JDBA โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

นอกจากนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 คณะบริหารธุรกิจที่ NIDA ยังพยายามที่จะ Link หลักสูตร MBA ให้ผ่านการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยการสร้างหลักสูตร Global MBA ด้วยการส่งนักศึกษา ประมาณ 50 คนไปเรียนต่างประเทศ อาทิ Boston University, University of Pittsburg หรือในยุโรป อย่าง INSEAD, IMD, และ Bocconi เป็นต้น ทว่าสุดท้าย หลักสูตรดังกล่าว ก็ไม่อาจมีโอกาสได้ใช้จริง เพราะไม่ผ่านมติที่ประชุมคณะ

สมองไหล Crisis

รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ กล่าวว่า “ปัญหาที่แก้ไม่ตกของนิด้า ก็คือเวลาที่คนออกไป การสร้างทดแทนมันไม่เพียงพอ เพราะคนมีคุณภาพเข้ามาในอัตราที่น้อยกว่าคนที่ไหลออกไป”

ภาวะการช่วงชิงบุคลากรทางการศึกษาด้านธุรกิจเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากระบบสถาบันการศึกษาจ่ายเงินเดือนอาจารย์ตาม Quality ดังเช่นระบบการศึกษาชั้นนำของโลกยอมทุ่มเงินไม่อั้น เพื่อให้อาจารย์ดังๆ มาสอนในสถาบันการศึกษาของตน ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเท่านั้น หากแต่จะทำให้หมดปัญหาเรื่องอาจารย์ถูกเอกชนซื้อตัวไปด้วย

เหตุผลเดียวที่ทำให้ประสบปัญหาดังกล่าวก็คือ “เงินเดือนที่สวนทางกับศักยภาพอาจารย์” เนื่องจาก NIDA เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ ดังนั้น ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเรื่องรายได้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชกาลพลเรือน (ก.พ.)

ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ในฐานะคณบดีในตอนนั้น จึงปรึกษาหารือกับเพื่อนอาจารย์รุ่นแรกๆ ว่า เพื่อให้ทุกคนมีประสบการณ์และมีเงินใช้ จะมีการอนุญาตให้ออกไปทำงานข้างนอกได้อาทิตย์ละ 1 วัน โดยจะไปเป็นที่ปรึกษาธนาคารหรือของอะไรก็สุดแล้วแต่ ครั้นทำไปได้สักระยะ ปรากฏว่ามีบัตรสนเทศว่าระเบียบดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของทางราชการ

ดร.วีรวัฒน์ จึงแก้เกมด้วยการเสนอกับทางสถาบันฯ ว่าขอให้ตั้งเป็น “ศูนย์บริการทางวิชาการ” ที่จะรับงานวิจัยข้างนอก หรือ ที่ปรึกษาข้างนอกได้ แต่มี Requirement เรื่องเวิร์คโหลดต่างๆ และงานที่รับเข้ามาจะต้องมา Present Methodology ให้ Faculty Members ฟังด้วยว่าทำอะไร พอทำวิจัยเสร็จ ก็มา Present ให้อาจารย์ และนักศึกษาฟังด้วย ยกเว้นเจ้าของงานจะไม่ยอม

“เขาถามว่าใครจะรับ ผมบอกงั้นผมรับเอง ผมจะลาออกจากนิด้า แล้วมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการนี้ แต่ว่าดึงไว้ไม่อยู่ ในที่สุดก็ไปกันหมด ผมก็ต้องไปด้วย” ดร.วีรวัฒน์ เล่าถึงความล้มเหลวในความพยายามที่จะรักษาอาจารย์ไว้ให้ได้ในช่วงแรก

ปัญหาดังกล่าวเป็นเหมือนงูกินหางทางการศึกษาก็ว่าได้ เพราะแม้จะเริ่มต้นสร้างระบบอย่างไร แต่การครอบไว้ในระบบราชการอีกทีหนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะทลายกำแพงนี้ลงได้ กลายเป็นปัญหาว่า พออาจารย์มีชื่อเสียง มีงานวิจัยที่ดี ก็จะออกไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนกันหมด และที่สุดก็จะถูกดึงตัวด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าหลายสิบเท่าตัว กระทั่งถึงช่วงที่คณะบริหารธุรกิจ NIDA ต้องเข้าสู่ภาวะการขับเคี่ยวของ MBA ในเมืองไทย การออกหลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการทางการศึกษาจึงเริ่มขึ้น พร้อมๆ กับการชดเชยรายได้ให้กับอาจารย์ โดยแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีขึ้นในสมัยที่ ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ เป็นคณบดี

สิ่งเหล่านี้เอง ที่ทำให้ NIDA จำเป็นต้องออกหลักสูตรที่หลากหลาย เพื่อรองรับรายได้ที่เพียงพอของอาจารย์ ซึ่งหากพวกเขาเลือกไปอยู่ภาคเอกชนแล้วจะได้เงินเดือนมากกว่าเงินเดือนประจำของอาจารย์หลายสิบเท่า ฉะนั้น หลักสูตรที่ออกมาจึงมีทั้งที่เป็นภาคกลางวัน กลางคืน เสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาที่คาราคาซังมาตั้งแต่อดีตได้ดีที่สุด อย่างน้อยๆ ก็ในตอนนี้


เรื่อง  กองบรรณาธิการ

08 เมษายน พ.ศ. 2553 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Sunday, 07 November 2021 15:42
X

Right Click

No right click