September 19, 2024

เมื่อเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) กำลังมาแรงและเป็นประเด็นที่หลายแวดวงหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญเพื่อร่วมกันมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หรือแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน และไม่ทำให้การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังนั้นลดลง  (Brundtland Report, 1987) โดยยึด 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ถูกกำหนดโดย United Nations General Assembly (UNGA) ในปี 2015 ดังนั้นการขับเคลื่อนองค์กร ต้องสร้างความเข้าใจกับพนักงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ต้องไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment  Social  Governance: ESG)  ที่สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อน SDGs ได้

ซีพี ออลล์ หนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความยั่งยืน ระยะที่ 2 ปี 2564-2573 โดยยึดมั่นต่อปณิธาน “Giving and Sharing” เพื่อเป็นองค์กรที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย ด้วยกรอบการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG)  ล่าสุดคณะอนุกรรมการบรรษัทภิบาล ซีพี ออลล์ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนให้กับผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล หรือ Mister & Miss Good Governance (MMGG) รุ่นที่ 3 โดยมีนางสาวลาวัณย์ เตียงหงษากุล ประธานคณะอนุกรรมการบรรษัทภิบาล บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เป็นประธานเปิดงาน  

ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดยนายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในหัวข้อ “ผู้นำรุ่นใหม่ใส่ใจ ESG: Environment Social Governance”  ได้อธิบายถึงวิวัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ความยั่งยืน และESG  เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์เรื่อง ESG ในปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนองค์กร  โดยมีกิจกรรม Workshop ให้ผู้นำรุ่นใหม่ฯ ได้นำความรู้ที่ได้จากการฟังบรรยาย มาวิเคราะห์ความสำคัญของการขับเคลื่อน ESG และร่วมกันวางแนวคิดและแผนงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน

หากแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน และไม่ทำให้การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังนั้นลดลง ปัจจัยสำคัญในการเตรียมความพร้อม “คน” โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ต้องอาศัยการปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้อง ฝึกให้ลงมือปฏิบัติ ทำด้วยใจและด้วยความรับผิดชอบ เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าเคทีซีได้รับการประเมิน SET ESG Rating ระดับเรตติ้งสูงสุด AAA ในกลุ่มธุรกิจการเงิน และเป็นสมาชิกของดัชนี SETTHSI เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยเคทีซีจะมุ่งพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) ในรูปแบบของการจัดเรตติ้งโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ AAA, AA, A และ BBB โดยคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนผ่าน 50% ในแต่ละมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น มีผลกำไรสุทธิ 3 ใน 5 ปีย้อนหลัง ไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากหน่วยงานทางการ เป็นต้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิกในดัชนี SETESG เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน และเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้จัดการกองทุน มีข้อมูลใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านได้รับความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มผู้บริโภค สืบเนื่องจากปัญหาที่ผู้บริโภคมักเจอกับการทิ้งงานหรือการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามสัญญาและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างแบบที่ไม่ได้วางแผนรับมือมาก่อน ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใช้บริการจากบริษัทรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์สั่งสมมาเป็นเวลานาน จึงเป็นทางออกที่ผู้บริโภคไว้วางใจ ที่สำคัญตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซีคอน ยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด จึงถือเป็นปีทองของผู้บริโภค ทั้งนี้ ซีคอน ได้นำแนวคิด ESG เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม การคืนกลับสู่ชุมชน และการบริหารงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลไกธุรกิจ เข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางธุรกิจจากปัจจุบันสู่อนาคต

เกี่ยวกับภาพรวมการดำเนินธุรกิจของซีคอนนั้น นายมนู กล่าวว่า “ในปี 2566 ซีคอนมีโปรเจคงานที่ต้องดำเนินการก่อสร้างรวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้ง งานของซีคอน รับสร้างบ้าน และงานของซีคอน ไอดี ที่รับออกแบบ และสร้างตามแบบของลูกค้า ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่างานก่อสร้างของ ซีคอน รับสร้างบ้าน ประมาณ 89% และซีคอน ไอดี ประมาณ 11% โดยรวมถือว่ายังมียอดขายที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคนั้นคือความเร็วในการส่งมอบบ้านที่พัฒนาขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตโครงสร้างชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปแห่งที่ 2 เสร็จเป็นที่เรียบร้อย เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำเสนอแบบบ้านประหยัดพลังงานสู่ตลาดซึ่งสอดรับต่อไลฟ์สไตล์เทรนด์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าหากเริ่มต้นด้วยการวางแผนสร้างบ้านในทิศทางที่เหมาะสม คัดสรรวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มฟังก์ชันการระบายความร้อน รับแดด รับลม ก็ทำให้บ้านทุกหลังกลายเป็นบ้านประหยัดพลังงานได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซีคอนจะลงรายละเอียดให้ตั้งแต่การวางผังส่วนต่างๆ ของบ้านจนถึงเป็นที่ปรึกษาในมิติต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้บ้านตรงตามต้องการ”'

ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบบ้านใหม่ออกสู่ตลาดในช่วงท้ายปี 2566 นั้น ล่าสุด ซีคอน ได้เผยโฉมแบบบ้านใหม่กับ 2 สไตล์ คือ Cottage Style และ Modern Contemporary Styleทั้งแบบชั้นเดียว และ 2 ชั้น ในชื่อแบบบ้าน Cottage 167, Loft 301 และ Orchard 435 อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางการบริการทางด้านออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยได้มีการเพิ่มเพจย่อยของแต่ละศูนย์ที่มีอยู่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการของซีคอน เพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น “ช่วงอายุมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกแบบบ้านของผู้บริโภค ปัจจุบันแบบบ้าน Modern Contemporary Style ยังเป็นแบบบ้านยอดนิยมอันดับ 1 และแนวโน้มบ้านที่มีแบบตัวอาคารที่เรียบง่ายหรือ Minimal Style เน้นประโยชน์การใช้สอยของพื้นที่ พร้อมทั้งบ้านดูโปร่ง โล่งสบาย ยังเป็นที่นิยมของลูกค้าเช่นกัน และที่เห็นเป็นเทรนด์เพิ่มมากขึ้นคือการที่ลูกค้าได้ร่วมออกแบบบ้านกับสถาปนิกที่คนชื่นชอบและนำแบบบ้านดังกล่าวมาให้ซีคอนก่อสร้างให้ ในส่วนนี้เราก็ยินดีร่วมเป็นทีมก่อสร้างเพื่อให้โปรเจคสำเร็จได้อย่างมีคุณภาพ” นายมนู กล่าวถึงแบบบ้านใหม่และเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ซีคอน คาดการณ์ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านของไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ว่า “สถานการณ์ความตึงเครียดด้านสงครามของทั้งรัสเซีย-ยูเครนและอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต้องเฝ้าระวัง เพราะล้วนแต่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนราคาพื้นฐาน ดังนั้นการปรับตัวรับมือและการวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมต้นทุน จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ด้านปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นค่าแรงนั้นในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้าน แรงงานที่มีอยู่ล้วนแต่เป็นแรงงานฝีมือซึ่งได้รับค่าตอบแทนสูงอยู่แล้วจึงอาจไม่ส่งผลกระทบชัดเจน ด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นระยะนั้น เนื่องจากซีคอนมีโปรเจครับสร้างบ้านอยู่ในมือค่อนข้างมาก จึงมีพันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำที่หลากหลายซึ่งแต่ละที่ล้วนร่วมดำเนินธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน ความเชื่อมั่นดังกล่าวและแผนการซื้อที่ชัดเจนจึงทำให้สามารถบริหารต้นทุนการซื้อดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  

นอกจากนี้ ซีคอน ยังได้ส่งท้ายปีกับกิจกรรม CSR เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษาด้วยการมอบทุนการศึกษาและปรับปรุงสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ให้แก่เด็กนักเรียน 2 โรงเรียนใน จ.เพชรบุรี ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านพุสวรรค์ และโรงเรียนบ้านสองพี่น้อง เพื่อเป็นกำลังที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต “โรงเรียนทั้ง 2 แห่งเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมบำรุงและปรับปรุงอาคารรวมทั้งสภาพแวดล้อม ซีคอนเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่ดีจะทำให้ผู้อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ทั้งเด็กนักเรียน ครู และชุมชน มีสุขภาพจิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญในฐานะผู้ให้ทั้งคณะผู้บริหารและพนักงานของซีคอนก็จะมีจิตสาธารณะซึ่งพลังบวกเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างให้บุคลากรของเรา ส่งมอบบริการสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพยิ่งขึ้นเช่นกัน” นายมนู กล่าวสรุป

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ครั้งที่ 5/2566 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบทิศทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ปี 2567 – 2569 ซึ่งมีการปรับเพิ่มภารกิจสำคัญที่สมาชิกสมาคมฯ จะร่วมมือกันผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงส่งเสริมความรู้การบริหารจัดการเงินแก่ประชาชน โดยดำเนินการภายใต้กรอบ ESG ที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐซึ่งมีบทบาทสำคัญในภาคการเงินของประเทศ ได้ร่วมกันสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุนภาคการผลิตและภาคบริการในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินงานดังกล่าวจะขับเคลื่อนผ่านแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน (3S) ได้แก่ 1.Sustainability การขับเคลื่อนงานตามนโยบายภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล โดยสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เป็นธรรม และการดำเนินงานที่คำนึงถึง ESG พร้อมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ 2.Synergy การยกระดับความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง อาทิ ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินที่สะดวก ปลอดภัย รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ของสมาชิกสมาคมฯ และ 3.Strong การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหาร และพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อยกระดับการบริหารงานของสมาคมฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินของรัฐ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ บอลรูม 3 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566

X

Right Click

No right click