นักลงทุนจองหุ้น BPS 120 ล้านหุ้นเกลี้ยง พร้อมเทรด 3 เมษายนนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นของธุรกิจ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและโซลูชั่นด้านไฟฟ้าและสื่อสาร เพื่อก้าวสู่ SMART HOME ในอนาคต

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น BPS เปิดเผยว่า การเสนอหุ้น IPO ของบริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ BPS จำนวน 120 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่านักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นและให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของ BPS ที่จะเป็นหนึ่งในหุ้นมีโอกาสเติบโตในอนาคต ด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและโซลูชั่นเพื่อการอยู่อาศัยครบวงจร และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในทุกฟังก์ชั่นการใช้งาน

นายสุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างให้ BPS เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและคู่ค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท พร้อมทั้งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นต่างๆ ด้านไฟฟ้า การประหยัดพลังงาน และการสื่อสาร เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของบริษัทต่อไปในอนาคต

สำหรับเงินระดมทุนในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยการลงทุนด้านอุปกรณ์และการติดตั้งงานเดินโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร (Fiber to the Home : FTTx) สำหรับคอนโดมิเนียมและอาคารสูง ซึ่งมีโอกาสขยายตัวอย่างมากในอนาคต นอกจากนี้จะนำเงินไปใช้สำหรับก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับช่างและบุคคลทั่วไป ทั้งในด้านการติดตั้งโซลาร์เซลบนหลังคา และระบบ Edge Data Center Facilities 24x7 Monitoring ซึ่งจะทำให้บุคลากรของ BPS มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทำงานให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในปี 2567 บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ทั้งแนวราบและแนวสูง โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจำนวน 30 เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัทจะนำเสนอนวัตกรรม Green Home Solution เพื่อตอบสนองในเรื่องของบ้านอยู่สบาย บ้าน Internet ความเร็วสูง บ้านประหยัดพลังงาน เป็น One Stop Service ในเรื่องอุปกรณ์ และงานติดตั้ง ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้าน Supply Chain Management โดยจะเน้นไปยังตลาดบ้านมือสอง และกลุ่มประชากรสูงอายุมีความต้องการซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน พร้อมทั้งมองถึงการขยายโอกาส ให้สอดคล้องกับแนวคิด SMART HOME เช่น การติดตั้งโรงรถ พร้อมระบบ Solar roof-top (Garage Roof) การติดตั้งระบบระบายอากาศ (Airflow) และการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า (EV Charger) อีกด้วย

“APO” บมจ. เอเชียนน้ำมันปาล์ม หุ้นน้องใหม่ไฟแรง นำทัพโดย CEO หนุ่มหล่อ สิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APO พร้อมด้วย FA ระดับเทพ สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง APM ควง ดร. วรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ KFS ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น เปิดจองซื้อหุ้น IPO 25 - 27 มีนาคมนี้ เตรียมเทรดตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรก 2 เม.ย. 67

ชูจุดเด่นความเชี่ยวชาญการสกัดน้ำมันปาล์มดิบกว่า 40 ปี พร้อมด้วยโครงการ Asian Plus+ ให้ความรู้เกษตรกร ตัดผลปาล์มคุณภาพสูง ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น ส่วนฐานะทางการเงินอย่างแจ่ม สภาพคล่องอยู่ในระดับดี D/E Ratio เพียง 0.4 เท่า กำไรสะสมอีก 117 ล้านบาท พร้อมทุกด้านที่จะขยายการเติบโตในอนาคต

ที่สำคัญราคาหุ้นโคตรดี เพียง 0.99 บาทต่อหุ้น P/BV แค่ 1 เท่า ใครได้ไปเท่ากับว่ามีต้นทุนเดียวกับเจ้าของที่ทำมากว่า 40 ปี แถมยังอุ่นใจผู้ถือหุ้นเดิมสมัครใจ Lockup หุ้นเดิม 99.96% เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ต้องกลัวการเทขายในวันเทรด นักลงทุนวางใจได้เลย

ก.ล.ต. นับหนึ่งคำขอ เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ “PCE” ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) กลุ่มธุรกิจหลัก คือ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร เตรียมเสนอขายหุ้น IPO 750 ล้านหุ้น ระดมทุนเดินหน้าเข้า SET ขึ้นแท่นผู้นำด้านธุรกิจน้ำมันปาล์มและระบบซัพพลายเชนครบวงจร

 

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกการเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ของ PCE เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันปาล์มมากกว่า 40 ปี ทำให้ PCE ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี และด้วยวิสัยทัศน์ของ PCE ที่มุ่งมั่นและต้องการขยายธุรกิจน้ำมันปาล์มและระบบซัพพลายเชนให้ครบวงจร เพื่อรองรับการเติบในอนาคต จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจและอุตสาหกรรม และสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุน

นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน PCE มีทุนจดทะเบียน 2,750 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวน 750 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท ซึ่งคิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) หมวดธุรกิจการเกษตร (AGRI)

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เปิดเผยว่า การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับ PCE ในการต่อยอดธุรกิจพร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในอนาคต

สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุน บริษัทจะนำไปลงทุนในกิจการอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ของบริษัท เช่น โรงสกัดน้ำมันปาล์ม รวมถึงลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และควบคุมต้นทุน อีกทั้งเพื่อต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ส่วนที่เหลือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ

PCE ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) โดยแบ่งได้เป็น 1) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค ซึ่งรวมถึงการซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 2) กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ 3) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และ 4) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ

“บริษัทตั้งเป้าจะเป็นผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชอื่นแบบครบวงจร มีมาตรฐานด้านคุณภาพและบริการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและก้าวสู่ระดับสากล PCE มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งส่งมอบบริการและสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม” นายประกิตกล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบันบริษัทย่อยภายในกลุ่ม PCE ประกอบด้วย

· บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ภายใต้ตราสินค้า “รินทิพย์”

· บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

· บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ มีพื้นให้บริการกว่า 50,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมันจำนวน 58 แทงค์ที่สามารถรองรับปริมาณการจัดเก็บได้ถึง 240,000 ตัน โดยมีท่าเทียบเรือทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดฉะเชิงเทรา (อ.บางปะกง)

· บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 150 คัน เพื่อขนส่งน้ำมันปาล์ม รวมถึงสินค้าแห้งและอื่นๆ

· บริษัท พี.ซี. มารีน (1992) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขนาดเรือ 1,800 – 3,100 ตัน ซึ่งสามารถขนส่งได้ทั้งของแห้งและของเหลว รวม 13 ลำ

สิงห์ เอสเตท รายงานรายได้รวมจากการขายและการบริการสำหรับปี 2566 จำนวน 14,675 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเด่นถึง 42% ด้วยแรงส่งสำคัญจากการเปิดตัว 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท มั่นใจปี 2567 โตแรงจากสินค้าพร้อมขายในระดับสูง ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งส่งผลให้ระดับรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ของโรงแรมในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 23% แรงส่งสำคัญคือการปรับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) ที่โดดเด่นจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผนและความสามารถในการดึงดูดลูกค้าตลาดใหม่

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประกาศรายได้รวมเติบโตขึ้น 17% สู่จำนวน 14,675 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 2566 จำนวน 240 ล้านบาท พร้อมเตรียมจ่ายปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2566 จำนวน 0.015 บาท ต่อหุ้น ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่12 มีนาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผล ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566

สำหรับรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ จำนวน 3,638 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 42% ซึ่งประกอบด้วย (1) ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยจำนวน 3,416 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการการรับรู้รายได้เต็มสัดส่วน จำนวน 919 ล้านบาท จากโครงการดิ เอส สุขุมวิท 36 ภายหลังสิงห์ เอสเตท เข้าถือหุ้น 100% เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวของดีมานด์กลุ่มคอนโดมิเนียม และการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบใหม่ โดยเฉพาะโครงการพร้อมโอน “ลาซัวว์ เดอ เอส” โครงการ Flagship Cluster Home ระดับอัลตร้าลักชัวรี่ และ “โครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1” บ้านแนวราบระดับลักชัวรี่ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีจำนวนรวมประมาณ 900 ล้านบาท และ (2) การรับรู้ค่าเช่าของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวจำนวน 175 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% มีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% สู่จำนวน 9,701 ล้านบาท หนุนจากทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมซึ่งคำนวณเฉพาะห้องพักที่เปิดให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 68% ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า ด้วยการปรับแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิผล มุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของโรงแรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสำเร็จสำคัญจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผน ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ที่ระดับ 5,675 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน สำหรับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จำนวน 1,060 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการส่งมอบพื้นที่เช่าของอาคารเอส โอเอซิส (S-OASIS)

