ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รับรางวัล Leadership Excellence Award จากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 จัดโดยคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อมอบให้แก่ผู้บริหารองค์กรที่ยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการจนมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศสะท้อนความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์และโดดเด่น ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567
EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง มุ่งมั่นดำเนินพันธกิจและภารกิจ โดยสานพลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร” พร้อมยกระดับบทบาทสู่ Green Development Bank โดยใช้กรอบแนวคิดรางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรและปรับปรุงพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้รับเกียรติบัตรองค์กรคุณธรรมระดับ “คุณธรรมต้นแบบ” 2 ปีซ้อน และเกียรติบัตรองค์กรคุณธรรมระดับหน่วยงานสำหรับทุกหน่วยงานภายใน EXIM BANK อีก 30 รางวัล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการประเมินองค์กรคุณธรรม ประจำปี 2566 จากคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ตามโครงการส่งเสริมชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เป็นผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) อันสอดคล้องกับหลักคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” ที่ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับของ EXIM BANK มุ่งมั่นดำเนินงานตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามหลักคุณธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนสืบไป
นางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เข้าเยี่ยมคารวะ ดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) และนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พร้อมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย-สปป.ลาว ณ BOL สำนักงานใหญ่ และสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ พร้อมกันนี้ ได้พบปะและแสดงความยินดีกับนายวงสกุล ยิ่งยง ผู้อำนวยการ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ EDL สำนักงานใหญ่ สปป.ลาว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจ สปป.ลาว อยู่ระหว่างฟื้นตัวในอัตราราว 2-3% ในช่วงปี 2564-2566 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน รถไฟจีน-สปป.ลาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและดึงดูดการลงทุนของภาคการผลิต
นายชลัช รัตนบุญนิธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK เข้าร่วมงาน “แบ่งฝัน & ปันรัก...ทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์” จัดโดยมูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว (ฟอร์เด็ก) ในโอกาสมูลนิธิเปิดดำเนินงานครบรอบ 26 ปี และ EXIM BANK เป็นผู้สนับสนุนหลักของมูลนิธิ โดยผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK บริจาคเงินโดยตัดบัญชีเงินเดือนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 และในโอกาสนี้ EXIM BANK ได้ร่วมกิจกรรมและสนับสนุนค่าอาหารและอุปกรณ์การศึกษาให้แก่เด็กและครอบครัวผู้ยากไร้ พร้อมมอบทุนการศึกษาระดับอาชีวศึกษาจำนวน 5 ทุน ภายใต้โครงการ EXIM เพื่อโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 230,000 บาท โดยมี ดร.อัมพร วัฒนวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ มูลนิธิฟอร์เด็ก ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนวัดมหาวงษ์ มูลนิธิฟอร์เด็ก 6 จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและคณะ พร้อมด้วย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และผู้บริหาร EXIM BANK เข้าร่วมประชุมหารือกับสถาบันการเงินชั้นนำของฮ่องกง ในโอกาสเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสานสัมพันธไมตรีและหารือแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การร่วมลงทุน (Co-financing) การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การระดมทุน (Debt Capital Market) การรับประกันสำหรับผู้ส่งออก (Export Insurance Business) บริการการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) โอกาสในการใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลเงินกลางในการทำธุรกรรมในตลาดโลก (Yuan Settlement) การออกพันธบัตรสกุลเงินหยวน (Yuan Bond) พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) โดยมีนายซุน ยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง)
นายหลิว ย่ากัน ประธานกรรมการและกรรมการบริหาร อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (เอเชีย) ลิมิเต็ด หรือ ICBC (Asia)
และนาย เจฟฟี่ ไบ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไชน่า ซีติก แบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเร็ว ๆ นี้