December 21, 2024

โมเดลธุรกิจใหม่ ‘9 Legends’

May 06, 2022 7976

จากวลีที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรของประเทศไทยถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ไทยมีศักยภาพในการจะเป็น 'ครัวของโลก'

แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายในการก้าวไปสู่ตลาดโลกคือ เรื่องกระบวนการและมาตรฐานการผลิต ซึ่ง ฮิเดโตชิ อูเมกิ ผู้บริหารผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่น และภารดร วิไลกุล นักวางกลยุทธ์ไทย ได้เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่นไทยที่สามารถก้าวไกลทำเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลกได้ จึงร่วมกันก่อตั้ง บริษัท รักชาวนา จำกัด โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นจุดเริ่มและจุดร่วมของความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยบนเป้าหมายเพื่อการนำเอาข้าว และผลิตผลอื่นๆ โดยเกษตรกรจากท้องถิ่นทั่วไทย เพื่อนำทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชั้นสูง

“ความแตกต่างในเรื่องการทำธุรกิจระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น คือ เรื่องของความเที่ยงตรง ชาวญี่ปุ่นจะมีความเที่ยงตรงและเคร่งครัด เนื่องจากข้อจำกัดของการดำรงชีวิตที่สืบเนื่องกันมานับแต่อดีต เพราะเงื่อนไขที่ติดอยู่กับปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ส่งผลให้การใช้ชีวิตไม่ได้สะดวกสบาย เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทย ที่อบอุ่น อุดมสมบูรณ์ ผลิตอาหารทั้งการปลูกพืช ปศุสัตว์ได้อย่างค่อนข้างราบรื่น ต่างไปจากญี่ปุ่นที่ คำว่า’ อดตาย’ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ชีวิตถ้าหยุดทำงานเมื่อไหร่คืออดตายแน่นอน ส่วนภัยธรรมชาติ เป็นปัจจัย ที่สอนและกำหนดให้ชีวิตของคนญี่ปุ่นเรียนรู้ว่า ชีวิตที่ดำเนินอยู่นั้นอาจจบสิ้นลงเมื่อใดก็ได้ ด้วยปัจจัยรายรอบเหล่านี้ ได้กลายเป็นพื้นฐานของแนวคิด แนวปฏิบัติที่สำคัญของคนญี่ปุ่นคือ ‘การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน’ ‘ความร่วมมือและร่วมใจกัน’ และ’ การไม่คิดถึงเพียงแต่ตัวเอง’ โดยรับรู้กันว่า ถ้าอยากจะอยู่รอด คนรอบข้างก็จะต้องอยู่รอดด้วย

นี่คือแนวคิดของคนญี่ปุ่นทั่วไป และ แนวคิดนี้ก็ได้เป็นที่มาของปรัชญาการบริหารธุรกิจของ ฮิเดโตชิ อูเมกิ นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่ครั้งหนึ่งเคยเขียนหนังสือ SAMPO-YOSHI ที่มีความหมายว่า “ดีสามฝ่ายอันหมายถึง “ผู้ขายดี ผู้ชื้อดี และสังคมดี”

ธุรกิจดี สังคมดี

อูเมกิ อธิบายหลักการดีสามฝ่ายว่า การยึดธีมสังคมดีสำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่น หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ก็ตาม คือการมุ่งเน้นทำเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดของส่วนรวม ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยี เหตุผลที่ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในด้านนี้มาก ก็สืบเนื่องมาจากการที่เรามีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในเรื่องแผ่นดินขนาดเล็ก ลักษณะภูมิประเทศที่มีแต่ภูเขา พื้นที่สำหรับใช้สอยจำกัด จึงต้องหาวิธีย่อส่วนสิ่งของเครื่องใช้ให้มีขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น วิทยุ สมัยก่อนเป็นกล่องใหญ่ ญี่ปุ่นเราไม่มีที่ว่างเพื่อวางมากพอ ก็หาวิธีทำให้ขนาดเล็กลง ก็เกิดเป็น Transistor Radio ที่พกพาได้ หรืออย่างเรื่องอาหาร ก็เช่นกัน เหตุผลที่อาหารแปรรูปของญี่ปุ่นมีคุณภาพสูง และ มีอายุนาน เพราะได้รับการคำนึงถึงฟังก์ชันต่างๆ เป็นความพิถีพิถันที่ไม่เน้นเพียงแค่คุณภาพเท่านั้น แต่ทุกคนเมื่อได้บริโภคผลิตภัณฑ์ของเราแล้ว จะต้องมีความสุขและปลอดภัย เพราะเป้าหมายในเรื่อง ต้องการให้สังคมดี ไม่ว่าจะผลิตอะไรออกมาจะต้องยึดหลักการดีสามฝ่ายและหลักคิดนี้ ถูกนำมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจเสมอมา

"บางท่านอาจเคยได้ยินชาวญี่ปุ่นพูดว่าทรัพยากรที่สำคัญของเขาคือบุคลากร แนวคิดนี้อาจมีที่มาจากการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศซึ่งมีทรัพยากรน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหาร หากเปรียบเทียบยอดการผลิตรายปี มีการป้อนให้ประชาชนญี่ปุ่นบริโภคภายในประเทศได้เพียง 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์จึงนำไปจัดจำหน่าย ซึ่งการทำธุรกิจของญี่ปุ่นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการค้าระหว่างประเทศ มีรูปแบบเป็นการซื้อทรัพยากรจากต่างประเทศมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าใช้ภายในประเทศ ส่วนที่เหลือส่งออกเป็นการหารายได้จากต่างประเทศ แล้วความคิดจึงกลายมาเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจของคนญี่ปุ่น ยกตัวอย่าง ธุรกิจยานยนต์ที่ผลิตในประเทศให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนมีรถยนต์ขับทุกบ้าน นี่คือโจทย์ของ Toyota หรืออย่าง Panasonic ที่คิดค้นเครื่องซักผ้าขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อให้ชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนสะดวกสบายขึ้น สังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนา Technology ในญี่ปุ่นนั้นมาจากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน คุณอูเมกิได้เหล่าถึงประเด็นของ 9 Legends ซึ่งคือการ Focus ไปที่เรื่องการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อและมีความหลากหลายของสินค้าว่า"

“ผมค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องการส่งออกที่มีคุณภาพแบบ Global Standard อันนี้คือจุดเริ่มต้น ทีนี้กลับมาดูประเทศไทย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เลยไม่มีความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนแบบชาวญี่ปุ่น ผมไม่ได้มีเจตนาจะอธิบายว่าอันไหนดีกว่า เพียงแค่ยกข้อแตกต่างกันมาให้เห็น อย่างเช่น การผลิตสินค้าแปรรูป การเพิ่มมูลค่าและส่งออก เราต้องพัฒนาให้เป็น Global Standard มากขึ้น เพราะถ้าไม่ได้ตามนั้น ก็ไม่ผ่านมาตรฐานของเขา ส่งออกไม่ถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสินค้าเรา โอกาสขายก็น้อยลงไปด้วย

ดังนั้น Category แรกของ 9 Legends คือเรื่องของมาตรฐานสากล แบ่งออกเป็นสามอย่างย่อยออกไป มาตรฐานขายในประเทศไทยได้ มาตรฐานขายในประเทศไทยและประเทศอาเซียน และมาตรฐานสากลที่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐได้ เป้าของเราคือต้องส่งออก หารายได้จากต่างประเทศเข้าประเทศเพื่อนำมาบริหารประเทศ อยากจะเพิ่มรายได้ของประเทศไทยโดยใช้ทรัพยากรและการผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล ส่งออก ตลาดโลกยอมรับ ยอมจ่ายเงิน ยกตัวอย่าง ล้อแม็กซ์ในญี่ปุ่นจะเป็นการนำทรัพยากรเข้ามาแล้วแปรรูปจากนั้นจึงส่งออกสู่ตลาดโลก เท่ากับว่าเขาเสียเงินในการซื้อล้อแม็กซ์มา ถ้าเป็นไปได้ในเมืองไทยก็อยากให้ใช้ทรัพยากรที่เรามีภายในประเทศ ผลิต แปรรูป แล้วส่งออก

