November 08, 2024

รู้ก่อนฉีด! ความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ

September 22, 2021 1906

ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 30 ล้านคน และกำลังเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทั่วประเทศ

หลายคนยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 และอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน อย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ VITT (Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia)

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นภชาญ เอื้อประเสริฐ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในคนปกติ ซึ่งโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจอุดตัน หลอดเลือดแดงที่สมองอุดตัน และหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน เป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบบ่อยที่สุด 3 ลำดับแรกในประชากรทั่วไป โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะลิ่มเหลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงที่หัวใจและสมองซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด มีหลายประการ ได้แก่ ความสูงอายุ ความอ้วน การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยทางพันธุกรรม ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาเป็นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่พบบ่อยที่สุด ปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่ สูงอายุ อ้วน การไม่ขยับเขยื้อนเป็นเวลานาน มะเร็ง ฮอร์โมนเพศหญิง (ยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์) และปัจจัยทางพันธุกรรม

“สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้น มีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่า โดยจากการศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Thorax ปี 2021 โดยรวบรวมรายงานการศึกษาต่างๆ 102 การศึกษา พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 เกิดหลอดเลือดดำอุดตันสูงถึงร้อยละ 15 และเพิ่มสูงถึงร้อยละ 23 ในผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาใน ICU ขณะที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันประมาณร้อยละ 4 นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโควิด-19 มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประชากรทั่วไป” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นภชาญ กล่าว

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 คืออะไร

ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดมีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเกิดหลอดเลือดดำที่สมองอุดตัน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเวกเตอร์อะดีโนไวรัส (Adenoviral vectors) ในระยะเวลา 5-30 วัน โดยจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำน้อยกว่า 150,000/µL ร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน หรือ vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia (VITT)

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นภชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ภาวะดังกล่าวจะมีความรุนแรง แต่ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (Journal of American College of Cardiology 2021) พบว่า โอกาสการเกิดหลอดเลือดดำที่สมองอุดตันภายหลังฉีดวัคซีนเท่ากับ 3.6 ต่อ 1,000,000 คน ในขณะที่โอกาสเกิดหลอดเลือดดำสมองอุดตันจากการเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 207 ต่อ 1,000,000 คน ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดดำที่สมองอุดตันจากการเป็นโควิด-19 นี้มากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนถึง 70-200 เท่า”

โอกาสของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันทั้งหลอดเลือดแดงหัวใจ หลอดเลือดแดงสมอง และหลอดเลือดดำที่ขา เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในประชากรทั่วไป สำหรับภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน หรือ VITT นั้นพบว่าโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 ใน 100,000 โดสของการฉีดวัคซีนในประชากรยุโรป อย่างไรก็ตามข้อมูลจากประเทศอินเดียพบโอกาสของการเกิด VITT มีน้อยกว่า 1 ใน 1,000,000 โดส และสำหรับประเทศไทยพบโอกาสเกิด VITT น้อยกว่า 1 ใน 2,000,000 โดส

“การเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วม (coincidence) โดยมักเกิดจากโรคประจำตัว หรือปัจจัยเสี่ยงของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยที่บางครั้งผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เป็นต้น” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นภชาญ เสริม “ดังนั้น แม้จะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่รุนแรงแต่ก็ไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องวิตกกังวลสำหรับการรับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากโอกาสพบต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ควรควบคุมโรคประจำตัวของตนเองให้ดี รับประทานยาและตรวจติดตามสม่ำเสมอซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากโรคประจำตัวของตัวเองมากกว่าการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน”

วิธีสังเกตอาการภาวะการเกิดลิ่มเลือดด้วยตัวเอง

อาการทั่วไปที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีนเช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ชาปลายนิ้วมือ หรือปวดตึงแขนด้านที่ฉีดยา มักจะหายไปเองภายใน 48-72 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ดังนั้นหากมีอาการปวดศีรษะ ตามัว แขนขาอ่อนแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบผิดปกติ เกิน 3 วันหลังฉีดวัคซีน หรือเป็นอาการที่เกิดใหม่หลังฉีดวัคซีนในระหว่าง 5-30 วันควรไปปรึกษาแพทย์

ปัจจุบัน โอกาสเสียชีวิตจากการเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 1-2 ซึ่งสูงกว่าความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างมากนับพันเท่า การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิดจึงมีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตัวเองในการป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิต ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากร ควบคุมการติดเชื้อ และภาระต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ นอกจากนี้ จากการศึกษาในประเทศอิสราเอลพบว่า การติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและการเกิดเลือดออกรุนแรงเช่นในสมองสูงกว่าการฉีดวัคซีนอย่างมาก ดังนั้น นอกจากการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังลดโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นภชาญ กล่าวทิ้งท้าย

 

X

Right Click

No right click