EXIM BANK เร่งขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างรายได้ประชาชาติ ด้วย Supply Chain การส่งออกและอุตสาหกรรมสู่อนาคต

September 07, 2022 5175

สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด

จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจที่เคยทำงานได้ดี เช่น ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก เริ่มลดกำลังลง ปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงระบบห่วงโซ่มูลค่าในโลกมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังคงต้องการเวลาพลิกฟื้นและปรับตัวอีกระยะหนึ่ง

ภาวการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจไทยให้สามารถส่งออกและนำเข้า รวมถึงการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้ให้มุมมองกับเอ็มบีเอว่า ในระยะสั้น เศรษฐกิจไทยยังเป็นเสมือนต้นไม้ล้มลุกที่กำลังกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังเผชิญมรสุม COVID-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยจะได้แรงหนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวหลังจากมีการเปิดประเทศมากขึ้น แม้บางส่วนอาจจะถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่บ้าง แต่ความท้าทายของประเทศไทยในระยะยาวคือ ทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจากไม้ล้มลุกให้เป็นไม้ยืนต้นที่ทนแดดทนฝนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดร.รักษ์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าแค่รดน้ำพรวนดินคงจะไม่พอ เราต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์หรือเปลี่ยน Business Model ของประเทศ การที่เรามีประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน และมีคนสูงวัยมากถึง 20% ทำให้เราจะหวังพึ่งเพียงเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เราอาจต้อง “เปลี่ยนสมการเศรษฐกิจ” จากที่มุ่งเน้นการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) มาเป็นรายได้ประชาชาติ (Gross National Income : GNI) ผ่านการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยขยายตลาด เสริมความแข็งแกร่งให้ Supply Chain ตลอดจนเป็นสะพานที่ช่วยสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญคือ เรากำลังตกยุค หลายอุตสาหกรรมไทยกำลังถูก Disrupt ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ การสร้างอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับ Megatrends ของโลก”

การเปลี่ยนสมการเศรษฐกิจจะทำให้เห็นภาพของประเทศไทยชัดเจนขึ้น เพราะเน้นเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจจาก GDP ที่คำนวณมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องรวมมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนไทยในต่างประเทศสุทธิเข้าไปด้วยจึงจะเห็นภาพเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศชัดเจนกว่า

อย่างไรก็ดี ดร.รักษ์ มองว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเพื่อต่อสู้กับภาวะ 3 สูง ประกอบด้วย ต้นทุนการผลิตที่สูง จากปัญหา Supply Chain Disruption ที่ยังมีอยู่ส่งผลให้วัตถุดิบหลายชนิดยังขาดแคลนและมีราคาสูง ทำให้แม้จะมี Demand แต่ Margin ของผู้ประกอบการอาจลดลง ต้นทุนทางการเงินสูง หลังธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่งผลให้ภาระทางการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้ที่มีอยู่เดิม หรือการขอสินเชื่อใหม่ก็อาจยากขึ้น และความเสี่ยงสูง ทั้งความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้าต่างประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจและการค้าที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยน Mindset ผันตัวเองเป็น “ผู้ประกอบการพันธุ์แกร่ง” ที่พร้อมปรับตัวและปรับธุรกิจผ่าน 4 กลยุทธ์ คือ 1. แปลงร่าง พร้อม Transform ธุรกิจตลอด Supply Chain เริ่มตั้งแต่การนำ Automation มาใช้ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้าง Value-added และอาศัย Storytelling เพื่อมัดใจผู้บริโภคยุคใหม่ 2. รวมร่าง Embed ธุรกิจเดิมเข้ากับ Megatrends ใหม่ ๆ ของโลก เช่น พัฒนาสินค้าในกลุ่ม GDH (Green/Digital/Health) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพ 3. แยกร่าง แตกไลน์หรือเปลี่ยน Business Model หากสินค้าใดตกยุคหรือไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้วก็ต้องยอม Cut Loss เพื่อหาธุรกิจใหม่ ๆ 4. ขยายร่าง Go Inter ออกไปหาตลาดต่างประเทศ ที่มีขนาดใหญ่กว่า มีกำลังซื้อ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้อีก รวมถึงใช้ E-Commerce เป็นช่องทางลัดในการขยายตลาด

