ท่านผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่า ตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา กรุงปารีสได้ลุกเป็นไฟ
นับเป็นเวลาเกือบ 4 สัปดาห์ ที่ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวเองว่า “Gilets Jaunes” หรือ "เสื้อกั๊กเหลือง" ได้ทำการเผารถรา ขว้างปาก้อนหินและเศษเหล็กใส่ตำรวจ ตลอดจนทุบทำลายกระจกและปล้นสะดมธนาคารและร้านรวง และได้ยึดถนนหนทางในหลายย่านไว้เป็นป้อมค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประตูชัย" (Arc de Triomphe) สัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ซึ่งตั้งอยู่ ณ Place Charles de Gaulle ตรงด้านปลายสุดของถนน Avenue Champs-Elysees อันมีชื่อเสียง โดยได้ทำการต่อต้านกับตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตาและรำกระบี่กระบองเข้าใส่ฝูงชน อย่างแข็งขันที่สุด และบ้างก็ขีดเขียนพ่นสีไปบนผนังของประตูชัย และทุบทำลายสิ่งของในชั้นใต้ดินจนเสียหายอีกด้วย และการประท้วงก็ได้ลุกลามไปทั่วประเทศ โดยมีคนตายไปแล้ว 4 คนและบาดเจ็บเกือบ 200
ประเมินกันว่าการประท้วงครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งในรอบ 50 ปี ดีกรีของความรุนแรง ไม่ด้อยไปกว่าเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรเมื่อคราวพฤษภาคม ปี 2511 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ "Mei 1968”
ในครั้งกระโน้น นักศึกษาและประชาชนได้เข้ายึดมหาวิทยาลัยปารีสในเขต Left Bank และกะเทาะเอาแท่งหินที่ปูบนพื้นถนนมาทำป้องค่าย ตลอดจนเผาทำลายรถราและปล้นสะดมร้านรวงอย่างกว้างขวาง ผมเคยอ่านข้อมูลที่ไหนจำไม่ได้นานมาแล้วว่า Daniel Cohn Bendit ผู้นำนักศึกษา ทำนอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้นำม็อบในครั้งนั้นเข้ายึด Arc De Triomphe เป็นที่ปราศรัยและได้ปัสสาวะลงไปในกองไฟแห่งนิรันดร์กาล (Flames of Eternity) ด้วย ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวประตูชัยก็จะต้องเห็นคบเพลิงนี้ลุกโชนอยู่ตลอดเวลา ใต้ประตูชัยแห่งนั้น ถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งทหารนิรนาม ที่เคยพลีชีพเพื่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสอีกด้วย
ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ปรากฏว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron ได้ออกมากล่าวขอโทษออกทีวีพร้อมกับมอบแพ็กเกจใหญ่ให้ประชาชนอีก คือการลดภาษีและเพิ่มสวัสดิการบางอย่าง
“Au début, c’ était de la colère contre les impôts et le Premier ministre a réagi en annulant et en supprimant toutes les augmentations prévues pour le début de la nouvelle année. Mais cette colère est plus profonde. J’ estime que cela est juste à bien des égards ... Je vous ai peut-être donné l’ impression que cela m’ était égal, que j’ avais d’ autres priorités. Je sais que j'ai peut-être fâché certains d'entre vous avec mes mots" เขากล่าวตอนหนึ่งเป็นทำนองเสียใจแกมขอโทษ
