×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

เมื่อเอ่ยชื่อ มือหนึ่งในงานด้านบริหารองค์กรต่างชาติให้เติบโตในไทย อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ติดอันดับของนักบริหาร ที่สามารถปักธงสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะด้วยจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยที่สูงถึง 94% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ และด้วยจำนวนฐานผู้ใช้งานมากกว่า 41 ล้านคนนั้น วันนี้จึงมีความพร้อมที่จะพลิกมาเป็นอีกมิติของธุรกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแบบเต็มตัว และสร้างรายได้อย่างมหาศาล

อริยะ ฉายภาพถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจกับนิตยสาร MBA ว่า จากที่ไลน์เน้นเพียงเรื่องแชท หรือสติ๊กเกอร์ ปัจจุบันเป็นการขยายรูปแบบบริการ LINE ในไทยเป็น “ระบบนิเวศน์” ตั้งแต่เกม,  ออนไลน์วิดีโอ,  บริการข่าว, สติ๊กเกอร์,  อีคอมเมิร์ซ หรือ Line@ สำหรับผู้ค้า ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และยังมี LINE MAN และยังจะเห็นจำนวนบริการที่ขยายอีกมากมาย  ซึ่งวิธีการคิดทุกงานบริการที่เกิดขึ้น จะเห็นเป็นวงจร 3 สเต็ป คือ   

  1. การคิดบริการใดขึ้นมา จุดเริ่มต้นต้องคิดว่าผู้บริโภค หรือผู้ใช้ต้องประทับใจ ต้องรู้สึกว่า “โดน” และ “ใช่” ตัวอย่างที่ดีก็คือ LINE MAN ที่ทำขึ้นมา ซึ่งวันนี้พิสูจน์ได้จากผู้บริโภคที่ยังพูดว่า คิดได้อย่างไร และทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นมาก ดังนั้นในวันที่ Launch LINE MAN ก็เห็นได้ว่าเราได้บริการที่ตอบโจทย์ และโดนใจผู้บริโภคคนไทย
  2. เมื่อรู้ว่าบริการไปได้ดี ขั้นตอนที่สองจะต้องขยายฐานลูกค้าไปให้ใหญ่ที่สุด เห็นได้จาก LINE TV, LINE Today เมื่อเราขยายฐานลูกค้าได้จำนวนมหาศาลแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสเต็ปที่ 3
  3. เริ่มสร้างรายได้ (Monetize ) เพราะวันที่บริการมีฐานลูกค้าเพียงพอแล้ว แบรนด์และธุรกิจต่างๆจะเริ่มเข้ามาหาเพราะอยากจะลงโฆษณาและสื่อสารกับลูกค้าของ LINE จังหวะนี้จึงเหมาะในการสร้างรายได้

เมื่อถามถึงคีย์สำคัญของการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำหรับ LINE แล้วนั้น อริยะ กล่าวว่ามี 3 ประการ ที่เชื่อมั่นว่า คีย์ต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีมาโดยตลอด ประการแรก คือ ความเข้าใจผู้บริโภค ถึงแม้จะฟังเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้จริง เนื่องจากไปเน้นแต่ที่โพรดักส์ของตนเอง สำหรับ LINE ไม่เน้นโพรดักส์ และไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นเซอร์วิสจากญี่ปุ่นที่นำมาใช้ต่อ แต่เราสร้างบริการใหม่ๆขึ้นมา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคน บนความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ทุกบริการที่มี เราไม่ใช่คนแรกที่ทำ ถามว่าทำไมประสบความสำเร็จ เป็นเพราะความเข้าใจในผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สำคัญของการเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยี

ประการที่สอง คือ การเข้าใจตลาด ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภค แต่ต้องเข้าใจทั้งวงการ ยิ่งมีบริการที่หลากหลาย ต้องมีความสามารถในการเข้าใจตลาดที่แตกต่าง เข้าใจในวงการที่เราอยู่ซึ่งหมายถึงวงการเทคโนยีอย่างถ่องแท้  และประการที่สาม คือ Speed, Scale และต้องกล้าคิด กล้าทำ การอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีที่เคลื่อนไหวเร็ว แน่นอนว่าต้องมีความเร็ว และที่มาเสริมคือการกล้าคิด กล้าทำ และทำให้ดีที่สุด เราอาจจะเริ่มสเกลที่เล็กแต่เราต้องมุ่งมั่นว่าเราไปใหญ่อย่างแน่นอน

ที่สำคัญและคนอื่นอาจมองข้ามคือ LINE มีความได้เปรียบอีกด้าน นั่นคือคาแรคเตอร์เฉพาะของเรา หมายถึง บราวน์  โคนี่ ฯลฯ  ซึ่งเป็นอีกส่วนที่เสริมในการเข้าใจผู้บริโภค สร้างความผูกพัน มีความเฟรนด์ลี่ เป็นกันเองกับผู้บริโภค ไม่ทำให้เทคโนโลยีดูหนัก เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้



 

