เมื่อเอ่ยชื่อ “มือหนึ่ง” ในงานด้านบริหารองค์กรต่างชาติให้เติบโตในไทย อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ติดอันดับของนักบริหาร ที่สามารถปักธงสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะด้วยจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยที่สูงถึง 94% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ และด้วยจำนวนฐานผู้ใช้งานมากกว่า 41 ล้านคนนั้น วันนี้จึงมีความพร้อมที่จะพลิกมาเป็นอีกมิติของธุรกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแบบเต็มตัว และสร้างรายได้อย่างมหาศาล
อริยะ ฉายภาพถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจกับนิตยสาร MBA ว่า จากที่ไลน์เน้นเพียงเรื่องแชท หรือสติ๊กเกอร์ ปัจจุบันเป็นการขยายรูปแบบบริการ LINE ในไทยเป็น “ระบบนิเวศน์” ตั้งแต่เกม, ออนไลน์วิดีโอ, บริการข่าว, สติ๊กเกอร์, อีคอมเมิร์ซ หรือ Line@ สำหรับผู้ค้า ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และยังมี LINE MAN และยังจะเห็นจำนวนบริการที่ขยายอีกมากมาย ซึ่งวิธีการคิดทุกงานบริการที่เกิดขึ้น จะเห็นเป็นวงจร 3 สเต็ป คือ
- การคิดบริการใดขึ้นมา จุดเริ่มต้นต้องคิดว่าผู้บริโภค หรือผู้ใช้ต้องประทับใจ ต้องรู้สึกว่า “โดน” และ “ใช่” ตัวอย่างที่ดีก็คือ LINE MAN ที่ทำขึ้นมา ซึ่งวันนี้พิสูจน์ได้จากผู้บริโภคที่ยังพูดว่า คิดได้อย่างไร และทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นมาก ดังนั้นในวันที่ Launch LINE MAN ก็เห็นได้ว่าเราได้บริการที่ตอบโจทย์ และโดนใจผู้บริโภคคนไทย
- เมื่อรู้ว่าบริการไปได้ดี ขั้นตอนที่สองจะต้องขยายฐานลูกค้าไปให้ใหญ่ที่สุด เห็นได้จาก LINE TV, LINE Today เมื่อเราขยายฐานลูกค้าได้จำนวนมหาศาลแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสเต็ปที่ 3
- เริ่มสร้างรายได้ (Monetize ) เพราะวันที่บริการมีฐานลูกค้าเพียงพอแล้ว แบรนด์และธุรกิจต่างๆจะเริ่มเข้ามาหาเพราะอยากจะลงโฆษณาและสื่อสารกับลูกค้าของ LINE จังหวะนี้จึงเหมาะในการสร้างรายได้
เมื่อถามถึงคีย์สำคัญของการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำหรับ LINE แล้วนั้น อริยะ กล่าวว่ามี 3 ประการ ที่เชื่อมั่นว่า คีย์ต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีมาโดยตลอด ประการแรก คือ ความเข้าใจผู้บริโภค ถึงแม้จะฟังเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้จริง เนื่องจากไปเน้นแต่ที่โพรดักส์ของตนเอง สำหรับ LINE ไม่เน้นโพรดักส์ และไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นเซอร์วิสจากญี่ปุ่นที่นำมาใช้ต่อ แต่เราสร้างบริการใหม่ๆขึ้นมา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคน บนความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ทุกบริการที่มี เราไม่ใช่คนแรกที่ทำ ถามว่าทำไมประสบความสำเร็จ เป็นเพราะความเข้าใจในผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สำคัญของการเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยี
ประการที่สอง คือ การเข้าใจตลาด ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภค แต่ต้องเข้าใจทั้งวงการ ยิ่งมีบริการที่หลากหลาย ต้องมีความสามารถในการเข้าใจตลาดที่แตกต่าง เข้าใจในวงการที่เราอยู่ซึ่งหมายถึงวงการเทคโนยีอย่างถ่องแท้ และประการที่สาม คือ Speed, Scale และต้องกล้าคิด กล้าทำ การอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีที่เคลื่อนไหวเร็ว แน่นอนว่าต้องมีความเร็ว และที่มาเสริมคือการกล้าคิด กล้าทำ และทำให้ดีที่สุด เราอาจจะเริ่มสเกลที่เล็กแต่เราต้องมุ่งมั่นว่าเราไปใหญ่อย่างแน่นอน
ที่สำคัญและคนอื่นอาจมองข้ามคือ LINE มีความได้เปรียบอีกด้าน นั่นคือคาแรคเตอร์เฉพาะของเรา หมายถึง บราวน์ โคนี่ ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกส่วนที่เสริมในการเข้าใจผู้บริโภค สร้างความผูกพัน มีความเฟรนด์ลี่ เป็นกันเองกับผู้บริโภค ไม่ทำให้เทคโนโลยีดูหนัก เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้
CHANGE เป็นเรื่องธรรมดาแต่ประมาทไม่ได้
