ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว เนื่องด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาช่องว่างทางทักษะ ความล้าหลังในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำองค์กรที่มีกลยุทธ์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคมและเทคโนโลยี จึงควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมยกระดับขีดความสามารถและเร่งผลักดันให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทรู เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา การส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังที่นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมอง ในบทความพิเศษ “Thought Leadership” จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบ่มเพาะทักษะแห่งอนาคต

ประเทศไทยต้องเร่งลงทุนด้านคน เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มผลผลิตของแรงงานในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือนาโนและไบโอเทค ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโซลูชันเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง

ทรู ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมไทย ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับทั้งคนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษา โดย ทรู ดิจิทัล อะคาเดมี ได้จัดการฝึกอบรมทักษะธุรกิจดิจิทัลให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพสูง (talent)​ จำนวนกว่า 30,000 คน ในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกัน โครงการทรูปลูกปัญญา สามารถเข้าถึงนักเรียนจำนวนกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ โดย trueplookpanya.com คลังความรู้คู่คุณธรรม ยังเป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562

แม้ที่ผ่านมา ทรูจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่อาจทดแทนความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ อันเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ทรู จึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในปี 2563 ซึ่งสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จากโรงเรียนจำนวน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนั้น กว่า 72% สามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินคุณภาพในระดับดีถึงดีเลิศ ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจำนวน 6,000 เครื่องให้แก่โรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ แล้ว มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ยังได้ฝึกอบรมผู้นําด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT talent จำนวนกว่า 5,000 คน เพื่อเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี นำสื่อและอุปกรณ์ไอซีทีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศยังได้รับการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกด้วย

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย แรงสนับสนุนจากพันธมิตรในเครือข่ายและความร่วมมือจากภาครัฐ จะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดขยายผลความสำเร็จ และช่วยเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับประเทศได้

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากเราประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ได้เร็ว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กล้าคิดกล้าทำ ความท้าทายต่อไป คือการปลูกฝังให้พวกเขาได้ดูแลและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นถัดไป เกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยนั้นประกอบอาชีพในภาคการเกษตร แต่ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและสภาพอากาศแบบสุดขั้วกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงกับการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

จุดมุ่งหมายของทรูนั้น คือการนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้สังคมไทยสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลวิจัยของ GSMA Intelligence ชี้ว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือ (mobile connectivity)​ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจการขนส่ง พลังงาน การก่อสร้าง และการผลิตลงกว่า 40% ได้ภายในปี 2573 และด้วยเครือข่าย 4G ของทรู ที่ครอบคลุมประชากรไทย 99% ในขณะที่ 5G ครอบคลุมมากกว่า 90% ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของทรู ทำให้เกิดการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และโรงงานอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทั่วประเทศ

นอกเหนือจากศักยภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทรู ยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมา เราสามารถลดการใช้พลังงานทั้งในการดำเนินธุรกิจและในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้สูงสุดถึง 15% ในขณะที่ภาคการเกษตร ยังช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้ยาปฏิชีวนะ และปุ๋ยลงอีกด้วย

ความพยายามทั้งหมดดังกล่าวนี้ สามารถลดการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้เราบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อให้ บรรลุภารกิจ อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรูเดินหน้าผลักดันให้เกิดโครงข่ายที่ใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยยังส่งเสริมให้คู่ค้ากำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) พร้อมให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการและประโยชน์จากการรับมือและบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในฐานะหนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ทรู มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้นำองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การลงทุนด้านนวัตกรรม

นอกเหนือจากประเด็นด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทย คือความจำเป็นในการ “ยกระดับขีดความสามารถการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่ฟื้นตัว” (อ้างอิงจากธนาคารโลก) การผนึกศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) IoT และ 5G จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต

แน่นอนว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทย จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ และการที่บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตระดับโลกจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าในที่สุดแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยเสมอไป

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทรูมุ่งมั่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และผู้ขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของประเทศไทยนั้นทำงานอย่างสอดประสานกัน นวัตกรรมของทรู ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรถึง 120 ฉบับ และเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 50 แห่งในการสนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ เรายังได้ก่อตั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาด 230,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสัญชาติไทย บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก นักลงทุน โครงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ไว้ด้วยกัน

ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพเกือบ 3,000 รายที่อยู่ในระบบนิเวศของเรา และโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ทรู อินคิวบ์ สามารถระดมเงินทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย (Venture Capital Funds) อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นว่ายังคงต้องมีการลงทุนอีกมา และเรามีแผนที่จะสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเปิดตัวกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาร่วมมือกับเรา หรือก่อตั้งกองทุนของตนเองขึ้น เพื่อเร่งสร้างการเติบโตด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับโจทย์ท้าทายในด้านการศึกษา การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ ด้วยการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และพันธมิตรภาคเอกชน เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย แข็งแกร่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และทรู คอร์ปอเรชั่น มีเจตนารมณ์แรงกล้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

 

ปัจจุบัน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย นายมนัสส์เป็นผู้มากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และมีความมุ่งมั่นในการนำศักยภาพการเชื่อมต่อมาสร้างประโยชน์สูงสุด เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความตอนพิเศษที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเชิญผู้นำทางความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ จากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์มุมมองเกี่ยวกับการพลิกโฉมระบบที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง อ่านเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำบริษัทโทรคมนาคม - เทคโนโลยี ร่วมกับ กสทช. สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ออกโปรเสริมพิเศษแบบเติมเงิน! สำหรับผู้พิการหรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งออกเป็น 2 แพ็กหลักตามการใช้งาน ดังนี้ 1. แพ็กเกจเน็ต - ความเร็วสูงสุด 10GB เมื่อใช้ครบตามปริมาณเน็ตที่กำหนด หลังจากนั้นใช้งานต่อเนื่องที่ความเร็ว 128Kbps ราคา 66 บาท (รวมภาษีแล้ว) ใช้ได้นาน 30 วัน (โปรเสริมนี้จะต่ออายุอัตโนมัติ หรือจนกว่าจะยกเลิก) 2. แพ็กเกจเน็ตและโทร - ความเร็วสูงสุด 8GB เมื่อใช้ครบตามปริมาณเน็ตที่กำหนด หลังจากนั้นใช้งานต่อเนื่องที่ความเร็ว 128Kbps โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที (ส่วนเกินคิดตามโปรโมชั่นหลัก) ราคา 66 บาท (รวมภาษีแล้ว) ใช้ได้นาน 30 วัน (โปรเสริมนี้จะต่ออายุอัตโนมัติ หรือจนกว่าจะยกเลิก)

ลูกค้าทรู ดีแทค สนใจสมัครโปรเสริมพิเศษ ได้ง่ายๆเพียงโชว์บัตรผู้พิการหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ที่ ทรูช้อป หรือดีแทคช้อปทุกสาขา ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิ.ย.67

ในโลกเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง Women in Tech เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้หญิงสายเทคสำหรับบางองค์กรก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

แต่นั่นไม่ใช่ที่ “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” (True Digital Group: TDG) หน่วยธุรกิจซึ่งรับผิดชอบพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีคนเก่งหลายคนรวมทั้ง ภรรททิยา โตธนะเกษม ร่วมนับหนึ่งตั้งแต่วันแรก และวันนี้ เธอยังคงทำหน้าที่เป็น “มันสมอง” ให้ TDG ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy

ค้นหาสิ่งที่ชอบ

ภรรททิยาเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross Culture) ในช่วงวัยเด็ก เธอได้รับทุน ASEAN Scholarship ของรัฐบาลสิงคโปร์ให้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้นที่โรงเรียนชั้นนำของสิงคโปร์ ระบบการศึกษาที่นั่นมีการแข่งขันสูงแต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยความพยายาม หลังจากนั้น ภรรททิยามีโอกาสไปศึกษาต่อมัธยมตอนปลายเป็นเวลาสั้นๆ ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว เพื่อที่จะได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวและน้องสาวที่ตอนนั้นยังเล็ก ภรรททิยาจึงตัดสินใจกลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น เธอมีอายุเพียง 16 ปี การเลือกเรียนในสายบริหารธุรกิจนี้ ภรรททิยามีคุณพ่อคุณแม่ ศ.ดร.วรภัทร-กิตติยา โตธนะเกษม นักบริหารเลื่องชื่อของไทย เป็นแรงบันดาลใจ

