สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบออนไลน์ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3 ล้านราย เดินหน้า “โครงการนำร่อง ID One SMEs : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” โดย SME สามารถทำธุรกิจกับภาครัฐได้รวดเร็วและเข้าร่วมโครงการส่งเสริม SME ต่าง ๆ ของรัฐได้โดยไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตน ลดขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบ การใช้เอกสารจำนวนมาก ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและข้ามหน่วยงานของรัฐมีความคล่องตัว เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประการ SME และ SME สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญในโครงการต่าง ๆ ในอนาคตได้รวดเร็ว
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุค New Normal ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มากระตุ้นให้เกิดวิกฤตโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านรัฐบาลดิจิทัล มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้เร่งเดินหน้าโครงการความร่วมมือนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยปรับกระบวนการทำงานให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวและไปต่อได้ในโลกใหม่ใบเดิมได้อย่างมั่นคง
สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ สสว. นี้ ได้ดำเนินการสอดคล้องกับมติครม. เมื่อวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่ง DGA ได้ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนางานบริการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification : ID One SMEs)” โดยยึดหลักมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมเป็นสากล พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาระบบงานบริการ ID One SMEs เชื่อมโยงข้อมูลและขยายผลจากแพลตฟอร์มกลางต่าง ๆ ของ DGA เช่น ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID), ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) และ ระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX) เป็นต้น ครอบคลุมการพัฒนาระบบสมัครสมาชิก/ขึ้นทะเบียนของ SME และการบูรณาการฐานข้อมูลเดิมให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน เพื่อนำระบบบริการ e-Service ต่าง ๆ ของหน่วยงาน เช่น ระบบ SME One / SME academy 365 / SME Coach / SME Connext มาเชื่อมต่อกับระบบงานบริการ ID One SMEs ให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยใช้รหัสเดียว แบบรวมศูนย์
(Single Sign-On) พร้อมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระผู้ประกอบการในการบันทึกข้อมูลและเตรียมเอกสาร หรือหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีแบบใหม่ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว เพราะภาครัฐในมิติใหม่นี้มีความโปร่งใส ฉับไว ติดต่อง่าย ให้บริการได้ตรงตามความต้องการ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสร้างระบบการส่งต่อการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สามารถติดตาม ประเมินศักยภาพ และวัดผลการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ได้ด้วย โดย DGA และ สสว. จะร่วมกันดำเนินการใช้ข้อมูล วิเคราะห์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของข้อมูลหรือจัดทำเป็นชุดข้อมูลเปิดเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป
ด้าน ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวการประชุมวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบรายชื่องานบริการ Agenda จำนวน 12 งานบริการ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของรัฐบาล และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย โดยกำหนดให้ สสว. ดำเนินการงานหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One ID One SMEs) นั้น
สำหรับการผนึกกำลังเดินหน้าโครงการนำร่องฯ ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเป็นระบบให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านหมายเลข ID เพียงเลขเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SMEs ในการขอรับบริการและการส่งเสริมจากภาครัฐ และลดความซ้ำซ้อนจากการกรอกข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถติดตามผลการให้บริการของการให้บริการผู้ประกอบการได้ในภาพรวม นอกจากนี้ การบูรณาการข้อมูลภายใต้ระบบงานบริการ ID One SMEs จะช่วยในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการส่งเสริม SMEs ในภาพรวมทั้งประเทศด้วย โดย สสว. และ DGA จะร่วมกันวิเคราะห์ระบบบริการผู้ประกอบการ SMEs และระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางและพัฒนางานบริการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” ที่มีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล และนำมาใช้ในการพัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป