การรวมตัวเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการของเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ทำให้การเดินทางในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นไปอย่างสะดวกสบาย รือเกิน (Rügen) เกาะใหญ่สุดของประเทศทางเหนือด้านทะเลบอลติกจึงไม่มีอุปสรรคในการเยี่ยมชมอีกต่อไป แม้ชื่อเกาะอาจไม่คุ้นหู แต่รับรองว่าสถานที่แห่งนี้จะดึงดูดความสนใจให้ท่านโหยหาที่จะกลับไปเยือนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
เกาะรือเกินมีพื้นที่ 926 ตร.กม. ส่วนที่ยาวที่สุด 51.4 กม. และกว้างที่สุด 42.8 กม. มีประชากรประมาณ 70,000 คน อยู่ในเขตการปกครองของรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอร์มเมิร์น ความแตกต่างกันอย่างชัดเจนของภูมิประเทศทำให้เกาะรูปทรงประหลาดแห่งนี้สามารถดึงดูดการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่งเหนือกว่าบรรดาเกาะทั่วๆ ไปที่มีแค่สายลมและแสงแดด
การพัฒนาทางภูมิศาสตร์ของเกาะรือเกินก่อให้เกิดสภาพภูมิประเทศที่มีรูปทรงและความแตกต่างที่น่าสนใจยิ่ง หลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งบอกว่าหินและฟอสซิลที่กำเนิดจากสแกนดิเนเวียได้ทับถมสะสมกันในบริเวณนี้ตั้งแต่ช่วงปลายยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 80 ล้านปีก่อน หน้าผาหินปูนสูงชันและชายหาดที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยก้อนกรวดและทรายเคลื่อนตัวและถูกทิ้งไว้ที่นี่หลังจากที่น้ำแข็งละลาย กระแสคลื่นและลมก่อให้เกิดผางามประหลาดตาตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ตั้งแต่ยุคหินและยุคสัมฤทธิ์ และยุคเหล็กเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชกรุยทางช้า ๆ ให้เผ่าสลาฟมาตั้งถิ่นฐานในสมัยศตวรรษที่ 6 จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองในปี ค.ศ.1168 กษัตริย์ Waldemar I แห่งเดนมาร์กได้ทำลายวิหาร Arkonaที่บูชาเทพเจ้าของคนพื้นเมืองและนำคริสต์ศาสนามาสู่ชาวสลาฟที่นี่ เกษตรกรและช่างฝีมือชาวเยอรมันได้ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในศตวรรษที่ 13 และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองชตาราลซุนด์ (Stralsund) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบนแผ่นดินใหญ่
ในปี ค.ศ.1325 ราชวงศ์รือเกินจบสิ้นลงเมื่อกษัตริย์ Wizlav III สิ้นพระชนม์โดยรัชทายาทพระองค์เดียวยังไม่ทรงมีอำนาจเพียงพอในการครองราชย์ ขุนนางและบรรดาข้าแผ่นดินเกษตรกรที่เป็นไทมีอำนาจมากขึ้น แต่ภายหลังสามสิบปี ระหว่างศาสนานิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ (ค.ศ.1618 – 1648) รือเกินตกอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดน จนกระทั่งปีค.ศ. 1815 จึงเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซีย
ปัจจุบันมีสะพานยาว 2,830 เมตร ที่เชื่อมชตราลซุนด์กับเกาะรือเกิน เป็นสะพานยาวที่สุดในเยอรมนี สร้างขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.2007 แทนสะพานแรกของปี ค.ศ.1936 เป็นเส้นทางเดียวที่เข้าถึงเกาะนี้ได้นอกเหนือจากทางรถไฟและทางน้ำ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 สนามบินขนาดเล็กของเกาะนี้ที่เมืองเบอร์เกินได้เปิดขึ้นรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากเมืองใหญ่ต่างๆ ในเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีกด้วย
นักท่องเที่ยวได้ค้นพบความงามพิสดารและเริ่มสนใจมาตากอากาศที่รือเกินช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 รีสอร์ตริมทะเลบอลติกปรากฏขึ้นที่เมืองบินซ์ บาเบอร์ เกอเรน เซลีน และทีโซ ซึ่งมีหาดทรายขาวที่หายากในแถบยุโรป ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์รีสอร์ทเหล่านี้ทั้งหมดถูกยึดเป็นของรัฐบาลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1953 และถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจนถึงปีค.ศ.1963 ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักใหม่ได้รับการฟื้นฟูในทศวรรษ 70–80 นี้เอง บินซ์
(Binz) เป็นสถานที่ตากอากาศริมทะเลใหญ่สุดของเกาะ มีทางเดินเล่นปูด้วยไม้เลียบชายหาดยาว 3 ก.ม. ในขณะที่เซลลิน(Sellin) เจ้าของฉายา “ไข่มุกแห่งเกาะรือเกิน” มีท่าเรืองดงามทอดยาวลงไปในทะเลถึง 400 เมตร
นอกจากสถานที่พักตากอากาศยอดนิยมชายฝั่งทะเล รือเกินยังมีหน้าผาหินปูนหรือหินชอล์กขาวงามแปลกตา จัดเป็น “สัญลักษณ์” ที่รู้จักกันดีและมีชื่อของเกาะ ภายใน อุทยานแห่งชาติยัสมุนด์์
(Nationalparken Jasmund) อุทยานเล็กที่สุดของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 30 ตร.กม. (18,750 ไร่) โดยเฉพาะ “เก้าอี้พระราชา” (Königsstuhl) ผาสูงจากระดับทะเล 118 เมตร บริเวณผิวด้านบนปกคลุมด้วยป่าบีชที่อุดมสมบูรณ์จนทั้งเกาะนี้ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.2011 ในประเภทป่าบีชดึกดำบรรพ์แห่งเทือกเขาคาร์เพเทียนและป่าบีชโบราณแห่งคาบสมุทรยัสมุนด์
ตำนานหนึ่งกล่าวว่า “เก้าอี้พระราชา” เกิดจากเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1715 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 12 แห่งสวีเดนทรงบัญชาการรบทางทะเลกับพวกเดนมาร์ก ณ จุดนี้ การรบขับเคี่ยวพัวพันกันยาวนานจนพระวรกายอ่อนล้าและจำเป็นต้องประทับ (นั่ง) แต่อีกตำนานหนึ่งบอกว่า ชื่อนี้น่าจะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1586 ตามที่ปรากฏในบันทึกการเดินทางของเรนัน ตัวแทนขุนนางผู้ใหญ่แห่งแคว้นพอเมอราเนียที่ได้รับมอบหมายให้ออกสำรวจบ่อน้ำแร่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องในตำนานที่อ้างว่า ชื่อนี้มาจากประเพณีนิยมในสมัยโบราณที่ระบุว่า
ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์จะต้องปีนหน้าผาจากชายฝั่งทะเลขึ้นไปประทับเก้าอี้บนยอดผาก่อนการขึ้นครองราชย์
ไม่ว่าตำนานใดจะมีมูลมากกว่า ที่สำคัญ คือ จุดชมทิวทัศน์ที่ดีที่สุดของผาเก้าอี้พระราชา เป็นหน้าผาที่อยู่เยื้องทางด้านขวาของเก้าอี้ ชื่อว่า จุดชมทิวทัศน์ของเจ้าหญิงวิกทอเรีย (Victoriasicht) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระราชินีวิกทอเรียแห่งอังกฤษ พระนามเดียวกับพระชนนี และทรงอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิฟรีดริช ที่ 3 พระนางเสด็จฯ เยือนเกาะรือเกินและหน้าผานี้ในปี ค.ศ.1865 กับพระสสุระ (พ่อสามี) วิลเฮล์ม ที่ 1 ผู้ทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์แห่งปรัสเซียในขณะนั้น หน้าผาแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระสุณิสา
(ลูกสะใภ้)
แต่สถานที่ท่องเที่ยวอัศจรรย์ที่สุดของเกาะคงต้องยกให้ การเดินชมยอดไม้ (Baumwipfelpfade) บนทางยาว 1,250 เมตร กลางป่าบีชและพรรณไม้ท้องถิ่นหลายชนิดแสนร่มรื่นท่ามกลางเสียงนกร้องขับกล่อมให้เคลิบเคลิ้มปานอยู่ในสวนสวรรค์ - อีเดน ณ Naturerbe Zentrum Rügen (ศูนย์กลางที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของรือเกิน) เปิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เปิดให้ชมทุกวันตลอดปีตั้งแต่เวลา 09:30 น. ปิดเวลา 16:30 น. ในช่วงฤดูหนาว (พ.ย. – มี.ค.) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เม.ย.) และปลายฤดูใบไม้ร่วง (ต.ค.) ปิดเวลา 17:30 น. ส่วนช่วงฤดูร้อนจนถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง (พ.ค. – ก.ย.) เปิดบริการจนถึงเวลา 19:30 น. ปิดแค่วันที่ 24 ธันวาคมก่อนวันคริสต์มาสเพียงวันเดียวเท่านั้น ในราคาเข้าชมคนละ 10.00 ยูโร
พื้นที่ป่าตั้งอยู่บนผาสูง 82 เมตรเหนือระดับทะเล หอไม้ทำเลียนแบบรูปรังนกอินทรีหัวขาว (eyrie) ที่พบในพื้นที่ที่อยู่พ้นครึ่งทางเดินไปเล็กน้อย ยอดหอสูง 40 เมตรจากพื้นและสูงเหนือยอดต้นบีชที่มีอายุกว่า 70 ปี ทางลาดไม่เกิน 6% ง่ายต่อการเดินขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก นอกจากจะเห็นยอดป่าบีชอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ท่านจะได้เห็นทัศนียภาพอันงดงามของเกาะรือเกินโดยรอบ ระหว่างทางก็จะมีกิจกรรมเสริมความรู้น่าชมเกี่ยวกับระบบนิเวศของป่า พร้อมทั้งการเดินผาดโผนให้เกิดความตื่นเต้นเล็กน้อยบนทางเดินที่แยกออกด้านข้างเป็นช่วงๆ สำหรับผู้ที่ชอบเผชิญภัยหรือผู้ที่เดินทางมาเที่ยวชมเป็นครอบครัวกับเด็กๆ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ซึมซับเข้าไปอย่างมีความสุขโดยไม่รู้ตัวทีเดียว
ส่วนต้นบีชของยุโรป (Fagus sylvatica) เป็นไม้ผลัดใบ มีอาย 150 – 200 ปีบางต้นอาจมีอายุยืนยาวถึง 300 ปี ชอบพื้นที่ที่มความชุ่มชื้น และดินระบายน้ำได้ดี เป็นพืชที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยยุคหิน เมล็ดใช้เป็นอาหารได้ แม้จะมีแทนนินและแอลคาลอยด์
สารพิษต่อร่างกายอยู่ในปริมาณสูง แต่นำมาบดเป็นแป้งแล้วแช่น้ำให้สารพิษเจือจางลงก่อนนำมาปรุงอาหารหรือนำเมล็ดมาคั่ว ทั้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงของตะเกียงในสมัยโบราณ เนื้อเยื่อไม้ยังสามารถนำมาใช้ในการทำกระดาษหรือปั่นเป็นเส้นด้ายคล้ายฝ้ายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื้อไม้ยังใช้ในการทำสิ่งก่อสร้างที่ไม่ต้องอาศัยการรองรับน้ำหนักมากเกินไป อาทิ เก้าอี้ บันได และใช้เป็นฟืนที่ดีเยี่ยม ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในป่าหรือสวนขนาดใหญ่
ความอัศจรรย์เหล่านี้ทำให้อุทยานแห่งชาติยัสมุนด์ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2011 และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาที่พลาดในการไปเที่ยวชมไม่ได้ หากท่านรักการชมธรรมชาติหรือเพียงแค่แสวงหาสถานที่ตากอากาศที่ไม่ธรรมดา “เกาะรือเกิน” ควรจะอยู่ในบัญชีสถานที่ที่ท่านจะต้องไปชม
เรื่อง : กองบรรณาธิการ