ซึ่งจัดโดย Alibaba Global Initiatives (AGI) หน่วยงานฝึกอบรมระดับมืออาชีพของ อาลีบาบา กรุ๊ป ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
หลักสูตร ANT ประเทศไทย ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้นำทางธุรกิจได้เรียนรู้วิธีการที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อยกระดับธุรกิจในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหลักสูตรใหม่ล่าสุดซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ได้รวบรวมชุดหลักสูตรออนไลน์ที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายธุรกิจ อีกทั้งยังอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์และโอกาสในโลกอีคอมเมิร์ซหลังยุคโควิด ที่ภาคการค้าดิจิทัลท้องถิ่นควรนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจไปสู่ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
กลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยทั้งหมดที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้รับคัดเลือกมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การค้าปลีกออฟไลน์ อีคอมเมิร์ซ การค้าขาย เกษตรกรรม และเฮลธ์แคร์ เพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมออนไลน์ ในฐานะตัวแทนของธุรกิจทั้งแบบดั้งเดิมและดิจิทัล โดยตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ เนื้อหาของแต่ละเซสชั่นได้ครอบคลุมเรื่องเทรนด์และแนวปฏิบัติที่มีผลต่อการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ตลอดจนแนวทางและกรอบการทำงานสำหรับผู้ประกอบการ ที่จะนำไปสู่การสร้างธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัลปัจจุบัน
หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนี้ คือ ภวีร์รักษ์ รังนกใต้ ซีอีโอของ บริษัท ไทย บี.บี. ฟรุ๊ต จำกัด ธุรกิจขนมหวานที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 ปัจจุบันทางแบรนด์ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย อาทิ อมยิ้มแฮนเมด เยลลี่เปกติน และลูกอมฟังก์ชัน ทีให้คุณค่าสารอาหารมากกว่าแค่ความอร่อย โดยแรงผลักดันที่ทำให้เธอตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ANT มาจากเป้าหมายง่าย ๆ คือ ต้องการเรียนรู้วิธีการขายในยุคดิจิทัล
ต้องยอมรับนะคะว่าเราสามารถเอาตัวรอดมาได้ในช่วง 3 ปีของการระบาดใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแค่ธุรกิจขนาดย่อม แต่มันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลง และปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อจะอยู่รอดต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า การฝึกอบรมในโครงการ ANT ได้ตอกย้ำว่าทำไมดิฉันจำเป็นต้องนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และมันจะเป็นสิ่งใหม่ที่เราต้องเรียนรู้กันต่อไปค่ะ” คุณภวีร์รักษ์ กล่าว
“ถ้าให้ลึกลงไปอีก ต้องเรียนตามตรงว่าการทำงานในธุรกิจครอบครัวของตัวเองมามากกว่า 20 ปี ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองค่อย ๆ สูญเสียความรอบรู้ และความสนใจในเรื่องต่างๆ มากมายที่อยู่รอบตัวไป การอบรมครั้งนี้ได้จุดประกายให้ดิฉันอยากเปลี่ยนวิธีคิด และแนวทางการทำธุรกิจ มันกระตุ้นให้ดิฉันมองธุรกิจของตัวเองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และยังทำให้ดิฉันถามตัวเองว่า เราได้วางธุรกิจของเราไว้อย่างไรในโลกอนาคตอันใกล้นี้” คุณภวีร์รักษ์ กล่าวเสริม
ฐัช หัชลีฬหา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น (J&C) เป็นอีกหนึ่งผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นที่2 ที่เข้าร่วมโครงการ ANT ปีนี้ ปัจจุบัน J&C มุ่งมั่นส่งเสริมให้คนไทยในท้องถิ่นสามารถก้าวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนของตนเองได้ โดยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2544 บริษัทก็มีการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพลวัตทางสังคมอยู่เสมอ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ก็ถือเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความใส่ใจในการปรับตัวเพื่อก้าวข้ามไปอีกระดับ
“การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่มาพร้อมกับเรื่องบุคลากร เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ คือสิ่งที่องค์กรเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากจะขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิด-19 ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ANT โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะเดิม และเพิ่มเติมทักษะใหม่ของตัวเองครับ” คุณฐัชกล่าว
“ข้อคิดสำคัญที่ผมจะจดจำไปตลอดจากการอบรบครั้งนี้ คือ ตอนที่ผมตระหนักได้ว่าธุรกิจต่างๆ ไม่ควรมุ่งเน้นไปที่ “high tech” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “high touch” ด้วย ซึ่งก็คือ การตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของเรา เพราะมันความสำคัญพอ ๆ กับการสร้างผลกำไรครับ ด้วยหลักคิดนี้ ทำให้ผมต้องกลับมาแก้ไขค่านิยมหลักขององค์กร เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชน การทำให้ผู้คนมีความสุข และการพัฒนารูปแบบธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ของลูกค้าของเรา ผมมีความคาดหวังครับว่า การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกนี้ จะช่วยให้บริษัทของผมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ผู้เข้าร่วมทุกคนที่จบหลักสูตรจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมชุมชนผู้ประกอบการ AGI ซึ่งเป็นชุมชนที่จะทำให้พวกเขาสามารถสานต่อเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มีแพชชั่นและความคิดเหมือน ๆ กัน ตลอดจนได้รับโอกาสในการเข้ารวมโปรแกรมการเรียนรู้อื่น ๆ เช่น การสัมมนาออนไลน์ และได้รับจดหมายข่าว นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการอบรมที่มีศักยภาพโดดเด่นออกมาจากกลุ่ม ยังจะได้สิทธิ์เข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้แบบออฟไลน์ ซึ่งจัดที่สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ในเมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อทางการจีนยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง
โครงการ ANT เป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มของอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ต้องการขับเคลื่อนความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านการค้าและธุรกิจดิจิทัล นับตั้งแต่เปิดโครงการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2562 มีผู้ประกอบการไทยสำเร็จการศึกษาจากโครงการนี้แล้วจำนวน 142 ราย