Category ที่ 2 คือ เรื่องของทรัพยากรไทย ก็แบ่งออกเป็นสามอย่างเช่นกัน คือ นำเข้า นำเข้าบวกทรัพยากรไทย และทรัพยากรไทย 100% สุดท้ายใน Category ที่ 3 คือ กระบวนการผลิตในประเทศ เป็นการผลิตที่ต่างประเทศแล้วก็นำเข้ามา ผลิตบางส่วนแล้วก็นำมาประกอบในประเทศไทยหรือไปประกอบที่ต่างประเทศ และผลิตภายในประเทศ 100% ประกอบด้วยแปรรูปด้วยเราเรียกว่า Finished Goods

ดังนั้น เราจึงมี 3 Categories ที่เราจะมาพิจารณาว่าเราสามารถจะหารายได้เข้าประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือเปล่า แต่หากจะเริ่มต้นทั้งหมดให้สมบูรณ์แบบ ในความเป็นจริงน่าจะยาก ยกตัวอย่าง อาจจะใช้ล้อแม็กซ์ที่แปรรูปในประเทศไทย แล้วส่งออกหรือจะใช้ล้อแม็กซ์ไทย แต่ว่าไปผลิตที่ญี่ปุ่นหรือไปผลิตที่ต่างประเทศแล้วก็นำเข้ามา แล้วถึงส่งออกไปผลิตที่ประเทศที่สาม ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่ง แต่สรุปดีที่สุดก็คือครบ 9 ข้อ นี่คือเป้าหมายที่เราอยากจะไปให้ถึง เลยตั้งชื่อของโปรเจกต์นี้ไว้ว่า 9 Legends อนาคตคนรุ่นหลังอาจจะบอกว่าเป็นตำนาน Innovation เกิดมาจากแนวคิดนี้ หรือการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ ถ้าคุณนำล้อแม็กซ์เข้ามาแปรรูปแล้วส่งออก ก็ลองพิจารณาพัฒนาทรัพยากรไทยดีไหม ล้อแม็กซ์นี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ผลิตในประเทศไทยไม่ได้ เราก็หาสิ่งที่ใกล้เคียงที่เป็นของไทย มาทดแทน สิ่งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Innovation อย่ายึดใน Common Sense

ผมขอยกตัวอย่างในฐานะที่มีพื้นหลังมาจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเช่น เบียร์ซึ่งทํามาจากมอลต์ ประเทศไทยไม่มีมอลต์ ถ้าจะทำเบียร์ในประเทศไทยก็ต้องนำเข้ามอลต์แล้วก็แปรรูปบริโภคในประเทศไทย ขายในประเทศไทยแล้วก็ส่งออก เราลองหันมาดูว่าเราสามารถเอาอะไรมาทำแทนมอลต์ได้บ้าง ก็พบว่าเรายังมีข้าว สามารถทำเบียร์จากข้าวหรือข้าวโพดก็ได้ เพราะเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้ในประเทศไทย แนวคิดนี้จริงๆ สามารถนำไปใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ มอเตอร์ไซค์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ พัดลม Hatari ก็ Made in Thailand 100% และผมก็ได้ข่าวว่า มีแค่ branding เท่านั้นที่ใช้ของญี่ปุ่น นอกนั้นคือผลิตเองทั้งหมด ผมภูมิใจมากเพราะอะไหล่ทุกชิ้นผลิต ประกอบและขายในประเทศไทย รวมถึงสามารถส่งออกได้”

ในส่วนของความเป็นมา จนริเริ่มเป็นโปรเจกต์และก่อตั้งเป็นบริษัท รักชาวนา ในครั้งนี้ ภารดร วิไลกุล หรือเรียกขานกันอย่างกันเองว่า คุณดร ผู้เป็นทั้งพาร์ทเนอร์และ Co-Founder ได้เล่าถึงพื้นหลังให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

