December 03, 2024

In my opinion

March 18, 2020 2694

ประเทศไทยต้องการการปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดใหม่ หรือ mindset ใหม่เพื่อที่จะก้าวข้ามไปสู่โหมดการสร้าง Innovation อย่างจริงจัง

ซึ่ง Innovation หมายความรวมได้ทั้งกระบวนการคิด กระบวนการสร้าง และกระบวนการบริหารแบบใหม่ที่จะทำให้ก่อเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น มูลค่าเพิ่มขึ้น สิ่งต่างๆ ดีขึ้น และที่สำคัญช่วยลดทอนหรือขจัดอุปสรรคและปัญหาที่เรามีอยู่ให้น้อยลงหรือหมดไปได้จะยิ่งดี

ดังนั้นแล้ว นวัตกรรมเพื่อการสร้างอนาคตของประเทศไทย จึงต้องล็อคเป้าหมายที่มุ่งสร้างโอกาสและเพื่อขจัดปัญหาของประเทศ แล้วดูว่ากระบวนการคิดค้นเพื่อแสวงหาเครื่องมือหรือ solutions ที่เรียกกันว่า นวัตกรรม ควรจะไปอยู่ในทิศทางหรือจุดจุดไหน และที่สำคัญ นวัตกรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ก็คือ นวัตกรรมที่ต้องมีการลงมือทำจริง เพราะผมเชื่อว่า การคาดการณ์อนาคตที่ดีที่สุดคือ คุณต้องลงมือสร้างอนาคตนั้นด้วย มิใช่เพียงจินตนาการหรือเพียงแต่คิดโดยไม่ได้ลงมือทำ

จินตนาการหรือความคิดที่สร้างสรรค์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้การบริหารจัดการหรือ management เข้าช่วยเพราะ management เป็น knowledge เป็นทรัพยากรสำคัญที่ใช้บ่มเพาะให้บังเกิดความมั่งคั่ง  ดังตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอีกหลายๆ ประเทศ ล้วนเติบโตยิ่งใหญ่มั่งคั่งขึ้นมาได้ก็เพราะความเหนือกว่าของศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ  เช่นนี้แล้ว  องค์ประกอบความสำเร็จของการสร้าง Innovation หรือนวัตกรรม จึงต้องอาศัยส่วนประกอบหลายๆ ส่วนรวมกัน

หากหวังสิ่งใหม่ ก็ต้องหยุดทำแบบเก่า

เมื่อครั้งที่รับบทบาทเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. มีหน้าที่ออกกฎ ทำกติกาและกำกับดูแลหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในส่วนตลาดทุนและที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลานั้นซึ่งก็คือ 4-5 ปี ผมพบว่าบริษัทที่เข้าจดทะเบียนหรือ IPO ในแต่ละปี มีอยู่ประมาณ 4-5 บริษัท และส่วนใหญ่ก็เป็นกิจการใหญ่ๆ ที่มีฐานอยู่ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ กิจการของต่างจังหวัดที่จดทะเบียนในเวลานั้น มีอยู่ประมาณ 7% ของทั้งตลาด  ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมากจนแทบจะเป็นที่สุดในโลก

ตัวเลขนี้บอกเราว่า  เราได้ละทิ้งหรือจะเรียกละเลยธุรกิจในต่างจังหวัดก็สุดแท้แต่ ซึ่งถือว่าเป็นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศไปร่วม 70 จังหวัด โดยที่กิจการเหล่านั้นควรได้รับโอกาสที่จะผนึกร่วมเป็น Inclusive Growth ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะเป็นกิจการไทยเหมือนกัน 

มองไกลๆ เห็นโอกาสเสีย 

ถ้าประเทศไทยเราเจริญอยู่เพียงในกรุงเทพฯ  ต่อไปก็จะมีปัญหาตามมาอีกมากมายและไม่หยุด ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม  ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน  ปัญหาทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายในการสร้างความเจริญให้กระจายไปทั้งประเทศ ถือเป็นความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนและอาจจะเป็น priority แรกๆ ที่ต้องทำให้เข้มแข็งด้วยซ้ำ 

