November 21, 2024

ttb analytics ชี้ภาคการผลิตไทย 5 ปี เติบโตต่ำ แนะเร่งการลงทุน EEC เพื่อยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้น

October 21, 2022 1130

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เผยรายได้ภาคการผลิตไทยเติบโตต่ำ โดยมีการเติบโตเพียง 1.3% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าปี 2565 เริ่มฟื้นแล้วจากการผ่อนปรนการควบคุมโรคและเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ แต่ยังมีความเสี่ยงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แนะภาครัฐเร่งรัดการลงทุน EEC ให้เกิดอุตสาหกรรมสมัยใหม่ให้เร็วขึ้น และผู้ผลิตควรปรับกระบวนการผลิตตาม BCG Economy เพื่อยกระดับรายได้และการจ้างงานของประเทศให้เพิ่มขึ้น

ภาคการผลิตไทยมีความสำคัญกับเศรษฐกิจโดยคิดเป็น 27% ของจีดีพีรวม และจ้างงานรวมกว่า 9 ล้านคน จากการที่ไทยประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เกิดการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากรทั่วโลก ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไทยได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน 

ttb analytics ทำการศึกษาโครงสร้างของภาคการผลิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560 – 2564) เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นช่วงที่การผลิตเติบโตในเกณฑ์ต่ำ นอกจากนี้ จะทำการประเมินต่ออีกว่าภาคการผลิตใดฟื้นตัวแล้ว กำลังฟื้น หรือยังต้องระมัดระวัง หลังไทยประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคการผลิตไทยขยายตัวต่ำเฉลี่ย 1.3% ต่อปี การเติบโตมาจากตลาดในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดส่งออกโตต่ำ

จากข้อมูลสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า รายได้จากการจำหน่ายสินค้าของภาคการผลิตไทย นับตั้งแต่ปี 2560-2564 ขยายตัวเฉลี่ย 1.3% ต่อปี โดยยอดขายในประเทศขยายตัวเฉลี่ย 1.7% ต่อปี ในขณะที่ยอดส่งออกขยายตัวเฉลี่ย 0.6% ต่อปี ชี้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากตลาดในประเทศเป็นแหล่งการเติบโตของภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะในปี 2562-2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่ากำลังซื้อจะหดหายทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีมาตรการล็อกดาวน์จำกัดการเดินทางของประชาชน และงดการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

แต่การจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมตลาดในประเทศช่วยพยุงรายได้ของผู้ผลิตไว้ และเมื่อพิจารณาปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะพบว่า รายได้ของภาคการผลิตไทย ลดลงกว่า  -16.2% เมื่อเจาะลึกแยกเป็นตลาดในประเทศและตลาดส่งออก พบว่า ตลาดในประเทศหดตัว -15.5% ซึ่งลดลงในระดับที่น้อยกว่าตลาดส่งออกที่หดตัวถึง -17.5% โดยในปี 2563 ยอดขายลดลงเกือบทุกหมวดการผลิต ยกเว้นภาคการผลิตกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ แต่ยังสามารถเติบโตบ้างได้ตามความต้องการบริโภคในประเทศที่ยังคงมีอยู่ และกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา ได้แก่ ถุงมือยาง ที่ทางการแพทย์มีความต้องการใช้อย่างมากในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ภาคการผลิตในกลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถเติบโตได้ดี เนื่องจากมีความต้องการของผู้บริโภคใช้ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)

ในปี 2564 ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มลดลง เนื่องจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยเร่งฉีดวัคซีนป้องกันครอบคลุมประชากรของประเทศ ทำให้การจำหน่ายสินค้าภาคการผลิตไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวได้ 18.4% จากปี 2562-2563 ที่หดตัว -6.0 และ -16.2 โดยในปี 2564 ทุกหมวดการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง หลังจากหดตัวอย่างมากในช่วงปี 2562-63 โดยมีเพียง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังไม่ฟื้น ได้แก่ 1.การผลิตเครื่องดื่ม เนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายจำกัดการเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงยังมีการปิดพรมแดนอยู่ ทำให้ความต้องการเครื่องดื่มยังลดลงต่อเนื่อง และ 2.การผลิตวัสดุก่อสร้างที่เติบโตต่ำจากการก่อสร้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวจากกำลังซื้อที่ลดลง

