November 22, 2024

เจาะลึกการปรับตัวธุรกิจไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape

September 03, 2021 1677

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค่อนข้างมาก

ซึ่งแต่ละธุรกิจมีการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ สะท้อนตามลักษณะการฟื้นตัวของรายได้ ดังนั้น การศึกษาปัจจัยของการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจและแนวโน้มในระยะปานกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการ แรงงาน และภาครัฐ ได้รับทราบสถานการณ์ปัจจุบันและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

การฟื้นตัวของแต่ธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ศึกษาการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ โดยเริ่มตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2563 มาจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2564 ด้วยการคำนวณเป็นดัชนีรายได้ของแต่ละธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 500 บริษัทเทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด-19 เป็นปีฐานเริ่มต้นเท่ากับ 100 และทำการประเมินว่าในช่วงการระบาดที่ผ่านมา ธุรกิจมีความสามารถในการปรับตัวอย่างไร ผลการศึกษาแบ่งระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

  • ธุรกิจฟื้นแล้ว (ดัชนีรายได้ > 100) โดยธุรกิจได้ฟื้นตัว เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและตลาดในประเทศดีขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงาน เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม
  • ธุรกิจกำลังฟื้น (ดัชนีรายได้อยู่ระหว่าง 60 ถึง 100) โดยธุรกิจกำลังฟื้นตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา ได้แก่ ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์
  • ธุรกิจยังไม่ฟื้น (ดัชนีรายได้ < 60) เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นและได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ) ท่องเที่ยว (โรงแรมและร้านอาหาร) และการบริการส่วนบุคคล

การฟื้นตัวของธุรกิจดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผลของการล็อกดาวน์บางส่วนตามมาตรการของภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจลดลง อย่างไรก็ดี ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนของภาครัฐที่ช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น และภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะทำให้แต่ละธุรกิจทยอยฟื้นตัวนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เป็นต้นไป โดยประเมินว่า รูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะการทยอยฟื้นตัว และไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก

ธุรกิจที่มีความเปราะบางมากที่สุด คือ “กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น” ซึ่งรายได้เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด-19) พบว่ามีการหดตัวมากกว่า 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และร้านอาหาร รายได้ลดลง 66% และ 49%  กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศและทางน้ำ รายได้ลดลง  84% และ 51%  และกลุ่มบริการส่วนบุคคล ได้แก่ บันเทิงและการกีฬา รายได้ลดลงมากถึง 84% สำหรับ “กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น” ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง

ดังนั้น สิ่งที่สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจยังไม่ฟื้นและกำลังฟื้น ให้อยู่รอดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงความสะดวกของการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และสินค้าต้องมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และหากเป็นโรงงานและธุรกิจบริการควรพิจารณาทำ Bubble & Seal  นอกจากนี้ ควรพิจารณาเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

การฟื้นตัวในระยะปานกลาง จะเป็นรูปแบบ K-Shape ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างของธุรกิจ

หากมองออกไปใน 1-2  ปีข้างหน้า (2565-2566) แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มบรรเทาลง จากการเร่งฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรของโลกและในประเทศไทยมากขึ้น แต่ทว่าโรคโควิด-19 ก็ยังไม่หมดไปและอาจมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้การแพร่ระบาดดังกล่าวจะยังคงอยู่กับโลกต่อไปหลังจากนี้อย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถจัดการไวรัสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ต้องพึ่งการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในทุกปี ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายจะมี 3 ด้าน ต่อไปนี้

ด้านที่ 1 ธุรกิจยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ด้วยกันด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ด้านที่ 2 ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ความเจริญกระจายไปหัวเมืองในเศรษฐกิจภูมิภาค การผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสินค้าเพื่อการส่งออกจะมีมูลค่ามากขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมลงทุนภาครัฐ

ด้านที่ 3 ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ การเข้าถึงผู้บริโภคจากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล หรือที่เรียกว่า Omni-Channel และจะต้องปรับใช้เทคโนโลยี Digital Ecosystem ที่อยู่รอบตัว อาทิ E-Commerce, E-Payment , E- Transportation, Inventory Management ฯลฯ  มาใช้ในธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้นเพราะสามารถสืบค้นข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากสื่อออนไลน์ได้

ด้วย 3 ปัจจัยท้าทายที่ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญ ttb analytics ประเมินว่า จะส่งผลทำให้การฟื้นตัวของแต่ธุรกิจในระยะปานกลางแตกต่างกัน กล่าวคือ มีธุรกิจที่ฟื้นและเติบโตดี และธุรกิจที่ไม่ฟื้นและตกต่ำต่อเนื่องจนกว่าโรคโควิด-19 จะหมดไป หรืออยู่ในรูปแบบการฟื้นตัวแบบ K-Shape ดังนี้

  • K-Shape (ขาขึ้น) ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟแวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป
  • K-Shape (ขาลง) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

ด้วยรูปแบบการฟื้นตัวแบบ K-Shape  พบว่าธุรกิจ K-Shape ขาขึ้นจะมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศและพฤติกรรมผู้บริโภคสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้ฟื้นและเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจใน K-Shape ขาลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจบริการซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องช่วยกันประคับประคอง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่รอดใน 1-2 ปีข้างหน้า และจำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐช่วยธุรกิจให้ลุกขึ้น เพื่อจะฟื้นตัวหลังการระบาดบรรเทาต่อไป

 

X

Right Click

No right click