มองไกลๆ เห็นโอกาสได้ 

เออีซี กำลังจะมาถึง อย่าลืมว่า สิทธิประโยชน์และผลของความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้ครอบคลุมเพียงกรุงเทพฯ  แต่ครอบคลุมประเทศไทยทั้งประเทศ คือครอบคลุมจังหวัดทุกจังหวัด  ดังนั้นแล้ว นักธุรกิจในต่างจังหวัดหรือที่ไหนๆ ในประเทศก็ควรจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอ หรืออย่างน้อยสามารถปกป้องพื้นที่ทางธุรกิจและการตลาดของตัวเองไม่ให้ประเทศในอาเซียนเข้ามาช่วงชิงตลาดไปหมด และถ้าจะเก่งพอที่จะลุกขึ้นไปฉกฉวย หรือต่อสู้แข่งขัน ช่วงชิงในตลาดการค้าที่มีกำลังซื้อของพื้นที่รวมกันกว่า 600 ล้านคนในกลุ่ม AEC ก็จะนับว่าเป็นความสำเร็จต่อเนื่องจากความร่วมมือในการเปิดเออีซี แต่ถ้า SMEs ของเราไม่แข็งพอ ไม่เก่งพอ  ไม่มีทุนพอ ก็จะเสียโอกาส ทำอะไรไม่ได้ และที่น่ากลัวกว่านั้นคือจะกลายเป็นว่า SMEs ในต่างจังหวัดจะค่อยๆ อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจจะถูกครอบครองพื้นที่โดยนักธุรกิจของที่อื่น การพัฒนาความสามารถของ SMEs ในต่างจังหวัดจึงถือเป็นการพัฒนาโอกาสต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

Success case of Innovation project : โครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด

ดังที่ ศ.ไมเคิล  อี. พอร์เตอร์  กล่าวไว้ว่า นวัตกรรมคือแกนหลักสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ(Innovation is the central issue in Economic prosperity) ภายใต้การมองไกลและตระหนักเห็นถึงโอกาสได้-เสีย ในฐานะ ก.ล.ต. เรามีอำนาจหน้าที่ เรามีทรัพยากร เรามีความพร้อม เรามีความรู้  ก.ล.ต.จึงมีศักยภาพในการที่จะสนับสนุนและส่งเสริม จนถึงการพัฒนาโอกาสและการเติบโตของ SMEsในต่างจังหวัด เมื่อเล็งโจทย์ของเป้าหมายไว้อย่างนี้ จึงนำมาสู่กระบวนคิดเพื่อแสวงหากลไก หรือเครื่องมือในการขับเคลื่อน และในที่สุดก็ได้สิ่งที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรมของตลาดทุน คือ “โครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด” เป็นเครื่องมือเชื่อมโยง  3 ภาคส่วนสำคัญคือ ภาคธุรกิจ (ต่างจังหวัด) นักลงทุน และอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ทั้งหมด  (ดูรายละเอียดโครงการหุ้นใหม่ฯ ได้ที่http://www.sec.or.th/TH/SECInfo/IPO/Pages/IPO_Info.aspx)

อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินโครงการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ให้บังเกิดผลสำเร็จขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยกลยุทธ์การบริหารเข้ามาผลักดัน เป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ โดยโครงหุ้นใหม่ ใช้กลยุทธ์ 4P ในการบริหารโครงการ 

- Proactive ผมคิดว่านักบริหารในยุคจากนี้ไปต้อง proactive โดยเฉพาะ รัฐ ผู้มีหน้าที่ ต้อง facilitate ต้อง ​visionary partner อย่างโครงการหุ้นใหม่ ทีมงาน ก.ล.ต. ถลกแขนเสื้อลงพื้นที่เพื่อเข้าไปหานักธุรกิจในท้องถิ่น เหตุผลก็เพราะว่าเรามีกำลัง เรามีความเข้าใจและมีสิ่งที่เขาต้องการแต่เขายังไม่รู้  การจะนั่งรอยื่นไฟลิ่งอาจล่าช้าจนไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่จะมาถึง

- ​Prevention  นอกจากแนวรุก เราต้องรู้จักการปกป้อง ป้องกันพื้นที่ทางการค้า  พื้นที่ทางเศรษฐกิจ เพราะการไม่ปกป้องก็เหมือนการนับถอยหลัง วันหนึ่งเมื่อเออีซีมาถึงเราก็อาจโดนกินหมด โครงการหุ้นใหม่ฯ เป็นเครื่องมือในการมุ่งยกระดับนักธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อหวังปกป้องพื้นที่ทางการค้าอย่างชัดเจน

- ​Promotion ผมเชื่อว่าการสนับสนุนทำให้คนตื่น ทำให้คนกลัว แต่ก็ทำให้คนมีพลัง มีกำลังใจ โครงการหุ้นใหม่ฯ มีการส่งคนไปช่วยนักธุรกิจต่างจังหวัดอย่างเต็มกำลัง ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุน บริษัทที่ปรึกษาการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี เราให้คนไปช่วยเป็นโค้ช ช่วยให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำ ไม่ได้ไกลเกิน​เอื้อม เขาก็จะรู้สึกว่าไม่ยาก และเมื่อทำสำเร็จก็เป็นกำลังใจและเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับนักธุรกิจในจังหวัดรายอื่นๆ

ผลพวงจากโครงการหุ้นใหม่ฯ บริษัทในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์มีการเติบโตของยอดขายและผลงานอย่างเห็นได้ชัดเจน จากความสำเร็จที่มีจำนวนบริษัทมาจดทะเบียนในตลาดเพิ่มขึ้น ปริมาณยอดซื้อขาย - ลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดได้รับการกระตุ้นและได้ความรู้เรื่องตลาดทุนไปในตัว  การทำโปรโมชั่นหรือส่งเสริมในโครงการนี้จึงส่งผลเชิงบวกต่อระบบทั้งระบบ เรียกได้ว่าในยุคสมัยที่ผ่านมา เรามี IPO มากที่สุดในประวัติศาสตร์และมี IPO มากที่สุดในอาเซียน และปริมาณการซื้อขายต่อวันของหลักทรัพย์ไทยก็มีมูลค่ามากที่สุดในอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์ไปแล้ว

P - ​Premier  league  เมื่อเราจะต้องทำอะไรก็ควรต้องมุ่งหมายที่จะทำให้ดีที่สุด ตอนนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ของเราไม่มี league นับจากนี้เราน่าจะต้องสร้าง league หรือสร้างให้เกิดเป็น map เป็น destination ของไทยในสายตาของสากล เพื่อนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุนจะได้รู้จักเราในมิติอื่นๆ มากขึ้น เพราะต่อไปเราจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของเออีซี ด้วยความได้เปรียบในเชิงยุทธภูมิที่เหนือกว่าใคร เรามีการเชื่อมโยงภาคพื้นดิน หรือที่เรียกว่า เป็น In land หรือ Continental Asean ประเทศไทยเราเชื่อมโยงกับทุกประเทศทางภาคพื้นดิน เรามีพรมแดนยาวถึงกว่า 400 กม. เชื่อม 4 ประเทศ หรืออาจจะ 5 ถ้าจะนับเวียดนามเข้ามาด้วย  มีจังหวัดชายแดนร่วม 33 จังหวัด แปลว่าตลาดเพื่อนบ้านที่เราถือเป็น Captive Market หรือตลาดของตาย ที่คนอื่นแย่งเราไปยาก เพราะความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เราจึงละทิ้งธุรกิจภูมิภาคไม่ได้เลย เพราะจะหมายถึงการละทิ้งพลังทางเศรษฐกิจอันมหาศาลไป

​โครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัดเป็นหนึ่งในตัวอย่างของนวัตกรรมโครงการทางด้านการบริหารจัดการ ที่ได้รับการคิดสร้างเพื่อเป็นกลไกนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมายหลายประการตั้งแต่

  1. เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนตลาดทุนจากการระดมทุน
  2. ยุทธศาสตร์การดึงธุรกิจในต่างจังหวัดเข้ามารับโอกาส เพื่อมีส่วนในInclusive Growth ของประเทศ
  3. กระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างจังหวัด
  4. เป็นการเตรียมตัวและเตรียมพร้อมกับการเข้ามาของเออีซี

ประเทศไทยยังมีอุปสรรค ปัญหา และโอกาสอีกมากหลายที่ท้าทายและเรียกร้องให้แก้ไขจัดการ ตั้งแต่เป้าหมายที่ต้องการหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) เหล่านี้ล้วนต้องการความคิดสร้างสรรค์ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อความสำเร็จอย่างแท้จริง


บทความ: ดร.วรพล  โสคติยานุรักษ์

-----------------------------------

นิตยสารMBA ฉบับที่ 192 Nov-Dec 2015

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 18 March 2020 11:29
X

Right Click

No right click