December 21, 2024

God is Dead

August 07, 2020 8059

ผมทราบข่าวการสวรรคตจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อกำลังจะขึ้นเครื่องออกนอกประเทศ เพื่อมุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก 

เจ้าหน้าที่คนนั้น ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักผมมาก่อนเลย จู่ๆ ก็เอ่ยถามผมว่าได้ทราบข่าวหรือยัง แล้วเขาก็เล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าอยากออกเวรและมุ่งหน้ากลับบ้านซะเดี๋ยวนั้นเลย

คืนนั้น ผมมีความรู้สึกแบบบอกไม่ถูก รู้แต่ว่ามันไม่ปกติ และพยายามค้นหาความรู้สึกตัวเองว่าจะอธิบายลักษณะหรือรูปแบบแห่งความรู้สึกนั้นกับตัวเองอย่างไรดี

มันเป็นทั้งความเงียบ วังเวง เหงาลึก โหยหา อ้อยอิ่ง ทึบ ติดอยู่ตรงก้นบึ้ง และเศร้าปนกังวล ท่ามกลางความอึกทึกสับสนวุ่นวายของข้อมูลต่างๆ ในโลกโซเชี่ยลของแวดวงเมืองไทยที่ได้รับเข้ามาอย่างถาโถมจำนวนมาก

ผมใช้เวลาไปกับการฟังเพลง The Sound of Silence ของ Simon & Garfunkel ซ้ำไปซ้ำมา แทบทั้งคืน และก็ตีความเอาเองว่า นั่นแหล่ะคือความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น แม้กระทั่งในตอนหลับ ความรู้สึกแบบนั้นมันก็ยังคืบคลานเข้าครอบงำแบบช้าๆ....

 

 

            Hello darkness, my old friend

            I've come to talk with you again

            Because the vision softly creeping

            Let's it seeds while I was sleeping

            And the vision that was planted in my brain

            Still remains

            Within the sound of silence

 

            และมันยิ่งเหมือนจริงเหมือนจังมากขึ้นในท่อนที่ถูกถ่ายทอดออกมาว่า

            ….....

            People talking without speaking

            People hearing without listening

            People writing songs with voices never share

            No one dare

            Disturb the sound of silence

 

            และ

 

            And the people bowed and prayed

            To the Neon God they made

            And the sign flashed out its warning

            In the word that it was forming

            And the sign said “The words of the prophets

            Are written on the subway walls

            And Tenement Halls

            And whispered in the sound of silence.”

 

นับว่าเนื้อเพลงเหล่านี้ ใกล้เคียงกับความรู้สึกของผมตอนนั้นมาก (ผมขีดเส้นใต้คำว่า “Tenement Halls” เพราะเดี๋ยวท่านจะได้เห็นความบังเอิญอย่างน่าทึ่งในช่วงต่อไป)

หลังจากที่เดินทางไปถึงนิวยอร์กแล้ว เมื่อสถานกงศุลไทยเปิดให้ลงชื่อ ผมก็ได้ไปร่วมลงชื่อแสดงความไว้อาลัย และได้เปิดดูข้อความไว้อาลัยของผู้อื่นที่ร่วมบันทึกอยู่ในสมุดเล่มนั้นด้วยอย่างละเอียด เสร็จแล้วก็ได้เดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ที่ Ellis Island และที่ Tenement Museum

ในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น ผมได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวและความเป็นอยู่ของผู้อพยพรุ่นต่างๆ ที่ตัดสินใจเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ และได้เห็นรูปภาพสมัยเก่า ตลอดจนห้องจำลองของ Tenement Hall ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้จำนวนมาก

 

 

ในจำนวนนั้น มีรูปภาพอยู่รูปหนึ่ง เป็นรูปความเป็นอยู่ใน Tenament Hall ซึ่งถ้าสังเกตุให้ดี จะพบข้อความที่เขียนไว้บนผนังอันคร่ำคร่า เป็นภาษาเยอรมันว่า

“Gott ist Tot”

 ผมเข้าใจว่า มันคือความในใจของ Zarathustra ซึ่งในตอนที่สุดของบรรพ 2 ของ  Zarathustra's Prologue ภายหลังจากที่เขาแยกทางจากท่านนักบุญแล้ว เขายังคงแปลกใจ และพูดกับตัวเองว่า

"Could it be possible! The old saint has not heard in his forest that God is dead!”

