นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ความร่วมมือ การใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และแนวทางสำคัญรัฐบาลดิจิทัล ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

นางสาวอภิณห์พร กล่าวว่า DGA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดินโดยใช้โปรแกรมที่เข้าถึงง่าย ช่วยให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้งานได้สะดวก DGA จึงขอเชิญชวน อปท. ทั่วประเทศลงทะเบียนอีเมลของหน่วยงานเพื่อใช้เป็นอีเมลกลางในการลงทะเบียนเข้าใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังเพื่อให้ อปท.สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่าย รวมทั้งช่วยสนับสนุนและยกระดับรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานอปท. เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการรับ-ส่งเอกสารหนังสือทางราชการ รวมถึงช่วยให้ค้นหาอีเมลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการของประชาชน สามารถป้องกันการปลอมแปลงหรือแอบอ้างได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้นับเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยให้หน่วยงานใช้อีเมลเป็นช่องทางการติดต่อ DGA ได้นำเสนอแนวทางการลงทะเบียนอีเมลกลางโดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงก์ https://dg.th/w0dm769ipe และ ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานที่มีการลงทะเบียน E-mail กลางกับทาง DGA ได้ที่ https://dg.th/cp9k2gsiq8 เพื่อร่วมกันยกระดับการบริหารการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า ในวันนี้ (15 มีนาคม 2567) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดย นายสำราญ จันทร์ขจร อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยมีพลเอกชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายมณเฑียร กล่าวว่า สตง. ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว (พ.ศ. 2566-2570) และนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่อยู่ในการกำกับดูแล รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการรักษาวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการรักษาวินัยการเงินการคลังเพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างโปร่งใส มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561- 2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 62 

“สตง. ได้พัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังในรูปแบบของ Web Application ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ และถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบทบาทด้านการตรวจสอบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแบบประเมินการบริหารจัดการการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ ซึ่งถือเป็น Non-audit Products และเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ประเมินตนเองเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่าย ดังนี้  1) โครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินอุดหนุนให้กับหน่วยงานของรัฐ 2) โครงการจัดงานประเพณี และ 3) โครงการส่งเสริมกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยแบบประเมินตนเองดังกล่าวมีกรอบการประเมิน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4) กฎหมาย ระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว สตง. จึงได้จัดให้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้น  เพื่อให้มีแนวทางการประสานความร่วมมือที่ชัดเจนบนฐานความประสงค์ร่วมกันของทุกฝ่าย” นายมณเฑียร กล่าว

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานปกครองที่กล่าวได้ว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศรวมแล้ว 7,850 หน่วยงาน มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะ การป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยในแต่ละปี มีรายได้ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการดำเนินงาน รวมเป็นเงินประมาณ 760,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศในแต่ละปี รวมถึงยังมีเงินสะสมรวมกันอีกไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยินดีให้ความร่วมมือ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบ และนำโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังดังกล่าวไปใช้ในการประเมินตนเองเบื้องต้นเพื่อทราบสถานะในการดำเนินการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่น การตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อบกพร่องในการใช้จ่ายเงิน และเสริมสร้างมาตรฐานในการรักษาวินัยการเงินการคลังตามหลักธรรมาภิบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบและการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เสริมสร้างระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จัดงาน วันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2567 (International Open Data Day 2024) ภายใต้หัวข้อ “Data-Driven for Sustainability: การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบข้อมูลแบบเปิด (Open Data) เป็นกุญแจสำคัญในการเดินหน้าประเทศสู่การเป็นรัฐบาลเปิดได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 45 หน่วยงาน พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ธนาฤดี คณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมี นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวรายงานภาพรวมข้อมูลเปิดของรัฐบาลดิจิทัลและกล่าวให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ทั้งกูรูที่คร่ำหวอดในวงการ Open Data ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)

ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 45 หน่วยงาน และ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มุ่งมั่นตั้งใจและให้ความสำคัญกับ “การเปิดเผยข้อมูล” ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยเน้นย้ำว่า การดำเนินงานภาครัฐในยุคดิจิทัล ข้อมูลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการการตัดสินใจเชิงนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย และตรวจสอบการดำเนินการได้ นำไปสู่การบริหารงานแบบ Data Driven Government รวมถึง การนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดนวัตกรรม หรือใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม/ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกตัวอย่าง ชุดข้อมูลด้านการบริการสาธารณสุข ของ สปสช. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่นำข้อมูลเหล่านี้ มาเปิดเผยในรูปแบบ Open Data เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินความต้องการในอนาคตนักลงทุนมั่นใจ และตัดสินใจมาลงทุน ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย นอกจากการสร้างประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดแล้ว ความสำคัญพื้นฐานคือ การพัฒนาชุดข้อมูลเปิดให้มีคุณภาพ และมีชุดข้อมูลที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจ

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยโดยเฉพาะ นอกจากภารกิจหลักในการขับเคลื่อนให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาให้เกิดบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการติดต่อราชการ และการบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐแล้ว การผลักดันให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงภารกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐดำเนินการ อันนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการพัฒนาให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล

ที่ผ่านมา DGA ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ data.go.th ขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2558  นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลแบบเปิด หรือ Open Government และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นมาในประเทศไทย ในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้เปิดเผยข้อมูลแล้วกว่า 11,000 ชุดข้อมูล แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการทำให้ข้อมูลภาครัฐเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีค่า มีการสนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่างๆ ที่มีส่วนในการช่วยให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง DGA ยังมีการสำรวจชุดข้อมูลเปิดภาครัฐตามความต้องการของประชาชนเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนให้ภาครัฐเปิดเผยชุดข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้งานให้มากที่สุด

สำหรับงาน International Open Data Day ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำหนดให้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกโดยประเทศต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ในปีนี้จัดตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ในส่วนประเทศไทยมี DGA เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน International Open Data Day เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนี้ จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้หัวข้อ “Data-Driven for Sustainability” อันเป็นการแสดงถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจัดงานในปีนี้นอกจากกิจกรรมที่ DGA ได้จัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แล้ว ยังมีการมอบรางวัล Open Data Awards จำนวน 45 รางวัล ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนข้อมูลเปิดดีเด่นอีกด้วย ประกอบด้วย โล่รางวัลชุดข้อมูลยอดนิยม จำนวน 3 รางวัล โล่รางวัลชุดข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของประชาชน จำนวน 3 รางวัล และประกาศนียบัตรรางวัลชุดข้อมูลเปิดทรงคุณค่า จำนวน 39 รางวัล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นต้นแบบที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดระบบนิเวศข้อมูลเปิดอย่างเป็นรูปธรรม

และในงานนี้ ยังจัดให้มีพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่าง DGA และ สปสช. ในการจัดทำแนวทางการกำกับดูแล และบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศสุขภาพด้านการบริการสาธารณสุข และการเปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลจากการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สามารถนำชุดข้อมูลเปิดดังกล่าวไปวิเคราะใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติต่อไป

สำหรับ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักเรียน/นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเรียนรู้การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมจาก Open Data สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook: Data Innovation and Governance Institute, DIGI

DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง และมหาวิทยาลัยบูรพา ลงนาม MOU “โครงการศูนย์สนับสนุนท้องถิ่นดิจิทัลเพื่อบริหารงานและให้บริการประชาชน” เพื่อช่วยขยายฐานความรู้ในการนำแพลตฟอร์ม ‘ระบบท้องถิ่นดิจิทัล’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน ลดระยะเวลาการเดินทาง อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการภาครัฐได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมเป็นต้นแบบเผยแพร่ความรู้ให้อปท.ทั่วประเทศเพื่อร่วมก้าวสู่ ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’ ไปพร้อมกัน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA มียินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ได้มีโอกาสร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 13 แห่ง และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมสร้างจิ๊กซอว์ภาพใหญ่มุ่งสู่องค์กรท้องถิ่นดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน ซึ่ง DGA ในฐานะหน่วยงานกลางรัฐบาลดิจิทัลที่มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการขับเคลื่อนหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่ อปท. ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงได้เดินหน้าโครงการนี้เพื่อสนับสนุนให้ อปท.นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ตรงใจประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับการลงนาม MOU โครงการศูนย์สนับสนุนท้องถิ่นดิจิทัลเพื่อบริหารงานและให้บริการประชาชนในครั้งนี้ ประกอบด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง / เทศบาลเมืองบ้านพรุ จังหวัดสงขลา / เทศบาลเมืองศิลา จังหวัดขอนแก่น / เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ จังหวัดปทุมธานี / เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี / เทศบาลตำบลเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา /เทศบาลตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย / เทศบาลตำบลเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ / เทศบาลตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย / เทศบาลตำบลนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง / เทศบาลตำบลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี /เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสะแก จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งทุกหน่วยงานยินดีเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้บุคลากรของหน่วยงานอปท.อื่นๆ ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันผลักดันอปท.สู่ความเป็น “ท้องถิ่นดิจิทัล” ต่อไป

DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกับ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการภาครัฐผ่านซูเปอร์แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ นายปริญญา กิตติการุญจิต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ที่เล็งเห็นความสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลาเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐติดมือถือไว้ นับเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะมาช่วยขยายช่องทางให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น

นายปริญญา กิตติการุญจิต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด กล่าวว่า ร้านอินทนิลได้ร่วมแคมเปญพิเศษกับ DGA ขยายเวลาแห่งความสุข แจกส่วนลดพิเศษ! สำหรับเครื่องดื่มทุกเมนู ให้ประชาชนผู้ใช้แอปพลิเคชันทางรัฐ เพียงแสดงสิทธิ์ให้แก่พนักงาน ก็ได้รับส่วนลด 25 บาททันที จำนวน 2,000 สิทธิ์ ที่ร้านอินทนิลทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2567 อินทนิลมีเครื่องดื่มยอดนิยม ขวัญใจมหาชน ได้แก่ อเมริกาโน่ โกโก้ เอสเพรสโซ่ ชาไทย และชาเชียว พร้อมเสิร์ฟความสดชื่นให้ทุกคนที่ได้เข้ามาใช้บริการ จากการได้ร่วมมือทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ก็จะมีความร่วมมือระหว่าง DGA และอินทนิล อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชน ขอให้ติดตามกันต่อไป

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ได้ดำเนินการตามนโยบาย ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายจากการใช้บริการซูเปอร์แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ทาง DGA จึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่พร้อมให้การสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด และร้านอินทนิล ที่ได้ให้ความร่วมมือขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นอย่างดี โดยนอกจากร่วมมอบความสุขและความสดชื่นในกิจกรรมที่ผ่านมาแล้ว ยังยินดีร่วมมือสนับสนุนโครงการต่างๆ กับ DGA ในอนาคตด้วย

นางไอรดาฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของแอปฯ ทางรัฐ นั้น ปัจจุบันได้รวมบริการเด่นของภาครัฐไว้กว่า 141 บริการ มียอดดาวน์โหลดสะสมกว่า 774,882 ครั้ง มีปริมาณการใช้สะสมกว่า 11,769,769 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 67) และ DGA ยังคงเดินหน้าความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเพื่อเพิ่มบริการในแอปทางรัฐอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างบริการที่ประชาชนสามารถใช้บริการผ่านแอปฯ ได้ เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป สิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมถึงบริการค่าน้ำ ค่าไฟ ใบสั่งจราจร ที่สามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code ได้ เป็นต้น สำหรับบริการล่าสุด เช่น บริการขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งชี้ขาดคดีปกครอง แจ้งอายัดบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพียงพิมพ์ค้นหาแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ก็สามารถดาวน์โหลดติดมือถือไว้ได้เลย ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ ทางรัฐ.com

ขับเคลื่อนประเทศด้วยรัฐบาลดิจิทัล บริการภาครัฐ โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click