SAWAD ปิดงบปี 66 ทำกำไรสุทธิรวม 5,254 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อจ่อพุ่งทะยานสู่ 100,000 ล้านบาท หลังควบรวมสินเชื่อเงินสดทันใจ ด้านผู้บริหาร ธิดา แก้วบุตตา ชี้ปี 67 เป็นขาขึ้นเต็มตัว จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงหนุนต้นทุนทางการเงินลด คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น พร้อมเบรกความเสี่ยงผ่านการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อคุมระดับ NPLs ตามกรอบ 3-4% ตั้งเป้าปีมังกรรุกตลาดอาเซียนและดันพอร์ตสินเชื่อขยายตัวอย่างต่ำ 20% ส่วนบอร์ดอนุมัติปันผลประจำปี 66 เป็นหุ้นด้วยอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล รอผู้ถือหุ้นไฟเขียว พร้อมจ่าย 23 พฤษภาคมนี้

ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีกำไรสุทธิรวม 5,254 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยราว 15,743.7 ล้านบาท และรายได้อื่นราว 3,170.8 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 18,914.5 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การเติบโตในปี 2566 มาจากธุรกิจหลักสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการควบรวมกิจการของบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ส่งผลให้รับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ผลักดันพอร์ตสินเชื่อทั้งปีขยายตัวสูงที่ระดับ 98,569 ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำรองลดลงเนื่องจากการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองพิเศษเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 จึงสนับสนุนให้ทั้งปีมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4/2566 มีรายได้ดอกเบี้ย 4,546 ล้านบาท และรายได้อื่นอยู่ที่ 769 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 5,313 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยขนาดของสินเชื่อคงเหลือที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง

“ปี 66 เป็นปีที่เราได้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่าช่วงโควิด อีกทั้งยังได้ซื้อคืนเงินสดทันใจเพื่อมาบริหารธุรกิจต่อ จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมของปีนี้โตขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมาก และในปี 67 เรายังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยยึดหลักเกณฑ์แบงก์ชาติในการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม ดังนั้นพอร์ตสินเชื่อปีนี้จะอยู่ในอัตราเติบโต 20-30% และคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในช่วง 3-4% ซึ่งเป็นระดับปกติของเครือศรีสวัสดิ์ในช่วงที่มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ส่วนปัจจัยหนุนคาดว่าปีนี้จะได้อานิสงส์ที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลด กอร์ปกับคุณภาพหนี้ที่ดีมากยิ่งขึ้นของพอร์ตโดยรวม ขณะเดียวกันมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยในบางผลิตภัณฑ์และเริ่มกลับมาโฟกัสในการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอาเซียนเพิ่ม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ธิดา กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจัดสรรกำไรประจำปี 2566 ด้วยการจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล โดยกำหนดเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุม โดยหากที่ประชุมอนุมัติ บริษัทจะดำเนินการกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 8 พ.ค. 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 23 พ.ค. 2567

“ธนาคารไทยเครดิต” ปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอ “CREDIT” ปลื้มกระแสตอบรับดี จากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงความสนใจและจองซื้อเข้ามาสัดส่วนสูงถึง 87% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ” หรือ “ธนาคารไทยเครดิต”) กล่าวว่า หลังจากปิดการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิตขอขอบคุณนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่เชื่อมั่น ทำให้การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของไทยเครดิตประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่มั่นคง และเติบโตสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในอุตสาหกรรม และศักยภาพการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ก้าวกระโดด ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม สะท้อนมาที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน ธนาคารไทยเครดิต ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันจองซื้อหุ้น IPO ในสัดส่วนประมาณ 87% และจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยประมาณ 13% คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7,369.60 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขายหุ้นที่ 29.00 บาทต่อหุ้น นับเป็น IPO กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในรอบ 10 ปีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อีกหนึ่งในความสำเร็จ คือความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมจำนวน 6 ราย อาทิ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation (IFC)) เป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก (“The World Bank Group” หรือ “WBG”) รวมทั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และ E.SUN Commercial Bank, Ltd. เป็นหนึ่งในธนาคารภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดที่มีสำนักงานใหญ่ในไต้หวัน ซึ่งกลุ่มสถาบันระดับโลกเหล่านี้เล็งเห็นวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิตที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนสู่สังคม ได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารฯ และผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายเป็นจำนวนรวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น คิดเป็นประมาณ 55% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด  โดย ธนาคารไทยเครดิต เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน ธนาคารไทยเครดิตจะนำไปใช้ขยายพอร์ตสินเชื่อ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำโมเดลทางธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) เป็นธนาคารที่พึ่งของชุมชนและการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ทั้งนี้ คาดว่าหุ้น CREDIT จะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

*การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ

“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าเคทีซีได้รับการประเมิน SET ESG Rating ระดับเรตติ้งสูงสุด AAA ในกลุ่มธุรกิจการเงิน และเป็นสมาชิกของดัชนี SETTHSI เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยเคทีซีจะมุ่งพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) ในรูปแบบของการจัดเรตติ้งโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ AAA, AA, A และ BBB โดยคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนผ่าน 50% ในแต่ละมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น มีผลกำไรสุทธิ 3 ใน 5 ปีย้อนหลัง ไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากหน่วยงานทางการ เป็นต้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิกในดัชนี SETESG เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน และเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้จัดการกองทุน มีข้อมูลใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา An Afternoon with Howard Marks: Navigating Market Realities Through Sea Change ฉายภาพการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ (Sea Change) ผ่านมุมมองกูรูการลงทุนระดับโลกอย่าง Howard Marks และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ โดยงานสัมมนานี้จัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้า Wealth Management แบบเอกซ์คลูซีฟ เพื่อยกระดับการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งไปสู่โอกาสระดับโลก ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

นาย Howard Marks ผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วม บริษัท โอ๊คทรี แคปิตอล แมเนจเมนท์ บริษัทจัดการสินทรัพย์ผู้นำด้านการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ของโลกกล่าวว่าปัจจุบันตลาดทุนอาจกำลังประสบกับ “การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่” (Sea Change) ครั้งที่ 3 การเปลี่ยนผ่านครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 1970-1980 ที่นักลงทุนได้เปิดรับแนวคิดว่าสามารถลงทุนในคุณภาพสินทรัพย์ระดับใดก็ได้ภายใต้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง การเปลี่ยนผ่านครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปี 1980-1990 หลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูง และธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงร้อยละ 20 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ก่อนจะปรับลดก่อให้เกิดยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากว่า 40 ปี สำหรับในปัจจุบัน สภาวะเงินเฟ้อระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยสูงอาจนับเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ที่นักลงทุนจำต้องปรับแนวคิดต่างไปจากเดิม อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปสำหรับสินทรัพย์ทุกประเภท ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ (Debt Investing) มีความน่าสนใจ และบ่งบอกว่ากลยุทธ์การลงทุนที่สามารถใช้ได้ดีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในอนาคตอีกต่อไป

ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่าผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ระดับโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ล้วนส่งผลกระทบมาถึงไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นการเปลี่ยนผ่านระดับโลก ประเทศไทยยังมีความท้าทายเฉพาะตัว อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง การพึ่งพาอุปสงค์จากภายนอกที่มากขึ้น และความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น การรับมือกับปัจจัยภายนอกอย่างประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก การทวงคืนตลาดการส่งออก การฟื้นคืนจำนวนนักท่องเที่ยว ตลอดจนการบริหารอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในด้านการศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การเมือง หรือโครงสร้างประชากรจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น

 

ทรู คอร์ปฯ มั่นใจคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่สั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องกรณีพิพาทระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับ กสทช. ไม่มีผลต่อการควบรวมของบริษัทที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และถูกต้องครบถ้วนตามกระบวนการทางกฎหมายเเล้ว

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ข้อมูลจาก https://www.trisrating.com/th/) รวมถึงหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ("ทรู”) ที่กำลังเสนอขายอยู่ ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ด้วยเหตุที่ว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และสถานะความเสี่ยงด้านธุรกิจและความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องข้างต้นของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ยื่นฟ้องโดยขาดอายุความไปแล้วเท่านั้น โดยที่ศาลปกครองชั้นต้นยังจะต้องพิจารณาประเด็นของคดีดังกล่าวต่อไปว่ามติรับทราบการควบรวมธุรกิจของ กสทช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับ กสทช. และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจใดๆ ของบริษัทฯ การควบรวมของ ทรู (เดิม) และดีแทค ได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเหมือนกับกระบวนการควบรวมธุรกิจที่ผ่านมาของบริษัทมหาชนซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคม อีกทั้งคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้อง กสทช. ดังกล่าวเป็นคดีที่มีประเด็นเดียวกันกับคดีที่ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลเห็นว่า มติรับทราบการควบรวมบริษัทของ กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว จีงไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการควบรวมธุรกิจของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นกำลังเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ให้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 5 ชุด อายุหุ้นกู้ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง 3.15-4.60% ต่อปี เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำที่มีศักยภาพ และความน่าเชื่อถือระดับ A+ (แนวโน้มอันดับเครดิต คงที่) โดยสามารถจองซื้อได้แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เท่านั้น โดยมีธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา ซีไอเอ็มบี ไทย และยูโอบี เป็นผู้จัดจำหน่าย รวมถึงการขายผ่านแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

Page 4 of 9
X

Right Click

No right click