×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

HELE เทคโนโลยีโรงไฟฟ้ายุคเปลี่ยนผ่าน

January 04, 2018 3666

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในทุกๆ ด้านไม่เว้นแม้แต่ภาคพลังงานที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานในขณะ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน  เผยถึงเทคโนโลยีสะอาดว่ามีส่วนช่วยเสริมความมั่นคงพลังงานไทย และเราจะมาลงลึกให้เห็นถึง เทคโนโลยีเฮเล่ (HELE) ที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ที่ใช้กับโรงไฟฟ้ายุคใหม่ 

HELE ย่อมาจาก High Efficiency Low Emission Technology เป็นเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยที่สุด ขณะนี้ในการกำจัด หรือลดมลพิษจากการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ได้มาตรฐานสากล สามารถกำจัดฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารโลหะหนักต่างๆ

เทคโนโลยี HELE มี 3 กระบวนการสำคัญ คือ ก่อนเผาไหม้ จะมีการปรับระดับถ่านหิน เพื่อลดปริมาณขี้เถ้าและกำมะถันที่ปะปนอยู่ในถ่านหิน ขณะเผาไหม้จะมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่นำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดโดยการแปรรูป  เทคโนโลยีสังเคราะห์เชื้อเพลิงสะอาด เพื่อช่วยลดปริมาณสิ่งเจือปนต่างๆ โดยเฉพาะกำมะถันในถ่านหินลง และหลังเผาไหม้ จะมีการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งเทคโนโลยีเฮเล่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของไทยในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจุบัน ประเภทเทคโนโลยี HELE มี 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. Ultra Super Critical Technology (USC) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะอาด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มแรงดันและอุณหภูมิของหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ทำให้ลดความเข้มข้นในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในตัว จุดเด่น คือ มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้อัตราสูงถึง 49% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ระดับ 33% ช่วยลดค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า และมีเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ให้ลงมาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และต่ำกว่าเกณฑ์ตามมาตรฐานควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

2.Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนสถานะถ่านหินให้เป็นก๊าซ (Gasification Technology) ก่อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จุดเด่น คือ ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานสูงกว่าระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินทั่วไป ก๊าซที่ผลิตได้จะนำมาแยกฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ และไนโตรเจนออกก่อนนำไปเผาไหม้ในเครื่องกังหันก๊าซ เพื่อปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้การปล่อยมลพิษต่อหน่วยการผลิตพลังงานต่ำ เทคโนโลยี IGCC ยังรองรับถ่านหินคุณภาพหลากหลาย และปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้อยกว่า เนื่องจากก๊าซมลพิษถูกกำจัดโดยตรง

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยได้เริ่มนำเทคโนโลยี USC มาใช้แล้วกับโรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่ ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดจะมีการควบคุมการทำงานด้วยระบบดิจิทัล และคอมพิวเตอร์ ซึ่งสมรรถนะของระบบดิจิทัลนี้เองจะมีส่วนช่วยให้การควบคุมการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศลดลงไปอีกด้วย จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมและโซลูชั่นดิจิทัล กำลังเข้ามามีบทบาทกับอนาคตพลังงานไทยก้าวหน้าต่อไป

สำหรับเชื้อเพลิงถ่านหิน ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่หาง่ายกว่าฟอสซิลประเภทอื่น และยังมีปริมาณสำรองจำนวนมาก ราคาไม่ผันผวน ซึ่งหากนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟ ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งขึ้นด้วย

“ เชื่อว่า การเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินจึงเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าที่ท้าทาย เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศมีความมั่นคง ทั้งนี้ประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก การสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นต่อการเลือกใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาควบคุมมลภาวะ โดยชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมวางแผน ตัดสินใจ พร้อมสามารถตรวจสอบและกำกับดูแลการดำเนินการได้ จึงเป็นทางออกที่สำคัญที่จะผลักดันให้ความมั่นคงของพลังงานไทยเดินหน้าต่อไปได้ ”

 

X

Right Click

No right click