January 22, 2025

การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำติดดินในขณะที่ตลาดหุ้นก็ร้อนแรง เป็นอะไรที่น่าอึดอัด และเป็นโจทย์ยากสำหรับการบริหารสินทรัพย์ของคนทั่วไป ภาคธุรกิจ และเจ้าของกิจการ

ซีอีโอซีพีเอฟ เผยทิศทางนำบริษัทเดินหน้าสานต่อวิสัยทัศน์องค์กรสู่ “ครัวของโลก” โดยเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของกระแสโลกทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม ควบคู่การบริหารจัดการภายในองค์กรที่เน้นการสร้างคนภายใต้บรรยากาศ Leadership at all level  

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ  ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า“ซีพีเอฟมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ครัวของโลก ภายใต้ความท้าทายใหม่ๆในการบริหารธุรกิจยุค Digital ซึ่งจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยยังคงดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญา 3 ประโยชน์เช่นที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรยุค 4.0 คือการนำแนวคิดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน (Innovation towards Sustainability) เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจและทุกๆผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ  โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คลาวด์ (Cloud Computing) บิ๊กดาต้า(Big Data) ไอโอที (Internet of Thing : IOT) ตลอดจนระบบอัตโนมัติ มาใช้ในการยกระดับและเชื่อมโยงกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ เช่น การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ-โรงงานอัจฉริยะ (Smart Farm-Smart Factory) หรือ ระบบการตลาดดิจิทัลและช่องทางการจำหน่ายสินค้า e-Commerce ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภค

 

“นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้แก่ซีพีเอฟทั้งในประเทศไทยและในเวทีโลกได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์-พันธุ์สัตว์-อาหารเพื่อการบริโภค  สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารครั้งใหม่ของโลก เช่น ไก่เบญจาได้สำเร็จ รวมถึงคิดค้นอาหารสุขภาพ กลุ่ม Smart อาทิ อาหารเพื่อผู้ป่วยและผู้สูงวัยอย่าง Smart Soup, อาหารมังสวิรัติ Smart Meal และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ Smart Drink อาหารและเครื่องดื่มจากนวัตกรรมเหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว  และด้วยประสิทธิภาพของศูนย์ RD Center มาตรฐานระดับโลกของเราจะทำให้ซีพีเอฟสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสู่ตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง”นายประสิทธิ์กล่าว 

 

ขณะที่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สังคมโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซีพีเอฟจึงนำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy เข้ามาใช้ในการผลักดันความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้การทำธุรกิจของซีพีเอฟสร้างผลกระทบแก่ทรัพยากรโลกให้น้อยที่สุด ดังเช่น โครงการจัดหาวัตถุดิบยั่งยืน โครงการ Solar Rooftop โครงการ CPF Coal Free 2022  โครงการฟาร์มสีเขียว หรือการประกาศใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เพื่อร่วมบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

 

สำหรับการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น ซีพีเอฟจะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา“คน” โดยสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกคนมีความกล้าแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ กล้าพูด กล้าทำ และลงมือทำในสิ่งใหม่ๆที่จะเพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวเอง ลูกค้า ชุมชน ฯลฯ อันจะช่วยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีความเป็นผู้นำ ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เรียกว่า Leadership at all level ซึ่งจะสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า พร้อมจะนำองค์กรให้เติบโตต่อไป

 

ด้วยความแข็งแกร่งของกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ๋การผลิต ทั้งFeed-Farm-Food ผนวกกับการที่ซีพีเอฟมีการลงทุนใน 17 ประเทศและส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เมื่อเสริมกลยุทธ์ด้านการบริหารยุคดิจิตอลเข้าด้วยกัน เชื่อว่าจะสนับสนุนให้ซีพีเอฟก้าวสู่ “ครัวของโลก” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟจะยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญา “3 ประโยชน์” ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดมั่นปฏิบัติมาโดยตลอดร่วมศตวรรษ นั่นคือ การคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประโยชน์ของประชาชน และสุดท้ายคือประโยชน์ของบริษัท โดยมุ่งมั่นที่จะนำองค์กรให้เติบโตต่อเนื่องในเวทีโลกอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โปร่งใสและ มีธรรมาภิบาล ซึ่งจะเอื้อให้ซีพีเอฟยืนหยัดในสังคมโลกได้อย่างสง่างามเช่นที่ผ่านมา

ปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญหน้าและเร่งระดมสรรพวิธีเพื่อหาทางแก้ไข หนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยจำนวนมากจากครัวเรือนและภาคโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการเผาเพื่อทำลายขยะจนทำให้เกิดมลพิษขึ้น

คสช. เป็นคณะปกครองที่ทำให้ “เศรษฐกิจ” กลายเป็น “การเมือง” หลังจากที่เศรษฐกิจแยกออกจากการเมืองมาได้หลายสิบปี

การให้ตรา “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการทำให้เศรษฐกิจ กลับสู่รากเหง้าเดิม คือกลับมาเป็นการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่เศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องทางเทคนิค เป็นเรื่องบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน บัญชีผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพี บัญชีดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ย อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระดับปีระดับไตรมาสและ ระดับรายเดือน หรือแม้กระทั่งการขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ที่บอกว่า “กลับสู่รากเหง้าเดิม” เพราะสมัยแรกเริ่ม เศรษฐกิจกับการเมืองนั้น แยกกันไม่ออก ต้องมาคู่กันเสมอ

ดังมีคำในภาษาอังกฤษที่เรียกวิทยาการทางด้านนี้ว่า “Political Economy” ซึ่งมี คนแปลเป็นภาษาไทยว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” นั่นเอง เพราะความอลังการของการวิเคราะห์ และปัญหาที่ Political Economy สนใจ นั้นมันไม่ใช่เรื่องทางบัญชี แต่เป็นเรื่องของ “ความมั่งคั่งของประเทศและสังคม” ความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ ความอุดมของ ชีวิตคน ตลอดจนความขัดแย้งทางชนชั้น อำนาจต่อรองของกลุ่มต่างๆ ในระบบ เศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มที่ครอบครองปัจจัย การผลิตและพลังการผลิตของสังคม กลุ่มทุน กลุ่มแรงงาน เป็นต้น เช่นถ้าเราบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารเป็นบวกมาหลายสิบปีแล้ว และส่งออกได้เท่านั้นเท่านี้ต่อปี มีอัตราการเติบโตเท่านั้นเท่านี้ และแยกออกเป็นการส่งออกอาหารชนิดใดบ้าง เป็น แต่ละรายการทำบัญชีออกมาอย่างละเอียด เหมือนที่เราคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบันนี้เราเรียกว่า “ตัวเลขทาง เศรษฐกิจ” เฉยๆ แต่ถ้าสามารถตอบได้ว่า อาหารที่เราส่งออกไปเป็นมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ต่อปีดังกล่าว มีใครได้บ้าง และได้กันคนละเท่าไหร่  ใครได้มาก ใครได้น้อย ยุติธรรมหรือเปล่า เช่น

บริษัทซีพีได้เท่าไหร่?

เบทาโกรได้เท่าไหร่?

ผู้ถือหุ้นและพนักงาน แบ่งกันยังไง?

บริษัทขนส่งได้เท่าไหร่?

เจ้าของ E-commerce Platform ได้เท่าไหร่?

ห้องเย็นได้ไปเท่าไหร่?

บริษัทน้ำมัน ปุ๋ย อาหารสัตว์ พ่อค้าคนกลาง โรงสี ได้กันคนละเท่าไหร่?

และในจำนวนนั้นเป็นต่างชาติได้ไปเท่าไหร่?

แยกย่อยไปจนถึง ผู้ผลิตอาหารหรือเกษตรกรได้เท่าไหร่ ฯลฯ แบบนี้ ถึงจะเรียกว่า “Political Economy”

ดังนั้นการวางแผนเศรษฐกิจให้ได้ผล ผู้วางแผนและผู้บริหารเศรษฐกิจต้องมีข้อมูลในเชิง Political Economy ถึงจะรู้ว่าใครได้ใครเสียยังไงในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การทำให้เศรษฐกิจเป็นการเมือง และบริหารเศรษฐกิจโดยการวางแผนจากส่วนกลางมักต้องใช้อำนาจเผด็จการดังประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายเคยปฏิบัติมาแล้ว และยังคงปฏิบัติอยู่ เช่นในเมืองจีน เป็นต้น