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วจามจุรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในวัยเพียง 20 ปี ภรรททิยาสมัครและได้รับคัดเลือกทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 1 ปีกว่า แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต เพราะทำให้รู้ตัวว่าไม่ค่อยอินกับธุรกิจธนาคารเท่าใดนัก หลังจากได้คิดไตร่ตรองแล้วเธอจึงตัดสินใจสละสิทธิทุนการศึกษา เพื่อให้โอกาสตนเองได้ไปค้นพบประสบการณ์ด้านอื่น

ถึงแม้ภรรททิยายังไม่มีชั่วโมงทำงานที่มากพอ แต่ก็ได้ทดลองสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการคัดเลือกเข้าหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Harvard Business School

ภายในคลาสที่มีผู้เรียนราว 900 คนจากทั่วทุกมุมโลก วิธีการเรียนการสอนที่เน้นการอภิปราย และถกเถียงในชั้นเรียนแบบที่ต้องแย่งกันยกมือพูด เพราะถ้าไม่พูดก็อาจจะสอบตกวิชานั้น กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับภรรททิยา ที่มีวัยวุฒิเด็กที่สุดและประสบการณ์ทำงานน้อยที่สุดในห้อง ในช่วงแรก เธอไม่กล้าพูด แต่ก็พยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จนมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียนได้ ทำให้ได้เรียนรู้โลกธุรกิจของจริง จากทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมห้อง ที่อาจหาไม่ได้จากตำรา

 

จุดเริ่มต้นนักกลยุทธ์หญิงสายเทค

ช่วงที่เธอเรียนนั้น เป็นยุคที่บริษัทเทคโนโลยีกำลังเริ่มบูม บวกกับความชอบที่เธอมีต่อ gadgets อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มรู้ตัวว่าสนใจในวงการนี้ ระหว่างเรียนปีสองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Samsung ได้ไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเพื่อรับพนักงานใหม่ ในรุ่นนั้น Samsung รับ MBA graduates เกือบ 40 คน เป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงเพียง 6 คน ภรรททิยาเป็นผู้หญิงเอเชียเพียงคนเดียวและเด็กที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้เข้าสู่วงการเทคโนโลยีในตำแหน่ง Global Strategist (Internal Consultant) แผนก Global Strategy Group ของบริษัท Samsung Electronics

ที่ Samsung ได้ปลดล็อกให้เธอได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ ด้วยบทบาทหน้าที่ของ In-House Think Tank ประจำอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำงานร่วมกับ C-suite ของ Samsung ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคล การตลาด การพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเธอถือว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า เปิดให้เห็นโลกกว้างของเทคโนโลยี วิธีการคิดเชิงกลยุทธ์ และฝึกให้เข้าใจและตีโจทย์ธุรกิจของลูกค้าในเวลาสั้นๆ การทำงานแบบเกาหลีเองก็มีความท้าทาย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ ทั้งในระดับผู้จัดการ และ C-suite สื่อสารด้วยภาษาเกาหลีเป็นหลัก

ในปี 2558 ภรรททิยาได้รับการติดต่อจาก Apple Inc  เพื่อให้ดูแลธุรกิจ App Store ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทีมใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและเธอเป็นคนไทยคนแรกของทีม ในตำแหน่ง App Store Business Manager ประจำที่สิงคโปร์ ในเวลานั้น ระบบนิเวศน์ของโมบายแอปพลิเคชันในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มบูม เป็นยุคก่อตัวของแอปฯ ยูนิคอร์นต่างๆ เช่น Grab, Garena งานที่ Apple ทำให้ได้เข้าใจโมเดลธุรกิจของแอปฯ และได้พบกับ startups มากมาย ทั้งนักพัฒนาแอปฯ และเกมขนาดเล็กแบบทำคนเดียว ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้เห็นการทำงานของบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งให้ความใส่ใจลูกค้าในระดับที่เรียกว่า Customer Obsession มีวิธีคิดแบบ Outside-In ทุกอย่างทุกดีไซน์ล้วนแต่ถูกคิดอย่างละเอียด ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง เพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า

