January 22, 2025

Leader in AEC Era

March 18, 2020 4036

ในที่สุดการมาถึงของ AEC ได้สร้างการบบรจบพบกันของความร่วมมือการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคม AEC แม้ยังมีอีกหลายวาระของความร่วมมือที่ยังต้องจัดการในรายละเอียด

และการสร้างความพร้อมร่วมกัน  แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า AEC ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจในกลุ่ม AEC ด้วยกันเป็นอันดับแรกก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่นับแต่นี้ต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ประเด็นสำคัญที่พึงตระหนักคือสิทธิประโยชน์ของ AEC มิได้ครอบคลุมเฉพาะเพียงในพื้นที่ของ กรุงเทพฯอันเป็นเมืองหลวง แต่ AEC จะยังประโยชน์อย่างครอบคลุมทั้งประเทศจากการเปิดความร่วมมือรอบด้าน กำลังซื้อจากเดิมเพียง 60 กว่าล้านคนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนจากการวมตัว เมืองหลวงใหญ่จะไม่ได้หมายความเพียง กรุงเทพมหานครแล้วเท่านั้น เช่น อุดรธานี อาจจะเป็นเสมือน เมืองหลวงของภูมิภาค หรือเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศ จากการเป็นพื้นที่เชื่อมโยง ไทย สปป.ลาว และ เวียดนาม ก็เป็นได้เป็นต้น จังหวัดตาก อาจจะเป็นเมืองสำคัญทางการค้าของไทยกับ พม่า ร่วมกัน หรือจังหวัดสระแก้ว อาจเป็นเมืองสำคัญของทางการค้าการลงทุน สามประเทศระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามก็ย่อมได้ หรือ เชียงใหม่ เชียงราย ก็สามารถจะเป็นเมืองสำคัญระหว่างประเทศไทย และเมียนมาร์ก็ย่อมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งเติบโตมีมูลค่าเม็ดเงินหลายล้านล้านบาทได้

1.Stronger by Infrastructure and Logistics Industry

AEC เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้ไทยอย่างมาก เพราะผลจากขนาดและการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยได้เปรียบกว่าด้วยยุทธภูมิศาสตร์ของที่ตั้งประเทศ ไทยจะต้องต่อยอดจากจุดแข็งนี้ โดยเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งระบบ ทางพิเศษ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน เพื่อเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการเดินทาง การขนส่ง การกระจายสินค้าของภูมิภาค ดังนั้น ต้องส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม Logistics อย่างถูกต้องและเหมาะสม จำทำให้ไทยก้าวเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมากให้เสร็จโดยเร็ว นอกเหนือการไช้งบประมาณแผ่นดินและหนี้สาธารณะ แล้วต้องอาศัยการลงทุนร่วมภาคเอกชนด้วยวิธี PPP และจากภาคมหาชนโดยการระดมจากการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งเป็น Financial Instrument ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ประกาศกฎเกณฑ์ไว้เรียบร้อย ซึ่งภาคเอกชนได้ระดมทุนสำเร็จไปร่วมสองแสนล้านบาทแล้ว

2.Stronger by Modern Agriculture and Food Industry

เราควรจะโดดเด่นด้วยการพัฒนาต่อยอดจากที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งผลิตพืชผลทั่วประเทศ แต่ต้องพัฒนาไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) ต้องแปรรูปเป็นอาหาร สร้าง Value Added ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอาหารอย่างสมบูรณ์ เลี้ยงคนทั้งโลกได้

ที่ผ่านมาเรามีการปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่ไม่กี่ชนิด ที่หลักๆก็เป็นการปลูกข้าว ข้าวหอมมะลิที่มาจากกว้านซื้อและส่งออกไป เพื่อสกัดเป็น Vitamin เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางประทินผิวส่งออกขายไปทั่วโลก และกลับมาขายในประเทศไทยในราคาแพดงหลายเท่าตัว

ซึ่งหากจะมองลงไปในรายละเอียดแล้ว ชาวนาทั้งประเทศ ทำงานเหนื่อยยาก อาบเหงื่อต่างน้ำผลิตข้าวได้ 20 ล้านตันต่อปี ส่งออก 10 ล้านตันต่อปี แลกกับความภูมิใจว่าไทยเราผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวนาทุกคนปลูกข้าวมา ขาดทุนหมด เพราะต้องอาศัยปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพงทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และต่อท้ายด้วยยารักษาตัวเอง ชาวนาแทบไม่เหลืออะไรเลย ชาวนาไทยเราปลูกข้าวได้เฉลี่ยประมาณ 465 กก. ต่อไร ซึ่งถือว่าได้ผลผลิตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งปลูกได้เฉลี่ยน 800 – 900 กก. ต่อไร่ จึงไม่ใช่ในสิ่งที่น่าประหลาดใจที่ชาวนาไทย นอกจากไม่เหลือเงิน จะเหลือแต่หนี้สิน และที่น่าเศร้าใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 20 ล้านตันต่อปี  ใช้บริโภคในประเทศเฉลี่ย 10 ล้านตัน ส่งออกขาย 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินจากการขายข้าวส่งออก 10 ล้านตัน นำมาใช้ชำระต่าน้ำมันที่เรานำเข้ามาใช้ได้เพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้นเอง