อริยะ กล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในยุคที่ถ้าอยู่นิ่ง เราจะตายทันที จะเห็นได้ว่าบางอุตสาหกรรมไม่ได้ไปต่อ แต่ถึงแม้การอยู่ในวงการเทคโนโลยีที่ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็อยู่ในความประมาทไม่ได้ ยิ่งอุตสาหกรรมที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีนั้น การเปลี่ยนแปลงยิ่งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 30-80 ปี การบอกให้เปลี่ยน เพราะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 นั้นเข้าใจได้ แต่การเคลื่อนขององค์กรเป็นไปอย่างยากลำบาก เปรียบได้กับการเลี้ยวเรือไททานิค โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดของคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด และจากประสบการณ์การพูดคุยกับลูกค้าและพันธมิตร สามารถสรุปได้ว่า ทุกคนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังมา อยู่ที่ว่าจะปรับตัวได้เร็วหรือไม่
การรับมือต่อความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนต้องมี แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก วิสัยทัศน์สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารรู้ว่าถึงเวลาที่องค์กรต้องปรับตัว ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่เปลี่ยน อย่างไรองค์กรก็ไม่เปลี่ยน เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนต้องเริ่มตั้งแต่ความคิด ไปสู่วัฒนธรรมขององค์กรด้วย
การที่วันนี้รายได้และกำไรยังดี อาจไม่สะท้อนถึงความยั่งยืนของธุรกิจ การมีวิสัยทัศน์จะเห็นว่าต้องเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลง และจะมองเห็นถึงคู่แข่งที่กำลังเข้ามา คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด คือคู่แข่งที่เราคุ้นเคยน้อยที่สุด คู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยี Disrupt เราได้ในทันที สร้างความเปลี่ยนแปลงจนเราหายไปได้เลย และต้องเข้าใจว่า Disruption ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการสร้างบิสิเนสโมเดลใหม่
อริยะกล่าวว่า ความได้เปรียบของเขาสำหรับ LINE นั้น ส่วนหนึ่งคือ พนักงานในองค์กรส่วนใหญ่อยู่ใน Millennials Generation ที่มีอายุเฉลี่ยในองค์กรอยู่ที่ประมาณ 30 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามีแต่คนที่อายุน้อย วันนี้ LINE ประเทศไทยมาถึงจุดที่มีทีมงานอยู่ 300 คน ซึ่งเป็นการผสมผสานและสมดุลย์ระหว่างคนรุ่นใหม่ กับคนที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบิน เมื่อมาเจอกัน เชื่อว่าจะสร้างทีมและวัฒนธรรมองค์กรที่น่าสนใจ
“เพราะเราให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และเราต่างมีจุดแข็งและจุดเด่นที่ต่างกัน จึงเกิดไอเดียใหม่ คนรุ่นใหม่จะไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าทำไม่ได้ เขาจะขอเหตุผลว่าทำไม ในเวลาเดียวกัน คนที่มีชั่วโมงบินจะคุ้นเคยกับการคุยกับพาร์ทเนอร์หรือผู้บริหารระดับสูง เมื่อต้องมีการทำงานร่วมกัน จึงเป็นจุดแข็งที่แตกต่างกัน การทำให้สองเจนเนอเรชั่นอยู่ด้วยกันได้ ถือเป็นจุดที่ลงตัวที่สุด”
จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ มักจะมีความเห็นว่า วันนี้ความท้าทายในหลายองค์กรของไทยคือ ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation gap” เพราะผู้บริหารในระดับสูงจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 50 – 60 ปี รองลงมาอยู่ที่ 40 ปี และที่เหลือจะเป็น 30 ปีบวกลบ จะเห็นว่ามี Gap ที่หายไป เมื่อผู้บริหารระดับสูงเกษียณ จึงขาดคนมาทดแทน อย่างไรก็ตาม อริยะกล่าวถึงแนวคิดนี้ว่าเป็นลักษณะแบบ Traditional ที่ปฏิบัติตามกันมา แต่ถ้าคิดแบบคนยุคใหม่ต้องคิดข้ามไป ให้ Fast track ให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้บริหาร ไม่ควรต้องคอยให้อายุถึง 40 – 50 ปี แต่ต้องสร้างให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ และอย่ามองว่ามี Generation Gap