ผ่านไปหลายปี ภรรททิยาตระหนักว่า เธอใช้ชีวิตในต่างแดนถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว และน่าจะถึงเวลา “กลับบ้าน” เสียทีเพื่อให้เวลากับสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือครอบครัวและการได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

ขณะนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ทรู กำลังก่อร่างสร้าง TDG เพื่อต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการโทรคมนาคม ในปี 2560 เป็นยุคที่ดิจิทัลกำลังบูมสุดขีด TDG ถูกสร้างขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์แห่งการเป็น Digital Enabler เป็น North Star เปลี่ยนจาก traditional telco สู่ digital services ดึงดูดคนเก่งที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งภรรททิยาก็เป็นหนึ่งในนั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาราว 7 ปีที่ภรรททิยาได้มีโอกาสทำงาน ในหลายหน้าที่ใน TDG ไม่ว่าจะเป็น Strategy, Investments, Digital Transformation จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่ Head of Digital Growth Strategy เพื่อสร้างอิมแพคให้กับผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ และสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

 

ผู้หญิงในสายงานเทค

ภรรททิยา ให้มุมมองถึงประเด็น Women in Tech ว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นผู้หญิงเป็นนักพัฒนาแอปฯ มากขึ้น เป็น data scientist มากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผู้นำหญิง (Female Leadership) อาจมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่ Tech Forum แห่งหนึ่ง จากวิทยากรกว่า 10 คน มีผู้หญิงที่ขึ้นพูดเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งนี่อาจสะท้อนถึงการเติบโตในหน้าที่การงานของผู้หญิงในระดับบริหาร

จากการสำรวจของ Tech Talent Charter ในปี 2566 ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ทำงานสายเทค มีแผนที่จะออกจากงาน เพราะเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องการบริหารการทำงานไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว

เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เธอเห็นจากบริษัทเทคหลายแห่ง ที่มีแนวทางสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถสร้างสมดุลชีวิตทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว โดยไม่ต้อง “เสียสละ” ความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อความเป็นแม่ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้หญิงฝากไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือแห่งการสร้างความเท่าเทียม

 

ชีวิตคือการส่งต่อ

จากโอกาสชีวิตที่ได้รับมา ภรรททิยา เห็นความสำคัญของการส่งต่อประสบการณ์ให้กับผู้อื่น ล่าสุด เธอกำลังทำหน้าที่ Mentor แบ่งปันความรู้ ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกับที่เคยได้ทำให้น้องๆ วัยมัธยมตอนช่วงทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ภรรททิยาเห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะไปโลดแล่นในระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งระดับโลก พวกเขามีไอเดียที่ดี แต่อาจต้องการคนรับฟังและชี้แนะเพื่อช่วยให้เขาเดินทางไปสู่เป้าหมาย

นอกจากการส่งต่อ “ความรู้” แล้ว ภรรททิยา มองว่า “ความสุข” ก็ส่งต่อได้ด้วย ยามว่างเธอชอบร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุและผู้ต้องขังในเรือนจำ

ทีมบรรณาธิการถามคำถามสุดท้ายว่า ภรรททิยาได้รับโอกาสดีๆหลายอย่าง อยากจะฝากอะไรกับผู้ที่อาจไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ภรรททิยาตอบว่า มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ และควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ เช่น สังคมแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เราทุกคนจัดการได้คือ ตัวเราเอง ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทำในสิ่งที่เราถนัดและชอบ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเปล่งประกายในแบบของเรา ส่วนคนที่โชคดีเกิดมาได้รับโอกาสมากกว่าผู้อื่น การแบ่งปันและเกื้อกูลกัน ก็จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