EXIM BANK ทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร

ในการปรับเปลี่ยนสมการทางเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับ GNI EXIM BANK พร้อมเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจของไทยให้สามารถออกไปสร้างรายได้จากพื้นที่ใดก็ได้ทั่วโลก ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคารที่มีไว้รองรับผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK มีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกมิติ ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานในรูปแบบ Tailor-made ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green : BCG) รวมถึงอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์แห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารโปรตีนจากพืช เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

EXIM BANK นับเป็นธนาคารแรก ๆ ที่ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีของ EXIM BANK ต่ำสุดในระบบอยู่ที่ 5.75% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และสนับสนุนการสร้างผู้ส่งออกหน้าใหม่ให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ไม่ใช่การเงินอื่น ๆ เช่น ห้องแต่งตัวสำหรับ SMEs ที่เรียกว่า SME Export Studio จะช่วยปั้นสินค้าส่งออกให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การถ่ายภาพ และ EXIM BANK ยังสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้ SMEs ก้าวสู่เวทีการค้าโลกได้ง่ายขึ้นผ่าน EXIM Thailand Pavilion ให้ผู้ประกอบการไทยวางขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลกได้ฟรี

ปรัชญาการทำงานแบบ RAK

ดร.รักษ์ กล่าวถึงปรัชญาการทำงานที่ยึดมั่น “RAK”

Rapid ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว คิดแล้วลงมือทำทันที จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ทันใจ

Acceptable ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับความผิดพลาดของตนเองและผู้อื่น เป็นผู้นำที่ลงมือทำด้วยตนเอง ผิดก็ยอมรับผิดด้วยความจริงใจ เพื่อให้พนักงาน “เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจ” และพร้อมที่จะวิ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

Knowledgeable พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์ ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วมาโดยตลอด ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นใน Version ที่ดีกว่าเดิมในทุก ๆ วัน ดังคำกล่าวของ Steve Jobs “Stay Hungry, Stay Foolish” จงหิวกระหายและทำตัวโง่อยู่เสมอ เพราะเมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าตัวเองเก่งแล้ว คุณจะไม่มีทางพัฒนาได้อีก

ในการขับเคลื่อนองค์กร EXIM BANK ให้ตอบรับกับโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดร.รักษ์ มองว่า การทำงานในยุคนี้ไม่ใช่การวิ่งมาราธอน แต่เป็นการวิ่ง 100 เมตร ที่ต้องเร็วไว และยืดหยุ่น เพื่อคงความสามารถในการนำคู่แข่งแบบม้วนเดียวจบได้ โดย ดร.รักษ์ นำเอาเทคนิคการวิ่งระยะสั้นมาปรับใช้กับการบริหารจัดการองค์กรเริ่มจาก

1. เข้าที่ ต้องเตรียมตัวเราและเตรียมทีมให้พร้อม ผ่านการสร้าง Emphatic Workplace ทำให้ที่ทำงานเหมือนบ้านหลังที่สอง รับฟังและดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานทุกด้าน ผมเชื่อว่าถ้าคนในบ้านเราสบาย เค้าก็พร้อมจะไปดูแลลูกค้าได้ดี นอกจากนี้ ผมจะเน้น Productivity เป็นหลัก การทำงานต้องไม่ยุ่ง ไม่ยาก ไม่เยอะ เพื่อที่ให้ได้ผลงานที่ดี เร็ว และมีคุณภาพ

2. ระวัง ต้องวางแผนและคิดแต่ละสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ต้องมี Back-up Plan เสมอ เพราะวิธีการที่ใช้ได้ดีในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะไม่ได้ผลก็ได้ ที่สำคัญคือต้องไม่กลัวล้ม ไม่กลัวผิดพลาด แต่ล้มแล้วต้องลุกให้ไว และเรียนรู้ไม่ให้ล้มอีก

3. ไป การฝันให้ใหญ่ แล้วไปให้ถึง เราต้องก้าวก่อนคนอื่นเพื่อสร้างความได้เปรียบ เราต้องกล้าแตกต่างและก้าวไปในที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าไป เพราะเราจะกลายเป็นผู้นำ ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องก้าวไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนเราจะเก่งคนเดียวไม่ได้ องค์กรจะมุ่งแต่กำไรไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกัน”

ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองโจทย์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมเป็นส่วนที่ช่วยปรับสมการเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ได้อย่างทันท่วงที และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 07 September 2022 03:56
X

Right Click

No right click