หลังจากนั้น ผมยังได้เดินทางโดยทางรถไฟไปยังเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ เป็นเวลา 1 เดือน และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ อย่างหลากหลาย ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) มหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (North Western University) มหาวิทยาลัยตูเลน (Tulane University) มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียแห่งนครลอสแองเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟอร์เนียตอนใต้ (USC) สถาบันเทคโนโลยีแห่งคาลิฟอร์เนีย (CALTECH) และสถาบันบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยแคร์มอนท์ (Claremont Graduate University) เป็นต้น

นอกจากนั้น ผมยังได้ใช้เวลาขณะเดินทางและยามว่าง อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความคิดความอ่านของคนอเมริกัน

ผมได้อ่านหนังสือหลายเล่ม เช่น “A People's History of the United States” ของ Howard Zinn, “A History of the American People” ของ Paul Johnson, “The Closing of the American Mind” ของ Alan Bloom และ “Walden” ของ Henry David Thoreau

และยังได้อ่านบทความบางบทของ Ralph Waldo Emerson และ H.L. Mencken ตลอดจนคำประกาศอิสรภาพและรัฐนูญอเมริกันแบบผ่านๆ

อีกทั้งยังได้ไปดูละครเพลงบรอดเวย์ที่กำลังได้รับความนิยมมากเรื่อง Hamilton และได้ร่วมชมคอนเสริตของ Joan Baez และ Patricia Barber และ Don McLean

ระหว่างนั้น ผมก็ได้ตรึกตรองถึงเรื่องในหลวงอยู่เป็นระยะๆ โดยตั้งคำถามว่าพระอัจฉริยภาพที่เด่นที่สุดของพระองค์ท่านคืออะไร เพื่อที่จะได้นำมาเขียนถ่ายทอดเป็นบทนำอันนี้ เนื่องจากว่านิตยสารของเรานั้นว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการ จึงเพ่งไปยังอัจฉริยภาพเชิงนั้นเป็นพิเศษ

ผมคิดวิเคราะห์ไปได้หลายเรื่อง แต่ก็หาคำสรุปรวบยอดที่คิดว่า "ใช่" ยังไม่ได้สักที

สุดท้าย ผมพบว่ามันคือสิ่งที่ Max Weber (ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Nietzsche เจ้าของวลีเด่นซึ่งสลักอยู่บนฝาผนังของ Tenement Hall ดังที่กล่าวมาแล้ว) เรียกว่า “Charisma”

ผมว่าในกรณีของพระองค์ท่านนั้น "Charisma" เป็นและแทรกซึมไปในกิจกรรมแทบทุกอย่าง

เป็นประมุขศิลป์ เป็นการเมือง เป็นอำนาจ เป็นบารมี เป็นความสามารถในเชิงบริหารจัดการ เป็นวาทะศิลป์ เป็นแหล่งของแรงบันดาลใจ เป็นความดี เป็นทักษะเชิงศิลปะและดนตรี เป็นความสามารถในการมองการณ์ไกล เป็นหัวใจของการแก้วิกฤติ ฯลฯ

สิ่งนี้ทำให้พระองค์ท่านกุมจิตใจของราษฎรได้

และการกุมจิตใจของราษฎรได้ ทำให้พระองค์ท่านอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

ไม่มีใครจะทำอะไรพระองค์ท่านได้

ไม่ว่า Tyrant, Oligarch, Dictator, Demagogue, Revolutionary, Radical, หรือแม้กระทั่ง Aristocrat ก็ตามที

พระองค์ท่านเอาชนะคนเหล่านี้มาหมดแล้วในยุคสมัยของท่าน

ระหว่างอยู่ที่สหรัฐฯ ผมได้ใช้เวลา Observe การเลือกตั้งประธานาธิบดีฯ จนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งและประกาศผล และผมก็พบว่างานนี้ ก็มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง “Charisma” และ “Charismatic Leader” อย่างลึกซึ้งเช่นกัน ซึ่งคิดกันว่านิตยสาร MBA ของเราจะได้นำมาเขียนถ่ายทอดอย่างละเอียด เป็น Cover Story ในโอกาสต่อไป

ก่อนกลับไม่กี่วัน ผมได้มีโอกาสไปดูคอนเสิร์ตของ Don McLean ที่ Pasadena

แน่นอน เขาต้องร้องเพลงเด่นของเขา “American Pie”

ผมฟังเพลงนี้มาตั้งแต่เล็กจนโต แต่ไม่เคยมีครั้งใดซาบซึ้งเท่าครั้งนี้

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่อนสุดท้าย ที่ Don McLean ถ่ายทอดออกมาในเชิงอุปมาอุปมัยและไพเราะลึกซึ้งว่า..

            “And the three men I admire most

            The Father, The Son, and The Holy Ghost

            They caught the last train for the coast

            The day the music died.”

ผมคิดว่าคนรุ่นเดียวกับผมและที่เกิดก่อนผมในยุคแสวงหานั้น คงคิดและรู้สึกเช่นเดียวกัน

 


12 พฤศจิกายน 2559

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:18
X

Right Click

No right click