ก็ต้องรอดูต่อไปว่า ม็อบจะพอใจและหยุดประท้วงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้เลื่อนการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นแห่งการประท้วง ออกไปอีก 6 เดือน (Six-Month Moratorium) แล้ว การประท้วงก็ไม่ได้แผ่วลงแต่อย่างใด แต่กลับรุนแรงขึ้นทุกวันๆ
ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพราะผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นความข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากและควรนำมาพิจารณาถกเถียงกันอย่างละเอียด แต่ได้ถูกละเลยไป เพราะผู้คนไปให้ความสนใจกับความเป็นไปของม็อบและความรุนแรงต่างๆ เสีย จนกลบความสำคัญของประเด็นนี้ไป
อันที่จริง ปฐมเหตุแห่งความไม่พอใจมันมาจากเรื่องที่รัฐบาลต้องการขึ้นภาษีน้ำมัน และจะทำให้น้ำมันแพงขึ้น แต่เหตุผลเบื้องหลังของการขึ้นในครั้งนี้ มันเป็นเหตุผลที่หวังดีต่อโลกและคนรุ่นหลัง คือขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อใช้กลไกตลาดบังคับให้คนลดการใช้น้ำมันลง แล้วหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างอื่นที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษ
เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นถือเอาปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญมาตั้งนานแล้ว และทำตัวเป็นผู้นำของโลกในเรื่องนี้อยู่ตลอดมา
เรียกว่าเป็นเหตุผล "รักษ์โลก" "เจตนาดี" และ "อยากทำความดี" ว่างั้น
แต่ราษฎรชั้นกลางของฝรั่งเศสเองกลับรับไม่ได้กับการที่ต้องใช้น้ำมันที่กำลังจะแพงขึ้น (เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2562) และเริ่มใส่เสื้อกั๊กเหลืองออกมาประท้วงกัน
ตอนแรกรัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ (อย่างที่ประธานาธิบดีออกมายอมรับตอนออกทีวีซึ่งผมนำมาแปะไว้ให้อ่านข้างต้นแล้ว) และประธานาธิบดีก็มั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้ เลยมีข่าวว่าเขากล่าวขึงขังเป็นทำนองว่าจะไม่ยอมถอยเด็ดขาด เพราะมั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้
"Nous ne changerons rien. Les taxes sur le carburant resteront en place et seront levées en 2019. Les taxes sur les véhicules polluants augmenteront également."
คือนอกจากจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว ยังย้ำว่าจะขึ้นภาษียานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลภาวะอีกด้วยในอนาคต
เห็นไหมครับ ว่ามันเป็นการท้าทายม็อบอย่างหนึ่ง
เขายังกล่าวเจตนาดีอีก (ซึ่งต่อไปผมจะแปลเป็นภาษาไทย) ว่า
"ความรับผิดชอบของผมง่ายนิดเดียว คือการันตีว่าราษฎรของเราทุกคน สามารถเข้าถึงพลังงานราคาถูกและสะอาดได้....เราต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล...ภายใน 30 ปี เราต้องเปลี่ยนจากฝรั่งเศสที่ 75% ของการใช้พลังงานมาจากฟอสซิล ไปเป็นฝรั่งเศสที่การผลิตและบริโภคพลังงานจะกลายเป็นพลังงานที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนโดยสิ้นเชิงในปี 2050...และเราต้องการที่จะสร้างการขนส่งรูปแบบใหม่...ภายในปี 2030 จำนวนกังหันลมจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า แผงพลังแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า...และเราจะนำกังหันลมไปตั้งอยู่กลางทะเลด้วย...."