หรืออย่างที่พรรคนาซีเคยทำมากับประเทศเยอรมนี ระหว่างปี ค.ศ. 1934-1945 โดยก่อนหน้านั้นพรรคฟาสซิสต์ก็เคยทำมาแล้ว กับอิตาลีและกลุ่มทหารบกก็ทำมาแล้ว ในญี่ปุ่นซึ่งในภาษาของลัทธิเศรษฐกิจ เขาเรียกว่า “State Corporatism” คือรัฐควบคุม เศรษฐกิจและนักการเมือง (หรือทหารหรือข้าราชการ) ควบคุมรัฐอีกทอดหนึ่ง แม้แต่ประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยเองก็เคยใช้ระบบนี้แบบกลายๆ เหมือนกันในบางช่วง เช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา มีประเทศที่ใช้ระบบวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และเผด็จอำนาจแล้วทำสำเร็จก็มีเช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้นั้น เห็นได้ชัดว่ากว่าจะสำเร็จก็ต้องให้คนทั่วไปและกลุ่มแรงงาน เสียสละมิใช่น้อย เพราะรัฐบาลสนับสนุนบริษัทใหญ่ให้เอาเปรียบคนงานตัวเองเพื่อให้บริษัทใหญ่เหล่านั้นแข็งแรง และสามารถออกไปต่อสู้กับโลกได้หรืออย่างญี่ปุ่นนั้น แม้จะไม่ได้ใช้ระบบเผด็จการทางด้านรัฐสภา แต่ในระบบเอกชนนั้น บริษัทมีอำนาจเหนือชีวิตพนักงานในทุกด้านเพียงแต่วัฒนธรรมและจริยธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นมันทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ อีกทั้งระบบราชการและข้าราชการของญี่ปุ่นนั้นสามารถมาก ทั้งยังซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้เอกชนยอมรับและยอมตามอย่างไร้ข้อกังขา

แม้ผมจะเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “เศรษฐกิจ” ต้องเป็น “เศรษฐกิจการเมือง” แต่ผมคิดว่า วิธีบริหารเศรษฐกิจโดยการวางแผนส่วนกลาง และทำให้กลายเป็นการเมืองในรัฐธรรมนูญนั้น คงยากที่จะสำเร็จ

 


 บทความ : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

ท่านผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่า ตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา กรุงปารีสได้ลุกเป็นไฟ

นับเป็นเวลาเกือบ 4 สัปดาห์ ที่ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวเองว่า “Gilets Jaunes” หรือ "เสื้อกั๊กเหลือง" ได้ทำการเผารถรา ขว้างปาก้อนหินและเศษเหล็กใส่ตำรวจ ตลอดจนทุบทำลายกระจกและปล้นสะดมธนาคารและร้านรวง และได้ยึดถนนหนทางในหลายย่านไว้เป็นป้อมค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประตูชัย" (Arc de Triomphe) สัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ซึ่งตั้งอยู่ ณ Place Charles de Gaulle ตรงด้านปลายสุดของถนน Avenue Champs-Elysees อันมีชื่อเสียง โดยได้ทำการต่อต้านกับตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตาและรำกระบี่กระบองเข้าใส่ฝูงชน อย่างแข็งขันที่สุด และบ้างก็ขีดเขียนพ่นสีไปบนผนังของประตูชัย และทุบทำลายสิ่งของในชั้นใต้ดินจนเสียหายอีกด้วย และการประท้วงก็ได้ลุกลามไปทั่วประเทศ โดยมีคนตายไปแล้ว 4 คนและบาดเจ็บเกือบ 200

ประเมินกันว่าการประท้วงครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งในรอบ 50 ปี ดีกรีของความรุนแรง ไม่ด้อยไปกว่าเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรเมื่อคราวพฤษภาคม ปี 2511 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ "Mei 1968”

ในครั้งกระโน้น นักศึกษาและประชาชนได้เข้ายึดมหาวิทยาลัยปารีสในเขต Left Bank และกะเทาะเอาแท่งหินที่ปูบนพื้นถนนมาทำป้องค่าย ตลอดจนเผาทำลายรถราและปล้นสะดมร้านรวงอย่างกว้างขวาง ผมเคยอ่านข้อมูลที่ไหนจำไม่ได้นานมาแล้วว่า Daniel Cohn Bendit ผู้นำนักศึกษา ทำนอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้นำม็อบในครั้งนั้นเข้ายึด Arc De Triomphe เป็นที่ปราศรัยและได้ปัสสาวะลงไปในกองไฟแห่งนิรันดร์กาล (Flames of Eternity) ด้วย ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวประตูชัยก็จะต้องเห็นคบเพลิงนี้ลุกโชนอยู่ตลอดเวลา ใต้ประตูชัยแห่งนั้น ถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งทหารนิรนาม ที่เคยพลีชีพเพื่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสอีกด้วย

ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ปรากฏว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron ได้ออกมากล่าวขอโทษออกทีวีพร้อมกับมอบแพ็กเกจใหญ่ให้ประชาชนอีก คือการลดภาษีและเพิ่มสวัสดิการบางอย่าง

“Au début, c’ était de la colère contre les impôts et le Premier ministre a réagi en annulant et en supprimant toutes les augmentations prévues pour le début de la nouvelle année. Mais cette colère est plus profonde. J’ estime que cela est juste à bien des égards ... Je vous ai peut-être donné l’ impression que cela m’ était égal, que j’ avais d’ autres priorités. Je sais que j'ai peut-être fâché certains d'entre vous avec mes mots" เขากล่าวตอนหนึ่งเป็นทำนองเสียใจแกมขอโทษ

ก็ต้องรอดูต่อไปว่า ม็อบจะพอใจและหยุดประท้วงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้เลื่อนการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นแห่งการประท้วง ออกไปอีก 6 เดือน (Six-Month Moratorium) แล้ว การประท้วงก็ไม่ได้แผ่วลงแต่อย่างใด แต่กลับรุนแรงขึ้นทุกวันๆ

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพราะผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นความข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากและควรนำมาพิจารณาถกเถียงกันอย่างละเอียด แต่ได้ถูกละเลยไป เพราะผู้คนไปให้ความสนใจกับความเป็นไปของม็อบและความรุนแรงต่างๆ เสีย จนกลบความสำคัญของประเด็นนี้ไป

อันที่จริง ปฐมเหตุแห่งความไม่พอใจมันมาจากเรื่องที่รัฐบาลต้องการขึ้นภาษีน้ำมัน และจะทำให้น้ำมันแพงขึ้น แต่เหตุผลเบื้องหลังของการขึ้นในครั้งนี้ มันเป็นเหตุผลที่หวังดีต่อโลกและคนรุ่นหลัง คือขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อใช้กลไกตลาดบังคับให้คนลดการใช้น้ำมันลง แล้วหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างอื่นที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษ

เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นถือเอาปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญมาตั้งนานแล้ว และทำตัวเป็นผู้นำของโลกในเรื่องนี้อยู่ตลอดมา

เรียกว่าเป็นเหตุผล "รักษ์โลก" "เจตนาดี" และ "อยากทำความดี" ว่างั้น

แต่ราษฎรชั้นกลางของฝรั่งเศสเองกลับรับไม่ได้กับการที่ต้องใช้น้ำมันที่กำลังจะแพงขึ้น (เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2562) และเริ่มใส่เสื้อกั๊กเหลืองออกมาประท้วงกัน

ตอนแรกรัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ (อย่างที่ประธานาธิบดีออกมายอมรับตอนออกทีวีซึ่งผมนำมาแปะไว้ให้อ่านข้างต้นแล้ว) และประธานาธิบดีก็มั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้ เลยมีข่าวว่าเขากล่าวขึงขังเป็นทำนองว่าจะไม่ยอมถอยเด็ดขาด เพราะมั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้

"Nous ne changerons rien. Les taxes sur le carburant resteront en place et seront levées en 2019. Les taxes sur les véhicules polluants augmenteront également."

คือนอกจากจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว ยังย้ำว่าจะขึ้นภาษียานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลภาวะอีกด้วยในอนาคต

เห็นไหมครับ ว่ามันเป็นการท้าทายม็อบอย่างหนึ่ง

เขายังกล่าวเจตนาดีอีก (ซึ่งต่อไปผมจะแปลเป็นภาษาไทย) ว่า

"ความรับผิดชอบของผมง่ายนิดเดียว คือการันตีว่าราษฎรของเราทุกคน สามารถเข้าถึงพลังงานราคาถูกและสะอาดได้....เราต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล...ภายใน 30 ปี เราต้องเปลี่ยนจากฝรั่งเศสที่ 75% ของการใช้พลังงานมาจากฟอสซิล ไปเป็นฝรั่งเศสที่การผลิตและบริโภคพลังงานจะกลายเป็นพลังงานที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนโดยสิ้นเชิงในปี 2050...และเราต้องการที่จะสร้างการขนส่งรูปแบบใหม่...ภายในปี 2030 จำนวนกังหันลมจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า แผงพลังแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า...และเราจะนำกังหันลมไปตั้งอยู่กลางทะเลด้วย...."