CHANGE เป็นเรื่องธรรมดาแต่ประมาทไม่ได้

อริยะ กล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในยุคที่ถ้าอยู่นิ่ง เราจะตายทันที จะเห็นได้ว่าบางอุตสาหกรรมไม่ได้ไปต่อ  แต่ถึงแม้การอยู่ในวงการเทคโนโลยีที่ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็อยู่ในความประมาทไม่ได้ ยิ่งอุตสาหกรรมที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีนั้น การเปลี่ยนแปลงยิ่งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 30-80 ปี การบอกให้เปลี่ยน เพราะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0  นั้นเข้าใจได้ แต่การเคลื่อนขององค์กรเป็นไปอย่างยากลำบาก เปรียบได้กับการเลี้ยวเรือไททานิค โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดของคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด และจากประสบการณ์การพูดคุยกับลูกค้าและพันธมิตร สามารถสรุปได้ว่า ทุกคนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังมา อยู่ที่ว่าจะปรับตัวได้เร็วหรือไม่

การรับมือต่อความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนต้องมี  แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก  วิสัยทัศน์สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารรู้ว่าถึงเวลาที่องค์กรต้องปรับตัว ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่เปลี่ยน อย่างไรองค์กรก็ไม่เปลี่ยน เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนต้องเริ่มตั้งแต่ความคิด ไปสู่วัฒนธรรมขององค์กรด้วย

การที่วันนี้รายได้และกำไรยังดี อาจไม่สะท้อนถึงความยั่งยืนของธุรกิจ การมีวิสัยทัศน์จะเห็นว่าต้องเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลง และจะมองเห็นถึงคู่แข่งที่กำลังเข้ามา คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด คือคู่แข่งที่เราคุ้นเคยน้อยที่สุด  คู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยี Disrupt  เราได้ในทันที สร้างความเปลี่ยนแปลงจนเราหายไปได้เลย  และต้องเข้าใจว่า Disruption ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการสร้างบิสิเนสโมเดลใหม่

อริยะกล่าวว่า ความได้เปรียบของเขาสำหรับ LINE นั้น ส่วนหนึ่งคือ พนักงานในองค์กรส่วนใหญ่อยู่ใน Millennials Generation ที่มีอายุเฉลี่ยในองค์กรอยู่ที่ประมาณ 30 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามีแต่คนที่อายุน้อย วันนี้ LINE ประเทศไทยมาถึงจุดที่มีทีมงานอยู่ 300 คน ซึ่งเป็นการผสมผสานและสมดุลย์ระหว่างคนรุ่นใหม่ กับคนที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบิน  เมื่อมาเจอกัน เชื่อว่าจะสร้างทีมและวัฒนธรรมองค์กรที่น่าสนใจ

“เพราะเราให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และเราต่างมีจุดแข็งและจุดเด่นที่ต่างกัน จึงเกิดไอเดียใหม่ คนรุ่นใหม่จะไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าทำไม่ได้ เขาจะขอเหตุผลว่าทำไม ในเวลาเดียวกัน คนที่มีชั่วโมงบินจะคุ้นเคยกับการคุยกับพาร์ทเนอร์หรือผู้บริหารระดับสูง เมื่อต้องมีการทำงานร่วมกัน จึงเป็นจุดแข็งที่แตกต่างกัน การทำให้สองเจนเนอเรชั่นอยู่ด้วยกันได้ ถือเป็นจุดที่ลงตัวที่สุด”

จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ  มักจะมีความเห็นว่า วันนี้ความท้าทายในหลายองค์กรของไทยคือ ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation gap” เพราะผู้บริหารในระดับสูงจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 50 – 60 ปี รองลงมาอยู่ที่ 40 ปี และที่เหลือจะเป็น 30 ปีบวกลบ  จะเห็นว่ามี Gap ที่หายไป เมื่อผู้บริหารระดับสูงเกษียณ จึงขาดคนมาทดแทน อย่างไรก็ตาม อริยะกล่าวถึงแนวคิดนี้ว่าเป็นลักษณะแบบ Traditional ที่ปฏิบัติตามกันมา แต่ถ้าคิดแบบคนยุคใหม่ต้องคิดข้ามไป ให้ Fast track ให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้บริหาร ไม่ควรต้องคอยให้อายุถึง  40 – 50 ปี แต่ต้องสร้างให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ และอย่ามองว่ามี Generation Gap

การตัดสินใจของอริยะที่ก้าวมาร่วมกับ LINE ตั้งแต่วันแรกนั้น  “เพราะที่นี่มีอะไรให้สร้างเยอะมาก ใครที่เป็นนักสร้างจะเอ็นจอยที่นี่ บังเอิญผมเป็นคนที่ชอบสร้าง ความสนุกมันจึงอยู่ตรงนี้ เราปั้นบริการใหม่ขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องไปขออนุญาตสำนักงานใหญ่ มีเพียง CEO ที่ถามเพียงแต่ว่าเมื่อไรจะสำเร็จ เราสร้างได้ เราลงทุนได้ ความยืดหยุ่นคือสิ่งที่ทำให้อยู่ตรงนี้แล้วเอ็นจอย ส่วนที่สองคือการที่เราเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของ LINE ทำให้เราได้รับการซัพพอร์ตมาก เพราะเราเป็นประเทศที่โดดเด่น จึงเป็นหน้าที่ต้องทำให้โดดเด่นมากขึ้น  เราเป็นประเทศอันดับต้นขององค์กรอินเตอร์ จึงเป็นมิติที่ต่างกัน”

 

 