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า “จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลิศ ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการอสังหาฯ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของ Portfolio อย่างเข้มข้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ บันทึกรายได้ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ควบคู่กับการคุมต้นทุนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับช่วงการขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ส่งผลให้เรามีผลกำไรสุทธิในปี จำนวน 240 ล้านบาท ด้วยความพร้อมทางการเงินและประสบการณ์ที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ รวมถึงการเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ เราประกาศจ่ายปันผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการปรับตัวทางธุรกิจ ทำให้เราสามารถช่วงชิงโอกาสได้ทันกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรม ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าแรงส่งจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อผลิตภัณฑ์ของสิงห์ เอสเตท ผนวกกับพัฒนาการสำคัญต่างๆ ที่เราได้สร้างไว้ในปี 2566 นี้ จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับผลประกอบการในปี 2567 โดยอธิบายได้ตามหมวดธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจที่พักอาศัย: เราเห็นกิจกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จำนวน 1,734 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของยอดโอนทั้งปีมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการรับรู้ Backlog ของโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส และการรับรู้ยอดโอนของโครงการใหม่ สริน ราชพฤกษ์สาย 1 ที่มีมูลค่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งพึ่งเปิดตัวในต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมมียอดโอนกรรมสิทธิ์ทันทีกว่า 12% ของมูลค่าโครงการซึ่งเราเชื่อว่ายอดโอนของทั้งสองโครงการนี้ในปี 2567 จะสามารถปิดได้ตามเป้าหมายของเราที่ 2,000 ล้านบาท หนุนด้วยโครงการใหม่ SHAWN ทั้งสองทำเล ปัญญาอินทรา และวงแหวนจตุโชติ มีมูลค่าโครงการรวมกันราว 4,600 ล้านบาท ที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี เสริมด้วยการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการ The Extro พญาไทรางน้ำ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และ ณ ปัจจุบัน มียอดขายรอรับรู้รายได้ของโครงการแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท

ธุรกิจโรงแรม: เราเห็นสัญญานบวกที่แข็งแกร่งในปี 2567 จากจำนวนนักท่องเที่ยว และความเต็มใจในการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิเช่น (1) โรงแรมในประเทศไทย ได้รับแรงสนับสนุนจากการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงตามแผน ทำให้ตอบโจทย์กับกระแสนิยมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สะท้อนอัตราการเข้าพักในเดือนมกราคมในปี 2567 ของโรงแรมทั้ง 4 แห่งในประเทศไทยสูงถึงกว่า 90% ประกอบกับแผนการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดที่เราเตรียมทำเพิ่มในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะสามารถผลักดันผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (2) สัญญานการตอบรับอย่างดีของโรงแรม SO/ Maldives จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ ชาวรัสเซีย สหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง รวมถึงยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่แข็งแกร่งตลอดช่วง High Season ของปี 2567 ของโรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และ โรงแรม Hard Rock Hotel Maldives และ (3) ความต้องการท่องเที่ยวในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมถึงศักยภาพในการเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือนมกราคมปี 2567 นี้ เราสามารถบริหารอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่า 70% และมีระดับ RevPAR ในเดือนมกราคม เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 43% เป็นต้น

ธุรกิจอาคารสำนักงาน: บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารอาคารสำนักงานทุกแห่งเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถรักษาอัตราการปล่อยเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ได้เป็นอย่างดีท่ามกลางภาวะการณ์ต่างๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการเช่าพื้นที่ของอาคาร S-OASIS ในปี 2567 นี้จะขับเคลื่อนผลประกอบการของธุรกิจอาคารสำนักงานได้อย่างมั่นคง

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม: บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตโดดเด่นในปี 2567 จากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สอดคล้องกับความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภค หนุนด้วยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำจากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 270 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดรากฐานทางธุรกิจอันมั่นคงที่ได้สร้างไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จะเดินหน้ามุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไรในปี 2567 ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอ และยกประสิทธิภาพในการทำกำไร ได้แก่ (1) การเปิดตัวโครงการอสังหาฯ เพื่อการพักอาศัยต่อเนื่องที่ระดับ 10,000 ล้านบาท การเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ รวมถึงการช่วงชิงโอกาสจากเรียลดีมานด์ที่เติบโตผ่านการพัฒนาโครงการเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นโครงการระดับบน จำนวนยูนิตไม่มากอยู่โซนพื้นที่ใกล้เมืองและพื้นที่เมืองชั้นใน และการเปิดโอกาสเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโต (2) การมุ่งเน้นการลงทุนในโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ และการยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านทางการบริการที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น (personalized experiences) รวมถึงนำเสนอ Brand Concept ใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับสากล (3) การมองหาโอกาสในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และ (4) การปรับแผนการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่องได้

“เรามีความมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องอีกครั้งนึง ผนวกกับการควบคุมค่าใช้จ่าย พร้อมผลักดันอัตราการทำกำไรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนและรับผิดชอบให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพันธสัญญาที่จะพัฒนาสินค้าและบริการอันเป็นเลิศ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า ดั่งที่ สิงห์ เอสเตท ได้ทำมาด้วยดีแล้วตลอด ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อเพิ่มความพร้อมในการสนับสนุนการขยายการเติบโตและการทำกำไรให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง” นางฐิติมา กล่าวเสริม

บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX ดิสทริบิวเตอร์ผู้นำด้านไอทีอีโคซิสเต็ม เดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยสินค้าและบริการครบวงจร ชูการบริหารจัดการ Product Mix ปรับสัดส่วนพอร์ตสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ด้านผลงานปี 66 มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่เกือบ 36,554 ล้านบาท กำไร 513 ล้านบาท ซึ่งเติบโตในกลุ่มสินค้าคอมเมอร์เชียล มือถือ และเกมมิ่ง ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสภาวะตลาด แต่เชื่อมั่นว่าปีนี้จะกลับมาดีขึ้น ด้านบอร์ดไฟเขียว อนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 8 พ.ค.นี้ หนุนทั้งปี 66 จ่ายเงินปันผลรวมในอัตราหุ้นละ 0.36 บาท ตอบแทนผู้ถือหุ้นที่เชื่อมั่น

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2566 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี บริษัทเน้นบริหารจัดการกลุ่มสินค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยโฟกัสสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียลที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วนรายได้เป็น 22% จาก 20% ในปี 2565 และกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากปีก่อนอยู่ที่ 36% ขณะที่ สินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์คาดสัดส่วนรายได้จะปรับลดลงอยู่ที่ 37% จากเดิม 42% เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง

สำหรับภาพรวมปี 2566 ซินเน็คฯ รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้จากการขายและให้บริการ 36,553.57 ล้านบาท ลดลง 6.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสามารถรักษาการเติบโตที่ดีของสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากยอดขายสินค้าแบรนด์ Apple และการเติบโตอย่างมากของสมาร์ทโฟนแบรนด์ HONOR ที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ที่มียอดขายมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียล ยังเติบโตจากกลุ่มสินค้าเน็ตเวิร์ค ทั้ง CISCO และ HUAWEI รวมถึงอุปกรณ์ IoT ในกลุ่มกล้องวงจรปิดทั้งในแบรนด์ HIKVISION และ DAHUA อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้รับปัจจัยกระทบจากสภาวะโดยรวมของตลาดที่ส่งผลถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์ ประเภทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เป็นผลให้รายได้สินค้ากลุ่มนี้ลดลง 16.29% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ด้านกำไรขั้นต้น อยู่ที่ 1,470.20 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 4.02% ลดลงจากปีก่อน 4.60% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทำให้ผู้จัดจำหน่ายมีข้อจำกัดในการกำหนดราคาขายของสินค้า อย่างไรก็ดีบริษัท ได้ปรับแผนกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นและเพิ่มกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มเกมมิ่ง เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำรงอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและแข่งขันได้

 สำหรับกำไรสุทธิ อยู่ที่ 513.3 ล้านบาท ลดลง 302.77 ล้านบาท หรือ 37.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุจาก ยอดขายและกำไรที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจากความผันผวนอย่างมากของค่าเงินบาท ซึ่งบริษัทฯ ยังคงประเมินความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์ดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆในการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี ทิศทางภาพรวมกลุ่มสมาร์ทโฟนยังคงเติบโตเป็นไฮไลท์ที่น่าจับตามอง หลังจากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 แบรนด์ชั้นนำต่างๆ มีการเปิดตัวสินค้ารุ่นเรือธงที่นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ และเทรนด์ AI Phone ที่เขย่าตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างน่าสนใจ และกลุ่มสินค้าคอมเมอร์เชียล (Commercial) ที่มองว่า จะยังรักษาการเติบโตที่ดี ส่วนสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ (Consumer) แม้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 กำลังซื้อลดลง แต่มองว่า ยังคงเป็นสินค้าจำเป็นและมีความต้องการเข้ามาตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงมองว่า ในปี 2567 สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยโค้งแรกของปีได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นของภาครัฐต่างๆ อาทิ โครงการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) ในไตรมาส 1/2567 และโครงการอื่นๆในอนาคตที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคให้เติบโตได้ และด้วยรากฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของซินเน็คฯ และความเชื่อมั่นภายใต้ตราสัญลักษณ์ “Trusted By Synnex” ที่รับประกันสินค้าไอทีกว่า 70 แบรนด์ชั้นนำระดับโลก ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วยศูนย์บริการทั่วประเทศที่ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า เมื่อซื้อสินค้าของซินเน็คฯ จะอุ่นใจได้ตลอดการใช้งานอย่างแน่นอน

“ในปี 2567 นี้ ซินเน็คฯ มองว่าเป็นอีกปีที่ท้าทายในการบริหารงานในช่วงการฟื้นตัวของเศษฐกิจและภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าไอที แต่เราก็คาดว่าน่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์การบริหาร Product Mix เพื่อปิดความเสี่ยง อีกทั้งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีของผู้บริโภคตามอายุการใช้งานตั้งแต่ช่วงของโควิด-19 และอัพเดตสินค้าตามเทรนด์ต่างๆ ซึ่งเราพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของเรา และนำมาซึ่งการเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางสาวสุธิดา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.36 บาท คิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 305.05 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.1 บาท โดยจะจ่ายปันผลส่วนที่เหลือ ในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 19 มีนาคม 2567 และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2567

Page 3 of 9
X

Right Click

No right click