January 22, 2025

ttb analytics ลุ้นเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุดของโควิดในไตรมาส 4 รุกฉีดวัคซีนพื้นที่แดงเข้ม 70% หนุน GDP ทั้งปี 64 ยังโตได้ 0.3%

August 26, 2021 1586

GDP ครึ่งปีแรกโตได้ 2% แม้ได้รับพิษโควิดระลอก 3 เหตุส่งออกโตแข็งแกร่ง

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาส 2 กลับมาขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2563   ซึ่งเป็นผลของปัจจัยฐานต่ำที่มีการใช้มาตรการฟูลล็อกดาวน์เป็นสำคัญ และยังขยายตัวได้ 0.4% เทียบกับการฟื้นตัวในไตรมาสแรก โดยได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงอีกครั้ง โดยเฉพาะการทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว  2.5% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น การปิดกิจการบางประเภท อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ได้แรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวได้ดีกว่าคาด

คาด GDP ไตรมาส 3 หดตัวหนัก เหตุได้รับผลกระทบชัดเจนของโควิดระลอก 3

ในช่วงต้นไตรมาส 3 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นและกระจายเป็นวงกว้าง นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 77% ของจีดีพีประเทศ  ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และทรุดตัวลง โดยสะท้อนจากเครื่องชี้วัดด้านการเดินทางของ Facebook Mobility Index โดยเฉพาะในจังหวัดที่ล็อกดาวน์ลดลงต่ำกว่าช่วงล็อกดาวน์ทั้งประเทศในการระบาดระลอกแรก และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงได้อีกหากมีการขยายช่วงเวลาล็อกดาวน์เพิ่มเติม  นอกจากนี้ การเกิดคลัสเตอร์โรงงานกระจายไปหลายภาคการผลิตอุตสาหกรรมและหลายจังหวัด นำไปสู่ปัญหา Supply Disruption และอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นตัวแปรเดียวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งนี้ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังคงเพิ่มขึ้นแตะระดับกว่า 2 หมื่นคน ทำให้รัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์คุมเข้มไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นแรงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ให้ลดลงอย่างชัดเจน

รุกฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลได้ 70% เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์  ปลุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นไตรมาส 4

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งสมมติฐานที่ใช้ คือยอดผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในระดับ 25,000-30,000 คน ภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ควบคู่ไปการกระจายวัคซีนสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ซึ่งใช้ตัวบ่งชี้เป็น 70% ของประชากรกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

โดยหากประมาณการโดยใช้อัตราฉีดวัคซีน 3 แสนโดสต่อวัน (เป็นค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังจนถึงขณะนี้) จะสามารถครอบคลุมประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ 70% ในต้นเดือนกันยายน (จากขณะนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสอยู่ 8 ล้านคน คิดเป็น 54%ของประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ภายใต้การบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นไปตามแผนทำให้มีปริมาณวัคซีนรองรับเพียงพอและยอดผู้ติดเชื้อปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นได้ในเดือนตุลาคม 2564  ทั้งนี้ หากรักษาอัตราการฉีดวัคซีนได้ในระดับนี้ต่อเนื่อง จะสามารถครอบคลุมประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้ 70% หรืออีกนัยคือประเทศเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใด้ภายในเดือนธันวาคม 2564

สำหรับการปรับตัวของแต่ละองค์ประกอบ พบว่าการบริโภคภาคเอกชน จะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นแต่ยังเปราะบางอยู่มากเมื่อมีการปลด ล็อกมาตรการปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมสีแดง การปิดแคมป์ก่อสร้าง การปิดคลัสเตอร์โรงงาน และเมื่อรวมกับเม็ดเงินจากมาตรการเยียวยาที่คาดว่าจะมีต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงานในกิจการและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์  รวมทั้งเดินหน้าโครงการในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ชะลอไปในช่วงสถานการณ์โควิดโดยมีการเบิกจ่ายเพียง 28% คาดว่าจะช่วยประคองการบริโภคไม่ให้ทรุดหนัก โดยมีแนวโน้มที่จะทรงตัวจากปีก่อนหน้า   ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง ที่ทำให้เกิดปัญหาการโยกย้ายแรงงานจากพื้นที่ก่อสร้าง และการชะลอโครงการของภาครัฐบางส่วนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ฟื้นตัวช้า   ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนำร่องด้วยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คาดว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้เริ่มกลับมา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวทั้งปี 2564 อยู่ที่ 1 แสนคน

ทั้งนี้ จากปัจจัยเศรษฐกิจในแทบทุกด้านโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังไม่สามารถกลับสู่ระดับปกติ โดยเป็นเพียงการเริ่มฟื้นตัวจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า  มีเพียงภาคการส่งออกที่เติบโตได้ โดยคาดว่าทั้งปี 2564 จะโตได้ 9.4% และมาตรการภาครัฐที่เป็นแรงพยุงเศรษฐกิจ แต่โดยรวมก็ไม่สามารถชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากได้   ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดโมเมนตัมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังประเมินการแพร่ระบาดจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับควบคุมได้อีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นกันยายน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัว 0.3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0.9%

ทั้งนี้ หากแผนการฉีดวัคซีนคืบหน้าได้ดีต่อเนื่อง และไม่เกิดการระบาดรุนแรงระลอกใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานต่ำ

อย่างไรดี หากยอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ทำให้ต้องขยายการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ และเงื่อนไขการกระจายวัคซีน ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ยืดออกไปเป็นไตรมาส 1 ของปี 2565  กอปรกับการส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากความต้องการในตลาดอาเซียนชะลอลง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยอาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตลดลงไปที่ 6.6%  ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะฉุดให้เศรษฐกิจทั้งปี 2564 หดตัว หรือกล่าวได้ว่าวิกฤตโควิดทำให้เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา

X

Right Click

No right click