หากพูดถึงโทรศัพท์มือถือยุคเริ่มแรก หลายคนคงนึกถึงโทรศัพท์มือถือรุ่นกระติกน้ำ โนเกีย 3310 สุดฮอต และ iPhone 1 แบบไร้ปุ่มกดที่ปฏิวัติฝั่งฮาร์ดแวร์ของตลาดสื่อสารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ในฝั่งการบริการ คนยุคบูมเมอร์คงเคยได้สัมผัสกับยุคค่าบริการนาทีละ 3 บาทอย่างแน่นอน

แต่นั่นเป็นเพียง “ปฐมบท” ของตลาดโทรคมนาคมไทยที่ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือ (Penetration Rates) เกินกว่า 130% กำเงิน 500 บาท ก็สามารถเป็นเจ้าของเครื่องโทรศัพท์มือถือได้

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในตลาดโทรคมนาคมไทยในแง่ “การเข้าถึง” ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันทางการตลาดที่มี ณัฏฐา พสุพัฒน์ หัวหน้าสายงานโมบายล์โพสต์เพย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งคีย์วูแมนผู้นำมาสู่การเปลี่ยนเแปลงภูมิทัศน์ทางการตลาดแห่งวงการโทรคมนาคมไทย

ในโอกาสแห่งวันสตรีสากล #IWD2024 True Blog ชวนเธอพูดคุยถึงเคล็ดลับความสำเร็จของผู้หญิงที่เรียกได้ว่า “คมในฝัก” คนนี้กัน

พลังของความแตกต่าง คุณค่าแห่งความเท่าเทียม

ณัฏฐาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเดินทางสู่วิชาชีพนักบัญชี โดยเข้าทำงานที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ แต่เมื่อทำได้ช่วงเวลาหนึ่ง เธอก็ค้นพบว่า นั่นไม่ใช่ตัวเธอเลย เพราะลักษณะงานมีความเป็นกิจวัตร (routine) สูง ซึ่งต่างจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบในความคิดสร้างสรรค์ แตกต่าง และนอกกรอบ

เมื่อตระหนักได้เช่นนั้น เธอจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขา International Business Management ที่ University of Exeter ประเทศอังกฤษ สถานที่แห่งนั้นเปรียบเสมือน Melting Pot ที่รวมผู้คนที่มี “ความแตกต่าง” ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์เข้าไว้ด้วยกัน มาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งนั่น ทำให้เธอได้ขยายมุมมอง เปิดโลกทัศน์ โดยเฉพาะการเรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างอย่างแท้จริง ยิ่งสมัยนั้น เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน ทำให้การรับรู้พื้นเพของแต่ละประเทศมีความจำกัด ซึ่งเธอเองก็ต้อง “ปรับตัว” อยู่ไม่น้อย

หลังใช้ชีวิต​พร้อมดีกรีปริญญาโทจากเมืองผู้ดี เธอได้กลับมายังแผ่นดินเกิด พร้อมตามฝันบนเส้นทางแห่งการทำงานที่แตกต่าง ย้อนไปราว 20 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจัดเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต ตรงกับความสนใจของณัฏฐา ในเวลานั้น ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว นั่นคือ AIS จึงสมัครเข้าทำงานในส่วนงาน SIM Marketing ขณะนั้นสังกัดอยู่ในกลุ่มงานวิศวกรรม ซึ่งเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคสำหรับเธอ ในทางกลับกัน เธอกลับมองเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นวิศวกร และยังกระตือรือร้นใฝ่หาความรู้ เพื่อเข้าใจโครงสร้างทางเทคนิคให้ลึกขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรได้บ่มเพาะความรู้เฉพาะด้านเพิ่มเติมในคอร์ส Mini Master in Telecoms Management ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

สมัยก่อน สังคมอาจมีมายาคติทางเพศที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ อย่างวิศวกร คนมักคิดว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย แต่เราต้องคิดใหม่ว่างานวิศวกรเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ การวางแผน ดังนั้น เรื่องเพศจึงไม่มีผลกับอาชีพ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลมากกว่า

“ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงาน เรื่องเพศไม่ได้นำมาซึ่งความยากลำบากแต่อย่างใด จะแตกต่างกันแค่เรื่องสรีระและพละกำลัง แต่เรื่องอื่นแล้ว ไม่ด้อยกว่ากัน และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี” เธอกล่าวว่า “ในอดีต สังคมเคยมีคติความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ลูกผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน สมาชิกในสังคมอาจต้องหันมาทบทวนว่า คติความเชื่อนี้ยังคงใช้ได้ในบริบทของสังคมปัจจุบันหรือไม่ แต่ส่วนตัวพี่เชื่อว่า สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อที่ล้าสมัย ให้คุณค่ากับความเท่าเทียม พิจารณาที่ศักยภาพ ความสามารถ และผลลัพธ์ของการกระทำมากกว่าเรื่องเพศ”

หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ 4 ปี จึงถึงเวลาที่เธอตัดสินใจไปหาความท้าทายใหม่ๆ ที่ Orange ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่จับตามองอย่างมากในอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการต่างชาติรายแรกที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเธอทำหน้าที่ดูแลด้าน Tariff Management ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนราคาแพ็คเกจบริการโทรศัพท์มือถือ

ตลาดเปลี่่ยน-โอกาสเปิด

ณัฏฐาเล่าถึงตลาดโทรคมนาคมตอนนั้นว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่ Orange เป็นแบบบริษัท “อินเตอร์” มีผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ได้นำแนวคิดการทำแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือ พร้อมสัญญาการใช้บริการโทรคมนาคมแบบที่ใช้ในต่างประเทศมาใช้ในการทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือยังต่ำอยู่ เนื่องจากมือถือยังมีราคาสูงและความเข้าใจในความแตกต่างของตลาดผู้บริโภคคนไทยยังน้อย มีการทำโปรโมชั่นแจกโทรศัพท์มือถือสุดฮิต Nokia 3310 ที่มาพร้อมสัญญาการใช้บริการ 12 เดือน ซึ่งถือว่าใหม่มากสำหรับคนไทยในเวลานั้น มีคนเหมารถกันมาเป็นคันรถเพื่อมาเอามือถือฟรี แม้อาจจะไม่ตอบโจทย์ในแง่ความคุ้มทุน แต่ก็สร้างความจดจำแบรนด์ในฐานะ Newcomer เรียกว่าปฏิวัติการตลาดวงการโทรคมในเวลานั้นเลยทีเดียว”

ต่อมา หลังจากที่ Orange ได้ควบรวมกับทรู ภายใต้แบรนด์ Truemove โทรศัพท์มือถือมีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นในช่วงที่ทรูกำลังเปิดให้บริการ 3G เป็นครั้งแรก ทรูได้นำ iPhone รุ่นแรกเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จาก Apple เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ณัฏฐา ก็เป็นหนึ่งในคีย์วูแมนที่ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในครั้งนั้นด้วย

จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบัน ณัฏฐาได้รับความไว้วางใจจากคณะผู้บริหารให้มาดูแลตลาด “รายเดือน” หรือโพสต์เพย์ พร้อมกับการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ หรือ Clearing House เพื่อพัฒนาระบบการย้ายค่ายเบอร์เดิมระหว่างโอเปอร์เรเตอร์ให้ราบรื่นอีกด้วย

“Postpaid เป็นธุรกิจหลักของทรู มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด ทำให้เราเองมีความกดดันที่สูงมาก ทุกวันมีปัญหาให้แก้ไข ขณะเดียวกัน เราต้องมองมุมบวก มั่นใจในศักยภาพของเราและทีม พี่คิดเสมอว่าถ้าเราไม่ไหว ทีมงานข้างหลังก็ไม่ไหว ดังนั้น เราจึงต้องปรับที่ mindset ตัวเองก่อน ทำให้เราสามารถจัดการกับความกดดันที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” เธอ อธิบาย

ครอบครัว เบื้องหลังของความสำเร็จ

กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ อะไรคือเคล็ดลับของความสำเร็จ True Blog ถาม?

