November 21, 2024

“NIA” จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติสุดยอดนวัตกรรมไทย ปี 2566

October 09, 2023 1221

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัด “พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2566” เนื่องใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”

ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม ในฐานะ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พร้อมเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานของนักนวัตกรไทยผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการ คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นวัตกรรมหลายอย่างถือเป็นจุดเปลี่ยนของโลก ทั้งระบบการผลิต อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจการค้าขายของโลก ซึ่งขณะนี้ถือเป็นยุคที่นวัตกรรมมีการเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตนเชื่ออย่างยิ่งว่าปัญญาประดิษฐ์จะใช้เวลาน้อยมากที่ให้ผู้ใช้งานปรับตัว เพราะจะถูกพัฒนามีความฉลาด เข้าถึง และสามารถถูกนำมาใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงปริมาณของคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะของการเขียนโปรแกรมโค้ดดิ้งต่างๆ สามารถต่อยอดจากระบบที่ถูกสร้างไว้ในรูปแบบที่เปิดให้ผู้พัฒนาเข้าไปปรับแต่งโค้ดได้ เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว

“นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์มีนัยยะผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการศึกษาของประเทศ ดังนั้น การจัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรม ให้แก่นักนวัตกรไทยที่ผลิตหรือคิดค้นผลงานนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ ส่งผลดีต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอย อันนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักและสนใจกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะมีผลในการจูงใจให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทย เกิดความสนใจที่จะดำเนินงานโดยมีความเป็นนวัตกรรมอยู่ในกระบวนการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา” รศ.นพ.สรนิต กล่าว

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 – 2570 NIA ได้เปลี่ยนบทบาทจากสะพานเชื่อมสู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Food Tech & Ag Tech 2) Travel Tech 3) Med Tech 4) Climate Tech และ5) Soft power 2) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่น 3) ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค 4) เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5) ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs 6) สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ Innovation Thailand การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม งาน SITE ฯลฯ เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย และ 7) พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Cross Functional ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน

สำหรับการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2566 แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ 4) ด้านสื่อและการสื่อสาร และ 5) ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น โดยในปีนี้มีผู้ที่สนใจส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 347 ผลงาน และผลงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (TIA) ระดับเยาวชนจำนวน 453 ผลงาน

สำหรับผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 มีดังนี้
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: หม้อแปลง BCG & โลว์คาร์บอน โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ได้แก่ ผลงาน: HY-N นวัตกรรม
ไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยา วัคซีน โดย บริษัท แนบโซลูท จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์ โดย โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: ระบบบำบัดน้ำเสียวงจรไฟฟ้าชีวภาพ โดย บริษัท อินโน กรีน เทค จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: เตียงสนามกระดาษ SCGP สำหรับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดย มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับ SCGP
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: ชุดปลูกผักปลอดสารพิษด้วยตัวเองเพื่อคนในเมือง โดย บริษัท ดู๊ดแพลนต์ จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: แมกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนเนค โดยแอพพลิเคชั่นวชิระแอทโฮม โดย บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสื่อและการสื่อสาร
- รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: ต่อยอด แสงหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ คุณสรานี สงวนเรือง (เฟื่องลดา)
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ แบไต๋ (Beartai)
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
- รางวัลดีเด่น ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
- รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรภาครัฐ และประชาสังคม ได้แก่ กรมสุขภาพจิต
- รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ผลงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (TIA) ประจำปี 2566
1) รางวัลระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย - ปวช.
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานแพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้า หัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน SVMR ตู้ยาเพื่อแจ้งเตือนและดูแลผู้สูงอายุ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และ ผลงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียนและชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยพร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสดจากดอกต้องติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
2) รางวัล Best Pitching Awards by Education New Zealand
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานแพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้า หัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียนและชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยพร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสดจากดอกต้องติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์

อย่างไรก็ตาม NIA ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนในทุกมิติ ผ่านการผลักดันนโยบายและกิจกรรมต่างๆ และยังคงจะมีการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้พัฒนานวัตกรรมที่ดีเด่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยให้พร้อมก้าวสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” ในอนาคต

X

Right Click

No right click