December 22, 2024

ศูนย์วิจัยนิด้า คลังปัญญาของสังคม : รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล

March 28, 2019 4346

ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การขับเคลื่อนนิด้าให้เป็นแหล่งความรู้และคลังปัญญาของสังคม ถือเป็นพันธกิจสำคัญของ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล กล่าวว่า สถาบันได้จัดตั้ง 6 ศูนย์/สำนักหลัก ๆ คือ (1) ศูนย์บริการวิชาการ (2) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” (3)  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง (4) ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ​ (5) สำนักสิริพัฒนา (สำนักฝึกอบรม) และ (6) สำนักวิจัย ซึ่งทั้ง 6 ศูนย์/สำนักนี้ ได้ทำงานอย่างสอดคล้อง กับพันธกิจดังกล่าวข้างต้น แต่จะเป็นไปตามแนวทาง ที่ต่างกันไปตามพันธกิจในแต่ละด้าน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการผลักดันความสามารถด้าน การผลิตงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สังคม ธุรกิจ เทคโนโยลี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน สถาบันยังได้จัดตั้ง 12 ศูนย์วิจัย ซึ่งประกอบด้วย (1) ศูนย์วิจัยการปฏิรูปและประเมินผลกิจการภาครัฐ (2) ศูนย์วิจัยภาคบริการและการท่องเที่ยว (3) ศูนย์วิจัยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (4) ศูนย์วิจัยคุณภาพชีวิตและสุขภาวะชุมชน (5) ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (6) ศูนย์วิจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม (7) ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน (8) ศูนย์วิจัยตลาดสินค้าการเกษตร (9) ศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (10) ศูนย์วิจัยป้องกันและปราบปรามการทุจริต (11) ศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน และ (12) ศูนย์วิจัยผู้ประกอบการและนวัตกรรม

  • นโยบายใหม่

แนวทางการยกระดับงานวิจัยและการพัฒนางานวิชาการของนิด้าภายใต้นโยบายใหม่ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล เปิดเผยว่า จะเน้นการบูรณาการระหว่างคณะต่าง ๆ ของสถาบันและการสร้างความร่วมมือระหว่างแต่ละมหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนะ โดยแนวทางในแต่ละปีจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

  • เน้นย้ำงานวิจัยเชิงนโยบาย

เมื่อมองถึงนโยบายด้านงานวิจัยของนิด้าในปีนี้ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล กล่าวว่าเป็นไปตามทิศทางที่ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดี ได้มอบหมาย คือ การพัฒนาการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ โดยมุ่งเน้นงานวิจัยเชิงนโยบายที่สามารถตอบปัญหาสังคมได้

 

นิด้ามุ่งเน้นคุณภาพงานวิจัย นอกจากการผลักดันให้ผู้วิจัย ผลิดงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอันเป็นที่ยอมรับแล้ว ยังผลักดันให้ ผู้วิจัยผลิตงานวิจัยที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงอีกด้วย

ที่ผ่านมาในอดีต นิด้าก็ได้เคยนำร่องทดลองโครงการลักษณะนี้มาใช้แล้ว เช่น การพัฒนาและออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับการทำนาของเกษตรกรชาวนาไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ระบบการทำนาแบบอัจฉริยะบนมือสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้ชาวนามีผลผลิตที่มากขึ้นและมีต้นทุนการทำนาที่ต่ำลง โดยเน้นหนักไปที่การสร้างการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Communication)  การสร้างเนื้อหาและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อชาวนาในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน (Content)  การสร้างตลาดกลางให้ชาวนาได้ประกาศซื้อประกาศขาย พร้อมทั้งให้บริการการทำธุรกรรม (Commerce)  และการสร้างชุมชนเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวนา (Community) หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ใบข้าวเอ็นเค ที่เป็นแอปพลิเคชั่นของกรมการข้าว เป็นโปรแกรมที่ประเมินปริมาณความต้องการธาตุอาหาร โดยการเทียบแถบสีของใบข้าว 5 ระดับ เพื่อแสดงปริมาณธาตุไนโตรเจนที่เหมาะสมเพื่อใส่ให้กับต้นข้าวในนา ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และภาคการเกษตรอย่างมาก งานวิจัยแบบนี้เป็นสิ่งที่คณาจารย์นิด้าเราให้ความสำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสภาพสังคม ต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และต่อประเทศให้ดีขึ้น

  • แนวทางตั้งรับกับ Digital Disruption

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับ Digital Disruption ที่รุกเข้ามาในแวดวงการศึกษานั้น สถาบันจะต่อยอดนำโครงการ Smart City เพื่อเป็นแนวทางสู่เป้าหมายในการพัฒนานิด้าให้ไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ซึ่งหนึ่งในแนวทางการดำเนินการดังกล่าว คือ การลงทุนไปกับ Smart Classroom ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติิงบประมาณจากส่วนกลาง โดยจะมาพร้อมกันกับ e-Learning Platform ระบบเครือข่ายไร้สาย ระบบสารสนเทศบนมือถือ ระบบ e-Meeting เป็นต้น เพื่อช่วยส่งเสริมกิจกรรมและบรรยากาศในการเรียนการสอนให้มากกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบปกติ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์และนักศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ

ตัวอย่างความเกี่ยวเนื่องของ Smart Classroom กับการวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนอาจารย์ผู้สอน ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ในอีกด้านคือ การสนับสนุนนักศึกษาหรือผู้เรียนที่สามารถเกิดการสนทนาแลกเปลี่ยน (Discussion) และการทำงานเป็นทีมได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างแน่นอน กล่าวได้ว่า หากเรามีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่แข็งแรงทั้งด้าน Digital และ Physical งานวิจัยและการเรียนการสอนก็จะสามารถขยายต่อไปได้มากขึ้นเพราะสามารถทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้สอนในต่าง
ประเทศได้อีกด้วย

“ที่ผ่านมา นิด้ามีการนำร่องด้วยการนำแนวคิดของ Design Thinking เข้ามาปรับใช้กับการสอนที่ไม่ใช่เน้นเพียง Lecture Based ซึ่งจะสามารถช่วยให้นักศึกษามีการฝึกฝนพัฒนาให้มีทักษะในการคิดเชิงสร้างสรรค์ มีมุมมองใหม่ๆ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างความคิด พัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ หรือกระบวนการใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาขององค์กร สามารถปรับใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม และมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น”

  • NIDA & Challenge

การรับมือกับความท้าทายของวงการศึกษา ที่รู้กันอยู่ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากขึ้นเป็นลำดับนั้น รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล ให้ความเห็นว่า สภาวะการแข่งขันในวันนี้ค่อนข้างสูง คิดว่าทุกมหาวิทยาลัยก็พยายามปรับตัวให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละสถาบันว่า จะเน้นหนักในด้านไหน เช่น เรื่องของ E-learning หรือ Smart Campus ซึ่งคงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความเร็วในการปรับตัว ทุกวันนี้ความไม่แน่นอน (Uncertainty)  ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกเกิดขึ้นสูงมาก

 

“เราสามารถเปรียบเทียบความไม่แน่นอนนั้นได้เหมือนกับหมอกและควัน ตัวอย่างเช่น เวลาเราขับรถแล้วเจอหมอกหรือควันบนทางด่วน เรามีสามทางเลือกในการตัดสินใจ คือ หยุดรถรอจนกว่าหมอกหรือควันจะหายไป ขับผ่านไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากเรามีความคุ้นชินกับเส้นทางเป็นอย่างดี หรือค่อยๆ ขับต่อไปอย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง กล่าวได้ว่า หลาย ๆ องค์กรเมื่อเจอกับสถานการณ์์ที่ไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกก็เปรียบเหมือนได้กับหมอกหรือควันนี้ หลายๆ องค์กรกลับเลือกที่จะหยุดแล้วรอให้ความไม่แน่นอนนัั้นผ่านไป ดังเช่นการหยุดรถบนทางด่วนเพื่อที่จะรอให้หมอกหรือควันนั้นจางหายไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถคันหลังขับมาชน ซึ่งรถยนต์ที่ขับตามมาอาจจะเปรียบได้กับคู่แข่งขององค์กรที่พยายามช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกของธุรกิจ เป็นต้น ในทางกลับกัน เมื่อเจอหมอกและความบนทางด่วน บางคนเลือกที่จะขับรถผ่านไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนคนอื่นๆ โดยไม่สนใจว่าโอกาสที่จะเจออุบัติเหตุข้างหน้าจะมากเพียงใด ก็เปรียบได้กับการที่บางองค์กรเลือกที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความเสี่ยงที่สูงมากๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ก็อาจทำให้องค์กรเหล่านั้น นำหน้า กลายเป็นผู้นำหรือแซงหน้าคู่แข่งขันไปได้ ส่วนกรณีสุดท้าย การเลือกที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน ด้วยการค่อยๆ ปรับตัว ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เหมือนเช่น การขับรถผ่านหมอกหรือควันไปอย่างช้าๆ กรณีของงงานวิจัยก็เช่นกัน ความท้าทายในวันนี้มีตั้งแต่ ปัจจัยเรื่องงบประมาณที่ลดลงตามลำดับในแต่ละปี รวมทั้งนโยบายแบบบูรณาการ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือ ต้องปรับตัวตาม”

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล กล่าวทิ้งท้ายว่า  อีกส่วนที่นิด้าพยายามให้น้ำหนักและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ เรื่องของ Teaching Case Studies ซึ่งสามารถพูดได้ว่า หากเทียบกับสถาบันอื่น ๆ ในประเทศไทยแล้ว ถือได้ว่านิด้ามี Teaching Cases จำนวนมากที่สุด นิด้าตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นสถาบันที่เป็น Case Center ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถพัฒนา Case ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นทิศทางในการสร้างความแข็งแกร่งในแบบของนิด้า ที่ผ่านมานิด้าได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ให้เข้ามาช่วยแนะนำการเขียน Case Study ให้ตรงตามมาตรฐานของ Harvard Business Review โดยมีแนวทางคือ การให้สอนให้นักศึกษานำแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงผ่านทางกรณีศึกษามากกว่าการท่องจำ โดยมีการตั้งบทบาทสมมุติว่า ถ้านักศึกษาเป็นหนึ่งในตัวละครในกรณีศึกษา เช่น การเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ รูปแบบ นักศึกษาสามารถนำความรู้และทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์ แก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างไร ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล การคิดเชิงวิพากษ์ รวมถึงการคิดเชิงกลยุทธ์ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักบริหารยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบในการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจทั้งในระดับกลยุทธ์ (Strategic Decision Making) การตัดสินใจระดับการบริหารงาน (Managerial Decision Making) และการตัดสินใจในระดับปฏิบัติการ (Operational Decision Making) เป็นต้น


เรื่อง : ชนิตา งานเหมือน 
ภาพ : เตชนันท์ จิรโชติรวี

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 06 November 2021 03:14
X

Right Click

No right click