December 22, 2024

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.คนที่ 15 เรื่องการบริหาร – เข้าใจการทำงานเชิงลึก

November 02, 2020 14036

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร

รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แทนนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

การก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ของบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ไม่ใช่เพียงเส้นทางการเติบโตตามสายวิชาชีพตาม Step ของสายงานทั่วไป แต่ด้วยวิสัยทัศน์และความกล้าในการก้าวออกจากสายงานวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา และมารับความท้าทายในการทำงานที่แตกต่างทั้งสายงานและโครงการ เปิดประสบการณ์เรียนรู้ในงานที่หลากหลาย และที่จุดประกายสำคัญคือการตัดสินใจลงเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนเลนส์การมองเห็นภาพของสิ่งต่างๆ ในโลกการบริหารของวิศวกรหนุ่มเมื่อเกือบ 20 ปีผ่านมาออกไปจากสิ่งเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง

“ช่วยให้เข้าใจการบริหารงานในทุกๆ ด้าน MBA ยังช่วยเปลี่ยนหัวเหลี่ยมๆ แบบวิศวกรให้กลายเป็นหัวกลมๆ ที่มีความรู้หลากหลาย และคิดว่าส่วนหนึ่งของการเรียน MBA ในวันนั้น มีส่วนในการทำให้ได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ในวันนี้” คือคำบอกเล่าของผู้ว่าการ ป้ายแดง ของ กฟผ. ต่อมุมมองเรื่องการบริหารและการจัดการ และยังมีที่อีกหลายประเด็นที่เป็น Management tips จากการเป็นนักเรียนบริหารธุรกิจ

บริหารเป็นทีม-ไม่เก่งคนเดียว-พร้อมรับฟัง

แม้จะเป็นผู้ว่าการ กฟผ. มือใหม่ แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานกับ กฟผ. ทำให้บุญญนิตย์ มองเห็น จุดล็อกหลายๆ จุดในข้อต่อของสายงานใน กฟผ. เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร แนวทางการบริหารงานของเขาจึงเน้นไปที่การคลายล็อก3 เรื่องสำคัญ คือ ทำงานเป็นทีม ไม่เก่งคนเดียว และรับฟังมากๆ เพราะเขาเชื่อว่าคนเราไม่สามารถเก่งทุกเรื่องได้

“หน่วยงานใหญ่ อย่าง กฟผ. เรามีสายงาน 8 สายงานซึ่งแต่ละสายงานจะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ บริหารงาน ผู้อำนวยการฝ่ายบางท่านเติบโตมาจากการเป็นหัวหน้าแผนกก่อนแล้วจึงเป็นหัวหน้ากอง ซึ่งแต่ละกองจะมี 5 แผนก เมื่อเขามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกลับรู้ทุกเรื่องของทั้ง 5 แผนกทันที ทั้งที่ตอนเป็นหัวหน้ากองและหัวหน้าแผนกเขาอาจจะบริหารแค่ 2 กองหรือ 2 แผนก พอเขามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเขาก็ไม่ฟังหัวหน้ากองหรือหัวหน้าแผนกคนอื่นๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะรู้ทุกเรื่อง”

หลักในการทำงานของบุญญนิตย์จึงเน้นที่การซักถาม รับฟัง อ่าน และตรวจสอบ (Crosscheck) แล้วจึงตัดสินใจ การทำงานแบบนี้เขาเชื่อว่าจะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม (Teamwork) เพื่อนร่วมงานอยากที่จะแชร์ไอเดียร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับคนเจเนเรชั่นใหม่ๆ ยิ่งต้องรับฟังให้มากขึ้น

“ตอนนี้ กฟผ.ก็เหมือนกับองค์กรอื่นๆ คือ องค์กรเริ่มแก่ เพราะก่อตั้งมายาวนาน องค์กรเราก็มีปัญหาเรื่องเจเนอเรชั่นเก่ากับใหม่ ระหว่างผู้บริหารและน้องๆ รุ่นใหม่ เด็กบางคนอายุเท่ากับลูกที่บ้านเลย เวลาเราคุยกับลูกที่บ้านก็ยากอยู่แล้ว แต่มาคุยกับเด็กๆ ที่ทำงานยากกว่าเพราะเขาไม่ใช่ลูกเรา ผมจะใช้แนวทางการรับฟัง ผมจะไม่มองว่าผมเป็นเจ้านาย เขาเป็นลูกน้อง แต่จะใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง สิ่งที่เขาพูดเราต้องฟังอย่างจริงจัง ไม่ใช่น้องพูดไปไม่ฟัง แล้วต้องตอบเขาได้ว่าสิ่งที่เขาพูดถูกหรือว่าผิด หรือว่าควรจะปรับปรุงยังไง พี่ไม่เห็นด้วยกับน้องด้วยเหตุผลหนึ่งสองสาม สิ่งที่น้องพูดดีเราก็เอามาทำ สิ่งที่พี่พูดผิดไปพี่ขอโทษ ผมคิดว่าถ้าทุกระดับทุกคนในองค์กรทำแบบนี้องค์กรจะเกิดนวัตกรรม เพราะทุกคนในองค์กรได้มีส่วนร่วม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่างจากสมัยก่อนท็อปดาวน์จะสั่งการให้ลูกน้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ สมัยนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว สมัยนี้ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ผมเชื่อว่าการทำงานเป็นทีม การรับฟังผู้อื่นมากๆ อันนี้คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ”

Teamwork แบบไทย ไม่เคย Work

อย่างไรก็ดี การทำงานเป็นทีมในสังคมไทยนั้นหาได้ยากที่จะประสบความสำเร็จ บุญญนิตย์ในฐานะ Head ใหญ่ของ กฟผ. เชื่อมั่นว่าการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่ดี เขาจึงเลือกใช้หลักการการบริหารที่ว่า “ผู้บริหารต้องทำตัวเป็นต้นแบบก่อน” เพราะการทำงานเป็นทีมในองค์กรจะเกิดขึ้นได้ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศในองค์กรให้เป็นไปตามนั้น ในการประชุมทุกครั้งบุญญนิตย์จะพูดให้น้อย และใช้การซักถามให้มาก นอกจากนี้ เขายังได้นำหลักการของคุณกานต์ ตระกูลฮุน เบอร์หนึ่ง SCG มาปรับใช้ นั่นคือ การไม่เรียกคนด้วยตำแหน่ง

“ผมจะเรียกตัวเองว่าพี่ และเรียกคนอื่นๆ ด้วยชื่อ การเรียกคนด้วยตำแหน่งจะทำให้คนเกิดระยะห่างเกิดความเกรงใจ อย่างผมจะไม่เรียกตัวเองว่า ผู้ว่าการ คิดว่า... ผมได้ไอเดียนี้จากคุณกานต์ ท่านจะเรียกตัวเองว่าพี่กานต์ ทุกคนก็เรียกท่านว่าพี่กานต์ คนกฟผ. เรียกผมว่าพี่สิงห์ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นไทยของเรา มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน”

แต่ความที่ กฟผ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ และอยู่มา 50 ปี ทำให้การทำงานเกิดไซโล (Silo) คือต่างฝ่ายต่างทำงาน ไม่มีการแชร์ข้อมูลกัน และ กฟผ. ยังเป็นองค์กรที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญของตัวเองทำให้เกิดไซโลย่อยๆ ของตัวเองอีก การทำงานเป็นทีมในอดีตจึงค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันองค์กรต้องมีการปรับตัว เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาธุรกิจถูกดิสรัปชั่น (Disruption) องค์กรจะอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ผมมองว่าการทำงานเป็นทีม เราต้องเริ่มจากการปรับ Mindset ของพนักงานก่อน กฟผ. มีการเขย่าองค์กรมาแล้วสักพัก เพื่อให้เขารู้ว่าเขาอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมต่างๆ บีบเราหมด พนักงานก็ถามเราว่าจะให้ทำอย่างไร อันนี้เป็นภาระที่ผมจะต้องจัดการต่อ

Disruption ความท้าทายของ กฟผ.

เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่องค์กร อย่าง กฟผ. ก็ต้องเจอกับดิสรัปชั่นมากมาย ในฐานะผู้นำ บุญญนิตย์ต้องปรับองค์กรให้สู้กับการดิสรัปชั่นให้ได้

บุญญนิตย์ เล่าให้ฟังถึงการถูกดิสรัปชั่นของกฟผ. ว่า ก่อนหน้านี้การทำงานของ กฟผ. คือ กฟผ.เป็นคนออกนโยบาย กำกับดูแล และปฏิบัติ แต่ปัจจุบันคนออกนโยบายคือกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน และ กฟผ.มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ อันนี้เป็นหนึ่งในการดิสรัปชั่น กฟผ.อย่างรุนแรง

อีกเรื่องคือ กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซ ถ่านหิน กฟผ.มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน การใช้แสงอาทิตย์ พลังงานลม แก๊สชีวมวลผลิตไฟฟ้า หรือการเกิดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เกิดการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กกับผู้บริโภคแต่ผ่านสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. สิ่งเหล่านี้เป็นตัวดิสรัปชั่น กฟผ. แนวทางแก้ไขของบุญญนิตย์ คือ การหา New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ๆ โดยจะมุ่งไปที่พลังงานทดแทน และจะมีอีกหลายแนวทางในอนาคต

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงเพราะการท่องเที่ยวลดลง ภาคผลิตอุตสาหกรรมก็ลดลง ซึ่ง กฟผ.เป็นผู้ขายไฟฟ้าย่อมได้รับผลกระทบ สิ่ง กฟผ.ปรับตัวคือการทำตัวเองให้สมดุล กฟผ.ไม่อาจลดกำลังการผลิตได้แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ได้ เช่น เมื่อ 10 ปีก่อน กฟผ.มีคน 30,000 คน ตอนนี้ก็ลดเหลือ 18,000 คนเมื่อมีคนเกษียณก็จะไม่รับคนเพิ่ม

อย่างไรก็ดี การมาของโควิด-19 ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ในทางกลับกันก็มีข้อดีที่ทำให้องค์กรรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นและไม่จำเป็นในการทำงาน ช่วงโควิด-19 กฟผ.เคยมีคนมาทำงานส่วนกลาง 20% และต่ำสุด 10% ในตอนนั้นใครที่จะเข้ามาทำงานส่วนกลางต้องบอกเหตุผลเลยว่าทำไมต้องเข้ามาทำงาน เพราะต้องการให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ สองเดือนที่เกิดโควิด-19 ทุกอย่างก็เดินได้เหมือนเดิม เพราะคนที่ดูแลโรงไฟฟ้า คนจัดส่งไฟฟ้าไม่ได้หยุด

“ช่วงโควิด-19 ทุกคนเรียนรู้การทำงานออนไลน์ ตอนนี้เราก็ให้ทุกคนทำงานแบบ any place any time จะประชุมเมื่อไหร่ต้องพร้อม เราเรียนรู้และปรับตัวพอมีวิกฤตอะไรมาเราก็รับมือได้ เหมือนคนโดนน้ำท่วมปี 2554 พอมีน้ำท่วมอีกทีก็รับได้ ต่อไปการประชุมไม่จำเป็นที่ผู้บริหารจากต่างจังหวัดต้องมาเจอกันที่ กทม. เราประชุมทางออนไลน์ได้ นานๆ ค่อยมาเจอกันทีก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้”

คิดแบบวิศวะฯ ถูกเปิดโลกทัศน์ด้วย MBA

จากความคิดแบบสี่เหลี่ยมสไตล์คนวิศวะ เมื่อมาเจอกับหลักสูตร MBA ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้บุญญนิตย์รู้ว่าเขายังรู้ไม่มากพอ

“ผมเรียน MBA ที่ ม.เชียงใหม่มา 20 ปีแล้ว ปริญญาตรีผมจบวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเครื่องกล) ม.เชียงใหม่ ก่อนไปเรียน MBA ก็คิดว่าผมมีความรู้มากแล้ว พอมาเรียน MBA ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ผมยังไม่รู้ MBA เป็นการเปิดโลกทัศน์ของผมจริงๆ เขามีการเชิญวิทยากรมาพูด ผมมีโอกาสได้ฟังอาจารย์เก่งๆ ฟังแล้วเราก็รู้สึกอยากเก่งแบบเขา และเวลาเรียนเราก็จะเจอเพื่อนที่ต่างวัยต่างอาชีพก็ได้มุมมองความคิดใหม่ ถ้าเป็นสมัยที่เราเรียนปริญญาตรีก็จะเป็นเพื่อนวัยเดียวกันความคิดอ่านก็ไม่ต่างกัน”

ความรู้ที่ได้รับจากการเรียน MBA มีทั้งเรื่องไฟแนนซ์ บัญชี การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารองค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่วิศวะไม่มีสอน เมื่อบุญญนิตย์ต้องมาเรียนเรื่องเหล่านี้ทำให้ความเป็นหัวเหลี่ยมๆ แบบวิศวะกลายเป็นกลมมากขึ้น

วิศวะจะเน้นการคำนวนไม่มีการยืดหยุ่น มีแค่ 0 กับ 1 ไม่มีระหว่างกลาง มีแต่อีโก้ ถ้าไม่มีเหตุมีผลคุณจะคุยกับวิศวกรไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วโลกนี้ยังมีอะไรอีกมาก มีเรื่องอารมณ์ ศิลปะ ฯลฯ ผมเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการเรียน MBA มาก MBA ช่วยเปลี่ยนหัวเหลี่ยมๆ ของผมให้กลม ทำให้ผมกล้าบอกผู้บังคับบัญชาว่าผมไม่ขอทำงานเอ็นจิเนียริ่งแล้วผมขอเปลี่ยนมาทำด้านอื่น ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตครั้งหนึ่งและเป็นการตัดสินใจที่ถูก ผมเชื่อว่าถ้าผมไม่เรียน MBA ครั้งนั้น ผมไม่น่าจะมาได้ถึงตำแหน่งนี้

และเมื่อองค์กรส่งให้บุญญนิตย์ไปศึกษาต่อปริญญาโท บริหารธุรกิจ (Energy Management) University of Montreal ประเทศแคนาดา ยิ่งย้ำให้เห็นว่าการปูพื้นฐาน MBA จากเมืองไทยไปทำให้การเรียน MBA ที่ต่างประเทศที่ว่ายากง่ายขึ้น แม้จะต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะมีพื้นฐาน MBA มาแล้ว ยิ่งเมื่อมีโอกาสไปเรียน Harvard Business School หลักสูตร Advanced Management Program ซึ่งเป็นการเรียนกับคนเก่งๆ จากหลากหลายประเทศทำให้บุญญนิตย์ได้มุมมองในการบริหารงานที่หลากหลาย เพราะเป็นการเรียนจากการนำ Case Study มาสอน แม้ว่าจะเป็นการเรียนที่เหนื่อยมากเพราะต้องใช้ภาษาอังกฤษและเรียนในช่วงอายุ 52 ปีแต่ถือเป็นการเปิดโลกที่ดีมาก

จาก MBA สู่งานบริหารในฐานะผู้ว่าฯ กฟผ.

การที่บุญญนิตย์ได้มีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กฟผ. นั้น เขายอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาได้มีโอกาสเรียน MBA ทำให้เขาได้ทำงานด้านการทำแผนยุทธศาสตร์ ความเสี่ยง ฯลฯ

“ถ้าผมยังอยู่ในสายเอ็นจีเนียริ่งเขาก็ไม่ให้งานพวกนี้มาทำ คงเป็นความโชคดีในโชคร้าย ที่เขาให้ผมทำเพราะผมมีความรู้ด้าน MBA และผมเป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธงาน ใครให้ทำอะไรก็ทำ ทำให้ดีที่สุด เวลาที่เขาต้องการหัวหน้ากองที่ทำงานประเภทนี้ได้เขาจึงนึกถึงผม MBA ช่วยเปลี่ยนทัศนคติทำให้ผมเรียนรู้งานยากๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผมรู้จักการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ในองค์กรได้หมด ทำให้ผมเข้าใจระบบการบริหาร สำหรับคนที่อยากเรียน MBA ผมอยากให้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นคนในห้อง ถ้าคุณมาเรียนพร้อมกับอีโก้คุณจะไม่ได้อะไร ฟังอาจารย์ให้มาก ถามอาจารย์ให้มาก การเรียน MBA ยังเป็นสิ่งจำเป็นของคนทำงาน ทำให้เรามีความรู้ที่กว้างขึ้น เพราะ MBA กลั่นทุกอย่างมาให้เราเรียนรู้ในเวลาที่ไม่นานมาก อย่างผมรู้ในหลายๆ เรื่องแต่ไม่รู้ลึก แต่ผมก็จะรู้ว่าต้องทำยังไงให้รู้เรื่องนั้นแบบลึกได้”

บุญญนิตย์ ยังย้ำว่า “ถ้าคุณจะก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บริหาร ต้องเรียนหลักสูตร MBA หรือ Mini-MBA EX-MBA ก็ได้ เพราะผู้บริหารต้องรู้ทุกเรื่อง”

สำหรับปรัชญาในการทำงานของผู้ว่าการ คนใหม่นั้น มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

1.คิดบวก ผมจะมองทุกอย่างเป็นเรื่องบวก แม้จะเป็นข้อลบ อย่าง นายไม่ดีก็ให้มองว่านายสอน นายกำลังสอนเรื่อง don’ ts ผมก็จะได้เรียนเรื่อง dos and don’ ts จากนาย อะไรไม่ดีก็ไม่ทำตาม

2.คิดใหญ่กว่าตัวเอง ผมจะไม่มองเรื่องผลตอบแทนตัวเอง ตำแหน่งความก้าวหน้า แต่มองว่าทำเพื่ออะไร เพื่อองค์กร เพื่อประเทศชาติ อันนี้เป็นความคิดตั้งแต่เด็ก

3.ความอ่อนน้อมถ่อมตน อันนี้ผมได้เรียนจาก Harvard เขาใช้คำพูดสุดท้ายในวันสุดท้ายของการเรียนว่า Humility นี่คือสถาบันที่เก่งสุดในโลก สอนโดยคนที่ Arrogant ที่สุดในโลก เขาให้ผู้บริหารที่มาเรียนจำคำนี้ไว้ ผมก็มาตีความเป็นการรู้จักรับฟังคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น

"สิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิต คือ ผมจะกล่าวคำว่า สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ผมถือว่าเป็นการลงทุนที่ถูกและได้ผลตอบรับกลับมาดีมาก ผมมีพ่อ (นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร) กับแม่เป็นโรลโมเดล แม่ผมจะสอนให้ผมสวัสดีทุกคนที่เจอ ผมเคยสวัสดีรุ่นพี่ซึ่งตำแหน่งเขาน้อยกว่าผม เขาก็ตกใจ เพราะผมเป็นรองผู้ว่าการ ผมบอกเลยว่าพี่เป็นพี่ผมไปตลอดชีวิต ถึงผมจะเกษียณพี่ก็ยังเป็นพี่ผม แต่ตำแหน่งก็หมดไป คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจ"


เรื่อง - ภาพ: กองบรรณาธิการ

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:17
X

Right Click

No right click