คีย์สำคัญของความสำเร็จ

ในด้านคีย์ของความสำเร็จ ที่อริยะเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ “ทีมงาน”  ถึงแม้เราจะอยู่ในวงการเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เกิดได้ก็คือ “คน”  ก็คือ “ทีม”

“ความสำเร็จวันนี้ พูดได้ว่าผมมีทีมงานที่เก่ง ที่พึ่งพาและไว้ใจได้ วันที่เข้ามาเราเป็นองค์กรที่เด็ก จนถึงวันนี้เราสร้างทีมขึ้นมาด้วยกัน ด้วยขนาดและจำนวนธุรกิจของ LINE ให้คิดและทำคนเดียวเป็นไปไม่ได้ หน้าที่หนึ่งของผมคือการสร้างทีมที่เก่ง และทำได้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง ตรงไหนที่ทำได้เราปล่อยได้ เราต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่งและมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความคิดของตนเอง ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็หารือกันได้ นี่คือความสนุกของการทำงานกับ Millennials เราสั่งเขาไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าเขาอยากได้อะไร ทำงานแบบไหน ซึ่งเหมาะกับสิ่งที่ LINE ต้องการด้วย”

ส่วนที่สองคือลูกค้า ทำอะไรต้องนึกถึงลูกค้า บริการที่สร้างขึ้นมาต้องดีที่สุด ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และคีย์สำเร็จเรื่องที่สาม คือ คิดอะไรก็ตาม อย่าคิดเล็ก ต้องคิดใหญ่เสมอ เน้นที่อิมแพค จะทำอะไรใช้วิธีการวัดผลความสำเร็จที่อิมแพค เพื่อเป็นการสรุปว่าที่เราทำนั้น เราทำให้กับผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่จำนวนเพียงแสนคนหรือล้านคน เราทำให้คนตั้งแต่ 10 – 40 ล้านคน จึงเป็นอิมแพคที่เราต้องมองให้มาก เราสามารถสร้างให้คนในระดับประเทศได้ เพราะเราเป็นแพลทฟอร์มที่เข้าถึงจำนวนคนที่มากที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิด เวลาที่คุยกับพาร์ทเนอร์ หรือมองเรื่องบริการใหม่ จะต้องมีคำถามว่า เราจะตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนเท่าไร ซึ่งจะเป็นข้อแรกในการพิจารณาว่าจะทำหรือไม่

บทบาทผู้นำต่อสังคม

อริยะ กล่าวว่า ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคม สิ่งที่อยากเห็นคืออยากให้มีผู้บริหารยุคใหม่มากขึ้น  เพราะเราเข้ายุคเทคโนโลยี ผู้บริหารยุคใหม่ต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยี รูปแบบการคิดต้องเป็นรูปแบบที่ใหม่ สามารถสร้างบิสิเนสโมเดล ใหม่ และต้องไม่มีความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องคิดในเชิงรุก และต้องมองอะไรไกลขึ้น ไม่มองแค่ในประเทศ แต่ต้องมองอย่างน้อยระดับ Regional และไปไกลที่ Global  ในที่สุด เพราะวันนี้เราอยู่ในยุคไร้พรมแดน  คู่แข่งของเราคือประเทศอื่นๆ ถ้าประเทศไทยไม่สร้างความสามารถในการแข่งขัน จะไปต่ออย่างยากลำบาก

วันนี้ประเทศไทยขาดคนที่เข้าใจยุค 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีแต่ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม จึงอยากเห็นผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อพาทั้งองค์กรและประเทศไปได้ไกล เพราะเราต้องคิดรูปแบบใหม่ จึงต้องใช้คนรุ่นใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องสร้างขึ้น และเราไม่ได้ขาดเฉพาะผู้บริหาร เรายังขาดอีกหลายส่วน ทั้งความรู้ทางด้านเทคโนโลยี  นักพัฒนา  Data Scientist หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ออกแบบวิธีการจัดเก็บ และเรียกใช้งานข้อมูล ซึ่งคนอาชีพใหม่ๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเดินหน้าอย่างเร่งด่วน

ทุกอุตสาหกรรม ถูกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้น เช่นเดียวกับวงการโฆษณา ที่มี ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือ หมอคิด ผู้บริหารหนุ่มที่เป็นคลื่นลูกใหม่มากด้วยประสบการณ์ความรู้ และความสามารถอันน่าติดตามถึงวิสัยทัศน์ และแนวคิดที่โดดเด่นทำให้ก้าวสู่บทบาทผู้นำได้อย่างรวดเร็ว

จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับโลกจิทัลของหมวกใบแรก คือ การบริหารธุรกิจบริษัทดิจิทัลเอเจนซี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ MCFiva Thailand จำกัด และหมวกอีกใบ ในตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล จึงได้นำมาแบ่งปัน มุมมองการเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล ที่ต้องมีการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้นิตยสาร MBA ว่า โจทย์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ที่เป็นหัวใจซึ่งผู้นำธุรกิจในวันนี้ต้องมี คือ ตอบให้ได้ว่า “จะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรามีความเชื่อมโยง หรือ relevance กับโลกดิจิทัล”

เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างมาก ให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น เฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์  มีจุดเด่นที่ทำให้สามารถติดตามเรื่องราวของเพื่อนได้ เมื่อใช้จะรู้สึกได้ว่ามีความสัมพันธ์กัน นั่นคือมีความเชื่อมโยง ยิ่งพฤติกรรมผู้คนในปัจจุบันมีลักษณะ On the go กดโทรศัพท์ ต้องมีการอัพเดทรับรู้ข่าวสารตลอดเวลาว่ามีเหตุการณ์อะไรจะต้องปรับตัวอย่างไร

 ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ ต้องย้อนกลับไปมองว่า ธุรกิจของเรามีความเชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับโลกดิจิตอลหรือไม่

กรณีอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น GRAB หรือ UBER ก็มีความความเชื่อมโยง เพราะเป็นระบบการให้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน เช่นเดียวกับการปรับตัวของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่วันนี้เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนเดินเข้าร้านหนังสือมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ในกรณีสื่อโทรทัศน์ก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะจากในอดีตที่แอร์ไทม์เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ทุกคนต้องแย่งกัน เมื่อวันนี้เป็นการเปิดเสรีจาก 5 ช่องมีถึง 24 ช่อง ทลายข้อจำกัดเดิม จึงเป็นความท้าทายใหม่ในการสร้าง การเชื่อมโยงของช่องกับผู้บริโภคอีกเช่นกัน

 

 

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเอเจนซี

นับว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณาโดยตรงและอย่างรุนแรง

หมอคิด เล่าถึงธุรกิจเอเยนซีโฆษณาว่า ในอดีตบางบริษัทฯ จะกำหนดบทบาทเน้นเรื่องของครีเอทีฟ ทำหนังโฆษณา ซึ่งเป็นที่นิยมมาก แต่ปัจจุบันเมื่อเจ้าของแบรนด์ลดปริมาณการทำหนังโฆษณาลง เพราะผู้บริโภคดูโทรทัศน์น้อยลง จากหลายทางเลือกของสื่อโฆษณาอื่นและการดู on demand จากสมาร์ทโฟน  ซึ่งนอกจากจะเป็นความท้าทายของช่องเพื่อสร้าง relevance กับคนยุคใหม่แล้วนั้น การลดจำนวนหนังโฆษณา ก็ถือเป็นความท้าทายให้กับครีเอทีฟเอเจนซี่  

ฝั่งของมีเดียเอเจนซี จากในอดีตที่สื่อมีจำนวนมาก จำเป็นต้องมีคนกลางในการติดต่อประสานงาน แต่วันนี้ภาพเปลี่ยนไป การติดต่อกับมีเดียที่เป็นดิจิทัลสามารถทำได้ในคลิกเดียว มีเดียเอเจนซีจึงต้องทำให้ตนเองมีบทบาทมากขึ้นกับลูกค้า การค้นหา relevancy จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทุกธุรกิจ

“ แบรนด์ยักษ์ใหญ่เล็งเห็นเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ใน 5 ปีที่ผ่านมาคือรายได้ของบริการ Voice เติบโตช้าลงจากที่คาดการณ์ ในขณะที่บริการ Non voice การใช้ Data มีอัตราการขยายอย่างต่อเนื่อง โอเปอร์เรเตอร์จึงต้องหันมามองว่า จะขับเคลื่อนอย่างไรให้ Non voice เติบโต มีการทำคอนเทนต์ให้คนเข้าไปเสพ มีแอพพลิเคชั่นเพิ่มมากขึ้น”

เห็นได้ชัดว่ามีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นอย่างมากมายในวงการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ  ที่โอเปอร์เรเตอร์ทุกรายหันมาทำ เมื่อมีคอนเทนต์มากขึ้น คนก็บริโภคข้อมูล (Data) มากขึ้น นั่นคือหนทางรอด จากนั้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่มองเห็นวิกฤติ และมีการปรับตัวคืออุตสาหกรรมไฟแนนซ์และแบงก์กิ้ง ทำให้เราได้รู้จัก FinTech ที่วันนี้ทุกธนาคารหันมาทำ เพื่อสร้าง ความเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล

“ ต้องทำความเข้าใจว่าเมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากขึ้น ตัวกลางที่ไม่มี Value จะถูกกำจัดออกไปจาก Ecosystem ซึ่งธนาคารมองเห็นถึงภาพนี้ จึงต้องมีการปรับตัว”

 

ชี้ชัด “ความเปลี่ยนแปลง” มากขึ้นแบบคงที่

แนวโน้มที่จะขึ้นหลังจากนี้ไปนั้น หมอคิด กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจะเข้ามาแบบถาโถม ไม่ต่างจากในปัจจุบัน ทั้งข้อมูลต่างๆที่มีมหาศาล แอพพลิเคชั่น และคอนเทนต์ ซึ่งจำนวนจะทวีคูณไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เรื่องใหม่ๆจะเกิดขึ้นมาทุกวัน และไม่รู้จบ จึงไม่ควรต้องแปลกใจอีกต่อไป

ในบทบาทผู้นำองค์กร ต้องมีการปรับตัว โดยเริ่มตั้งแต่ในระดับองค์กร คือ วัฒนธรรมองค์กร (Culture) ต้องมีการปรับให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างจากวัฒนธรรมองค์กรของเฟสบุ๊คคือ “Move Fast and Break things”  ซึ่งเป็นนิยามที่ชัดเจน เพราะเมื่อเราเคลื่อนตัวเร็ว จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความเสียหายไปบ้าง  แต่ต้องเข้าใจถึงความจำเป็น เพราะปัจจุบันไม่ใช่ยุคของ Economy of Scale หรือปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของ Economy of Speed คือปลาเร็วกินปลาช้า  

 

 

วิธีคิดของผู้บริหารในยุคใหม่

การเปลี่ยนวัฒนธรรม (Culture) ขององค์กร ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด หรือ Mindset ของผู้บริหาร สิ่งที่ผู้บริหารยุคปัจจุบันควรจะเป็น คือ Prefer Risk over safety กล่าวง่ายก้าวอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปรับมุมคิดอย่างมาก ระบบการตรวจสอบแบบเดิมที่องค์กรใหญ่ต้องมีนั้นเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน Audit, Due Diligence (การสอบทานธุรกิจ) , Compliance (ดูแลการปฏิบัติงาน) แต่ต้องมองถึงวิธีการที่จะทำให้รวดเร็วมากขึ้น ไม่ติดกับระบบกึ่งราชการแบบเดิมๆ (Bureaucracy )

ปัจจุบันต้นทุนของนวัตกรรมลดลงอย่างรวดเร็วมาก หากผู้บริหารยังมี Mindset แบบเดิม จะทำให้ทั้งองค์กรช้าและไม่ทันอุตสาหกรรม  นอกจากนี้โดยปกติผู้บริหารหรือผู้ที่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดในองค์กรมักจะเป็นผู้ตัดสินใจ (HIPPO – Highest paid person’s opinion) ซึ่งในยุคนี้ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

แต่ยุคนี้เป็นยุคของการใช้ข้อมูล เพื่อเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ โดยผู้บริหารปรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง (Facilitator) และคนในทีมช่วยกันกำหนดทิศทางโดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์

ประการสุดท้ายคือผู้บริหารต้องเป็นผู้ริเริ่มและลงมือทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การทำให้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ทุกคนในองค์กรรับรู้ได้ ไม่ใช่เพียงแต่ประชุม และสั่งการลงไป

 

Partner บน Goal เดียวกัน

เช่นเดียวกับในองค์กรของ หมอคิด กล่าวว่าได้คุยกับคนในองค์กรถึงการมอง ธุรกิจของเรามีความเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลอย่างไรในสถานการณ์วันนี้ ด้วยธุรกิจหลักที่เป็นเอเจนซี และแม้จะมีความโดดเด่นทางด้านดิจิทัล แต่การจะทำให้ดีได้นั้น อยู่ที่คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า และเป็นสิ่งที่ทำให้อยู่รอดได้ เมื่อมามองถึง relevance กับลูกค้า ก็ได้เปลี่ยนมุมมองจาก “ผู้ให้บริการ”  มาเป็น  พันธมิตรทางธุรกิจ หรือ Partner กับลูกค้า โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน 

“ การใช้คำว่า Partner อาจฟังดูง่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าจะมองอย่างจริงจัง เอเจนซีที่กล่าวว่าเป็น Partner กับลูกค้า อาจไม่มี Goal เดียวกันเสมอไป เพราะเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายคือทำกำไรสูงสุด ซึ่งขัดกันเองตั้งแต่ต้น จึงต้องเปลี่ยนภาพและ Business Model ว่าจะทำอย่างไรที่จะมีกำไร บนเป้าหมายเดียวกัน ”

กรณีผลงานใน 2560  ที่ได้เริ่มก่อตั้ง “RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพ ซึ่งมีจุดเด่น คือ สามารถสร้าง Relevance กับลูกค้าได้ด้วยนวัตกรรม และลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์ก็สามารถส่งมอบนวัตกรรมไปยังผู้บริโภค เพื่อสร้างความสัมพันธ์ได้ โดยได้เริ่มดำเนินการกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งศูนย์เร่งสปีดนวัตกรรม FinTech เป็นแห่งแรกในประเทศ ชื่อโครงการ "Krungsri RISE Fintech Accelerator"  มีการรับสมัคร Start up มาจำนวนประมาณ  15 บริษัท เพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจของธนาคาร มองหาว่าส่วนที่สามารถเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ธนาคาร และสตาร์ทอัพทำให้เกิด Win-Win-Win บริษัทฯ win ที่สามารถจับคู่เข้าด้วยกันได้ ธนาคาร Win เพราะได้ธุรกิจใหม่ และยังเพิ่มรายได้ให้ สตาร์ทอัพมีลูกค้าในกลุ่ม Corporate รอดจากจุดตายของสตาร์ทอัพที่มักจะไม่ผ่านช่วงแรก เนื่องจากไม่มีลูกค้า หรือไม่มีทุนไปต่อ

หมอคิด ทิ้งท้ายถึงปรัชญาการทำงาน โดยกล่าวว่าพยายามทำเป็นตัวอย่างมากที่สุด คือ พยายามสร้าง Impact ทำอย่างไรให้เราเอง relevance กับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมนี้ จะทำอย่างไรให้เกิด Impact กับสังคม และประเทศที่เราอยู่ ซึ่งในที่สุดแล้ว มีความเชื่อว่าจะนำไปสู่ win-win เช่นกัน