"ผมมีโอกาสได้รู้จักกับคุณอูเมกิมา 4 ปี แต่เดิมผมอยู่ในแวดวงการเงิน การลงทุน ทุกอย่างของผมก็จะเกี่ยวกับเรื่องเงิน Return ผลกำไร แต่พอได้มาทำงานกับคุณอูเมกิซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนสมาคมโอตาไก โดยมีหลักการคือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนเพื่อน ในที่นี้เรามองทุกคนว่าเป็นเพื่อน เราอยากทำเรื่องดีๆ ให้เพื่อน ส่วน Return มาทีหลัง ถือเป็นครั้งแรกที่เคยได้ยิน Concept แบบนี้ อีกอย่างคือ เรื่องของผู้ซื้อดี ผู้ขายดี สังคมดี ผมก็เริ่มซึมซับมาตลอด แล้วก็รู้สึกว่าเป็น Concept ที่นำมาใช้บริหารธุรกิจได้ยั่งยืนกว่าการมุ่งหาเงินแบบได้แต่ประโยชน์ โดยไม่คิดว่าเพื่อนจะได้อะไร แล้วการคบค้ากันแบบนี้วันหนึ่งก็แยกจากกัน"

สิ่งที่เราภูมิใจในสินค้าตัวนี้คือ เป็นเหล้าเพื่อสุขภาพ เมื่อพูดถึงการดื่มเหล้าในประเทศไทย คนก็จะนึกไปถึงเรื่อง Toxic ตาบวม คอแห้ง ทำลายตับ ยิ่งดื่มยิ่งเหมือนดื่มยาพิษ สุขภาพไม่ดีย่ำแย่ไปเรื่อยๆ พวกเราคิดว่า คงจะไปห้ามคนอื่นไม่ได้ แต่จะทำยังไงที่จะช่วยทำให้เหล้าไม่ไปทำร้ายสุขภาพจนเกินไป อันนี้คือตัวอย่างปรัชญาของโอตาไกที่นอกเหนือจากการค้าขายทำธุรกิจแล้ว เรายังได้ความภูมิใจที่มีส่วนร่วมต่อสังคม เลยทำให้เราค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดตัวเองว่า แม้เงินจะมีความสำคัญ แต่เราก็ต้องคำนึงว่าเงินที่เราจะได้มาหรือประโยชน์ที่เราจะมาต้องเป็นการช่วยเพื่อนไปในตัวด้วย หรือเรากำลังสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

พอทำงานกันสักระยะหนึ่งเนื่องจากเราทำบริษัทเหล้า จึงมีโอกาสได้ไปดูงานที่สกอตแลนด์ เป็นโรงผลิตวิสกี้ที่เป็นบริษัทใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ผมได้ไปเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้าย ที่ประทับใจจากทริปนี้มีอยู่สองเรื่อง คือสกอตแลนด์เขาเก่งมาก เพราะว่ามีประวัติศาสตร์เรื่องทำวิสกี้มาเป็นเวลา 100 - 200 ปี จริงๆ จะว่ายาวก็ยาวจะว่าสั้นก็สั้นสำหรับประวัติศาสตร์เหล้าที่มีมา 2,000 ปี วิสกี้เกิดเมื่อ 200 ปีที่แล้ว บ้านเมืองเขาส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่การเกษตร ปลูกข้าวบาร์เลย์กันเยอะ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะมาทำเป็นมอลต์ แล้วเอามอลต์ไปทำเป็นเบียร์ แต่เบียร์ก็มีวันหมดอายุ เขาเลยนำไปหมักก่อนจะกลั่นเป็นเหล้าขาว เมื่อได้ปริมาณเยอะก็เอาไปเก็บไว้ในถังโอ๊ค ทีนี้มีพ่อค้าหัวใสชื่อนาย John Walker เป็นเจ้าของร้านของชำแต่ก็อยากจะขายวิสกี้ของแต่ละจังหวัดในสกอตแลนด์ด้วย วันหนึ่งเขาก็มาชิมวิสกี้แต่ละตัวไม่ถูกปากสักที เลยได้ไอเดียว่าเอาทุกตัวมาผสมเข้าด้วยกัน ปรากฏว่ารสชาติออกมาดีจนเป็นที่มาของ Johnnie Walker ที่ได้ส่งออกขายทั่วโลกเป็นอันดับหนึ่งของวิสกี้ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวสกอตแลนด์แล้วก็ความแข็งแรงของชุมชนที่เขาสามารถเอาวัตถุดิบที่มีอยู่มายืดและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม กลายมาเป็นวิสกี้ของแต่ละชุมชน ขายให้คนที่ชอบ ก่อนจะมีพ่อค้าคนหนึ่งเอามาผสมผสานกันพร้อมกับทำการตลาดสินค้าที่เขาผสมขึ้นมาใหม่ เชื่อไหมครับชาวสกอตแลนด์ผลิตวิสกี้ 100 ขวด กินเองแค่ 10 ขวด ที่เหลืออีก 90 ขวดคือส่งออก แล้วก็มีมิสทีนด้วยที่ช่วยเพิ่ม GDP ของสกอตแลนด์ พอกลับมาเราก็เริ่มคุยกับคุณอูเมกิ บอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากสกอตแลนด์ ประกอบกับคุณอูเมกิทำเรื่องโรงเหล้าเลยรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดของการผลิตวิสกี้ทั่วโลก ว่าจะต้องประกอบด้วยการนำธัญพืชมาหมัก กลั่น บ่ม ท้ายที่สุดถึงจะได้วิสกี้ออกมา

การบ่มบางประเทศก็กำหนดให้ไว้ที่ 3 ปี บางประเทศก็ 2 ปี อย่างประเทศไทยจะใช้เวลาบ่มประมาณ 2 ปี ย้อนกลับมาดูเรื่องวัตถุดิบ เขาบอกว่าเป็นธัญพืช ก็เลยกลับมาดูว่าอะไรที่เรียกว่าธัญพืชได้บ้าง หนึ่งคือมอลต์ สองคือข้าวโพด และสามคือข้าว เมืองไทยเรามีทั้งข้าวโพดและข้าว สามารถนำมาหมักเป็นเบียร์ คุณอูเมกิบอกว่ารสชาติดีมาก นำไปชิมที่ญี่ปุ่น และเนื่องจากเบียร์มีอายุจำกัด ส่วนที่เหลือนอกเหนือจากความต้องการก็นำไปกลั่นต่อเป็นน้ำเหล้าที่กลั่นจากข้าว ถ้ากลั่นที่ญี่ปุ่นเขาเรียกว่า โชจู ซึ่งก็มาจากเทคโนโลยีของไทยที่เรียกว่า สาเก ซึ่งเขาเคยมาเรียนรู้จากไทยสมัยอยุธยา เพราะเหล้าของไทยในสมัยนั้นมีคุณภาพ ถือเป็นสินค้าที่มีชื่อมากในแต่ละชุมชนเหมือน OTOP มีเป็นหมื่นๆ ชนิด เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจากชาวญี่ปุ่นในการกลั่นข้าวมาได้รสชาติดี ทำให้พอมีความหวัง บวกกับการได้มาเจอเพื่อนคู่คิดอย่างคุณอูเมกิที่เป็นตัวแทนของโอตาไก เลยมีช่องทางที่จะหาคอนเนคชั่นในญี่ปุ่นได้ เราสามารถหาวัตถุดิบ เทคโนโลยีและฐานผลิตได้ แต่ขาดคือกระบวนการที่จะทำให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้จริง พยายามผลักดันโครงการนี้เกิดจนได้บริษัทโรงเหล้าที่เราทำ แต่ก็กลายเป็นว่ามีหลายเรื่องที่ต้องจัดการทำให้ไม่ได้โฟกัสไปยังช่องทางที่เราอยากทำ กระทั่งด้วยแรงของเพื่อนๆ ที่มารวมกลุ่มลงขันกันตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า รักชาวนา โดยมีความตั้งใจให้บริษัทนี้ผลิตสินค้า Prototype เริ่มแรกให้ทุกคนได้เห็นว่า Concept นี้ทำเกิดขึ้นได้จริง อยากนำเอา Concept นี้ไปเผยแพร่ให้กับชุมชนชาวนาแต่ละจังหวัดแต่ละภาค ให้รู้ว่าสมัยนี้เราต้องตั้งเป้าไปที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าและยิ่งอายุยาวยิ่งมีราคามากขึ้น”

สำหรับโปรเจกต์นี้มีความคาดหวังว่าหากทำได้สำเร็จจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่แปรรูปมาจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยต่างชนิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวเหลืองประทิว ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และอื่นๆ ซึ่งอาจจะสามารถนำมา Blend ได้รสชาติที่แปลกใหม่มีเอกลักษณ์สามารถส่งออกไปขายให้อยู่ในห้างหรือ Duty Free ในสนามบินเทียบเท่ากับวิสกี้จากอเมริกา สกอตแลนด์ ยุโรปหรือแม้แต่แบรนด์ดังๆ จากเอเชียอย่าง Hibiki ให้เป็นทางเลือกของ Whisky Lover คุณดรกล่าวว่าเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของไทยทำอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะปลูกข้าวได้ถึงปีละกว่า 20 ล้านตัน ส่งออกถึงครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตแต่นับเป็นมูลค่าเพียง 2 แสนห้าหมื่นห้าล้านบาทต่อปี หรือกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท หากเทียบกับการนำมาทำวิสกี้ 1 ขวด โดยมีฐานผลิตในไทย และจำหน่ายที่ขวดละ 1,000 บาท มูลค่าจะเพิ่มเป็น 50 เท่าหรือสิบล้านล้านบาท GDP ของไทยจากการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น

“ปัญหาของชาวนาตอนนี้คือ รายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยราว 2 แสนกว่าบาทต่อปี ถ้าคิดเป็นเงินเดือนก็ 2 หมื่นบาท แต่ครอบครัวเขาอยู่กันมีภรรยา มีลูก ปู่ย่า ตายาย เงินเดือน 2 หมื่นใครจะมีเงินส่งลูกไปเรียน วิธีการคือส่งลูกเข้ากรุงเทพไปเป็นแม่บ้าน สาวโรงงาน ทำงานก่อสร้าง ปรากฏว่าเด็กรุ่นใหม่ รุ่นลูกรุ่นหลานไม่อยากเป็นชาวนา เพราะว่าเป็นชาวนาแล้วรายได้ไม่พอ เปรียบเทียบกับชาวนาญี่ปุ่น รายได้จากการทำนาต่อปี 2 ล้านบาท เท่ากับคนเงินเดือนเกือบสองแสน ถ้าชาวนาไทยมีเงินเดือนสองแสน เขาก็จะกินดีอยู่ดี ฐานะดี สามารถลงทุนส่งลูกไปเรียนได้ เงินเดือนสองแสนถือว่าเพียงพอ ชาวนาญี่ปุ่นมีรถกันทุกบ้าน ชาวนาไทยจะซื้อมอเตอร์ไซค์ยังแย่เลย

เราไม่อยากให้อาชีพชาวนาสูญหายไปจากประเทศไทย อยากให้เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานชาวนาให้ภูมิใจว่าพ่อแม่เขาเป็นชาวนา สามารถพูดคำนี้ได้เต็มปาก พวกเราคิดว่าการอนุรักษ์อาชีพชาวนาให้คู่กับสังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชาวนา ให้เขาทำนาแล้วมีรายได้ต่อปีเทียบเคียงกับญี่ปุ่นหรือน้อยกว่านิดหน่อยก็ได้ สามารถส่งลูกไปเรียน พอลูกมีความรู้ จบใหม่ก็จะคิดเทียบว่าระหว่างไปทำงานออฟฟิศเงินเดือน 2 หมื่น กับมาต่อยอดอาชีพทำนาให้กับครอบครัว พัฒนาวิธีการ ผลผลิตก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า นี่คือที่มาที่ไปของการที่พวกเราเป็นจุดเล็กๆ ในสังคมที่จุดไฟกองเล็กๆ เผื่อว่าจะมีลมมาพัดกระพือแล้วไฟนี้จะลามไปทั่วประเทศไทยแล้วความฝันน่าจะเป็นจริงได้สักวัน”

กระบวนการดำเนินการในขณะนี้มีการทดลองนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูแม่จัน ข้าวหอมมะลิแม่จัน และข้าวหอมมะลิปทุมที่นครชัยศรีอย่างละ 1-2 ตัน ส่งไปที่โรงเหล้าประเทศญี่ปุ่น โดยมีการติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสุราท่านหนึ่งให้ทำการหมักและกลั่นออกมาเป็นเหล้า จากนั้นมีการคำนวณปริมาณข้าวที่ต้องใช้สำหรับผลิตเหล้าหนึ่งลิตร รวมถึง Financial Model ต่างๆ คุณอูเมกิเล่าต่อถึงประเด็นปัญหาที่พบเจอช่วงการทดลองที่ผ่านมาว่า

“ปัญหาหนึ่งในเรื่องของการส่งออกข้าวจากไทยไปญี่ปุ่น นั่นก็คือภาษีนำเอาข้าวต่างประเทศที่นู่นค่อนข้างสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท และกำดำเนินการเอกสารต่างๆ ให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน แต่เราก็ต้องยอมเพราะว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาเพื่อดูวิธีการแปรรูป เป็นหนึ่งในกำแพงการซื้อขายระหว่างประเทศถ้าเรายึด Concept การใช้ทรัพยากรไทยแล้วนำไปแปรรูปที่ญี่ปุ่น

ทีนี้เรื่องตัวอย่างที่เรากำลังทำอยู่กับทางบริษัทวีทโซล จังหวัดไอจิ เมืองโอกาซากิ ซึ่งติดกับนาโกย่า โดยที่นั่นมีผู้เชี่ยวชาญที่พูดถึงนั้นท่านศึกษาเรื่องการกลั่นเหล้าจากข้าว ทำสาเกหรือเหล้าหมัก ที่เมื่อก่อนเรียกกันว่าโซจู คล้ายๆ ตลาดเหล้าขาวในประเทศไทย เป็นเหล้าเกรดถูก ทั้งๆ ที่มีคุณภาพที่ดีแต่ตลาดเขามองว่าโซจูเป็นเหล้าเกรดถูกกว่าสาเก ดังนั้น ท่านก็หยุดการกลั่นไป กระทั่งช่วงปี 1993-1994 มีภัยธรรมชาติที่คนไปเกี่ยวข้าวไม่ได้ เลยจำเป็นต้องนำเข้าฉุกเฉินจากประเทศไทย ส่งผลต่อหลายอุตสาหกรรมรวมถึงการผลิตสาเกและโซจู มีการเอาข้าวไทยมาใช้แทน แต่ลักษณะของข้าวบ้านเราก็ไม่เหมือนข้าวของญี่ปุ่น Know How ตรงนี้ที่ท่านสะสมมาจนถึงปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าเผื่อวันหนึ่งจะมีโอกาสได้คืนเทคโนโลยีนี้ให้กับชาวไทย ผมก็ถามท่านว่าทำไมถึงใช้คำว่าคืนแทนที่จะเป็นการถ่ายทอด ท่านบอกว่าจริงๆ โซจูหรือวิธีการกลั่นเหล้านั้นมีที่มาจากประเทศไทยเมื่อ 500 ปีก่อน เราก็ขออนุญาตท่านให้ถ่ายทอด Know How นี้ให้กับทางโอตาไก ทีนี้ถ้าเทียบจาก 9 Legends เรื่องวัตถุดิบจากไทยถือเป็น 3 คะแนน ผลิตที่ญี่ปุ่น 1 คะแนน มาตรฐานสากลอีก 3 คะแนน รวมเป็น 7 อยู่ในตอนนี้ เราก็อยากจะพัฒนาต่อไปให้ได้ 9 เต็ม จึงต้องหาโรงเหล้าหรือฐานผลิตที่ไทย โดยการเอา Know How จากญี่ปุ่นมาใช้ผลิตให้มีคุณภาพตรงตามระดับสากล แล้วจึงขายส่งออกสู่ตลาดโลก นี่เป็นกระบวนการที่เราอยากให้ทุกท่านเห็นภาพ แทนที่เราจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าข้าวให้รัฐบาลญี่ปุ่นกิโลกรัมละ 100 บาท เราเอาไปให้ชาวนาไทยน่าจะดีกว่า ถ้าเราหาทางผลิตที่เมืองไทยได้ เรายอมซื้อที่กิโลกรัมละ 120 บาท บางคนถามว่าอย่างนี้ก็ถือว่าจ่ายค่าระบบแพงเกิน แต่จริงๆ แล้วเรายึดตามโครงสร้าง Base on Model ที่ญี่ปุ่นซึ่งราคาคำนวณเอาไว้แล้ว เพียงแค่ย้ายฐานผลิตมาในประเทศไทย ผลิตราคานี้ขายออกราคานี้ นี่คือตัวอย่างที่เราจะ Start Up นี่คือผลงานที่เราทำมาเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพว่าหากเราสามารถผลิตเองได้ที่ไทยจะเกิดอะไรขึ้น”

