December 22, 2024

จับกระแสผู้บริโภคปี 2565 ปรับตัวอย่างไรในยุคข้าวยากหมากแพง

August 25, 2022 1573

 EIC ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคไทยจำนวน 2,676 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ถึง 22 กรกฎาคม 2565 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมในช่่วงที่ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ผลสำรวจสามารถสรุปได้เป็น 4 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : “รายได้ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่า”

  • แม้ว่าแนวโน้มรายได้ผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้นกว่าการสำรวจในช่วงปีก่อนหน้า แต่รายได้ของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังทรงตัว โดย 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
    ซึ่งเมื่อพิจารณาตามรายได้ พบว่า กลุ่มรายได้น้อย (รายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) มีสัดส่วนผู้ที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นสูงที่สุด
  • ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพที่เร่งตัว โดยกว่า 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ตนเองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และเกือบ 1 ใน 4 มองว่า รายจ่ายของตนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายนั้นเกิดกับผู้บริโภคในทุกกลุ่มรายได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
  • ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของทั้งรายได้และรายจ่าย พบว่า คนส่วนใหญ่ถึง 60% มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ารายจ่าย นอกจากนี้ ผู้บริโภคถึง 45% ยังระบุว่า ตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่สัดส่วนคนที่ได้รับผลกระทบสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น ๆ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคนรายได้น้อยมากกว่า

 

 ประเด็นที่สอง : “รายได้ที่โตไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้การเก็บออมลดลง และคนเกือบครึ่งมีปัญหาด้านภาระการชำระหนี้”

  • การที่รายได้โตไม่ทันรายจ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย 2) ปัญหาด้านการเก็บออม และ 3) ปัญหาด้านการชำระหนี้ โดยผู้บริโภคถึง 59% กำลังเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ขณะที่ 77% มีการเก็บออมที่ลดลงหรือไม่ได้เก็บออมเลยในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้ง ผู้บริโภคเกือบครึ่งยังระบุว่า ตนเองกำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้
  • เมื่อพิจารณาปัญหาทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน พบว่า ผู้บริโภคถึง 64% กำลังเผชิญปัญหาด้านใดด้านหนึ่งอยู่ และราว 42% กำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ด้านพร้อมกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ
    ภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้คนกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหามักมีสภาพคล่องทางการเงินที่ค่อนข้างจำกัด โดยกลุ่มที่มีปัญหารอบด้านส่วนมากมีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนกลุ่มที่ไม่เผชิญปัญหาที่ส่วนใหญ่
    มีสภาพคล่องเหลือเกิน 1 ปี
  • ในระยะต่อไป ผู้บริโภคส่วนมากยังคาดว่ารายจ่ายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ารายได้ ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้สัดส่วนผู้บริโภคที่เผชิญปัญหา 3 ด้านนี้อาจจะมีมากขึ้นและจะยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือน

 

 ประเด็นที่สาม : “สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า
ที่แตกต่างกันเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ”

  • ผลกระทบจากราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการในภาพรวม โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และอาหาร แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังบริโภคในปริมาณเท่าเดิม/เพิ่มขึ้น
  • การเลือกซื้อสินค้าจัดรายการโปรโมชันและการซื้อสินค้าออนไลน์ถือเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมใช้ โดยผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อกลยุทธ์การตลาดเนื่องจากมีการปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหลากหลายรูปแบบกว่า Generation อื่น ขณะที่ผู้บริโภคในกลุ่ม Baby boomer มี
    การปรับพฤติกรรมค่อนข้างน้อย อีกทั้ง ยังมีความภักดีต่อแบรนด์สินค้าสูงจากการปรับพฤติกรรมโดยการเลือกซื้อสินค้าแบบเดิมแต่ลดปริมาณเป็นหลัก

  

ประเด็นที่สี่ : “ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้านและมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี การซื้อสินค้าออนไลน์และการใช้บริการ Food delivery มีแนวโน้มกลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรม New normal เนื่องจากผู้บริโภคยังคงใช้งานต่อไปแม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย”

  • ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้านลดลง เนื่องจากความกังวลด้านสุขภาพอนามัยและผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้านเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นจาก Pent-up demand ที่การใช้จ่ายถูกจำกัดในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรค
    อย่างเข้มงวด ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนอกบ้านอาจต้องสร้างความมั่นใจในด้านสุขอนามัยและ
    จัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค  
  • ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์และ Food delivery ต่อไปในระยะข้างหน้า เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วและโปรโมชันด้านราคาบน Online platform แม้ผู้บริโภคบางส่วนในกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มใช้บริการดังกล่าวลดลงจากการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เช่น การทานอาหารที่ร้าน หรือออกไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-channel ที่เชื่อมโยงช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าสะดวกมากขึ้น 

 

โดยสรุป ข้อค้นพบจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ EIC ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ทรงตัว โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า จากการที่ผู้บริโภคยังมองว่า รายจ่ายของตนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ารายได้ ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องรัดเข็มขัดต่อไป (ติดตามบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.scbeic.com/th/detail/product/consumer-survey-240822)

X

Right Click

No right click