 ถ้าเรามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเราสามารถขับเคลื่อนให้สิ่งที่เราทำอยู่นั้นเกิด Impact กับสังคมได้นั้น เรียกว่าเป็น Inspire ที่ดีทีเดียว”  และที่สำคัญเมื่อคิดได้แล้วต้องทำ ลงมือทำ และไม่ต้องกลัวการล้มเหลว เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนเป็น Fail Fast เราสามารถรู้ได้ในเวลาอันสั้นว่า สิ่งที่ทำมันเวิร์คหรือไม่ ถ้าไม่เวิร์คก็ลองใหม่

เปิดแนวคิดผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จ ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  โค้ชหญิงแถวหน้าของไทย หนึ่งเดียวในขณะนี้ที่ได้รับเลือกจาก ดร. มาแชล โกลด์สมิท (นักพัฒนาภาวะผู้นำ และโค้ชของผู้บริหารอันดับหนึ่งของโลก) ให้เป็น 1 ใน 100 โค้ช และได้รับเกียรติเข้าร่วมโครงการประชุม (MG 100 - Marshall Goldsmith 100 Coaches) ที่ธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  เพื่อนำความรู้มาแบ่งปันในการพัฒนาสังคมต่อไป

ด้วยความเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์จากเวทีระดับโลก นำมาสู่รางวัลยิ่งใหญ่ที่ได้รับอีกครั้งกับ Woman Leadership Award จากเวที Thailand's Woman Leader Award 2018 จัดโดย CMO Asia เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 รางวัลแห่งความภูมิใจนี้ นับว่าการันตีได้ถึงฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

จากที่นิตยสาร MBA ได้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการทำงานของผู้บริหารหญิง ซึ่งดำเนินธุรกิจด้าน Training, Coaching and Consulting ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมากระทั่งก้าวขึ้นสู่ปีที่ 12 นี้คือ การมีคีย์ Success ของการเป็นผู้นำทางธุรกิจ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญของการไปสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมโดยมี 2 ข้อหลัก

ประการแรก คือ ต้องมี Agility ซึ่งหมายถึงความปราดเปรียว และคล่องแคล่วในการเปลี่ยนแปลง เพราะความล่าช้าจะทำให้เราหายไปจากธุรกิจได้ทันที ประการที่สอง คือ ความสามารถของผู้นำในการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงขององค์กร ถึงแม้องค์กรส่วนใหญ่ ผู้นำตระหนักและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง แต่นั่นไม่เพียงพอ ยังต้องสามารถนำให้คนและทีมงานในองค์กรพร้อมและเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันได้ด้วย

ดร.อัจฉรา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า บริษัทที่อยู่รอดเพราะการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา มีให้เห็นในหลายอุตสาหกรรม ดังจะเห็นจากการขยายหรือปรับสินค้าและบริการให้ต่างไป (Diversify) เพื่อทดแทนสินค้าหลักที่ล้าสมัยจนกลายเป็นทางอยู่รอด และประการที่สำคัญ คือ ผู้นำต้องไม่ติด “กับดัก” ในความสำเร็จเก่าที่ไปต่อไม่ได้

 

ปัญหาที่องค์กรธุรกิจในไทยยังเผชิญคือ ถึงแม้จะเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงให้ได้ทันเวลา  แต่ยังคงใช้วิธีการพัฒนาภาวะผู้นำในโมเดลเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก คือการพัฒนาผู้นำให้เป็นฮีโร่ ฉายเดี่ยว และควบคุมทุกอย่างในองค์กร

การนำรูปแบบนี้มาใช้นั้น ถือว่าไม่สอดคล้องกับยุคสมัยนี้อีกต่อไป เพราะสิ่งสำคัญในปัจจุบันคือ ผู้นำต้องสามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้ การผลักดันให้องค์กรเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วนั้น คุณสมบัติที่ผู้นำองค์กรต้องมีคือ

  1. การเป็นคนหูตากว้าง และประเมินสถานการณ์เก่ง มีความรอบรู้ในระดับ Global ต้องกล้าคิดใหญ่ กล้าเสี่ยง เรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้เร็ว (Fail Fast and Fail Smart) แต่ในขณะที่คิดใหญ่ ต้องมีโฟกัสว่าจะเลือกทำอะไรที่มีคุณค่ากับลูกค้าและธุรกิจ
  2. ต้องมีความสามารถในการร่วมมือกับคนทุกรูปแบบ เพราะวันนี้เรื่องของเครือข่ายมีความสำคัญมาก ผู้นำยุคใหม่จึงต้องสามารถทำงานได้กับคนทุกรุ่น ทุกวัฒนธรรม เพื่อสร้างความร่วมมือให้ได้
  3. มีส่วนร่วมและเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องทำให้การสื่อสารเปิดกว้างระหว่างหน่วยงาน กำจัดการทำงานแบบไซโลออกไป  ในยุคดิจิทัล ข้อมูลคือทรัพย์สินที่มีความสำคัญมาก จะต้องนำมาแบ่งปันกันได้ เพื่อการปรับทิศทางของธุรกิจให้ทันกาล

ดร. อัจฉรา เปรียบเทียบให้เห็นถึงของการทำธุรกิจในอดีตและปัจจุบันว่า ต้องยอมรับว่า วันนี้ดิจิทัลได้เข้ามาทำลายกฎเกณฑ์ โครงสร้างบริษัทใหญ่ที่ได้เปรียบในอดีตเหล่านั้นไปแล้ว