การตัดสินใจของอริยะที่ก้าวมาร่วมกับ LINE ตั้งแต่วันแรกนั้น “เพราะที่นี่มีอะไรให้สร้างเยอะมาก ใครที่เป็นนักสร้างจะเอ็นจอยที่นี่ บังเอิญผมเป็นคนที่ชอบสร้าง ความสนุกมันจึงอยู่ตรงนี้ เราปั้นบริการใหม่ขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องไปขออนุญาตสำนักงานใหญ่ มีเพียง CEO ที่ถามเพียงแต่ว่าเมื่อไรจะสำเร็จ เราสร้างได้ เราลงทุนได้ ความยืดหยุ่นคือสิ่งที่ทำให้อยู่ตรงนี้แล้วเอ็นจอย ส่วนที่สองคือการที่เราเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของ LINE ทำให้เราได้รับการซัพพอร์ตมาก เพราะเราเป็นประเทศที่โดดเด่น จึงเป็นหน้าที่ต้องทำให้โดดเด่นมากขึ้น เราเป็นประเทศอันดับต้นขององค์กรอินเตอร์ จึงเป็นมิติที่ต่างกัน”
คีย์สำคัญของความสำเร็จ
ในด้านคีย์ของความสำเร็จ ที่อริยะเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ “ทีมงาน” ถึงแม้เราจะอยู่ในวงการเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เกิดได้ก็คือ “คน” ก็คือ “ทีม”
“ความสำเร็จวันนี้ พูดได้ว่าผมมีทีมงานที่เก่ง ที่พึ่งพาและไว้ใจได้ วันที่เข้ามาเราเป็นองค์กรที่เด็ก จนถึงวันนี้เราสร้างทีมขึ้นมาด้วยกัน ด้วยขนาดและจำนวนธุรกิจของ LINE ให้คิดและทำคนเดียวเป็นไปไม่ได้ หน้าที่หนึ่งของผมคือการสร้างทีมที่เก่ง และทำได้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง ตรงไหนที่ทำได้เราปล่อยได้ เราต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่งและมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความคิดของตนเอง ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็หารือกันได้ นี่คือความสนุกของการทำงานกับ Millennials เราสั่งเขาไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าเขาอยากได้อะไร ทำงานแบบไหน ซึ่งเหมาะกับสิ่งที่ LINE ต้องการด้วย”
ส่วนที่สองคือลูกค้า ทำอะไรต้องนึกถึงลูกค้า บริการที่สร้างขึ้นมาต้องดีที่สุด ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และคีย์สำเร็จเรื่องที่สาม คือ คิดอะไรก็ตาม อย่าคิดเล็ก ต้องคิดใหญ่เสมอ เน้นที่อิมแพค จะทำอะไรใช้วิธีการวัดผลความสำเร็จที่อิมแพค เพื่อเป็นการสรุปว่าที่เราทำนั้น เราทำให้กับผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่จำนวนเพียงแสนคนหรือล้านคน เราทำให้คนตั้งแต่ 10 – 40 ล้านคน จึงเป็นอิมแพคที่เราต้องมองให้มาก เราสามารถสร้างให้คนในระดับประเทศได้ เพราะเราเป็นแพลทฟอร์มที่เข้าถึงจำนวนคนที่มากที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิด เวลาที่คุยกับพาร์ทเนอร์ หรือมองเรื่องบริการใหม่ จะต้องมีคำถามว่า เราจะตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนเท่าไร ซึ่งจะเป็นข้อแรกในการพิจารณาว่าจะทำหรือไม่
บทบาทผู้นำต่อสังคม
อริยะ กล่าวว่า ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคม สิ่งที่อยากเห็นคืออยากให้มีผู้บริหารยุคใหม่มากขึ้น เพราะเราเข้ายุคเทคโนโลยี ผู้บริหารยุคใหม่ต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยี รูปแบบการคิดต้องเป็นรูปแบบที่ใหม่ สามารถสร้างบิสิเนสโมเดล ใหม่ และต้องไม่มีความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องคิดในเชิงรุก และต้องมองอะไรไกลขึ้น ไม่มองแค่ในประเทศ แต่ต้องมองอย่างน้อยระดับ Regional และไปไกลที่ Global ในที่สุด เพราะวันนี้เราอยู่ในยุคไร้พรมแดน คู่แข่งของเราคือประเทศอื่นๆ ถ้าประเทศไทยไม่สร้างความสามารถในการแข่งขัน จะไปต่ออย่างยากลำบาก
วันนี้ประเทศไทยขาดคนที่เข้าใจยุค 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีแต่ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม จึงอยากเห็นผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อพาทั้งองค์กรและประเทศไปได้ไกล เพราะเราต้องคิดรูปแบบใหม่ จึงต้องใช้คนรุ่นใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องสร้างขึ้น และเราไม่ได้ขาดเฉพาะผู้บริหาร เรายังขาดอีกหลายส่วน ทั้งความรู้ทางด้านเทคโนโลยี นักพัฒนา Data Scientist หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ออกแบบวิธีการจัดเก็บ และเรียกใช้งานข้อมูล ซึ่งคนอาชีพใหม่ๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเดินหน้าอย่างเร่งด่วน