ผมว่าถ้าคนชั้นกลางไทยได้ฟังนายกรัฐมนตรีของเรากล่าวทำนองนี้ ผมว่าส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยและบางส่วนอาจจะชื่นชมด้วยซ้ำว่ามีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง นอกเสียจากภาคธุรกิจเท่านั้นที่ไม่อยากต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่อันนี้

แต่นี่ราษฎรฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้า มีวัฒนธรรมสูง และชนชั้นผู้นำของพวกเขาก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้แท้ๆ กาลกลับตาลปัตรไปได้

ผมว่ามันน่าคิด เพราะราษฎรกลับไม่ไว้ใจผู้นำของเขาในประเด็นเหล่านี้ และถ้าใครติดตามเรื่องโลกร้อนมาอย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าระยะหลังมานี้ มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มจะไม่เชื่อ หรือไม่ก็มีความคิดทำนองว่า "ถึงโลกจะร้อนขึ้น แล้วไงหล่ะ?" หรือหลายคนที่เชื่อ แต่ก็ไม่เชื่อว่าการหันไปใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือนิวเคลียร์ จะถูกและดีจริงอย่างที่โฆษณากัน

ยิ่งผู้นำอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาตั้งแง่กับเรื่องโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้ประเด็นโลกร้อนถูกดิสเครดิตลงไปอีก

คนฉลาดที่คิดได้เอง สืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยเหตุด้วยผล ก็มักจะตั้งข้อสงสัยว่า คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นสาเหตุของโรคร้อนจริงหรือ หรือมันเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และเราคงตอบให้แน่ใจชัดเจนลงไปไม่ได้ทีเดียว เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ โลกไม่ใช่ห้องทดลอง ที่ควบคุมอะไรได้หมด

และถึงแม้มีคาร์บอนเพิ่มขึ้น แล้วมันไม่ดีจริงหรือ เพราะอย่าลืมว่า พืชทั้งมวลต้องการคาร์บอน ยิ่งคาร์บอนมาก พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี และพื้นที่เขียวชอุ่มย่อมเพิ่มขึ้น

พวกเขายังรู้อีกว่า ในอดีตอันไกลโพ้น โลกก็เคยเผชิญกับภาวะโลกร้อนมาแล้ว และรุนแรงกว่าปัจจุบันหลายเท่าพันทวี บรรพบุรุษของเราก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Homo Sapiens ก็เคยผ่านยุคน้ำแข็ง แล้วก็เข้ายุคโลกร้อน น้ำแข็งละลาย แล้วก็กลับเป็นยุคน้ำแข็ง แล้วก็กลับเป็นโลกร้อน กลับไปกลับมาแบบนี้หลายเที่ยว ในทุกๆ 100,000 ปี

พวกเขาจึงคิดว่าโลกร้อนรอบนี้ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง สุดที่มนุษย์จะไปก้าวล่วงและมีอิทธิพลต่อ แต่สุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องปรับตัวได้อยู่ดี

เพียงแต่มันจะมีคนได้และคนเสีย

เช่นผู้คนในกรุงเทพฯ อาจต้องไร้ที่อยู่อาศัย เพราะถูกน้ำทะเลไหลบ่าขึ้นมาท่วมบ้านเรือนหมด แต่ก็อาจทำให้พวกที่มีบ้านแถวเขาใหญ่ กลายเป็นบ้านชายทะเลไป และทะเลทรายในเมืองจีน ในเอเชียกลาง ในแอฟริกา และในอเมริกาเหนือ ที่เคยแห้งผาก ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ก็อาจจะกลับกลายเป็นพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารให้โลก เป็นการแก้ปัญหาความอดอยากไปโดยปริยาย เป็นต้น

ไหนจะไซบีเรีย แคนนาดาเหนือ กรีนแลนด์ อลาสก้า ตลอดจนขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ อาจจะกลายมาเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติมเลี้ยงโลกได้ไหม ถ้าน้ำแข็งละลายเพราะอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น... ฯลฯ แล้วราคาอาหารจะลดลงหรือไม่?

เหล่านี้ ล้วนยังไม่มีคำตอบซึ่งเป็นที่พอใจหรือเป็นข้อยุติ

เพียงแต่เป็นสมมติฐานแทบทั้งสิ้น

และตราบใดที่มันยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจสำหรับราษฎรหมู่มาก ย่อมหวังยากว่าพวกเขาจะต้องมาทนแบบรับภาระต่างๆ เพื่อการนี้

เหมือนกับที่ราษฎรฝรั่งเศสกำลังปฏิเสธภาระที่พวกเขาคิดว่าชนชั้นนำของพวกเขายัดเยียดให้


บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click