ในวันนี้ เราไม่พูดถึงปลาเล็กและปลาใหญ่แล้ว แต่ปลาที่เร็วอาจกินปลาที่ช้าได้ องค์กรเล็กก็อาจมีความได้เปรียบว่าปรับตัวได้เร็วกว่า  องค์กรใหญ่ก็ต้อง Transform ได้ทันกาล ในด้านคู่แข่ง จะเห็นว่าคู่แข่งทางธุรกิจ ไม่จำกัดที่องค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้นแล้ว ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์จองที่พัก Airbnb ไม่ได้ทำธุรกิจโรงแรมมาก่อน  หรือ บริการแท็กซี่ผ่าน App ในมือถือ UBER ก็ไม่ได้มีรถเป็นของตนเอง

 

ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นนำมาสู่ความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ดร.อัจฉรา กล่าวว่าความท้าทายนั้นมีสองด้านคือ “คน” และ “ธุรกิจ”

 

ด้าน “คน”

สำหรับเรื่องของ “คน” นั้น อันที่จริงเราก็มีความเปลี่ยนแปลงกันมาตั้งแต่อดีต  หากจะเปรียบเทียบ ก็แบ่งได้เป็นสี่ยุคของการเปลี่ยนแปลง  เริ่มจากยุค Hunter ที่คนเราทำมาหากินด้วยการล่า ไม่ได้มีการวางแผนงานมากนัก ต่อมา มาสู่การลงหลักปักฐาน เป็น Farmer มีการวางแผน ทรัพยากรดินและน้ำ เริ่มทำงานเป็นกลุ่ม เมื่อเข้ายุคที่สาม คือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การทำงานเริ่มมีวิธีการที่ชัดเจน (Instruction) มีการใช้เครื่องจักร ลักษณะการทำงานเป็นการสั่งการจากหัวหน้าลงมาสู่ผู้ปฏิบัติ (Top-down)

แต่ในยุคปัจจุบัน เราเรียกตนเองว่า Knowledge Worker การทำงานไม่ได้จำกัดแค่ใช้แรงงาน แต่ใช้ความรู้ความสามารถ ดังนั้นทรัพยากรที่สำคัญคือ Brain Power ศักยภาพที่มีอยู่ไม่จำกัดในตัวของคน รอการนำออกมาใช้ การทำงานแบบ Top-down จึงล้าสมัย เพราะการทำงานกับคนที่มีความสามารถ จะต้องมีความยืดหยุ่นและให้อิสระในการคิดมากขึ้น รูปแบบการทำงานเป็นแบบ Matrix คนหนึ่งต้องสามารถทำงานได้หลายอย่าง  ประสานงานและร่วมมือกับหลายหน่วยงานได้คล่อง

ในขณะที่คนทำงานได้รับอิสระมากขึ้น ผู้นำก็ต้องเก่งในการผูกใจคน (Engagement)  นำให้คนรักและผูกพันกับงาน มีความเป็นเจ้าของ รับผิดชอบงานของตนให้ออกมาดีที่สุดอย่างเต็มใจ  การที่คนในองค์กรเป็น Knowledge Worker แต่ถ้าผู้นำยังใช้วิธีการบริหารแบบ Top-down อยู่เสมอ  จะเกิดผลเสียตามมา  และการขาดภาวะผู้นำที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไป จะก่อความเสียหายอย่างมากต่อองค์กร

แนวทางการรับมือเรื่องคน

  1. ผู้นำในทุกระดับต้องมีเครื่องมือในการบริหารคน และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลเทคโนโลยี  ถึงแม้ผู้นำจะรู้ว่าต้องสร้าง Alignment ในการทำงาน สร้างทีมที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้คนทำงานด้วยใจ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร  และจะคุยอย่างไรกับทีมงาน
  2. การจะให้คนทำงานด้วยความรัก มี Engagement กับงาน โดยให้อิสระด้วยนั้น ผู้นำจำเป็นต้องสื่อสารเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ ที่การสื่อสารต้องรวดเร็ว ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีทักษะในการเรียบเรียง ความคิดให้เร็ว เป็นระบบ สื่อสารได้ชัดเจน ตอบคำถามและข้อโต้แย้งของบุคลากรได้สร้างสรรค์ ตรึงใจ และจูงใจ เราเรียกว่าทักษะนี้ว่า Think on Your Feet®
  3. การสร้างวัฒนธรรมการโค้ช (Coaching Culture) ในองค์กร องค์กรส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้บริหารโค้ชลูกน้องเป็นกิจวัตร ปรับวิธีการโค้ชได้เหมาะสม  และให้ความสำคัญกับการสื่อสารและพัฒนาลูกน้อง  ทั้งนี้เพื่อการสร้างผู้นำในอนาคตด้วย เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน  การโค้ชไม่ใช่การสั่งการหรือการสอนให้เดินตาม แต่เป็นการเริ่มจากการถามและฟังก่อน เพื่อดึงศักยภาพของคนออกมาใช้ให้ได้

 

ด้าน “ธุรกิจ”