“ครอบครัว” ณัฏฐา ตอบอย่างไม่ลังเล พร้อมเล่าเสริมว่า เธอมีครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาพร้อมสนับสนุนในทุกย่างก้าวการเติบโตของพี่ บางครั้งแม้จะต้องทำงานล่วงเวลาบ้าง วันเสาร์-อาทิตย์บ้าง แต่ก็มีครอบครัวให้กำลังใจ ขณะเดียวกัน เธอเองก็ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของตนเองต่อครอบครัว รู้จักแบ่งเวลา พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการงานและครอบครัวให้พอดี

กรณีของณัฏฐา ภายหลังเธอเข้าพิธีวิวาห์ ตลอดระยะเวลา 5 ปี เธอและสามีมีความพยายามในการมีบุตร แต่เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถมีลูกด้วยวิธีการธรรมชาติได้ เธอและสามีจึงตัดสินใจครองชีวิตคู่ โดยไม่มีบุตร อย่างไรก็ตาม เธอเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ผู้หญิงสามารถมีความก้าวหน้าในอาชีพได้โดยไม่ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวอย่างการมีลูกหากมีความเตรียมพร้อมและการวางแผนที่ดีพอ

“ตอนพยายามที่จะมีลูก พี่มีการเตรียมตัว ปรึกษาหมอ ปรึกษาเพื่อนถึงสิ่งต่างๆ ที่คนเป็นแม่อาจพบเจอ เช่น การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน การฝากครรภ์ การปั๊มนม ฯลฯ การรับมือกับภาวะต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีบทบาทความเป็นแม่และคนทำงานได้อย่างสมดุล”

เคล็ดลับนำผู้หญิงสู่ความสำเร็จ

  1. ทัศนคติบวก (Positive Mindset) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกระทำทุกอย่าง หากเชื่อมั่นว่าทำได้ เราก็จะทุ่มเทและฝ่าฝันอุปสรรคระหว่างทางได้ โดยไม่พะวงถึงข้อจำกัดจนกีดขวางการเริ่มต้น
  2. เชื่อมันในศักยภาพตัวเอง (Trust in Yourself) ความเชื่อเปรียบได้เป็น NorthStar ที่จะช่วยขยายศักยภาพและความสามารถตนเองออกไปให้มากขึ้น
  3. ถอดบทเรียน (Lesson Learned) มนุษย์จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ เมื่อได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดหรือถอดประสบการณ์ที่พบเจอเป็นบทเรียน โอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเปิดรับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ เรียนรู้ต่อยอดประสบความสำเร็จ

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิสตรีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเข้าถึงการศึกษา ปัจเจกบุคคล รวมถึงแนวนโยบายต่างๆ ขององค์กรที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง (Female Inclusion) อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีพื้นฐานความเชื่อและวัฒนธรรมด้าน “ความเท่าเทียม” ซึ่งได้ถูกพัฒนากลายเป็นแพลทฟอร์มที่ใช้ในการ springboard วัฒนธรรมแห่งความเท่าเทียมในมิติอื่นต่อไปในองค์กร

มุ่งมั่นเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนและคนไทยทั้งประเทศ สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยการดำเนินงานของ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย 'สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ' ประจำปี 2565-2566 พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ประจำปี 2565 และ ปี 2566 ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 และผนังโค้งชั้น 3 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในปี 2565-2566 มีดังนี้

  • ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

-  ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า

นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์ เจ้าของภาพ “ศึกชนช้าง”

- ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน เจ้าของภาพ “More than Dream”

  • ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

- ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพถ่ายระยะใกล้

นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าของภาพ “Hoar Frost”

- ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์

นายสุชาติ เกื้อทาน เจ้าของภาพ “ไออุ่นแห่งขุนเขา”

ทั้งนี้ ในปี 2565 และปี 2566 มีเยาวชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 1,126 คน รวม 4,041 ภาพ เป็นการตอกย้ำ และสร้างความตระหนัก ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป

ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม ทรูปลูกปัญญา

Page 4 of 5
X

Right Click

No right click