โดยความหมายในที่นี้ก็คือเรา กำลัง Subsidize ให้คนทั้งโลกกินข้าวราคาถูกบนความทุกข์ยากลำบากของชาวนาไทยที่ต้องทำงานหนัก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินโดยไม่เหลืออะไรเลย ในที่สุดแม้แต่ที่นาของตัวเอง ปัญหาทางสังคมของเราคงยากจะหมดไป หากเราไม่พยายามยกระดับของความสามารถในทางการผลิตภาคเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลการเกษตร "ทุกปัญหามีทางออก" แต่การจะหลุดออกจากปัญหาเก่าๆ ได้ย่อมต้องอาศัยกระบวนการความคิดและการทำแบบใหม่ บนพื้นที่เพาะปลูกของเราร่วม 150 ล้านไร่  เราเอาไปปลูกข้าวถึง 74 ล้านไร่ ได้ผลผลิตและผลลัพธ์อย่างที่กล่าวมาข้างต้น  แล้วทำไมเราไม่ปลูกเพียงพอกิน พอใช้ ไม่ต้องคิดจะไปแข่งขันการส่งออกข้าวกับใคร  เพราะการขายข้าวส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งก็ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งให้เราแต่อย่างไร พืชเศรษฐกิจมีอีกมาก อาทิ กระถินณรงค์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงวัตถุดิบใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลปาล์ม เป็นได้ทั้งอาหารและเชื้อเพลิงไบโอดีเซล หากชาวนาหันมาปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ใช้แทนน้ำมันดีเซล ลดการนำเข้าน้ำมั้นดีเซล ผลตอบแทนก็ย่อมสูงขึ้น  หากจัดตั้งกองทุนน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อชำระหนี้ให้ชาวนา เชื่อว่าในเวลาไม่นานหนี้สินของเกษตรกรก็จะหมดไป ประเด็นที่สำคัญหนึ่งคือ ประเทศไทยเราใช้น้ำมันสิ้นเปลืองมาก  ระบบขนส่งของเราปัจจุบันยังพึ่งพาระบบล้ออยู่ถึง 80% และเป็นการใช้ระบบน้ำและระบบรางเพียง 20% น้ำมันที่เราใช้ หากหารด้วย GDP ของประเทศ เราจะพบว่าเราใช้น้ำมันมากที่สุดในอาเซียน และมากที่สุดในเอเชีย เราต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบราง ระบบขนส่งมวลชน และบริหารการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Demand Management)

3. Stronger by Service Industry

อีกโอกาสจากความสามารถที่ไทยเรามี ที่เราเป็นและเคยเป็นมาแล้วคือ ภาคบริการ เริ่มตั้งแต่ Value Chain อาทิการบริหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยว Hospitality การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Ecotourism) อุตสาหกรรมการบริการเป็นโอกาสของไทยเรามาก เพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายในทรัพยากร ทั้งทะเล ภูเขา แม่น้ำ วัฒนธรรม ศิลปกรรม อาหารการกิน สินค้าพื้นฐาน ซึ่งรอคอยการยกระดับให้โดดเด่นและเข้มแข็งขึ้นในเชิง Individual เพื่อความสามารถในการที่จะแข่งขันได้ในเวทีการค้าที่มาถึง  

4. Stronger by Cluster and Special Economic Zone

ต่อไปเมื่อไร้ซึ่งเส้นกั้นทางพรมแดน   ธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศจะปรับตัวเพื่อตอบรับกับสิทธิประโยชน์ของ AEC ใน 4 รูปแบบหลักๆ คือ

  • ผลิตในไทย แล้วส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ลักษณะนี้เรามีข้อดีและข้อได้เปรียบ จากภาพลักษณ์และความนิยมสินค้าของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ล้วนมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นในแบรนด์สินค้าของไทย
  • ผลิตสินค้าพื้นฐานในไทย แล้วไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศเพื่อบ้านแล้วส่งออก เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ทาง GSP
  • ผลิตสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ไทยเป็นที่กระจายสินค้าและส่งออก ลักษณะนี้เป็นผลจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและความชำนาญในเรื่อง logistic ของเราที่มีมากกว่า
  • ผลิตเป็นสินค้าพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมาประกอบหรือ processing ในไทย โดยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยกว่าของไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

การพัฒนาสินค้าในเข้มแข็งในแต่ละอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การพัฒนาเป็น Cluster ด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน จะขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ASEAN ได้ในที่สุด


บทความ: ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์

---------------------------------------

นิตยสารMBA ฉบับที่ 193 Dec2015 - Jan2016

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 17 February 2021 07:55
X

Right Click

No right click