ในด้าน “ธุรกิจ” และแนวคิดในการปรับเปลี่ยน ดร. อัจฉรา บอกว่า  ที่ผ่านมาธุรกิจก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แล้ว  เราปรับตัวกันมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ดังนั้นผู้บริหารที่ต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับผลกระทบทางดิจิทัลเทคโนโลยี จะต้องไม่เพียงโฟกัสว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ แต่ต้องคำนึงถึงการวางกลยุทธ์ในองค์กร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรียกว่า Digital Strategy  ดิฉันเองได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ และจากที่ได้รับความรู้จากการประชุม MG 100  ได้แนวคิดว่าในการวางกลยุทธ์ ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆใน 5 มิติ

  • ลูกค้า จากอดีตที่มองลูกค้าเป็นแมส ทำการตลาดเข้าหาลูกค้า ปัจจุบัน ลูกค้ามีเครือข่ายของตนเอง เข้าถึงข้อมูลได้ว่าอะไรดีและไม่ดี การตั้งรับไม่พอ ต้องคิดเชิงรุก คือต้องใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโซเชียลมีเดีย และไม่มุ่งแค่เพียงสร้าง Customer Loyalty แต่ทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกค้าสนับสนุนเราได้ด้วย เพราะเสียงของลูกค้าจะมีผลมาก
  • คู่แข่ง  จำเป็นต้องมองคู่แข่งให้กว้างขึ้น เพราะอาจมาจากกธุรกิจอื่นที่คาดไม่ถึง  และไม่มองคู่แข่งแบบ Zero-sum Game คือต้องมีแพ้ มีชนะ  ให้มองว่าอาจมีโอกาสร่วมมือกับคู่แข่งได้ในบางสถานการณ์ เพราะปัจจุบันการทำสินค้าออกไปขายนั้นไม่เพียงพอ จะต้องมี Platform ของเราให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์อีกด้วย
  • ข้อมูล เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาล ในองค์กรจึงต้องทำงานกันแบบเชื่อมโยง ไม่เก็บข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่ง และในแง่ธุรกิจ เราต้องรู้ว่าข้อมูลสำคัญที่เราต้องติดตามเก็บคือข้อมูลในด้านใด
  • นวัตกรรม ที่ผ่านมาการตัดสินใจเรื่องนวัตกรรมจะเป็นเรื่องของคนที่ใหญ่ที่สุดในองค์กร แต่หากใช้วิธีนั้น จะทำให้ล่าช้า จึงต้องให้คนที่อยู่หน้างานมีส่วนร่วมในการทดลอง ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้สามารถทดลองได้ด้วยเม็ดเงินที่ต่ำ และหากการทดลองผิดพลาด ต้องยอมรับว่าไม่มีความสมบูรณ์ในครั้งแรก และควรแชร์ข้อมูลให้คนในองค์กรรับทราบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำ รวมทั้งใช้เป็นโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน
  • คุณค่าที่สร้างให้ลูกค้า ให้ถามตนเองว่าลูกค้าของเราต้องการแก้ปัญหาอะไร แล้วเราจะสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรมาเพื่อแก้ปัญหานั้น สินค้าหรือบริการที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับลูกค้าจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ และถึงแม้จะนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็ต้องคำนึงว่าไม่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ แต่ใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวนำ (Human Center) ต้องมีความเข้าอกเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ และความรู้สึกของลูกค้า

 

Key สำคัญของความสำเร็จ

ดร.อัจฉรา กล่าวย้ำถึงเรื่องความสำเร็จว่า ต้องสร้างทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งตรงนี้มีความท้าทายที่สำคัญคือความผันผวนของข้อมูล ความไม่แน่นอน จากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะตอบโจทย์ในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารและผู้จัดการในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  การสร้างความพร้อมให้ผู้นำทุกระดับ ควรครอบคลุมทักษะทั้งสามด้านคือ

  • Create – สามารถสร้างกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและความสำเร็จองค์กร  ผู้นำที่ดีต้องไม่บริหารองค์กรแบบ Auto Pilot ต้องไม่ติดกับความสำเร็จเดิม การเป็นผู้นำที่ดีต้องตัดสินใจแบบ Conscious Choice ประเมินสถานการณ์เป็น มีระบบการวางแผนและตัดสินใจ
  • Lead – มีทักษะในการนำทีม สื่อสารกับทีม ให้เกิดการมีส่วนร่วม หากสื่อสารไม่ดี การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า
  • Manage – บริหารจัดการให้คนบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกัน และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

 

การพูดคุยกับ ดร. อัจฉรา วันนี้ เราได้เรียนรู้แนวทางและเครื่องมือ (Tools) ต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิผลของผู้นำและในการบริหารแล้ว ในตอนท้าย ดร. อัจฉรา ยังได้ เปิดเผยถึงนิยามของผู้นำ ซึ่งแบ่งเป็น 3 แกนคือ ในแกนของคน ผู้นำที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้การบังคับ แต่คนจะเดินตามผู้นำด้วยความเต็มใจ   ในแกนของธุรกิจ ผู้นำที่ดี ไม่เพียงสร้างความสำเร็จในแค่ปัจจุบัน แต่สร้างคุณค่าให้องค์กรไปถึงในอนาคตด้วย  และสุดท้ายคือคุณธรรม เพราะผู้นำที่เก่งแต่ไม่มีคุณธรรม ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน ก็จะทำให้สังคมวุ่นวาย ดังนั้นผู้นำที่ดีจึงจำเป็นต้องมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์

 

X

Right Click

No right click