January 02, 2025

เศรษฐกิจต้องมี...การเมือง

March 28, 2019 3086

คสช. เป็นคณะปกครองที่ทำให้ “เศรษฐกิจ” กลายเป็น “การเมือง” หลังจากที่เศรษฐกิจแยกออกจากการเมืองมาได้หลายสิบปี

การให้ตรา “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการทำให้เศรษฐกิจ กลับสู่รากเหง้าเดิม คือกลับมาเป็นการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่เศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องทางเทคนิค เป็นเรื่องบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน บัญชีผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพี บัญชีดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ย อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระดับปีระดับไตรมาสและ ระดับรายเดือน หรือแม้กระทั่งการขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ที่บอกว่า “กลับสู่รากเหง้าเดิม” เพราะสมัยแรกเริ่ม เศรษฐกิจกับการเมืองนั้น แยกกันไม่ออก ต้องมาคู่กันเสมอ

ดังมีคำในภาษาอังกฤษที่เรียกวิทยาการทางด้านนี้ว่า “Political Economy” ซึ่งมี คนแปลเป็นภาษาไทยว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” นั่นเอง เพราะความอลังการของการวิเคราะห์ และปัญหาที่ Political Economy สนใจ นั้นมันไม่ใช่เรื่องทางบัญชี แต่เป็นเรื่องของ “ความมั่งคั่งของประเทศและสังคม” ความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ ความอุดมของ ชีวิตคน ตลอดจนความขัดแย้งทางชนชั้น อำนาจต่อรองของกลุ่มต่างๆ ในระบบ เศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มที่ครอบครองปัจจัย การผลิตและพลังการผลิตของสังคม กลุ่มทุน กลุ่มแรงงาน เป็นต้น เช่นถ้าเราบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารเป็นบวกมาหลายสิบปีแล้ว และส่งออกได้เท่านั้นเท่านี้ต่อปี มีอัตราการเติบโตเท่านั้นเท่านี้ และแยกออกเป็นการส่งออกอาหารชนิดใดบ้าง เป็น แต่ละรายการทำบัญชีออกมาอย่างละเอียด เหมือนที่เราคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบันนี้เราเรียกว่า “ตัวเลขทาง เศรษฐกิจ” เฉยๆ แต่ถ้าสามารถตอบได้ว่า อาหารที่เราส่งออกไปเป็นมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ต่อปีดังกล่าว มีใครได้บ้าง และได้กันคนละเท่าไหร่  ใครได้มาก ใครได้น้อย ยุติธรรมหรือเปล่า เช่น

บริษัทซีพีได้เท่าไหร่?

เบทาโกรได้เท่าไหร่?

ผู้ถือหุ้นและพนักงาน แบ่งกันยังไง?

บริษัทขนส่งได้เท่าไหร่?

เจ้าของ E-commerce Platform ได้เท่าไหร่?

ห้องเย็นได้ไปเท่าไหร่?

บริษัทน้ำมัน ปุ๋ย อาหารสัตว์ พ่อค้าคนกลาง โรงสี ได้กันคนละเท่าไหร่?

และในจำนวนนั้นเป็นต่างชาติได้ไปเท่าไหร่?

แยกย่อยไปจนถึง ผู้ผลิตอาหารหรือเกษตรกรได้เท่าไหร่ ฯลฯ แบบนี้ ถึงจะเรียกว่า “Political Economy”

ดังนั้นการวางแผนเศรษฐกิจให้ได้ผล ผู้วางแผนและผู้บริหารเศรษฐกิจต้องมีข้อมูลในเชิง Political Economy ถึงจะรู้ว่าใครได้ใครเสียยังไงในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การทำให้เศรษฐกิจเป็นการเมือง และบริหารเศรษฐกิจโดยการวางแผนจากส่วนกลางมักต้องใช้อำนาจเผด็จการดังประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายเคยปฏิบัติมาแล้ว และยังคงปฏิบัติอยู่ เช่นในเมืองจีน เป็นต้น

หรืออย่างที่พรรคนาซีเคยทำมากับประเทศเยอรมนี ระหว่างปี ค.ศ. 1934-1945 โดยก่อนหน้านั้นพรรคฟาสซิสต์ก็เคยทำมาแล้ว กับอิตาลีและกลุ่มทหารบกก็ทำมาแล้ว ในญี่ปุ่นซึ่งในภาษาของลัทธิเศรษฐกิจ เขาเรียกว่า “State Corporatism” คือรัฐควบคุม เศรษฐกิจและนักการเมือง (หรือทหารหรือข้าราชการ) ควบคุมรัฐอีกทอดหนึ่ง แม้แต่ประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยเองก็เคยใช้ระบบนี้แบบกลายๆ เหมือนกันในบางช่วง เช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา มีประเทศที่ใช้ระบบวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และเผด็จอำนาจแล้วทำสำเร็จก็มีเช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้นั้น เห็นได้ชัดว่ากว่าจะสำเร็จก็ต้องให้คนทั่วไปและกลุ่มแรงงาน เสียสละมิใช่น้อย เพราะรัฐบาลสนับสนุนบริษัทใหญ่ให้เอาเปรียบคนงานตัวเองเพื่อให้บริษัทใหญ่เหล่านั้นแข็งแรง และสามารถออกไปต่อสู้กับโลกได้หรืออย่างญี่ปุ่นนั้น แม้จะไม่ได้ใช้ระบบเผด็จการทางด้านรัฐสภา แต่ในระบบเอกชนนั้น บริษัทมีอำนาจเหนือชีวิตพนักงานในทุกด้านเพียงแต่วัฒนธรรมและจริยธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นมันทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ อีกทั้งระบบราชการและข้าราชการของญี่ปุ่นนั้นสามารถมาก ทั้งยังซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้เอกชนยอมรับและยอมตามอย่างไร้ข้อกังขา

แม้ผมจะเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “เศรษฐกิจ” ต้องเป็น “เศรษฐกิจการเมือง” แต่ผมคิดว่า วิธีบริหารเศรษฐกิจโดยการวางแผนส่วนกลาง และทำให้กลายเป็นการเมืองในรัฐธรรมนูญนั้น คงยากที่จะสำเร็จ

 


 บทความ : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 28 March 2019 09:07
X

Right Click

No right click