กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ผ่านการส่งมอบโซลูชัน บริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์ (Cross-border QR payment) ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศเป็นเรื่องง่าย สะดวก และปลอดภัย ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าสำหรับนักเดินทางด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่าน KMA krungsri app เพื่อชำระเงินระหว่างประเทศไทยและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

การประกาศความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นอีกบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นตามแผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ของกรุงศรี ในการเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาค ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมและโซลูชันด้านการเงินที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าให้ใช้ชีวิตง่ายได้ทุกวัน

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นวัตกรรมบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงิน กรุงศรี ไม่เคยหยุดนิ่งในการนำเสนอบริการทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการเปิดให้บริการสแกนคิวอาร์โค้ดชำระเงินระหว่างประเทศไทยและฮ่องกง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) การประกาศความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นความภูมิใจครั้งสำคัญของกรุงศรี ที่เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทยในการร่วมพัฒนาโครงการนี้ และยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเราในการส่งมอบบริการทางการเงินที่ได้รับความไว้วางใจ และเชื่อมโยงทุกความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาค โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายของบริษัทแม่อย่าง MUFG ที่มีความแข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วเอเชียและทั่วโลก”

การสแกนคิวอาร์โค้ดผ่าน KMA krungsri app เพื่อชำระเงินระหว่างประเทศไทยและฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินจากกรุงศรี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลในปัจจุบัน พร้อมยกระดับประสบการณ์การทำธุรกรรมการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้นแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้ลูกค้ากรุงศรีสามารถรู้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีด้วยอัตราพิเศษกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิต ปลดล็อกให้นักเดินทางไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจจากประเทศไทยและฮ่องกงไม่จำเป็นต้องพกเงินสดจำนวนมาก เพราะสามารถชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างง่ายดายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ณ จุดรับชำระที่แสดงสัญลักษณ์ FPS QR Code (ฮ่องกง) และ Thai PromptPay QR Code (ประเทศไทย) ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ นับเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

กรุงศรี ให้บริการและเชื่อมโยงเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ให้ลูกค้าสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน KMA krungsri app ที่รองรับทั้งการไปสแกนคิวอาร์โค้ดที่ร้านค้าในต่างแดน หรือแสดง MyPromptQR บน KMA krungsri app ให้ร้านค้าสแกน โดยที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการแล้วในหกประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และในครั้งนี้ได้ขยายการให้บริการไปยังฮ่องกง

“การประกาศเปิดให้บริการในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของกรุงศรีในการสนับสนุนนโยบายภาพใหญ่ระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งยังเป็นการบรรลุเป้าหมายอีกขั้นสำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของแผนงานกลยุทธ์ธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 และเป็นการกรุยทางสู่ความท้าทายบทใหม่ที่กรุงศรีพร้อมจะส่งเสริมและขับเคลื่อนภูมิทัศน์ทางการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและภูมิภาคให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” นายไพโรจน์ กล่าวปิดท้าย

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ส่งต่อความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจให้กับ Hattha Bank Plc. ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือกรุงศรี ผลักดันโมเดล ASEAN Privileges ขยายฐานลูกค้าบัตรเดบิตด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่สะดวกสบายและปลอดภัยให้กับคนกัมพูชา พร้อมต่อยอดในเครือข่ายธุรกิจของกรุงศรีในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย

นายวันชัยระบิน จิตวัฒนาธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานธุรกิจระดับภูมิภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีทำงานร่วมกับ Hattha Bank อย่างใกล้ชิดและเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย Hattha Bank ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายออกสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกัมพูชาให้สอดคล้องกับเทรนด์และสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุดได้เปิดตัวบัตรเดบิต Hattha Visa Debit Card  ซึ่งนอกจากกรุงศรีจะได้ส่งต่อประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจบัตรให้กับบริษัทในเครือซึ่งเป็นธุรกิจในต่างประเทศแล้ว เรายังได้ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายพันธมิตรในไทย ช่วยสร้างจุดแข็งให้กับบัตรเดบิตดังกล่าวด้วย โดยนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่ถือบัตร Hattha Visa Debit Card จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนลดต่างๆ เมื่อมาใช้จ่ายในประเทศไทย ในช่วงแรกเป็นการนำเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับการใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในไทย และในอนาคต กรุงศรีและ Hattha Bank มีแผนร่วมกันที่จะขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า”

“กรุงศรีได้วางกลยุทธ์ในการช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับเครือข่ายธุรกิจต่างๆ ในอาเซียน ภายใต้โครงการ ASEAN Privileges โดยต้องการขยายฐานลูกค้าธุรกิจบัตรด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการใช้จ่ายในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยหลักล้านคน เราต้องการให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์และประสบการณ์ทางการเงินที่พิเศษซึ่งสนับสนุนโดยกรุงศรีและพันธมิตร เราได้เริ่มโครงการนี้กับ Hattha Bank เป็นที่แรก และมีแผนที่จะขยายโมเดลดังกล่าวไปยังเครือข่ายธุรกิจอื่นของกรุงศรีในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยได้อีกด้วย”

นอกจากความสะดวกและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์บัตรแล้ว กรุงศรียังร่วมกับ Hattha Bank ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีการเพิ่มฟีเจอร์การทำธุรกรรมโอนเงินแบบเรียลไทม์ระหว่างไทยและกัมพูชาด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะในเครือกรุงศรี ลูกค้าไม่ว่าที่ไทยหรือกัมพูชาสามารถทำธุรกรรมการโอนเงินออกผ่านทางโมบายแบงก์กิ้งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Hattha Bank ยังได้เปิดตัวบริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านทาง SWIFT ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายธนาคารทั่วโลก นับเป็นอีกหนึ่งบริการใหม่ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายและความมั่นใจในการรับบริการทางการเงินให้กับประชาชนชาวกัมพูชาอีกด้วย

“ด้วยความร่วมมือในการการผสานความแข็งแกร่งของทั้งสองบริษัท กรุงศรีเชื่อมั่นว่า Hattha Bank จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่การเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และพร้อมเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชาให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวันชัยระบิน กล่าวปิดท้าย

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดย วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้การเติบโตจะยังไม่กระจายตัวและมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในประเทศ

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า “วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคนก็ตาม  2) การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.3% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย  3) การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 ภายหลังจากการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณในปีงบฯ ก่อน) ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 3.0% ตามลำดับ จากที่คาดว่าจะหดตัวในปี 2566 และ 4) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นที่ 3.5% ตามการเติบโตของภาคบริการและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ เนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 จากที่คาดว่าจะหดตัว -1.5% ในปี 2566 อันเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 2.0%

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่มากในอนาคต

“แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดย IMF คาดว่า GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 จะเติบโตที่ 4.5% ในปี 2567 เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566 สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับเพิ่ม ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษที่อาจกดดันเศรษฐกิจและภาคการเงินในประเทศแกนหลักของโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป” ดร.พิมพ์นารา กล่าวเพิ่มเติม

คว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมโอกาสต่อยอดสู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพ

X

Right Click

No right click