ผมว่าถ้าคนชั้นกลางไทยได้ฟังนายกรัฐมนตรีของเรากล่าวทำนองนี้ ผมว่าส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยและบางส่วนอาจจะชื่นชมด้วยซ้ำว่ามีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง นอกเสียจากภาคธุรกิจเท่านั้นที่ไม่อยากต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่อันนี้
แต่นี่ราษฎรฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้า มีวัฒนธรรมสูง และชนชั้นผู้นำของพวกเขาก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้แท้ๆ กาลกลับตาลปัตรไปได้
ผมว่ามันน่าคิด เพราะราษฎรกลับไม่ไว้ใจผู้นำของเขาในประเด็นเหล่านี้ และถ้าใครติดตามเรื่องโลกร้อนมาอย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าระยะหลังมานี้ มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มจะไม่เชื่อ หรือไม่ก็มีความคิดทำนองว่า "ถึงโลกจะร้อนขึ้น แล้วไงหล่ะ?" หรือหลายคนที่เชื่อ แต่ก็ไม่เชื่อว่าการหันไปใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือนิวเคลียร์ จะถูกและดีจริงอย่างที่โฆษณากัน
ยิ่งผู้นำอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาตั้งแง่กับเรื่องโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้ประเด็นโลกร้อนถูกดิสเครดิตลงไปอีก
คนฉลาดที่คิดได้เอง สืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยเหตุด้วยผล ก็มักจะตั้งข้อสงสัยว่า คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นสาเหตุของโรคร้อนจริงหรือ หรือมันเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และเราคงตอบให้แน่ใจชัดเจนลงไปไม่ได้ทีเดียว เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ โลกไม่ใช่ห้องทดลอง ที่ควบคุมอะไรได้หมด
และถึงแม้มีคาร์บอนเพิ่มขึ้น แล้วมันไม่ดีจริงหรือ เพราะอย่าลืมว่า พืชทั้งมวลต้องการคาร์บอน ยิ่งคาร์บอนมาก พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี และพื้นที่เขียวชอุ่มย่อมเพิ่มขึ้น
พวกเขายังรู้อีกว่า ในอดีตอันไกลโพ้น โลกก็เคยเผชิญกับภาวะโลกร้อนมาแล้ว และรุนแรงกว่าปัจจุบันหลายเท่าพันทวี บรรพบุรุษของเราก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Homo Sapiens ก็เคยผ่านยุคน้ำแข็ง แล้วก็เข้ายุคโลกร้อน น้ำแข็งละลาย แล้วก็กลับเป็นยุคน้ำแข็ง แล้วก็กลับเป็นโลกร้อน กลับไปกลับมาแบบนี้หลายเที่ยว ในทุกๆ 100,000 ปี
พวกเขาจึงคิดว่าโลกร้อนรอบนี้ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง สุดที่มนุษย์จะไปก้าวล่วงและมีอิทธิพลต่อ แต่สุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องปรับตัวได้อยู่ดี
เพียงแต่มันจะมีคนได้และคนเสีย
เช่นผู้คนในกรุงเทพฯ อาจต้องไร้ที่อยู่อาศัย เพราะถูกน้ำทะเลไหลบ่าขึ้นมาท่วมบ้านเรือนหมด แต่ก็อาจทำให้พวกที่มีบ้านแถวเขาใหญ่ กลายเป็นบ้านชายทะเลไป และทะเลทรายในเมืองจีน ในเอเชียกลาง ในแอฟริกา และในอเมริกาเหนือ ที่เคยแห้งผาก ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ก็อาจจะกลับกลายเป็นพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารให้โลก เป็นการแก้ปัญหาความอดอยากไปโดยปริยาย เป็นต้น
ไหนจะไซบีเรีย แคนนาดาเหนือ กรีนแลนด์ อลาสก้า ตลอดจนขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ อาจจะกลายมาเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติมเลี้ยงโลกได้ไหม ถ้าน้ำแข็งละลายเพราะอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น... ฯลฯ แล้วราคาอาหารจะลดลงหรือไม่?
เหล่านี้ ล้วนยังไม่มีคำตอบซึ่งเป็นที่พอใจหรือเป็นข้อยุติ
เพียงแต่เป็นสมมติฐานแทบทั้งสิ้น
และตราบใดที่มันยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจสำหรับราษฎรหมู่มาก ย่อมหวังยากว่าพวกเขาจะต้องมาทนแบบรับภาระต่างๆ เพื่อการนี้
เหมือนกับที่ราษฎรฝรั่งเศสกำลังปฏิเสธภาระที่พวกเขาคิดว่าชนชั้นนำของพวกเขายัดเยียดให้
บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว