October 14, 2024

On The Way to Destination Redesigned -- ศ.ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ

March 11, 2020 5436

บนเส้นทางมุ่งเป้าสู่จุดหมายที่ถูกกำหนดและออกแบบใหม่ ด้วยความร่วมมือและความร่วมใจกันของประชาคมชาวนิด้า ซึ่งประกาศเป้าหมายอนาคตใหม่เมื่อปลายปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ  Redesign NIDA Together

และเริ่ม Kickoff  โดยคณะผู้บริหารภายใต้การนำทีมของอธิการบดี ศ.ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ ผู้เริ่มบทบาทสืบสานพันธะกิจ และสานต่อปณิธานจากคณะผู้บริหารในวาระก่อนหน้าของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ซึ่งได้เปิดเผยต่อนิตยสาร MBA  ในวาระครบรอบปีของการประกาศเจตนารมณ์ของการขับเคลื่อนแผนงานของสถาบันเพื่อการนำพา ‘นิด้า’ ก้าวข้ามความท้าทายในยุคสมัยแห่ง Disruption ไปสู่อนาคตที่ปักหมุดและออกแบบไว้

ตั้งแต่ที่เข้ามาจะเห็นว่าเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เป็นช่วงเวลาของ Disruptive Technology ที่ส่งผลต่อภาคการศึกษาจนเกิด Disruptive Education นิด้าเราก็เริ่มเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ทำให้มีกฎระเบียบออกใหม่มากมาย เป็นความท้าทายที่เราพยายามมองให้เห็นเป็นโอกาส ตั้งแต่ผมขึ้นมารับตำแหน่งก็มุ่งมั่นและพยายามที่จะ Transform นิด้า ภายใต้ Concept ที่เราแถลงวิสัยทัศน์กันไว้ นั่นก็คือ “Transforming NIDA ไปสู่ 3 คีย์สำคัญคือ ความเป็นเลิศ (Excellence) การสร้างความมีส่วนร่วม (Inclusion) และ การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ในทุกภาคส่วน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ก็มีความคืบหน้าของการขับเคลื่อนในแต่ละด้าน

Academic Excellence Pinpoint

ในส่วนของการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ศ.ดร.กำพล เผยว่า จะเน้นทั้งส่วนที่เป็น Academic และ Operational ไปควบคู่กัน โดยส่วน Academic นั้นนิด้ามีจุดแข็งที่สำคัญนั่นก็คือเรื่อง คณาจารย์ โดยข้อเท็จจริงที่ว่า อาจารย์ของนิด้ามีสัดส่วนและอัตราของผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกและมีตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญเพราะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหนึ่งของการพิจารณาสถานศึกษาต่อของนักศึกษาที่ต้องการแหล่งเรียนรู้ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ

สำหรับสิ่งที่พยายามทำในลำดับต่อไปในด้านของหลักสูตรและระดับสถาบัน อธิการบดีนิด้า ขยายความในจุดนี้ว่า

“เนื่องเพราะนิด้าเราไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี เวลาคนดู Ranking จะพบและสงสัยว่าทำไมไม่มีนิด้าติดอยู่ในลิสต์ นั่นก็เพราะ Requirement ที่สถาบันจัดอันดับในหลายแห่งและแทบทั้งสิ้นใช้ในการพิจารณาใช้เป็นข้อกำหนดในการจัดอันดับคือการมีปริญญาตรี เราจึงไม่โชว์ใน Ranking เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น วิธีการเพื่อให้คนรับรู้สถานะของสถาบันฯ ว่าอยู่ในมาตรฐานระดับสากล นิด้าจึงเข้ากระบวนการรับรองมาตรฐานการศึกษาสากล อย่างที่เห็นคณะบริหารธุรกิจที่ได้รับรอง AACSB คณะการจัดการการท่องเที่ยวได้ TedQual ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแรกในเมืองไทยและอาเซียนที่ได้รับมาตรฐานนี้ ส่วนหลายๆ คณะก็ไปในส่วนของ AUN-QA เราได้รับมาตรฐานนี้ราว 40 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 40 กว่าหลักสูตร และเราก็กำหนดเป้าหมายว่าจะให้แต่ละคณะและทุกๆ คณะฯ เข้ารับรองตัวมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นบทพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่านิด้าเรามีระบบของ Quality Assurance”

นอกจากนี้ ศ.ดร.กำพล ยังกล่าวถึงความโดดเด่นอีกประการด้าน Academic ของนิด้าในเรื่องการส่งเสริมการสอบประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ หรือ Professional Certificate ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะเสริมให้นักศึกษามีศักยภาพที่เหนือกว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาและก้าวสู่การทำงาน โดยทางสถาบันฯ จะมีการออกหลักสูตรในแต่ละคณะที่จะเน้นให้ นักศึกษามุ่งไปสอบ Global Certificate ทางวิชาชีพ เพราะในอนาคตจะมีความสำคัญมาก รวมไปถึงนโยบายการเพิ่มหลักสูตรที่เป็น Non-degree ซึ่งเรื่องนี้นอกจากรองรับความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังเป็นการ Serve นโยบายที่รัฐบาลต้องการคือการ Re-skill และ Up-skill ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมภาคต่างๆ อย่างเช่น คณะบริหารธุรกิจก็มีหลักสูตรที่ให้นักศึกษาไปสอบ Project Management Professional หรือ Data Analytic หรือทางด้านการเงิน CFA หรือ FRM รวมถึง Certificate ทางด้าน Cyber Security กับ Data Privacy ซึ่งคาดว่าจะเป็นหลักสูตรที่มี Demand เยอะในอนาคต

ขยายฐาน Non-degree Program คืออีกหนึ่งก้าวขยับที่ อธิการบดีนิด้า เปิดเผยว่าจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในคณะต่างๆ ภายในสถาบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการ เปิดโอกาสและเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้กับนิด้า รวมทั้งกลุ่มผู้ที่ต้องการเสริมทักษะและศักยภาพในการไปสอบ Global Certificate ได้ในอีกช่องทาง ส่วนต่อไปใครอยากจะมาลงเรียนปริญญาโทภายหลังก็สามารถนำเอาหลักสูตรเหล่านี้มานับเป็น Credit ได้ ซึ่งเหล่านี้อยู่ในแผนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ที่ผ่านมานิด้าประสบความสำเร็จกับหลักสูตร Financial Investment and Risk Management เป็นหลักสูตรที่ทำให้นักศึกษาจบไปได้ Master of Science ซึ่งเชื่อว่าต่อไปในตลาดงาน Global Certificate จะมีความสำคัญ

ทั้งนี้ ศ.ดร.กำพล กล่าวถึงแนวทางเพื่อตอบรับผู้เรียนว่าจะทำเป็น Menu ออกมาให้ผู้เรียนเลือกลง ทั้งนักศึกษาของนิด้าเองและผู้สนใจภายนอกที่ต้องการเข้ามาเรียนตามความต้องการและความสนใจ ซึ่งเป็นไปตามกระแสของแนวโน้มความต้องการของผู้เรียนยุคนี้ และเชื่อว่าในยุคต่อไปก็จะไปในแนวโน้มนี้ ที่ไม่เน้นเรื่องปริญญา โดยกระแสนี้เริ่มรุนแรงในอเมริกา อย่างเช่น Google ได้เริ่มมีการออก Certificate เองซึ่งเชื่อว่า ในอนาคต Professional Certificate จึงจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับปริญญาก็เป็นได้ ถือเป็นแนวโน้มหนึ่งในโลกการศึกษา

E-Learning Program

ในมิติเรื่องการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เป็นความพยายามแสวงหาโมเดลการจัดการเรียนที่เหมาะสมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ศ.ดร.กำพล ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หลายแห่งทำ Online Training หรือทำ MOOC (Massive Open Online Courseware) โดยหลายที่ก็ยังไม่แน่ใจว่าโมเดลเหล่านี้จะยั่งยืนหรือไม่ นิด้าเองเคยตั้งโปรเจ็กต์เพื่อศึกษาและทดลองบนความไม่ชัดเจน เพราะ Fix Cost ค่อนข้างสูง ถ้าไม่สามารถทำให้ Sustain ได้ก็อาจเป็นความสูญเสีย จึงอาจปรับใช้เป็น Microsoft Team ที่นักศึกษาสามารถล็อกอินมาดู Content ได้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ขาดคือ Adaptive Learning ที่เป็น Two way communication ที่ไม่เต็มรูปแบบ แต่ถ้าเป็น Platform อื่น จะ track ได้เลยว่านักศึกษาเข้าไปดูคลิปที่เราอัปโหลดไว้จริงหรือไม่ ดูกี่นาที แล้วสามารถทำ Pre-test กับ Post-test ได้ เราก็อาจจะมีเฟสถัดไปในส่วนนี้ แต่ที่เราจะทำโดยนำจุดแข็งของนิด้ามาใช้อย่างแน่นอนคือเรื่องของ Case Study ซึ่งเรามี Local contents อยู่เป็นจำนวนมากมายหลายเคส ตอนนี้มีการนำเคสเหล่านี้มาทำให้เหมาะกับ Online training ซึ่งจะได้เห็นกันในเร็ววันนี้

Connectivity ที่เชื่อมโยงทุกเครือข่าย Outside-In และInside-Out

สำหรับนิด้าในยุคนี้ มีความพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์การเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดทั้งภายในคณะ, ภายในสถาบันฯ และหมายรวมไปยังความเชื่อมโยงกับประชาคมภายนอก อธิการบดีนิด้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในส่วนของเครือข่ายภายนอกนั้นนิด้ามีการต่อขยายความสัมพันธ์เครือข่ายอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ทั้งที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเองทั้งภายในและต่างประเทศ และถือเป็นพันธะกิจที่จำเป็นหนึ่ง

ดังล่าสุดนิด้าเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น University Innovation Fellow: UIF กับ Stanford D. School ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเรื่อง Design Thinking ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยและอาเซียนที่ได้เป็น UIF จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง NIDA Hub เพื่อโมเดลรูปแบบและแนวทางดั่งเช่นที่ D School จัดทำและประสบความสำเร็จ

สำหรับวิชานี้ที่ D School เขาเปิดขึ้นเป็นการจัดการเรียนเป็น Project Base โดยเน้นการมอบโจทย์ให้นักศึกษาที่มาจากหลากหลายสาขา เพื่อให้มาร่วมกันทำภารกิจคือ เอา Design Thinking ไปแก้โจทย์ อาทิเช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือการบริการในประเทศที่ยากจน และไม่สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์ปกติได้ ซึ่งโมเดลการศึกษาในรูปแบบนี้ได้ก่อเกิดความสำเร็จมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาออกมาเป็นสินค้าราคาถูก เกิดสินค้าที่ตอบสนองตลาดที่ขาดแคลน และช่วยแก้ปัญหาของสังคมไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของ D.School มาตลอดหลายปี

ในทำนองเดียวกัน สิ่งนี้จะเป็นโจทย์ที่นิด้าจะนำมาปรับใช้ในการออกแบบวิชาเพื่อสร้างความเชื่อมโยงองค์ความรู้และการเรียนรู้ในสถาบันเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนที่ประสบปัญหา เพื่อให้เกิด Impact กับสังคม โดยการเปิดหลักสูตรนี้มีการประสานความร่วมมือกับ คณะวิศวฯ ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อความครบพร้อมขององค์ประกอบการจัดหลักสูตรและผู้เรียนเพื่อให้สามารถพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นให้ได้จริง โดยที่จะมีการผนวก Design Thinking ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง ของนิด้าที่มีการลงพื้นที่ชุมชนและพบโจทย์ปัญหาเพื่อรอการแก้ไขและพัฒนาอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ศ.ดร.กำพล ยังอัปเดตถึงโครงการร่วมมือกับ บริษัท Startup จากสิงคโปร์ ที่จะเข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับ Cyber Security และ Data Privacy ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มของ Demand ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในอาเซียนเป็นตลาดที่มี Potential ซึ่งหากข้อตกลงบรรลุผลก็จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักศึกษาที่สามารถจะมาเรียนแล้วไปสอบและประกอบอาชีพในสายงานนี้ที่เป็น Content ในระดับที่ได้รับการรับรองทั่วโลก นักศึกษาสามารถไปทำงานในประเทศต่างๆ ได้และแนวทางของหลักสูตรก็มีแนวโน้มว่าจะต้องสอนโดยหลายๆ คณะร่วมกันที่เห็นก็อย่างน้อย 3 คณะขึ้นไปก็คือทางกฎหมาย สถิติประยุกต์ และคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งความคืบหน้าของการสร้างความเชื่อมโยงในเชิง Academic

In the Opinion

ในมุมมองและความคิดเห็นของ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ เรื่องแนวคิดของการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและหลุดพ้นจากปัญหาและกับดักความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น อธิการบดีนิด้า ได้ให้ความเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งในส่วนของความเคลื่อนไหวภายนอกประเทศ Trade War และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเมืองที่ยังไม่นิ่งนักภายในเราเอง เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งสิ่งที่อาจจะต้องมองและแก้ไขกันอย่างจริงจังก็คือ เรื่องของระบบการศึกษาซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ ปัญหาทุกอย่างมีส่วนมาจากการศึกษา เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำแรกสุดที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าเราอยากได้รับการศึกษาที่ดีก็มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องหันมามองว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึง มีหลายๆ คนพยายามจะทำ แต่ Scale up ให้ทั่วทั้งประเทศไม่ได้ หรือเราอาจจะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

แน่นอนว่า Disruption จะกระทบต่อภาคการศึกษาในอนาคต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของจำนวนประชากรแต่ก็เกี่ยวกับการที่เราจะต้องเข้าถึงความรู้ได้ง่ายมากขึ้น อยากยกกรณีตัวอย่างในมาเลเซียที่ทำเรื่อง Redesign Malaysian Higher Education ที่มีบทหนึ่งกล่าวถึงว่า “ถ้าเราสอนลูกหลานเราเหมือนในอดีตก็เหมือนเรากำลังขโมยอนาคตของเขา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราจะมีระบบการเรียนการสอนเหมือนเดิมไม่ได้ เป็นที่มาที่ไปว่ารูปแบบการศึกษาต้องเป็นการ Discussion มากขึ้น นำโจทย์ปัญหาจริงมาใช้ การทำวิทยานิพนธ์นับแต่นี้ควรจะต้องตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำคนเดียว เพราะจริงๆ เราสามารถทำเป็น Group Project ร่วมกันจากนักศึกษาหลายๆ คณะโดยการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แทนที่ต่างคนต่างทำ


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:20
X

Right Click

No right click