คุณอูเมกิทิ้งท้ายถึงความท้าทายสำหรับโปรเจกต์นี้ว่าเป็นเรื่องของการจะทำอย่างไรให้ฐานผลิตมาอยู่ที่ประเทศไทยให้ได้ ปัจจุบันแม้จะมีโรงสุราชุมชนซึ่งใช้ภูมิปัญญาที่ตกทอดจากปู่ย่าตายาย แต่ยังติดที่ใบอนุญาตนี้ทำได้แค่เหล้าขาวอย่างเดียว ก็ยังถือว่าเป็นปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการผลิต หากได้รับการสนับสนุนจนโปรเจกต์นี้สามารถเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เราจะได้รับอย่างแรกเลยคือ ความสุข ในการนำเอาความรู้ความสามารถมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสุราไทย ให้บ้านเราสามารถเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวิสกี้ส่งออกทั่วโลกได้

เราคาดหวังว่าโรงเหล้าชุมชนในเมืองไทยจะได้รับการปลดล็อก เมื่อเขามีศักยภาพในการผลิตทั้งเหล้าขาวและวิสกี้ได้ เขาก็จะต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสินค้าตัวเองให้สูงขึ้น เหล้าหรือวิสกี้ชุมชนของไทยก็สามารถเกิดขึ้นได้เร็ว John Walker เมืองไทยก็สามารถนำมาวิสกี้ไปส่งออก จะมองว่าเป็นความท้าทายก็ได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเขาได้ฟังแนวคิด ปรัชญาในการที่เราอยากจะช่วยส่งเสริมสังคมไทย อย่างสกอตแลนด์เขาให้เวลา 200 ปี แต่ถ้าเมืองไทยอาจจะเร็วขึ้นในยุคนี้ เพราะเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถกระจายหรือทำการตลาดให้คนทั่วโลกได้รู้ว่าเรามีผลิตภัณฑ์นี้ ยิ่งถ้าเราสามารถสร้างวิสกี้ไทยที่มีรสชาติใหม่ สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและเป็นสินค้าจากท้องถิ่นจริงๆ ก็ต้องมีความสามารถเข้าถึงตลาดบางกลุ่มได้ 1-3 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเริ่มต้นไปเพิ่มไปเรื่องๆ ผมคิดว่าแค่ 20 ปี เราก็สามารถส่งออกระดับโลกให้กลายเป็น Top 5 ยังได้ หากเราตั้งใจที่จะทำจริงๆ แน่นอนว่าการจะทำวิสกี้แต่ละชนิดต้องอาศัยเงินทุน เพราะถ้าจะทำให้ครบวงจรต้องผ่านกระบวนการบ่มอาจใช้เวลา 12-20 ปี แต่ดอกผลที่จะผลิออกในอนาคตถือเป็นการลงทุนคุ้มค่ามาก


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:18
X

Right Click

No right click