ปี 2565 มูลค่าการจำหน่ายสินค้าของภาคการผลิตไทยเติบโตสูง ทั้งนี้มาจากราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายสินค้าเข้าใกล้ปีก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

จากการวิเคราะห์ปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าของภาคการผลิตไทย โดย ttb analytics นำมาคำนวณเป็นดัชนีการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม แยกออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ ดัชนีปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม และดัชนีราคาขายสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนการเติบโตของมูลค่ารายได้ว่าเป็นผลที่มาจากปริมาณการจำหน่าย หรือ มาจากราคาที่เพิ่มขึ้น พบว่าในปี 2565 มูลค่าการจำหน่ายสินค้าของภาคการผลิตไทยที่เติบโตถึง 22.6% นั้น เป็นการเติบโตที่มาจากราคาขายสินค้าเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายทรงตัวและเข้าใกล้ปริมาณการจำหน่ายปี 2562  ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ชี้ว่าปริมาณการจำหน่ายเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ระดับปกติ แต่มีความเสี่ยงด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในระยะต่อไป อาจจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในปี 2566 ได้ หากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ประเมินทิศทางภาคการผลิตไทยภายหลังภาครัฐประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตเกินกว่าครึ่งหนึ่งปริมาณการจำหน่ายเริ่มฟื้นแล้ว

หลังจากภาครัฐผ่อนปรนมาตรการการจำกัดการใช้ชีวิตของประชาชน และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ttb analytics ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2565 จะขยายตัว 3.2% และในปี 2566 จะขยายตัวต่อเนื่อง 3.7% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากการผ่อนปรนการควบคุมโรค ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

จากสถิติมูลค่าและปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม ที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ttb analytics นำมาคำนวณเป็นดัชนีปริมาณการจำหน่ายผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรายอุตสาหกรรม เทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้ทราบทิศทางการฟื้นตัวของภาคการผลิตแยกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมการผลิตเกินกว่าครึ่งหนึ่งปริมาณการจำหน่ายเริ่มฟื้นแล้ว รายละเอียดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • อุตสาหกรรมการผลิตที่ฟื้นแล้ว ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน
  • อุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังฟื้น ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ อาหารสัตว์ การแปรรูปสินค้าเกษตร (น้ำตาล มันสำปะหลัง ผักและผลไม้) สินค้าอุปโภคบริโภค
  • อุตสาหกรรมการผลิตที่ยังต้องระมัดระวัง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ การผลิตเหล็ก

แนะภาครัฐเร่งรัดการลงทุน EEC เพื่อยกระดับการเติบโตตามศักยภาพที่เคยทำได้ หรือ ดีกว่าเดิม

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยเติบโตได้ค่อนข้างต่ำขยายตัวเพียง 1.3% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและเมื่อพิจารณาโครงสร้างการผลิตไทย พบว่า มีการกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน (24%) พลังงาน (13%) เคมีภัณฑ์ (10%) อาหาร (10%) อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน (6%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (5%) ซึ่งที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระบวนการผลิตเริ่มล้าสมัยแล้ว

อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่เหล่านี้ ภาครัฐพยายามยกเครื่องให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (New S-Curve Industry) ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาครัฐเริ่มส่งเสริมและสนับสนุนนับตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยวางเป้าหมายว่า 12 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ 1) ยานยนต์และชิ้นส่วน 2) การเกษตรและแปรรูปอาหาร 3) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5) การท่องเที่ยว 6) การแพทย์ 7) เทคโนโลยีชีวภาพ 8) ดิจิทัล 9) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา 10) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 11) อากาศยาน และ 12) ป้องกันประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่า 5% ต่อปี ในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเร่งรัดให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดขึ้นจริง เพื่อยกระดับรายได้ภาคการผลิตไทย จากปัจจุบันที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ ให้กลับมาเติบโตสู่ศักยภาพที่เคยทำได้หรือดีกว่าเดิม เพื่อให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศกลับมาขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ที่กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้านผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับเทรนด์ BCG Economy ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการเติบโตควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อนด้วยในเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งยกระดับการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

การเร่งรัดการลงทุน EEC และการปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับ BCG Economy คาดว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้รายได้ของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานและแรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างยั่งยืนต่อไป...

X

Right Click

No right click